เปิดข้อเสนอรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ-คำนำหน้า จากร่างกฎหมาย 3 ฉบับ

กฎหมายไทยในปัจจุบัน ยังรับรองสิทธิ-สถานะของบุคคล โดยยึดจากเพศภายใต้กรอบสองเพศ คือ “ชาย-หญิง” สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการรับรองสิทธิ-สถานะในกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายแพ่งเรื่องการสมรส การกำหนดคำนำหน้านาม รวมถึงเอกสารแสดงตนทางราชการที่ระบุได้เพศชายและหญิง แต่เมื่อเพศของบุคคลซึ่งยึดโยงกับลักษณะเพศทางชีววิทยา ก็ไม่ได้มีเพียงสองแบบเท่านั้น ยังมีบุคคลที่เป็น Intersex ซึ่งกฎหมายยังไม่รับรองสิทธิและสถานะของบุคคลกลุ่มนี้ และนอกจากนี้ อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ (Gender Identity) ของบุคคลก็อาจจะไม่ได้สอดคล้องกับเพศเสมอไป เมื่อยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดกลไกรับรองสิทธิและสถานะที่ชัดเจน ก็ทำให้บุคคลเหล่านี้ต้องเผชิญปัญหาทั้งการยอมรับของผู้คนในสังคม และการแสดงตัวตนในระบบราชการ
จากปัญหาดังกล่าว ทั้งภาคประชาชน หน่วยงานรัฐ รวมถึงผู้แทนราษฎร ต่างก็มีข้อเสนอออกมาเป็นร่างกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในปี 2566 มีร่างกฎหมายอย่างน้อยสามฉบับที่เกี่ยวข้องกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ-คำนำหน้า จากหลายภาคส่วนที่ขับเคลื่อนร่างกฎหมาย ร่างแต่ละฉบับมีสถานะแตกต่างกัน ดังนี้
1) ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT) เป็นร่างที่ภาคประชาชนร่างขึ้น โดยใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมายซึ่งต้องรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีขึ้นไป) อย่างน้อย 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเปิดให้เข้าชื่อผ่านทาง

https://www.gen-act.org/

2) ร่างพระราชบัญญัติรับรองเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ) ซึ่งผลักดันโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ 11-30 กันยายน 2566 ทาง https://www.law.go.th/listeningDetail?survey_id=MjY2MURHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=
โดยร่างกฎหมายที่หน่วยงานรัฐจัดทำ จะเสนอต่อสภาผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) 
3) ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยเปิดรับฟังความเห็นประชาชน ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2566 สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=292
ร่างกฎหมายทั้งสามฉบับแม้มีหลักการทำนองเดียวกัน แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างกำหนดไว้แตกต่างกัน โดยสรุปได้ ดังนี้
เงื่อนไขในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ
ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ที่ภาคประชาชนกำลังเปิดให้เข้าชื่ออยู่นั้น และร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ จัดทำโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กำหนดหลักเกณฑ์ในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศทำนองเดียวกัน บุคคลมีสิทธิในการรับรองกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจำนงของตนเองได้ โดยไม่ใช้กระบวนการทางการแพทย์มาเป็นเงื่อนไข
๐ กรณีบุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป : สามารถยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่ (ตามกฎหมายจะเรียกว่า “นายทะเบียน” ) ได้ที่สำนักทะเบียนกรุงเทพมหานคร (ในสำนักงานเขต 50 เขต) สำนักทะเบียนจังหวัด สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น เช่น เทศบาล สำหรับบุคคลสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับกำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของสถานทูตหรือสถานกงสุล
๐ กรณีบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี : ต้องได้รับความยินยอมจากจากผู้แทนโดยชอบธรรม (บิดามารดา) 
  • หากได้รับความยินยอมจากบิดามารดา : สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพได้เลย 
  • หากความยินยอมของเด็กขัดกับความเห็นบิดามารดา : ใช้กลไกขอคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัว
ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ) ซึ่งเสนอโดย สส.พรรคก้าวไกลนั้น จะมีเงื่อนไขในการรับรองเพศที่ซับซ้อนกว่า กล่าวคือ
  • ผู้ที่จะขอให้รับรองเพศสภาพได้นั้น จะต้องมีสัญชาติไทย ไม่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จำคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์  และต้องไม่เป็นผู้มีรายชื่อในฐานข้อมูลอาชญากรรมข้ามชาติในคดีความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์
  • กรณีผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีแต่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส (เช่น สมรสอายุ 17 ปี โดยบิดามารดายินยอม) สามารถขอรับรองเพศสภาพได้เลย ในร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องการใช้กระบวนการทางการแพทย์ไว้
  • กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี และไม่ได้บรรลุนิติภาวะจากการสมรส ถ้าจะขอให้รับรองเพศสภาพ จะต้อง 1) ใช้เอกสารที่ระบุว่าได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครอง 2) ใช้เอกสารรับรองจากจิตแพทย์หนึ่งคน เพื่อรับรองว่าผู้ยื่นคำขอรับรองเพศมีความพร้อมทางด้านจิตใจ และประสงค์จะดำรงชีวิตในเพศที่จะขอให้รับรอง ทั้งนี้ หากจิตแพทย์ออกเอกสารรับรองอันเป็นเท็จ จะมีความผิดทางอาญาด้วย มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยการไปขอรับรองเพศตามร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล บุคคลจะต้องไปขอรับรองเพศที่สำนักทะเบียนในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น
สำหรับผลที่ตามมาจากการขอรับรองเพศสภาพ ในร่างทั้งสามฉบับกำหนดไว้ใจความสำคัญทำนองเดียวกัน คือนายทะเบียนจะต้องแก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎร ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขคำนำหน้านามและคำระบุเพศสภาพในเอกสารราชการต่างๆ เช่น บัตรประชาชน 
ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล มีข้อแตกต่างจากร่างกฎหมายอีกสองฉบับ ตรงที่กำหนดให้ผู้ได้รับรองเพศสภาพจะต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานให้ออกหรือแก้ไขเอกสารให้ตรงกับข้อมูลคำนำหน้าและเพศ ได้แก่ 1) ทะเบียนบ้าน 2) บัตรประชาชน 3) หนังสือเดินทาง 4) ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ 5) เอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการอื่นๆ ที่หน่วยงานรัฐออกให้ ส่วนสูติบัตรนั้นจะยื่นคำขอแก้ไขข้อมูลหรือไม่ก็ได้ ถ้าหากบุคคลที่ได้รับการรับรองเพศสภาพแล้วแต่ไม่ยอมไปดำเนินการยื่นคำขอต่อหน่วยงานให้ออกหรือแก้ไขข้อมูล จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
การใช้คำนำหน้า
ตามร่างกฎหมายทั้งสามฉบับ กำหนดหลักการทำนองเดียวกันว่า เมื่อบุคคลขอรับรองเพศแล้วก็สามารถใช้คำนำหน้าได้ตามเพศสภาพที่ตนขอรับรองไว้ แต่ในรายละเอียดอื่น ร่างกฎหมายทั้งสามฉบับกำหนดไว้แตกต่างกัน ดังนี้
  • ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ฉบับภาคประชาชน : กำหนดให้ Intersex ที่ยังไม่ได้รับรองเพศสภาพ และบุคคลซึ่งมีเพศสภาพที่ไม่ได้อยู่ในระบบสองเพศให้ระบุเป็นเพศกรณีอื่น (Other/X) ไม่ต้องระบุคำนำหน้านาม
  • ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว : นอกจากกำหนดให้บุคคลใช้คำนำหน้าตามเพศสภาพได้ ยังเปิดช่องให้สามารถเลือกไม่ระบุคำนำหน้าก็ได้
  • ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับพรรคก้าวไกล : กำหนดให้ผู้ที่เป็น “เพศหลากหลาย” (ซึ่งหมายถึง บุคคลที่มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศ – บุคคลที่ไม่ต้องการนิยามว่าตนเองชายหรือหญิง หรือ Non-Binary) ใช้คำนำหน้าว่า “นาม”
สิทธิหน้าที่ของผู้ที่รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ
ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ฉบับภาคประชาชน และร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กำหนดหลักทำนองเดียวว่า บุคคลที่ผ่านกระบวนการรับรองเพศสภาพ จะมีสิทธิและหน้าที่ตามเพศสภาพที่ได้รับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ แต่ไม่กระทบกับสถานะความเป็นคู่สมรส บิดามารดา รวมถึงสถานะอื่นๆ ที่ในร่างกฎหมายกำหนดไว้
กำหนดให้สิทธิ หน้าที่ เป็นไปตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพที่ได้รับรองนั้น จะสัมพันธ์กับการกำหนดสิทธิหน้าที่ในกฎหมายอื่นๆ เช่น ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดให้ ชายสัญชาติไทย มีหน้าที่รับราชการทหาร ดังนั้นผู้ที่เปลี่ยนแปลงข้อมูลในเอกสารราชการและระบบทะเบียนราษฎร เป็นเพศชาย ก็จะมีหน้าที่ตามกฎหมายนี้เช่นกัน
สำหรับ Intersex และ Non-Binary ที่ตามข้อมูลทะเบียนราษฎรระบุไว้ว่าเป็นเป็นเพศกรณีอื่น (Other/X) ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ฉบับภาคประชาชน กำหนดให้มีสิทธิและหน้าที่ในฐานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย
ขณะที่ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับที่ สส.พรรคก้าวไกลเสนอนั้น กำหนดสิทธิหน้าที่ให้บุคคลผู้มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศนั้น มีสิทธิหน้าที่ตามเพศกำเนิด ซึ่งหมายความว่าผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศชาย จะต้องเกณฑ์ทหารด้วย แต่ในร่างฉบับนี้ก็กำหนดต่อไปว่า กระทรวงกลาโหมจะต้องออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการฝึก การประจำการ เป็นการเฉพาะสำหรับกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศสภาพและความปลอดภัย และในร่างฉบับนี้ ยังยกเว้นให้บุคคลข้ามเพศที่ผ่านการรับรองเพศ ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร และยังกำหนดความผิดหากผู้ใดขอรับรองเพศโดยเจตนาหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร หรือเจตนาไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายรับราชการทหารกำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกิน 80,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การระบุเพศสำหรับเด็กที่เกิดมาเป็น Intersex
ตามกฎหมายไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังกำหนดความเป็น “เพศ” ไว้เพียงกรอบ “ชาย-หญิง” เท่านั้น จะเห็นได้จากการระบุในเอกสารราชการ ไม่ว่าจะเป็นสูติบัตร ประชาชน รวมถึงถ้อยคำในตามกฎหมาย เช่น การสมรส ก็ยังจำกัดเฉพาะระหว่างชาย-หญิง อย่างไรก็ดี โลกนี้ก็ยังมีมนุษย์ที่ลักษณะทางชีววิทยาไม่ตรงกับกรอบที่รัฐกำหนด เช่น มีอวัยวะสืบพันธ์ โคมโมโซม หรือระบบภายใน ที่แตกต่างออกไปจาก ซึ่งในภาษาที่หลายคนคุ้นชินอาจเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า ผู้มีเพศกำกวม (Intersex) ซึ่งในร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ฉบับภาคประชาชน ใช้คำว่า บุคคลที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาที่หลากหลาย ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ใช้ทับศัพท์เลยว่า บุคคลอินเตอร์เซ็กส์ ขณะที่ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอ ใช้คำว่า บุคคลเพศกำกวม
ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ กำหนดกลไกสำหรับเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อเด็กที่เกิดมาเป็น Intersex ให้ระบุเพศในสูติบัตรว่าเป็นบุคคลที่มีลักษณะทางชีววิทยาที่หลากหลาย และระบุในเอกสารราชการหรือบัตรประชาชนของเด็กนั้นว่าเป็นเพศกรณีอื่น (Other/X) และเมื่อบุคคลนั้นมีอายุ 15 ปีแล้ว ก็มีสิทธิยื่นคำขอเพื่อระบุเพศและชื่อตัวในใบสูติบัตร รวมถึงเครื่องหมายระบุเพศสภาพในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจำนงของตนได้ ส่วนร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจัดทำขึ้น กำหนดให้เด็กที่เกิดมาเป็น Intersex จะระบุในสูติบัตรของเด็กว่า อินเตอร์เซ็กส์ และมีสิทธิในการขอรับรองเพศสภาพเมื่ออายุ 15 ปีเช่นกัน 
ขณะที่ร่างฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอ กำหนดรายละเอียดแตกต่างออกไป โดยกำหนดว่าไม่ต้องระบุเพศของทารกที่เกิดมาเป็น Intersex ในใบสูติบัตร และไม่ต้องระบุคำนำนามหน้าในใบทะเบียนบ้าน แต่เมื่อเด็กอายุเจ็ดปีขึ้นไป ก็จะมีสิทธิว่าจะเลือกใช้คำนำหน้า เด็กชายหรือเด็กหญิง ในบัตรประชาชน หรือจะไม่เลือกคำนำหน้าเลยก็ได้ แต่เมื่อเด็ก Intersex ที่ไม่เลือกใช้คำนำหน้าอายุ 15 ปีแล้ว ก็จะต้องเลือกใช้คำนำหน้า นายหรือนางสาว อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อระบุในบัตรประชาชน รวมไปถึงการแก้ไขในเอกสารราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี คำนำหน้าที่เลือกไปก็ยังสามารถเปลี่ยนได้ เพียงแต่กระบวนการจะไม่ได้ง่ายนัก เพราะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเปลี่ยนเพศและคำนำหน้า
ร่างกฎหมายทั้งสามฉบับ กำหนดหลักการที่สำคัญไว้เหมือนกันคือห้ามผ่าตัดเลือกเพศเด็กทารกที่เกิดมาเป็น Intersex แต่ในรายละเอียดปลีกย่อย หรือข้อยกเว้นนั้น กำหนดต่างกันออกไป กล่าวคือ 
ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ที่ภาคประชาชนขับเคลื่อน กำหนดห้ามมิให้ทำการผ่าตัดเพื่อเลือกเพศ และหรือใช้กระบวนการผ่าตัดในการแทรกแซงลักษณะทางเพศของเด็กจนกว่าบุคคลนั้นจะแสดงความยินยอมได้ด้วยตนเอง และหากเด็กมีความประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดเพื่อเลือกเพศ การให้ความยินยอมจะกระทำผ่านบิดามารดา หากมีผู้ฝ่าฝืน ก็จะมีความผิดตามฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาเหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (2)
ส่วนในร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กำหนดห้ามผ่าตัดเลือกเพศเด็ก Intersex ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี แต่ก็มีข้อยกเว้นที่สามารถทำได้ คือ กรณีที่เว้นแต่กรณีที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของเด็กนั้น ส่วนกรณีของผู้ที่อายุ 15 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปี หากประสงค์จะผ่าตัดเลือกเพศตัวเองก็ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาก่อน เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายก่อนอายุ 18 ปี (เช่น ผ่านการจดทะเบียนสมรสโดยบิดามารดายินยอม)
ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ กำหนดข้อยกเว้นในการผ่าตัดเลือกเพศไว้คล้ายกัน คือ การผ่าตัดเลือกเพศจะทำได้เพาะกรณีที่ได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์ว่าจำเป็นต้องทำเพื่อให้ทารกนั้นมีชีวิตรอด
การรับรองสิทธิอื่นๆ
ในร่างกฎหมายทั้งสามฉบับ ยังระบุถึงสิทธิที่ชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นๆ รายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน เช่น
ร่างฉบับภาคประชาชน ร่างฉบับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่างฉบับพรรคก้าวไกล
ผู้มีครรภ์ (ไม่ว่าเพศสภาพใด) มีสิทธิทำแท้งได้ตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายอาญา
  • สิทธิลาเพื่อใช้กระบวนการแพทย์ยืนยันเพศสภาพ
  • คุ้มครองอวัยวะเพศที่เกิดจากการศัลยกรรมแปลงเพศ
  • คุ้มครองข้อมูลอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตาม PDPA
  • นักเรียน นักศึกษาที่เป็นคนข้ามเพศ มีสิทธิแต่งกาย ไว้ทรงผมตามเพศที่รับรอง
  • หน่วยงานกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังบุคคลข้ามเพศอย่างเหมาะสม คำนึงถึงความปลอดภัย
  • บุคคลข้ามเพศมีสิทธิแข่งขันกีฬาตามเพศสภาพ