เลือกตั้ง 62: คดีไทยรักษาชาติจะจบเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการยุติการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ

ก่อนจะถึงการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่น่าติดตามมากที่สุดเรื่องหนึ่ง กองเชียร์ของพรรคนี้คงกำลังลุ้นกันอย่างหนักว่า พรรคที่เพิ่งมีชื่อเสียงขึ้นมาจะรอดจากข้อกล่าวหา “กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ได้หรือไม่ และจะกระทบถึงผลการเลือกตั้งของประเทศอย่างไร 

ย้อนเหตุการณ์การยื่นคำร้องขอยุบพรรคไทยรักษาชาติ

8 กุมภาพันธ์ 2562 หลังพรรคไทยรักษาชาติ สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่โดยเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค แต่ในช่วงดึกคืนวันเดียวกันก็มีพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ ชี้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

จนกระทั่งวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมกันแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องขอยุบพรรคไทยรักษาชาติต่อศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากเห็นว่า “กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) ซึ่งเป็นเหตุในการยุบพรรคได้ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว ในวันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 โดยให้เวลาพรรคไทยรักษาชาติยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 7 วัน

ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแก่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อต่อสู้ 8 ประเด็น และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 กกต. ได้ทำคำคัดค้าน และคำชี้แจงต่อศาลหลังจากพรรคไทยรักษาชาติยื่นคำชี้แจงต่อศาลเรียบร้อยแล้ว 

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดีอีกครั้ง โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงว่ายังไม่ใช่วันตัดสินยุบพรรค เป็นเพียงวันนัดพิจารณาคำชี้แจงพยานหลักฐานของทั้งผู้ร้อง (กกต.) และผู้ถูกร้อง (พรรคไทยรักษาชาติ) หลังจากนั้นศาลจึงจะมีมติว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ


ศาลจะสั่งไต่สวนเพิ่มหรือยุติการไต่สวนเลยก็ได้ 

ในนัดพิจารณาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นนัดประชุมภายในของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นขั้นตอนตามตามมาตรา 58 วรรค 1 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 เพื่อพิจารณาว่า จากเอกสารที่ทั้งสองฝ่ายยื่นมานั้น คดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอแล้วหรือไม่ 
หากศาลพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ ก็จะสั่งให้ไต่สวนต่อ โดยศาลต้องประกาศวันนัดไต่สวนครั้งแรก และคู่กรณีสามารถอ้างตนเอง หรือบุคคลอื่นมาเบิกความต่อศาล หรือหลักฐานอื่นส่งเข้ามาเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ในวันนัดไต่สวนครั้งแรก ศาลจะนั่งพิจารณาคดีไต่สวนพยาน หากยังไต่สวนไม่เสร็จ หรือยังได้พยานหลักฐานไม่เพียงพอศาลต้องกำหนดวันนัดไต่สวนต่อไป และทำการไต่สวนตามวันนัด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสามารถนัดวันไต่สวนพยานหลักฐานอีกกี่ครั้งก็ได้จนกว่าพยานหลักฐานเพียงพอจึงจะมีคำสั่งให้ยุติการไต่สวน

หากในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ศาลประชุมกันแล้วเห็นว่า คดีมีหลักฐานเพียงพอแล้ว ศาลสามารถพิจารณาวินิจฉัยได้เลย ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานหรือหาหลักฐานใดเพิ่มเติมอีก ศาลก็สามารถสั่งยุติการไต่สวนได้เลย

หลังจากศาลสั่งยุติการไต่สวน กระบวนการภายในของศาลจะเริ่มขึ้น โดยคู่ความและประชาชนจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้อีก โดยศาลจะประชุมปรึกษากันเพื่อพิจารณาวินิจฉัยพยานหลักฐานทั้งหมด และให้ตุลาการองค์คณะทำความเห็นส่วนบุคคล เพื่อแถลงในที่ประชุมศาล หลังจากนั้นองค์คณะจะนัดประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อให้มีมติร่วมกันเพื่อให้ทำเป็นคำพิพากษาคดี เมื่อแล้วเสร็จจะนัดหมายให้ผู้ร้อง และผู้ถูกร้องมาฟังคำพิพากษา 

คดีจะจบเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการสั่งยุติการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ

จากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 พบว่าในกฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องใช้เวลาได้ไม่นานเกินเท่าใด เช่น ระยะเวลาในการไต่สวนพยานหลักฐาน การนัดประชุมเพื่อลงมติขององค์คณะ หรือการนัดหมายวันอ่านคำพิพากษา กฎหมายให้อำนาจในการกำหนดวันเวลาเป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญเอง จึงทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่า คดีจะสิ้นสุดได้เร็ว หรือช้าสุดเมื่อไหร่

แต่สิ่งที่พอจะสังเกตได้ คือ ในขั้นตอนการออกคำสั่งยุติการไต่สวนคดี ถ้าศาลต้องการให้คดีนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ก็สามารถสั่งยุติการไต่สวนคดีตั้งแต่นัดพิจารณาหลักฐานได้ ทำให้คดีไม่ต้องมีการนัดไต่สวนพยานหลักฐานต่อ ศาลสามารถพิจารณาวินิจฉัย ลงมติเพื่อให้ได้คำพิพากษาได้อย่างรวดเร็ว และอาจเสร็จสิ้นไดก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 หรือภายหลังจากนั้นไม่นานนัก 

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น