รัฐบาลเพื่อไทย ต้องมีอย่างน้อย 13.25 ล้านเสียง เพื่อผ่านประชามติ “คำถามติดล็อก”

23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีที่นำโดยพรรคเพื่อไทยมีมติให้ทำประชามติเพื่อไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ซึ่งวางแผนจะทำประชามติสามครั้ง และในครั้งแรกจะจัดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 โดยใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นการตัดสินใจใช้คำถามที่สร้างเงื่อนไข และขัดแย้งกับข้อเสนอที่ประชาชนเคยผลักดันให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ”

การตั้งคำถามในการทำประชามติเช่นนี้ เท่ากับมีการถามประชาชนสองประเด็นในคำถามเดียว คือ

1) ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2) ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ซึ่งหากประชาชนเห็นด้วยทั้งประเด็นข้อ 1) และข้อ 2) ก็จะลงคะแนน “เห็นชอบ” แต่ถ้าไม่เห็นด้วยกับประเด็นทั้งข้อ 1) และข้อ 2) ก็จะลงคะแนน “ไม่เห็นชอบ”

แต่อย่างไรก็ดี ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เห็นว่า ต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ทั้งฉบับ” หรือต้องมีการเขียนใหม่ได้ “ทุกหมวดทุกมาตรา” ก็คือเห็นด้วยกับประเด็นข้อ 1) แต่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นข้อ 2) และยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เห็นว่า ไม่ควรให้มีการแก้ไขสิ่งใดๆ ในรัฐธรรมนูญ 2560 เลยแม้แต่เรื่องเดียว ซึ่งก็คือ ไม่เห็นด้วยกับประเด็นข้อ 1) แต่เห็นด้วยกับประเด็นข้อ 2) ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้จะถูก “มัดมือชก” ให้ไม่มีทางเลือกในการทำประชามติครั้งนี้

เมื่อคำถามไม่มีทางเลือก จึงไม่อาจโหวตเห็นชอบ

สำหรับประชาชนที่ไม่มีทางเลือกในการออกเสียงประชามติ จึงไม่อาจลงคะแนน “เห็นชอบ” เพราะไม่ได้เห็นด้วยกับหลักการตามที่คำถามนั้นตั้งไว้ โดยยังมีความเป็นไปได้ว่าประชาชนที่ไม่มีทางเลือกก็อาจตัดสินใจทางใดทางหนึ่งต่อไปนี้

1) ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน เพราะอาจไม่รู้ว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไร

2) ไปใช้สิทธิ แต่ลงคะแนนในช่อง “ไม่แสดงความคิดเห็น”

3) ไปใช้สิทธิและจงใจทำบัตรเสีย โดยการไม่กาช่องใด หรือขีดเขียนข้อความอื่นลงในบัตร

4) ไม่ใช้สิทธิลงคะแนน “ไม่เห็นชอบ” เพราะไม่เห็นด้วยกับคำถาม

ทำให้เสียงประชาชนที่อาจจะลงคะแนน “เห็นชอบ” มีน้อยลง แม้ว่าประชาชนทั้งสี่กลุ่มนี้เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตาม

เกณฑ์ “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” อาจทำให้ประชามติไม่ผ่าน

โจทย์ที่เป็นประเด็นสำคัญต่อไป คือ ในการทำประชามติครั้งนี้ จะต้องอาศัยกฎเกณฑ์ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ซึ่งมาตรา 13 กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ต้องอาศัยหลักเกณฑ์ “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” หรือ Double majority ที่อาจเป็นเงื่อนไขให้การทำประชามติล้มเหลวได้ 


ความหมายของมาตรา 13  คือ การทำประชามติจะมีข้อยุติว่า “ผ่าน” จะต้องมีเงื่อนไขสองชั้นที่ต่อเนื่องกัน 

ชั้นที่ 1 ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง เช่น ถ้า “ผู้มีสิทธิออกเสียง” มีจำนวน 50 ล้านคน ต้องมี “ผู้ออกมาใช้สิทธิ” มากกว่า 25 ล้านคน ถ้าผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยกว่านั้นจะทำให้ประชามตินั้นตกไป

ชั้นที่ 2 ต้องมีจำนวนเสียงที่ “เห็นชอบ” เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เช่น ถ้ามีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวน 30 ล้านคน ต้องมีผู้ลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับประเด็นนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งเกิน 15 ล้านคน ผลการออกเสียงจึงจะเป็นข้อยุติ

หากไม่ครบเงื่อนไขทั้งสองชั้นก็จะถือว่าการทำประชามตินั้น “ไม่มีข้อยุติ” แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชน “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” สำหรับการจัดทำประชามติที่ต้องการความเห็นชอบจากประชาชนเพื่อเดินหน้าทำกระบวนการใดต่อ ประชามติที่ “ไม่มีข้อยุติ” ก็เท่ากับ “ไม่ผ่าน” ความเห็นชอบจากประชาชนนั่นเอง

ต้องการเสียง 13.25 ล้านคนประชามติจึงจะ “ผ่าน”

ภายใต้เงื่อนไขของมาตรา 13 เช่นนี้ หมายความหากประชาชนไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจะส่งผลต่อการลงประชามติว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านด้วย หรือหากประชาชนไปออกเสียงแต่ทำบัตรเสีย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หรือหากประชาชนลงคะแนนในช่อง “ไม่แสดงความคิดเห็น” ก็จะส่งผลต่อการลงประชามติว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านด้วย

สำหรับการเลือกตั้งสส. ในปี 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งเคยประกาศว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยมี 52.28 ล้านคน ดังนั้นในการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ซึ่งผู้ที่มีอายุถึง 18 ปี มีจำนวนมากขึ้น ก็คาดหมายได้ว่าจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 53 ล้านคน หากประชามติครั้งนี้จะได้รับความเห็นชอบจากประชาชน คณะรัฐมนตรีที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน ดังนี้

ชั้นที่ 1 ต้องมีผู้ออกไปใช้สิทธิ “เกินครึ่ง” หรือ 26.5 ล้านคน

ชั้นที่ 2 ต้องมีผู้ลงคะแนน “เห็นชอบ” เกินครึ่ง หรือ 13.25 ล้านคน

หากไม่ได้เงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งแล้วประชามติครั้งนี้จะได้ผลสรุปว่า “ไม่ผ่าน”

อย่างไรก็ดี สส. จากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ได้นำเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติฯ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว หากมีการแก้ไขเสร็จสิ้นก่อนการทำประชามติก็อาจทำให้หลักเกณฑ์ที่ประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่านเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าหากรัฐสภาพิจารณาแก้ไขเสร็จสิ้นไม่ทันก่อนการทำประชามติครั้งนี้ รัฐบาลก็ยังต้องอาศัยเสียงรับรองจากประชาชนอย่างน้อย 13.25 ล้านเสียงเพื่อจะผ่านประชามติ

ในการทำประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2550 ผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 45 ล้านคน มีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ 14,727,306 คน

ในการทำประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2559 ผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 50 ล้านคน มีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ 16,820,402 คน