สรุปเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญ ทำไม พ.ร.บ.ประชามติฯ ถึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ในเอกสารคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง 

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า “พ.ร.บ.ประชามติฯ” สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว โดยมีคำอธิบายดังนี้

1) การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีลักษณะพิเศษที่รัฐต้องคอยกำกับดูแล

ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า ถึงแม้การออกเสียงประชามติ ประชาชนจะต้องมีโอกาสรณรงค์แข่งขันโน้มน้าวสาธารณชนได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง แต่ถ้าดูการออกเสียงประชามติใน “นานาประเทศ” โดยเฉพาะประเทศที่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ หรือระบบการเมืองล้มเหลว จนต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอำนาจการปกครองอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลเฉพาะกาล จะพบว่า 

“รัฐจะมีบทบาทในการกำกับควบคุมการจัดการออกเสียงประชามติตั้งแต่การกำหนดสาระสำคัญของประเด็นคำถาม การรณรงค์เผยแพร่ข้อมูล รวมถึงการกำหนดกติกาการจัดการออกเสียงประชามติ”

ซึ่งการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ก็ถือเป็นการออกเสียงประชามติที่เกิดขึ้นภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเมือง หรือระบบการเมืองล้มเหลว และการออกเสียงประชามติก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ โดยมี “พ.ร.บ.ประชามติฯ” เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมการออกเสียงประชามติไม่ให้ถูกบิดเบือน หรือถูกบังคับ ข่มขู่ จูงใจจากฝ่ายต่างๆ และถือเป็นการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยหรือดำเนินการต่างๆ ที่จะทำให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปโดยความสุจริตและเที่ยงธรรม

2) “รุนแรง-ก้าวร้าว-หยาบคาย-ปลุกระดม-ข่มขู่” ไม่ใช่ถ้อยคำที่คลุมเครือ แค่ไม่เฉพาะเจาะจง

เนื่องจากประเด็นที่ผู้ยื่นคำร้องระบุว่า บทบัญญัติว่าด้วยลักษณะการกระทำความผิด เช่น คำว่า “รุนแรง” “ก้าวร้าว” “หยาบคาย” “ปลุกระดม” หรือ “ข่มขู่” ทำให้คนไม่รู้ขอบเขตในการใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่รู้ว่าการกระทำใดบ้างเป็นความผิด เพราะคำดังกล่าวขาดความชัดเจนและไม่เคยถูกนิยามในกฎหมายใดมาก่อน 

ในประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า ในบางกรณีกฎหมายอาญาอาจจะใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนแต่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงก็ได้ เพื่อให้ผู้ใช้กฎหมายสามารถพิจารณาพฤติการณ์ของการกระทำประกอบกับถ้อยคำตามองค์ประกอบความผิดเพื่อให้ได้ความหมายที่ถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “กลางคืน” เพราะคำดังกล่าวก็มีความชัดเจนแต่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเวลาใดแน่นอน ต้องพิจารณาในขณะกระทำอีกว่าในวันนั้นพระอาทิตย์ตกและขึ้นตอนกี่นาฬิกา เป็นต้น ซึ่งถ้อยคำที่ใช้ใน พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นลักษณะดังกล่าวนี้

ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมอีกว่า การใช้ถ้อยคำเหล่านี้มีเหตุผลในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ อีกทั้งการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การใช้ถ้อยคำที่สุภาพ ไม่รุนแรง ไม่ก้าวร้าว ไม่หยาบคาย แสดงความเป็นสุภาพชนในพื้นที่สาธารณะย่อมจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อประชาชนที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ออกไป ทำให้มีทัศนคติที่เป็นมิตรต่อกัน ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจหรือบาดหมาง ซึ่งแสดงถึงบรรยากาศแห่งความปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชน อันมีผลต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยรวม

นอกจากนี้ ศาลยังระบุอีกว่า ถ้าเกิดปัญหาการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจตีความขยายขอบเขตของถ้อยคำดังกล่าวจนอาจเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน บุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจโดยมิชอบดังกล่าว ย่อมฟ้องร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจในเรื่องนั้นๆ ได้

3) กฎหมายเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพียงเท่าที่จำเป็น เพราะคนยังแสดงความคิดเห็นได้แต่มีเงื่อนไขตามกฎหมายนี้

ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามการแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ เพราะบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ เพียงแต่ต้องเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปโดยสุจริต ภายใต้กรอบของกฎหมาย

อีกทั้ง การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะต้องไม่มีเจตนามุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง รวมถึงจะต้องไม่เข้าลักษณะเป็นการก่อความวุ่นวาย หรือกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของสังคมโดยรวม 

ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็น ไม่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

You May Also Like
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย
Phue Thai Needs
อ่าน

รัฐบาลเพื่อไทย ต้องมีอย่างน้อย 13.25 ล้านเสียง เพื่อผ่านประชามติ “คำถามติดล็อก”

รัฐบาลเพื่อไทยให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญ โดยคำถามที่มีเงื่อนไข ตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ประชามติ จะผ่านได้ต้องอาศัย “เสียงข้างมากสองชั้น” ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายเลย