กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นแนวทางประชามติสู่รธน.ใหม่ ยันคำถามต้องเปิดกว้างและเลือกตั้งสสร. 100%

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 9.00 น. กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) เข้าแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560  เวลา 9.30 น. เจ้าหน้าที่เริ่มอธิบายกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า มีภาคประชาชนกลุ่มใดเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้บ้าง (อ่านรายละเอียดทั้งหมดด้านล่าง) ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจะไล่เรียงตามลำดับที่จัดไว้ ให้เวลาคนละ 2 นาที กรณีที่องค์กรมาสามคนสามารถสละเวลาให้ได้  จากนั้นนิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 จึงอธิบายคำถามสำหรับการรับฟังความคิดเห็นที่ให้ผู้เข้าร่วมกรอกแยกต่างหาก ประกอบด้วยคำถาม 6 ข้อ เช่น เห็นสมควรในการจัดทำรัฐธรรมนูญอย่างไร ทั้งฉบับ หรือยกเว้นหมวด 1 และ 2  

เวลา 9.50 น. นิกรขอให้รอภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีก่อนเนื่องจากไม่อยากเริ่มไปก่อนโดยที่ภูมิธรรมยังไม่มา จนกระทั่งเวลาประมาณ 9.56 น. ภูมิธรรมเดินทางมาถึงโดยกล่าวในเรื่องรัฐธรรมนูญ  2560 ว่า เรามีเจตจำนงที่แน่วแน่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เราเห็นว่า มีข้อจำกัดมากและมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยน้อยมากหรือไม่เป็นประชาธิปไตย โดยมองเป้าหมายและหลักการดังนี้

  1. อยากเห็นรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด
  2. การดำเนินการต้องมีรัฐธรรมนูญแก้ไขสำเร็จเป็นที่ยอมรับภายในรัฐบาลนี้ การเลือกตั้งครั้งใหม่ต้องเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ มีกฎหมายลูกที่พร้อม
  3. รัฐธรรมนูญเขียนใหม่ได้และต้องผ่าน ต้องเป็นฉันทานุมัติหาจุดร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมาเคยเสนอแล้วแต่ไม่ผ่าน ทำให้จมอยู่กับรัฐธรรมนุญฉบับเดิม
  4. กระบวนการนี้พยายามรับฟังความเห็นให้มากที่สุด  และให้มีคณะกรรมการรับฟังเพื่อเชิญประชาชนแต่ละภาคส่วนมาเสนอความเห็น

ภูมิธรรมระบุว่า วันนี้ทุกคนพูดได้เต็มที่และพยายามหาแนวทางที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตามเจตจำนงของรัฐบาลคือ จะไม่แตะต้องหมวด 1 และ  2 และจะไม่เข้าไปละเมิดพระราชอำนาจไม่ว่าจะอยู่หมวดใด  จากนั้นเวลา 10.09 น. จึงเริ่มเปิดประชุมมีความเห็นแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทุกหมวดทุกมาตรา  2. เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยกเว้นหมวด 1 และ 2 3.  เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยกเว้นหมวด 1 และ 4. เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ไม่ได้มีการระบุถึงหมวด 1 และ 2 โดยบางกลุ่มอาจจะไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยตรงแต่บอกเล่าปัญหาของกลุ่มตนเองเป็นการเฉพาะ  ซึ่งสิริพรรณ นกสวน สวัสดี ระบุว่า เนื้อหาปัญหาต่างๆเหล่านี้จะรับไว้เท่าที่ขอบเขตของกรรมการจะทำได้

ในส่วนของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเสนอกับคณะกรรมการฯ มีดังนี้ 

1. รูปแบบคำถามประชามติจะส่งผลโดยตรงต่อผลการทำประชามติ หากคำถามประชามติไม่ได้เป็นไปตามหลักการ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” หรือมีการตีกรอบไม่ให้แก้ไขในบางหมวดบางมาตรา ก็อาจจะทำให้ประชาชนผู้ออกเสียงประชามติเกิดข้อสงสัย หรืออาจจะทำให้ตัดสินใจลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ ทำให้มีโอกาสที่เสียงส่วนใหญ่จะไม่ให้ความเห็นชอบไปด้วย และอาจจะเป็นการปิดประตูการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น คำถามประชามติจึงควรยึดหลักการว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ให้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนได้ทั้งฉบับและประชาชนเป็นผู้เลือกคนที่จะมายกร่างโดยตรง 

2. ไม่จำเป็นต้องกังวลว่า สว. จะขวางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะหากคำถามประชามติเขียนไว้ชัดเจนว่าให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็เป็นเรื่องยากที่ สว. ที่แม้จะมาจากการแต่งตั้งจะปฏิเสธเสียงของประชาชน การทำประชามติจึงเป็นโอกาสที่ดีในการยืนยันหลักการอำนาจของประชาชนกับผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง ในทางกลับกัน หากคำถามไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนตามหลักการข้างต้น ก็จะเป็นการเปิดประตูให้กับ สว. ในการกำหนดเงื่อนไขในชั้นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาจนทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำได้ไม่เต็มที่ 

3. สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่อยู่แค่เนื้อหาเท่านั้น แต่ที่มาที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 ขาดความชอบธรรมในสายตาประชาชน ดังนั้น การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องคิดถึงเรื่องความชอบธรรมเป็นอันดับต้น โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในประเด็นข้อกังวลว่าหาก สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นจะทำให้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนรายประเด็น เช่น ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ หรือแรงงาน เข้าไปนั้น สามารถทดแทนได้โดยการกำหนดให้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เข้ามาช่วยเหลือได้ โดยใช้กลไกตั้งอนุกรรมาธิการเข้ามาให้ความเห็นหรือจัดทำข้อเสนอต่อ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

4. พ.ร.บ. ประชามติฯ ต้องไม่เป็นข้ออ้างถ่วงเวลา พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 กำหนดให้ต้องมีผู้มาออกเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าควรจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกหลักเกณฑ์นี้เสียก่อน อย่างไรก็ดี แม้หลักเกณฑ์นี้จะเป็นปัญหาจริง แต่ก็ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการทอดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกไป ประเด็นในเรื่องนี้แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับคำถามประชามติมากกว่ากฎหมาย เนื่องจากกระแสสังคมในปัจจุบันประชาชนตื่นตัวเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เป็นทุนเดิม หากคำถามประชามตินำประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็ไม่เป็นเรื่องยากที่ประชาชนจำนวนมากจะออกมาใช้สิทธิลงคะแนน แต่หากคำถามประชามติมีปัญหา ก็อาจจะทำให้สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิน้อยตามจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามติ

พร้อมกันนี้ตัวแทนได้ยื่นข้อมูลการสำรวจความเห็นของประชาชนให้กับภูมิธรรมด้วย หลังจากที่ตัวแทนของกลุ่มภาคประชาชนได้พูดครบถ้วนทุกองค์กรแล้ว จึงเปิดให้ผู้สังเกตการณ์และกรรมการได้แสดงความคิดเห็น เช่น จาตุรนต์ ฉายแสงในฐานะผู้สังเกตการณ์ ระบุว่า เห็นด้วยที่ว่าการตั้งคำถามในประชามติครั้งแรกจะต้องเปิดกว้างไว้ก่อน ส่วนข้อถกเถียงประการอื่นให้ไปพูดคุยกันในตอนที่จะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในขั้นตอนถัดไป ถ้าจะทำประชามติกัน เราต้องตั้งหลักก่อนว่า ทำเพื่ออะไร เราทำประชามติเพื่อให้ประชาชนมอบอำนาจให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเราไม่คิดกติกาและการตั้งคำถามให้ดี เท่ากับเราขุดหลุมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอีกยาวนาน  

นิกรระบุว่า จากการไปพูดคุยที่พรรคก้าวไกลมีความกังวลเรื่องการตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำของผู้ออกเสียงตามพ.ร.บ.ประชามติฯ  ที่อาจไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนโดยแท้จริง วุฒิสาร ตันไชย ในฐานะประธานอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ระบุว่า ในประเด็นเรื่องพ.ร.บ.ประชามติฯ ได้เชิญกกต.มาพูดคุย ตอนนี้มีหลายเรื่องที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ เรื่อง double majority จริงๆแล้วมีความสำคัญ แต่อาจจะต้องทบทวนว่า มีความจำเป็นอย่างไร อีกประเด็นหนึ่งคือ  กฎหมายประชามติในปี 2550 มีสองแบบคือ แบบผูกพันและแบบหารือ การหารือคือใช้เป็นประเด็นเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งจะผูกพันกับที่ไอลอว์กล่าวถึงคำถามที่ควรเป็นปลายเปิด กกต.มองว่า กฎหมายไม่ได้เขียนเรื่องหารือไว้ แต่เขามองว่า ยังไม่ยุติ 

นิกรย้ำในตอนท้ายเรื่องการแก้ไขหมวด 1 และ 2 ที่เป็นคำสัญญาที่รัฐบาลให้ไว้  แต่ทั้งสองฝ่ายมองไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งมองว่า ต้องตั้งคำถามแคบเรื่องนี้ไว้ก่อน มิเช่นนั้นจะมีความขัดแย้ง แต่อีกฝ่ายมองว่า หากตั้งคำถามแคบจะกลายเป็นความขัดแย้ง ซึ่งจะต้องพิจารณาต่อไป


ภาคประชาชนที่เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็น 

  • สมาคมสันนิบาต
  • กรรมกรและเกษตรอิสระ
  • สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
  • กลุ่มศิลปิน
  • กลุ่มสลัมสี่ภาค
  • ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) 
  • ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)
  • เลขาธิการสมาพันธ์รัฐวิสหากิจสัมพันธ์ (สรส.)
  • สมาพันธ์รัฐวิสหากิจสัมพันธ์ (สรส.)
  • สมัชชาคนจน
  • รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ รักษาการแทนเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ
  • ผอ. กองยุทธศาสตร์ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ 
  • กลุ่มความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ
  • ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move)
  • นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์
  • ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์
  • กลุ่มรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
  • ครช.
  • ผู้แทนจากกรมเสมียนตรา
  • ฝ่ายความมั่นคง
  • สถาบันพระปกเกล้า
  • ผู้แทนกรมพระธรรมนูญ
You May Also Like
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย
Phue Thai Needs
อ่าน

รัฐบาลเพื่อไทย ต้องมีอย่างน้อย 13.25 ล้านเสียง เพื่อผ่านประชามติ “คำถามติดล็อก”

รัฐบาลเพื่อไทยให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญ โดยคำถามที่มีเงื่อนไข ตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ประชามติ จะผ่านได้ต้องอาศัย “เสียงข้างมากสองชั้น” ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายเลย