เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะใช้คุมโรค กลายเป็นเครื่องมือหลักในการ “คุมม็อบ”

นับตั้งแต่ประเทศไทยและโลกเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด19 การทำกิจกรรมพบปะสังสรรค์ การรวมกลุ่มพูดคุย รวมทั้งการชุมนุมเพื่อแสดงออกซึ่งเป็นกิจกรรมตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์ก็กลายเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ยากลำบาก ในประเทศไทยนับตั้งแต่การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการระบาดของโรค ข้อจำกัดการรวมตัวก็จตามมา และการชุมนุมโดยสงบที่เคยเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานก็กลายเป็นเรื่องต้องห้าม

ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลมากกว่า 1,500 ครั้งทั่วประเทศ นับจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือคดีของผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมือง แล้วถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศฉบับต่างๆ ที่ออกมาโดยอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และติดตามรวบรวมข้อมูลได้ อย่างน้อย 483 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,171 คน

ข้อกำหนด และประกาศผบ.สส. ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

เมื่อประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 (ศบค.) ก็ใช้อำนาจออกข้อกำหนดฉบับต่างๆ นับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 มีข้อกำหนดรวม 34 ฉบับ ซึ่งเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปมาตามสถานการณ์การระบาดของโรค และยังแต่งตั้งให้พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนทีเ่กี่ยวกับความมั่นคง และออกประกาศมาอีก 11 ฉบับ

ข้อกำหนดหลายฉบับ และประกาศของ ผบ.สส. มีเนื้อหาและข้อห้ามที่จำกัดการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็น เริ่มตั้งแต่ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ที่กำหนดว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ. ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้ำผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ประกาศกำหนด”

ในเวลาต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็มีการปรับเปลี่ยนโดย ข้อกำหนด ฉบับที่ 13 ซึ่งออกมาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 กำหนดให้ประชาชนสามารถชุมนุมได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และเมื่อมีการระบาดของเชื้อในระลอกที่สองก็มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 15 ในวันที่ 25 ธันวาคม 2563 กำหนดห้ามชุมนุมในลักษณะเดียวกับที่เคยกำหนดห้ามในข้อกำหนดฉบับที่ 1 และข้อกำหนดฉบับที่ 15 ก็กลายเป็นฐานอำนาจหลักให้ ผบ.สส. ออกประกาศตามมาอีกหลายฉบับ เป็นข้ออ้างที่ตำรวจใช้สั่งให้เลิกการชุมนุม ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม รวมทั้งตั้งข้อหาดำเนินกับการชุมนุมที่ตามมาในปี 2564

หลังจากข้อกำหนดฉบับที่ 15 ยังมีข้อกำหนดอีกหลายฉบับที่ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัว โดยกำหนดจำนวนคนแตกต่างไปตามความรุนแรงของโรคระบาดในแต่ละพื้นที่ จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 ข้อกำหนดฉบับสำคัญ คือ ฉบับที่ 32 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดห้ามทำกิจกรรมรวมตัวกันเกิน 25 คน สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังห้ามรวมตัวกันเกิน 500 คน  (จากเดิม 150 คน) และมีประกาศของ ผบ.สส. อีกหลายฉบับที่ตามมา โดยฉบับที่ 11 บังคับใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2564 ห้ามการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 

คดีปี 2563 โควิดยังไม่หนัก อัยการสั่งไม่ฟ้อง

ช่วงต้นปี 2563 ที่เกิดโรคระบาดในประเทศไทย ประชาชนต่างอยู่ในความหวาดกลัวและไม่มีใครจัดกิจกรรมชุมนุม หรือกิจกรรมอื่นใด แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและมียอดผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ติดต่อกันเกิน 14 วัน การใช้ชีวิตของผู้คนและกิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมา แต่ข้อจำกัดทางกฎหมายยังไม่ถูกคลี่คลาย แม้กิจกรรมทางการเมืองยังเป็นกิจกรรมขนาดเล็กๆ แต่ผู้เข้าร่วมกลับถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตัวอย่างเช่น การไปยื่นหนังสือที่สถานทูตกัมพูชาของสมาชิก กป.อพช. 4 คน การจัดกิจกรรมรำลึกวันเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล  การจัดงานระดมทุนเนื่องในวันครบรอบ 6 ปีรัฐประหาร เป็นต้น

แต่เนื่องจากกิจกรรมทางการเมืองจัดขึ้นในช่วงเวลาที่สถานการณ์โรคระบาดไม่ได้รุนแรง จึงไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงพบว่า มีอย่างน้อย 4 คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ได้แก่  อย่างน้อย 4 คดี ได้แก่ คดีจากการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563, คดีจากการชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ ที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 และคดีจากการชุมนุมที่หน้าสถานทูตกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 ในสองคดี 

คดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่โรคระบาดไม่รุนแรงและเกิดจากกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนไม่มากเหล่านี้ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า การนำข้อกล่าวหาตามกฎหมายที่ออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาดมาดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นเพียงการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อ “ปิดปาก” หรือสร้างภาระให้กับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเท่านั้น ในเมื่อการทำกิจกรรมโดยสงบไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอื่นใด ก็จึงนำข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็นเหตุห้ามทำกิจกรรม

อย่างไรก็ดีในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 มีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดไปใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยครั้งสำคัญ คือ วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งนัดหมายโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งผู้ชุมนุมอย่างน้อย 25 คนถูกดำเนินคดีหลายข้อหา รวมทั้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ด้วย ซึ่งข้อหาอื่นๆ เป็นข้อหาเล็กน้อย เช่น ฐานกีดขวางการจราจร หรือเป็นการตั้งข้อหาที่เกินจริง เช่น มาตรา 116 แต่สำหรับข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจมีประเด็นต้องต่อสู้กันในชั้นศาลมากที่สุด

ปี 2564 ตำรวจดุ สั่งห้ามชุมนุม และแจกหมาย อ้างข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ปลายเดือนธันวาคม 2563 ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกสอง และยาวต่อเนื่องมาจนเป็นระลอกสามในเดือนเมษายน 2564 และระลอกสี่ในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งพบผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคนในแต่ละวัน ตลอดปี 2564 ประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ไม่สู้ดีนัก ตั้งแต่เริ่มเดือนมกราคมกิจกรรมเขียนป้ายผ้าที่มีผู้เข้าร่วมไม่กี่คนก็ถูกตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยอ้างสถานการณ์โควิด และตำรวจก็ใช้ข้ออ้างนี้สั่งห้ามการชุมนุมทุกครั้ง รวมทั้งอ้างเป็นเหตุใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมด้วย ทั้งที่การชุมนุมหลายครั้งผู้ชุมนุมมาโดยสันติวิธีและไม่มีเหตุอื่นให้ตำรวจสลายการชุมนุมได้ 

การจัดการชุมนุมสาธารณะในปี 2564 แทบจะคาดหมายได้ว่า ผู้ที่ประกาศนัดหมาย และผู้ที่จับไมโครโฟนขึ้นปราศรัยจะได้รับหมายเรียกตามมา ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รายละเอียดข้อหาอาจจะแตกต่างกันไปตามจังหวัด และตามช่วงเวลา ผู้ต้องหาแต่ละคนถูกตั้งข้อหาไม่ซ้ำกันว่า เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศฉบับใดบ้าง แต่มีโทษเท่ากัน คือ จำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

แม้ผู้จัดการชุมนุมพยายามออกแบบให้ป้องกันการติดเชื้อแล้ว เช่น การจัดคาร์ม็อบให้ผู้เข้าร่วมไม่ต้องลงจากรถ แต่ก็ยังถูกดำเนินคดีอยู่ แม้กระทั่งการชุมนุมคาร์ม็อบในจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อไม่มาก และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนไม่มาก ก็ยังถูกตั้งข้อหานี้ตามมาภายหลัง 

นับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว 483 คดี มีผู้ต้องหา 1,171 คน โดยจากจำนวนนี้ 118 คดี 374 คน เป็นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่สน.ดินแดง และสน.นางเลิ้ง จากการรวมตัวโดยไม่สงบที่ภายหลังเรียกรวมๆ กันว่ากลุ่มทะลุแก๊ส

เมื่อแยกข้อมูลตามภูมิภาคของการจัดกิจกรรม พบว่า คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มากที่สุด 406 คดี เกิดขึ้นในภาคเหนือ 24 คดี, ภาคกลางและตะวันออก 9 คดี, ภาคอีสาน 29 คดี และภาคใต้ 15 คดี

ตัวอย่างของผู้ต้องหาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วถูกดำเนินคดี มีดังนี้

ไบร์ท เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี 28 คดี

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ จากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี เป็นคนที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวและการปราศรัยโดดเด่นมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ไบรท์และเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงเทพที่สุด จะจัดกิจกรรมล้อกับการนัดหมายชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพแทบทุกครั้ง โดยนัดหมายตั้งขบวนเข้ามาสมทบยังสถานที่นัดหมายในกรุงเทพ กิจกรรมของเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีเองก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะในจังหวัดนนทบุรีมีพื้นที่สำคัญในทางการเมือง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ท่าน้ำนนทบุรี แม้ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมหลักร้อยคนเท่านั้นแต่ก็ได้รับหมายเรียกอย่างต่อเนื่อง ไบรท์ยังได้รับการเชิญชวนให้เป็นผู้ปราศรัยในกิจกรรมที่คนอื่นๆ จัดขึ้นหลายครั้งด้วย ทำให้ถูกดำเนินคดีร่วมกับคนอื่นนๆ ในคดีจากการชุมนุมครั้งสำคัญๆ ด้วย

ตัวอย่างคดีของไบรท์ เช่น

๐ การชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ บริเวณท่าน้ำนนท์ วันที่ 29 กรกฎาคม 2563

๐ การชุมนุม #คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ บริเวณท่าน้ำนนท์ วันที่ 10 กันยายน 2563 

๐ การชุมนุม ปาไข่ สาดสี บริเวณหน้าม.พัน4 รอ. วันที่ 28 กันยายน 2563

๐ การชุมนุม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 13 ตุลาคม 2563

๐ การชุมนุม บริเวณแยกราชประสงค์ วันที่ 15 ตุลาคม 2563

๐ การชุมนุม บริเวณแยกปทุมวัน วันที่ 16 ตุลาคม 2563 

๐ การชุมนุม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึงศาลหลักเมือง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563

๐ การชุมนุม บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 

๐ การรชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563

๐ การชุมนุม #ปลดอาวุธศักดินาไทย บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 11 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2563

๐ การชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว บริเวณห้าแยกลาดพร้าว วันที่ 2 ธันวาคม 2563 

๐ การชุมนุม บริเวณหัวถนนลาดหญ้าและวงเวียนใหญ่ วันที่ 6 ธันวาคม 2563 

๐ การชุมนุม บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 

๐ การชุมนุม บริเวณหน้าหอศิลป์ฯกรุงเทพมหานคร วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 

๐ การชุมนุม อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เกียกกาย วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 

๐ การชุมนุม บริเวณแยกราชประสงค์ วันที่ 24 มีนาคม 2564 

๐ การชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 มีนาคม 2564

๐ การชุมนุม “ไทยไม่ทน”  บริเวณสวนสันติพร วันที่ 4 เมษายน 2564

๐ การชุมนุม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 24 มิถุนายน 2564

๐ การชุมนุม “ไทยไม่ทน” บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล วันที่ 26 มิถุนายน 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ2กรกฎา “เปิดท้ายวันศุกร์ ลุกไล่เผด็จการ” ที่แยกพาณิชยการ วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 

๐ การชุมนุม “ไทยไม่ทน”  #ม็อบ11กรกฎา วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 

๐ การชุมนุมทวงถามวัคซีน หน้ากระทรวงสาธารณสุข วันที่ 16 กรกฎาคม 2564  

๐ การชุมนุม ครบรอบ 1 ปี เยาวชนปลดแอก#ม็อบ18กรกฎา บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 

๐ การชุมนุมคาร์ม็อบ #ม็อบ15สิงหา วันที่ 15 สิงหาคม 2564   

๐ การชุมนุม #ม็อบ22สิงหา “กีฬาสีไล่ล่าทรราช” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 22 สิงหาคม 2564

๐ การชุมนุมคาร์ม็อบ ราษฎรนนทบุรี วันที่ 29 สิงหาคม 2564

๐ การชุมนุม #ม็อบ1กันยา บริเวณหน้าพรรคพลังประชารัฐ วันที่ 1 กันยายน 2564

๐ การชุมนุมปราศรัย #ม็อบ3กันยา ที่แยกราชประสงค์ วันที่ 3 กันยายน 2564

๐ การชุมนุม #ม็อบ6กันยา บริเวณแยกอโศก วันที่ 6 กันยายน 2564 

ไดโน่ ทะลุฟ้า 21 คดี

นวพล ต้นงาม หรือไดโน่ ในปี 2564 เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้า ก่อนหน้านั้นในปี 2563 เคลื่อนไหวในนามกลุ่ม Unme of Anarchy และกลุ่ม “ราษฎรอีสาน” ถูกจับกุมและดำเนินคดีครั้งแรกจากการจัดชุมนุมปักหลักหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 13 ตุลาคม 2563 แล้วตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าถูกสลายการชุมนุม ถือเป็นการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมครั้งแรกในปี 2563 เขาต้องเข้าเรือนจำโดยไม่ได้ประกันตัวอยู่พักหนึ่งก่อนได้ประกันตัวภายหลัง ต่อมาในปี 2564 เข้าร่วมการ “เดินทะลุฟ้า” จากนครราชสีมา สู่กรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปักหลักตั้ง “หมู่บ้านทะลุฟ้า” และถูกสลายการชุมนุมอีกครั้ง จากนั้นกลุ่มทะลุฟ้าก็ยังเคลื่อนไหวทำกิจกรรมอีกหลายครั้งในภาคอีสาน

กลุ่มทะลุฟ้ามีสมาชิกที่เป็นตัวหลักในการทำงานหลายคน คนที่มีชื่อเสียง คือ “ไผ่ ดาวดิน” หรือจตุภัทร์ ซึ่งถูกฝากขังโดยไม่ได้ประกันตัวหลายรอบ รอบล่าสุดตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2564 เรื่อยมา หลังสมาชิกในกลุ่มไม่ได้ประกันตัว กลุ่มทะลุฟ้าก็เคลื่อนไหวเพื่อขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้รูปแบบนัดหมายจัดกิจกรรมต่อเนื่องกันหลายวัน ทำให้กิจกรรมแต่ละครั้งเป็นที่มาของการดำเนินคดีแยกกันแต่ละคดี สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าหลายคนถูกดำเนินคดีแล้วมากกว่า 10 คดี และวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ไดโน่ กับสมาชิกทะลุฟ้าอีกสองคน คือ ปีก และเปา ซึ่งต่างก็มีคดีติดตัวจำนวนมาก ถูกฝากขังในคดีการชุมนุมหน้าสน.ทุ่งสองห้องและศาลไม่ให้ประกันตัว ทำให้เขาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเป็รอบที่สอง

สำหรับไดโน่มีคดีความนับได้ประมาณ 21 คดี ได้แก่

๐ การชุมนุม #ม็อบ13ตุลา ของคณะราษฎรอีสานบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 13 ตุลาคม 2563  

๐ การชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ข้างทำเนียบรัฐบาล ถูกสลายการชุมนุม วันที่ 28 มีนาคม 2563

๐ การชุมนุม #ม็อบ15เมษา บริเวณทำเนียบรัฐบาล วันที่ 15 เมษายน 2564

๐ การชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 24 มิถุนายน 2564

๐ การชุมนุมให้กำลังใจ “มิลลิ” ดาราที่ Call Out พูดเรื่องการเมือง ที่หน้า สน.นางเลิ้ง วันที่ 22 กรกฎาคม 2564

๐ การทำกิจกรรมหล่อเทียนพรรษาที่ห้าแยกลาดพร้าว วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 

๐ การร่วมกิจกรรม “ร่วมหล่อเทียนทําบุญประเทศ ขับ ไล่เสนียดจัญไร ออกไปไอ้สัส” บริเวณแยกราชประสงค์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 

๐ การร่วมกิจกรรม “แห่เทียนขับไล่เสียดจัญไร” บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเดินทางไปยังทะเนียบรัฐบาล วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ30กรกฎา กรณีเดินทางไปพรรคภูมิใจไทยและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสาดสีแดง วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ30กรกฎา กรณีเดินทางไปพรรคพลังประชารัฐและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสาดสีแดง วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ30กรกฎา กรณีเดินทางไปพรรคประชาธิปัตย์และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสาดสีแดง วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 

๐ การชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนขับและรถเครื่องเสียงที่ถูกยึด หน้าสโมสรตำรวจ วันที่ 2 สิงหาคม 2564 

๐ การชุมนุมสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง วันที่ 3 สิงหาคม 2564

๐ การชุมนุม #ศุกร์13ไล่ล่าทรราช นัดหมายที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อจะไปยัง ‘ราบ1’ วันที่ 13 สิงหาคม 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ16สิงหา เดินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปทำเนียบรัฐบาล วันที่ 16 สิงหาคม 2564

๐ การชุมนุม #ม็อบ17สิงหา ที่แยกราชประสงค์ วันที่ 17 สิงหาคม 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ18สิงหา #ไล่ล่าทรราช บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 18 สิงหาคม 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ19สิงหาไล่ทรราช บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 19 สิงหาคม 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ20สิงหา ‘คาร์ม็อบสัญจรยื่นหนังสือทะลุโลก เปิดโปงทรราชให้ต่างชาติได้รับรู้’ วันที่ 20 สิงหาคม 2564

๐ การชุมนุม #ม็อบ22สิงหา ‘กีฬาสีไล่ล่าทรราช’ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 22 สิงหาคม 2564

๐ การชุมนุม #ม็อบ28กันยา บริเวณแยกนางเลิ้ง วันที่ 28 กันยายน 2564

ครูใหญ่ อรรถพล 18 คดี

อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่” เคลื่อนไหวในนามกลุ่มขอนแก่นพอกันที และต่อมาเข้าร่วมในเครือข่ายราษฎรโขงชีมูล ซึ่งมีฐานการทำงานหลักกับคนรุ่นใหม่ในภาคอีสาน ครูใหญ่มีชื่อเสียงจากการปราศรัยที่สนุกสนาน เรียกเสียงหัวเราะได้ ทำให้ครูใหญ่ได้รับเชิญไปปราศรัยในกิจกรรมต่างๆ ทั่วประเทศด้วย ไม่เฉพาะในภาคอีสานเท่านั้น โดยเฉพาะการชุมนุมขนาดใหญ่ในกรุงเทพก็จะมีครูใหญ่เป็นหนึ่งในคนที่ขึ้นเวทีด้วยและได้รับหมายเรียกตามมา

ครูใหญ่มีคดีความในข้อหาอื่นๆ อีกมาก เช่น ข้อหามาตรา 112 จากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันและที่หน้าสภ.ภูเขียวรวมทั้งข้อหามาตรา 116 จากการชุมนุมใหญ่วันที่ 19 กันยายน 2563 ที่สนามราษฎรฯลฯ สำหรับเฉพาะข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครูใหญ่ถูกดำเนินคดีแล้ว 18 คดี ได้แก่

๐ เหตุชุมนุม #ม็อบ20สิงหา  ‘จัดม็อบไล่แม่งเลย’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขอนแก่น วันที่ 20 สิงหาคม 2563 

๐ เหตุชุมนุม #ม็อบ10กันยา ‘หมายที่ไหน ม็อบที่นั่น’ ที่สวนรัชดานุสรณ์ ขอนแก่น วันที่ 10 กันยายน 2563

๐ การชุมนุม #ม็อบ13ตุลา ของคณะราษฎรอีสานบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 13 ตุลาคม 2563 

๐ การชุมนุม #ม็อบ25ตุลา ที่สี่แยกราชประสงค์ วันที่ 25 ตุลาคม 2563 

๐ การชุมนุม #27พฤศจิกาไปห้าแยกลาดพร้าว ที่ห้าแยกลาดพร้าว วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 

๐ การชุมนุม บริเวณหน้า สภ.ภูเขียว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 

๐ การชุมนุมเรียกร้องปล่อยตัวคนที่ถูกคุมขัง ที่สี่แยกปทุวัน วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ13กุมภา ‘นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

๐ การชุมนุมเพื่อตามหาตัวนิว สิริชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ถูกจับ ที่หน้าสภ.คลองหลวง วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564

๐ เหตุชุมนุม #ม็อบ20กุมภา ‘รวมพลราษฎร โขง ชี มูล’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขอนแก่น วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 

๐ เหตุชุมนุม #ม็อบ20กุมภา ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา’ ที่หน้าอาคารรัฐสภา เกียกกาย วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 

๐ เหตุชุมนุม #ม็อบ24มีนา ที่แยกราชประสงค์ วันที่ 24 มีนาคม 2564 

๐ เหตุชุมนุม Carmob ขอนแก่น แห่ไล่ประยุทธ์ รวมตัวประตูศรีฐาน มข. วันที่ 17 กรกฎาคม 2564

๐ เหตุชุมนุม #18กรกฎา ครบรอบ 1 ปี เยาวชนปลดแอก เคลื่อนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล วันที่ 18 กรกฎาคม 2564

๐ เหตุชุมนุม Carmob ขอนแก่น2 แห่ไล่ประยุทธ์ รวมตัวที่บึงแก่นนคร วันที่ 1 สิงหาคม 2564 

๐ เหตุชุมนุม Carmob ขอนแก่น 3 แห่ไล่ประยุทธ์ รวมตัวตึกอธิการบดี มข. วันที่ 22 สิงหาคม 2564

๐ เหตุชุมนุม #ม็อบ2กันยา ที่แยกอโศก วันที่ 2 กันยายน 2564 

๐ เหตุชุมนุม #ม็อบ3กันยา ที่แยกราชประสงค์ วันที่ 3 กันยายน 2564

ไหม เครือข่ายแรงงาน 7 คดี

ธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานในจังหวัดสระบุรี เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางเชื่อมร้อยเครือข่ายแรงงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ปัจจุบันไหมสังกัดเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ซึ่งมีบทบาทเรียกร้องสวัสดิการให้คนทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพคนทำงานในโรงงานระหว่างสถานการณ์โควิด เรียกร้องเงินเยียวยาจากระบบประกันสังคม ฯลฯ และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนประกาศตัวเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มนักศึกษาหลายครั้ง

ในการชุมนุมขนาดใหญ่หลายครั้งที่ผู้จัดเป็นกลุ่มนักศึกษา ไหมจะได้รับเชิญให้เป็นผู้ปราศรัยในฐานะตัวแทนของกลุ่มแรงงาน โดยไหมจะปราศรัยในประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของพี่น้องแรงงาน รวมทั้งผลกระทบจากมาตรการโควิดของรัฐบาล และเมื่อใดที่ขึ้นปราศรัยในเวทีขนาดใหญ่ก็จะได้รับหมายเรียกตามมา ไหมมีคดีฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด 7 คดี เป็นคดีในปี 2564 ทั้งหมด ดังนี้

๐ การชุมนุม #ม็อบ10กุมภา ‘รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ’ ที่สกายวอล์ค ปทุมวัน วันที่ 10 กุมุภาพันธ์ 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ24มีนา ที่แยกราชประสงค์ วันที่ 24 มีนาคม 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ2กรกฎา เปิดท้ายตลาดราษฎร ที่แยกนางเลิ้ง วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 

๐ การชุมนุมคาร์ม็อบ #ม็อบ1สิงหา จังหวัดสระบุรี วันที่ 1 สิงหาคม 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ4กันยา REDEM เดินขบวนจากสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ไปสวนลุม วันที่ 4 กันยายน 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ7กันยา ของกลุ่มทะลุฟ้า ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 7 กันยายน 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ11กันยา  เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำ ที่หน้าศาลธัญบุรี วันที่ 11 กันยายน 2564

วาดดาว เฟมินิสต์ปลดแอก 7 คดี

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือ วาดดาว สังกัดกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เคยทำกิจกรรมในนามกลุ่มโรงน้ำชา กเคลื่อนไหวประเด็นความหลากหลายทางเพศที่มุ่งส่งเสริมสิทธิของ LGBT ในประเทศไทย และเคยทำงานทางการเมืองกับพรรคสามัญชน เราสามารถพบบทบาทการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกได้ในการชุมนุมครั้งใหญ่ๆ หลายครั้งกับการนำธงสีรุ้งเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม และการขึ้นปรางศรัยในประเด็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งประเด็นความรุนแรงในครอบครัว การสมรสเท่าเทียม สิทธิการทำแท้ง สิทธิการเข้าถึง Sex Toys สิทธิเข้าถึงผ้าอนามัยของผู้หญิง ฯลฯ บางครั้งก็จัดกิจกรรมเป็นของตัวเอง และหลายครั้งก็ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอื่นๆ

ในการชุมนุมครั้งใหญ่ๆ ที่มีเป้าหมายเปิดพื้นที่ให้กับประเด็นปัญหาหลากหลาย กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกจะได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในผู้ปราศรัย และหลายครั้งก็เป็นวาดดาวที่เป็นผู้รับหน้าที่นี้ ทำให้วาดดาวถูกดำเนินคดีแล้วรวม 7 คดี ได้แก่

๐ การชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ข้างทำเนียบรัฐบาล ถูกสลายการชุมนุม วันที่ 28 มีนาคม 2563 

๐ เหตุชุมนุม #ม็อบ24มีนา ที่แยกราชประสงค์ วันที่ 24 มีนาคม 2564 

๐ เหตุชุมนุม Carmob “แหกกีไปไล่คนจัญไร” Rainbow car mob นัดหมายที่สีลมซอย 2 วันที่ 1 สิงหาคม 2564 (ขบวนกี) 

๐ เหตุชุมนุม Carmob ขบวนกี2 ที่แยกราชประสงค์ วันที่ 10 สิงหาคม 2564 

๐ เหตุชุมนุม Carmob ขบวนกี3 ที่สีลมซอย2 วันที่ 15 สิงหาคม 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ22สิงหา ‘กีฬาสีไล่ล่าทรราช’ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 22 สิงหาคม 2564

๐ เหตุชุมนุม #ม็อบ2กันยา ที่แยกอโศก วันที่ 2 กันยายน 2564 

ลูกนัท ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย

ธนัตถ์ หรือที่รู้จักกันในนาม “ไฮโซลูกนัท” ประกาศตัวมาเข้าร่วมการชุมนุมในปี 2564 จากนั้นก็มีบทบาทโดนเด่นได้รับเชิญเป็นผู้ปราศรัยในหลายกิจกรรม ลูกนัทเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เคยมีประวัติการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มที่เห็นด้วยกับรัฐบาลชุดนี้ และยังมีสถานะทางครอบครัวที่มีทรัพย์สินมาก การประกาศตัวสนับสนุนข้อเรียกร้องของการชุมนุมของเขาจึงได้รับความสนใจมาก และทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นท่ีจับตามากขึ้นเมื่อปรากฏตัวในที่ชุมนุม แม้ลูกนัทจะไม่ได้มีกลุ่มหรือเครือข่ายสังกัด แต่ก็เข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 และขึ้นปราศรัยหลายเวที รวมทั้งถูกแก๊สน้ำตาทำให้เสียดวงตาหนึ่งข้าง

แต่เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จัก และเมื่อเข้าร่วมการชุมนุมแต่ละครั้งเขาได้รับความสนใจ ก็ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 7 คดี ดังนี้

๐ การชุมนุม Carmob #ม็อบ1สิงหา กรุงเทพฯ วันที่ 1 สิงหาคม 2564

๐ การชุมนุม Carmob #ม็อบ8สิงหา ‘คาร์ม็อบสลิ่มกลับใจ’ กรุงเทพฯ วันที่ 8 สิงหาคม 2564

๐ การชุมนุม #ม็อบ22สิงหา ‘กีฬาสีไล่ล่าทรราช’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 22 สิงหาคม 2564 

๐ การชุมนุม #ม็อบ2กันยา ที่แยกอโศก วันที่ 2 กันยายน 2564

๐ การชุมนุม #ม็อบ3กันยา ที่แยกราชประสงค์ วันที่ 3 กันยายน 2564

๐ การชุมนุม #ม็อบ4กันยา REDEM เดินขบวนจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ ไปยังลานรูปปั้น ร.6 สวนลุมพินี วันที่ 4 กันยายน 2564

๐ การชุมนุม #ม็อบ6กันยา ที่แยกอโศก วันที่ 6 กันยายน 2564

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ