ส.ว.ประชุมลับ เห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ 4 คน ไม่เห็นชอบ 1 คนตัวแทนศาลปกครองสูงสุด

11 กุมภาพันธ์ 2563 วุฒิสภามีมติเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับเสนอตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ) ได้ขอเลื่อนการพิจารณาคุณสมบัติมากถึง 4 ครั้ง นับจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 162 วัน สุดท้ายแล้ววุฒิสภามีมติเห็นชอบว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 4 จาก 5 คน คนที่ไม่ได้รับการเห็นชอบคือ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตัวแทนจากศาลปกครองสูงสุด

 

วุฒิสภาเห็นชอบว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 จาก 5 คน

ที่ประชุมวุฒิสภา มีนัดประชุมในวาระ ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ตามมาตรา 12 วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561) โดยมีผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมดห้าคน ได้แก่

1. ผู้ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) ของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 3 คน คือ

  • อุดม สิทธิวิรัชธรรม ผู้พิพากษาศาลฎีกา เสียงข้างมากเห็นชอบ 216 คะแนน ไม่เห็นชอบ 3 คะแนน ไม่ออกเสียง 0 คะแนน
  • วิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาศาลฎีกา เสียงข้างมากเห็นชอบ 216 คะแนน ไม่เห็นชอบ 3 คะแนน ไม่ออกเสียง 0 คะแนน
  • จิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เสียงข้างมากเห็นชอบ 217 คะแนน ไม่เห็นชอบ 2 คะแนน ไม่ออกเสียง 0 คะแนน

2. ผู้ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) ของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 1 คน คือ

  • ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด เสียงข้างมากไม่เห็นชอบ 139 เสียง เห็นชอบ 52 คะแนน ไม่ออกเสียง 28 คะแนน 

3. ผู้ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (5) ของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 1 คน คือ

  • นภดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงต่างประเทศ เสียงข้างมากเห็นชอบ 203 คะแนน ไม่เห็นชอบ 12 คะแนน ไม่ออกเสียง 4 คะแนน

สุดท้ายแล้วถือว่าวุฒิสภามีมติเห็นชอบว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 4 จาก 5 คน คนที่ไม่ได้รับการเห็นชอบคือ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตัวแทนจากศาลปกครองสูงสุด

 

วุฒิสภาเลื่อนพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ 4 ครั้ง รวมกว่า 160 วัน

การพิจารณาคุณสมบัติผู้ได้รับเลือกเป็นศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน เริ่มตั้งแต่การประชุมวุฒิสภา 2 กันยายน 2562 โดยที่ประชุมได้มีมติตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ กำหนดเวลาปฏิบัติงานภายใน 45 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภามีมติตั้ง กมธ.ดังกล่าว ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 16 ตุลาคม 2562 แต่ทว่าวุฒิสภาได้ขยายเวลาออกไปถึง 4 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขอขยายเวลาในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 16 กันยายน 2562 เป็นเวลา 30 วัน
  • ครั้งที่ 2 กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขอขยายเวลาในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 20 ตุลาคม 2562 เป็นระยะเวลาอีก 30 วัน
  • ครั้งที่ 3 กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขอขยายเวลาในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 3 ธันวาคม 2562 เป็นเวลาอีก 30 วัน
  • ครั้งที่ 4 กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขอขยายเวลาในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 6 มกราคม 2563 เป็นเวลาอีก 15 วัน

ซึ่งกำหนดครบระยะเวลาในวันที่ 29 มกราคม 2563 และได้ดำเนินการแล้วเสร็จจนนัดประชุมลงมติในวันนี้ โดยได้ทำรายงานคุณสมบัติเป็นรายงานลับรายงานต่อวุฒิสภา

การขยายระยะเวลาการพิจารณาคุณสมบัติว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น กำหนดอยู่ในข้อที่ 105 วรรคสอง ของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 กำหนดให้การตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลต้องกระทําให้เสร็จครบทุกรายภายใน 60 วันนับแต่วันที่ตั้งกรรมาธิการสามัญ ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในกําหนดเวลาดังกล่าว กมธ.อาจขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน เว้นแต่จะมีกฎหมายกําหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น

แต่เนื่องจากการขอขยายเวลาของ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ เป็นการขอขยายเวลาเกินที่ข้อที่ 105 วรรคสองกำหนด คือ 90 วัน ดังนั้น ที่ประชุมจึงลงมติให้งดใช้ข้อบังคับ ข้อ 105 วรรคสอง เป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณีนี้ เพื่อให้ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขยายเวลาการพิจารณาได้ตามที่ต้องการ

 

ประธาน กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ยอมรับใช้เวลาพิจารณานาน แต่บอกเหตุผลไม่ได้

ในการประชุมวุฒิสภา ก่อนเข้าช่วงประชุมลับในการพิจารณาคุณสมบัติของว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้เปิดโอกาสให้ ส.ว.ได้สอบถามเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาหลังจาก พล.อ.อู้ด เบื้องบน ประธาน กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ รายงานการทำงานแล้วเสร็จ

วันชัย สอนสิริ ได้สอบถามว่า ในขั้นตอนการทำงานของ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขอขยายระยะเวลามากถึง 4 ครั้งนั้น อยากจะให้ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ อธิบายเหตุผลว่าเหตุใดจึงใช้ระยะเวลายาวนานเช่นนี้

พล.อ.อู้ด เบื้องบน ประธาน กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ได้ตอบในประเด็นนี้ว่า การทำงานของ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ นั้นถูกจำกัดด้วยระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด แต่ในทางปฏิบัตินั้นต้องมีหน่วยตรวจสอบในเรื่องต่างๆ ตามที่ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ต้องการตรวจสอบในเชิงลึก ซึ่งในการตรวจสอบแต่ละครั้งเป็นการตรวจสอบในเรื่องลับ ซึ่งไม่สามารถพูดในที่นี้ได้

ขั้นตอนการตรวจสอบนั้น เมื่อได้รับข้อมูลประวัติมาแล้วทาง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ก็จะส่งรายละเอียดตามที่ต้องการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งระบุไปว่าเป็นเรื่องลับ ในกรณีที่เป็นเรื่องล่าช้านั้น เป็นเพราะระบบราชการของบ้านเรา ในการจัดเก็บเอกสารต่างๆ เป็นระบบเก่ารุ่นโบราณ จะหาแต่ละสิ่งได้จึงต้องใช้เวลา

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา ได้ให้ความเห็นว่า กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ควรจะอธิบายเหตุผลในการใช้ระยะเวลาได้ดีกว่านี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้การทำงานของวุฒิสภาซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และทำให้ประชาชนเห็นกระบวนการทำงานที่เข้มข้นที่จะตรวจสอบคุณสมบัติของคนที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

เสรี สุวรรณภานนท์ ได้อภิปรายว่า ในการตรวจสอบประวัติของ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ นั้น เข้าใจว่าการตรวจสอบนั้นมีความเข้มข้น จึงต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานออกไป หากการใช้เวลาที่มากขึ้น ทำให้การตรวจสอบนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ ผมก็ขอขอบคุณ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ที่ทำงานอย่างเต็มที่

 

ส.ว.กังวล แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงตามคุณสมบัติ

ในการลงมติเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นหลัง พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ถามว่า การเห็นชอบตุลาการทั้ง 5 คน ของ ส.ว. จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด นั่นก็คือ ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ที่ปัจจุบันมี 2 คน แต่กฎหมายกำหนดให้มีคนเดียว ดังนั้น พล.อ.ต.เฉลิมชัยจึงถามต่อว่า ถ้าให้ลดผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์โดยให้กรรมการย้าย ปัญญา อุดชาชน (อดีตเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ) ไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากสายอาชีพราชการแทนได้หรือไม่

ด้าน นัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ตอบว่า ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติฯ ส่วนพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ตอบเสริมว่า กรรมาธิการไม่มีอำนาจในการรับผิดชอบเรื่องนี้จึงไม่อนุญาตให้ถาม แต่การแก้ปัญหานี้เป็นปัญหาในข้อกฎหมาย ต้องแก้ตั้งแต่การร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งตอนนี้ก็สายไปเสียแล้วที่จะแก้ไข และเห็นว่าหากขัดกับรัฐธรรมนูญแต่แรก กรรมการสรรหาซึ่งเป็นด่านแรกต้องไม่ทำการสรรหาแล้ว แต่พอกรรมการสรรหาทำการสรรหามาแล้ว ผมก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ สุดท้ายแล้วปัญหาในข้อกฎหมายก็ทำให้ภาระตกมาที่ประธานวุฒิสภาอย่างผม

สมชาย แสวงการ อดีตวิป สนช. ผู้แปรญัตติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนอยู่ต่อ อภิปรายต่อว่า ปัญญา อุดชาชน อาจจะเข้ามาตรา 8 วรรค 1 (5) ได้ เนื่องจากมีตำแหน่งเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะเข้าใจว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านรัฐศาสตร์ ตามมาตรา 8 วรรค 1 (4) แต่ท่านจบรัฐศาสตร์ในปริญญาตรี แต่ท่านได้จบปริญญาเอก ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วด้วย ซึ่งไม่น่ามีปัญหาด้านคุณสมบัติ

พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม กล่าวว่า เคยเป็นกรรมาธิการร่าง พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เขียนแก้ไขปัญหานี้ไว้แล้วใน มาตรา 80 วรรค 4 ให้ศาล รธน. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อน ให้กรรมาธิการสรรหาเลือกว่าคนพวกนั้นจะอยู่ในประการใด

สุดท้าย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้ประกาศว่าหากไม่มีการอภิปรายใดใดแล้ว ตามระเบียบข้อที่ 112 วรรค 2 คณะกรรมาธิการสามัญร้องขอให้ประชุมสภาประชุมลับ และอนุญาตให้ประชุมลับจึงปิดการถ่ายทอดสด

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น