Car Mob เคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ ไม่เสี่ยงโรค แต่ไม่พ้นคดี

สมบัติ บุญงามอนงค์ ประกาศจัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ” เพื่อขับไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นครั้งแรกในวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 โดยชักชวนให้คนมีรถขับรถเข้ามาร่วมการชุมนุม การจัดกิจกรรมคาร์ม็อบนับเป็นความพยายามในการปรับยุทธวิธีการเคลื่อนไหวในยามที่โรคโควิด19 กำลังระบาด ทำให้คนกล้าออกจากบ้านมาร่วมชุมนุมโดยมีวิธีการป้องกันตัวไม่ต้องพบปะพูดคุยกับคนจำนวนมาก ไม่ได้รวมตัวกันในพื้นที่แออัด หรือมีการสัมผัสกันระหว่างบุคคล เนื่องจากรูปแบบกิจกรรมเป็นเพียงการรวมตัวขับรถไปตามท้องถนน และส่งเสียงด้วยการบีบแตรแทนการตะโกน 
นับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 มีการนัดหมายจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้วอย่างน้อย 9 วัน (หนึ่งวันอาจมีการนัดหมายเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งพื้นที่โดยผู้นัดหมายคนละกลุ่ม) คือวันที่ 3 และ 10 กรกฎาคม 2564 1, 7 10, 15 และ 29 สิงหาคม 2564 และ 2 กับ 19 กันยายน 2564 ขณะที่ในพื้นที่ต่างจัดหวัดก็มักมีการนัดหมายจัดกิจกรรมล้อไปในวันเดียวกัน 
นับตั้งแต่มีการจัดกิจกรรมรูปแบบคาร์ม็อบครั้งแรกในวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้ร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่จัดขึ้นทั่วประเทศแล้วอย่างน้อย 57 คนใน 22 คดี การดำเนินคดีกับผู้จัดหรือผู้ชุมนุมคาร์ม็อบด้วยความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนด ประกาศฉบับต่างๆ เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า การบังคับใช้ข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น แต่ถูกใช้เพื่อปิดปากการแสดงออกของผู้เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ 

สารพัดข้อกำหนด ห้ามชุมนุม และ จำกัดจำนวนคนรวมตัว

การสั่งห้ามชุมนุม หรือห้ามการทำกิจกรรมที่มีการรวมตัว เป็นหนึ่งในเนื้อหาสำคัญของข้อกำหนดที่นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเริ่มบังคับใช้มาทั่วประเทศวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันแรกที่นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศโดยอ้างเหตุจำเป็นด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมแการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด19) โดยข้อกำหนดฉบับที่ 1 ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดว่า  
“ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ. ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ประกาศกำหนด” 
 
ในเวลาต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามชุมนุมก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เช่น ข้อกำหนดฉบับที่ 13 ซึ่งออกมาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 
กำหนดให้ประชาชนสามารถชุมนุมแต่ให้จัดการชุมนุมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และเมื่อมีการระบาดของเชื้อในระลอกที่สองก็มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 15 ในวันที่ 25 ธันวาคม 2563 กำหนดห้ามชุมนุมในลักษณะเดียวกับที่เคยกำหนดห้ามในข้อกำหนดฉบับที่ 1 และฉบับที่ 15 ก็ถูกใช้เป็นหลักในการจำกัดการชุมนุมเรื่อยมา
ข้อกำหนดที่ยกมาข้างต้นเป็นการกำหนดกรอบการห้ามการชุมนุมแบบกว้างๆ สำหรับพื้นที่ใดจะเป็นเขตห้ามชุมนุมบ้างยังต้องไปดูประกาศที่ออกโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดประกอบอีกฉบับหนึ่ง หากพิจารณาจากเงื่อนเวลาที่มีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบคือระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2564 ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงที่เกี่ยวข้องจะมีอยู่สี่ฉบับได้แก่ ฉบับที่ 5, 6, 7 และ 9 
ฉบับที่ 5 บังคับใช้ในวันที่ 5 มีนาคม 2564 ห้ามชุมนุมหรือห้ามทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด และมีจำนวนคนเข้าร่วมมาก ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม และปทุมธานี 
 
ฉบับที่ 6 บังคับใช้แทนฉบับที่ 5 ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 มีสาระสำคัญคือ ห้ามการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร ห้ามการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด เฉพาะในกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการและสมุทรสาคร ห้ามการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีจำนวนมากกว่าห้าคน และห้ามการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง 
 
ฉบับที่ 7 ประกาศในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ก่อนถูกยกเลิกไปในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 มีสาระสำคัญคือ ห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด 
ฉบับที่ 9 ประกาศในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 มีสาระสำคัญ คือ ห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง 
สำหรับข้อกำหนดออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ออกมาหลังฉบับที่ 15 ยังห้ามการรวมตัวทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคด้วย แต่ไม่ได้เขียนคำว่า “ห้ามการชุมนุม” โดยตรง ใช้เพียงข้อความอื่น คือ ห้ามทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง และกำหนดจำนวนคนที่ห้ามทำกิจกรรมรวมตัวกันแตกต่างไปตามสถานการณ์ของโรคระบาด ซึ่งข้อกำหนฉบับที่ออกมาภายหลังก็ถูกนำมาใช้เพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ควบคู่ไปกับฉบับที่ 15 ซึ่งใช้เป็นหลักด้วย
ข้อกำหนดฉบับที่ 24 บังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 มีสาระสำคัญ คือ ให้จำแนกประเภทพื้นที่จังหวัดต่างๆ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ไล่ลงไปจนถึง พื้นที่เฝ้าระวัง และกำหนดความเข้มงวดต่างกันไป โดยห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และจำกัดจำนวนคนเข้าร่วมกิจกรรมมากน้อยแตกต่างกัน ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามรวมตัวกันมากกว่า 50 คน และเพิ่มจำนวนไปตามลำดับโดยพื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันมากกว่า 300 คน  
 
จากนั้นในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 มีการประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 28 ปรับลดเกณฑ์จำนวนคนที่ห้ามจัดกิจกรรมรวมตัวเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จาก 50 คน เป็นห้ามรวมตัวมากกว่า 5 คน ส่วนพื้นที่อื่นไม่มีการแก้ไข   ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ข้อกำหนดฉบับที่ 30 ปรับลดจำนวนบุคคลที่ห้ามรวมตัวในพื้นที่อื่นๆ อาทิ พื้นที่ควบคุมสูงสุด จากเดิมข้อกำหนดฉบับที่ 24 กำหนดไว้ที่เกิน 100 คน ถูกปรับลดเหลือห้ามจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวเกิน 20 คน  จากนั้นวันที่ 1 กันยายน 2564 ข้อกำหนดฉบับที่ 32 จึงขยายจำนวนคนที่สามารถทำกิจกรรมได้ในพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กำหนดห้ามกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันมากกว่า 25 คน (จากเดิม 5 คน) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามรวมตัวกันมากกว่า 50 คน (จากเดิม 20 คน) และ พื้นที่เฝ้าระวังห้ามรวมตัวกันเกิน 500 คน  (จากเดิม 150 คน) 

ผู้จัดคาร์ม็อบลำปางถูกดำเนินคดีแม้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรค และไม่มีการทำกิจกรรมเวที

พินิจ ทองคำ สมาชิกเครือข่ายพิราบข่าวเพื่อมวลชนระบุว่า ทางกลุ่มจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดลำปาง 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 สิงหาคม 2564
พินิจเล่าว่า ครั้งแรกที่เขาจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินคดีเขาหรือคนในกลุ่มด้วยข้อหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ดำเนินคดีในความผิดฐานกีดขวางทางจราจร และความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และเขาจ่ายค่าปรับไปแล้ว แต่เมื่อเขาจัดกิจกรรมคาร์ม็อบเป็นครั้งที่สอง ตัวเขาและผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมเก้าคนก็ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 
พินิจระบุว่า ในการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบทั้งสองครั้ง ไม่มีกิจกรรมตั้งเวทีปราศรัย ผู้เข้าร่วมชุมนุมคาร์ม็อบทั้งสองครั้งจะร่วมกิจกรรมโดยอยู่บนรถของตัวเอง อาจจะมีช่วงแรกก่อนเริ่มกิจกรรมที่ผู้ร่วมคาร์ม็อบจะมารวมตัวกันที่สวนสาธารณะเขลางค์นครเพื่อรอปล่อยขบวน ซึ่งตรงจุดนั้นทางกลุ่มผู้จัดก็มีการประชาสัมพันธ์เรื่องมาตรการรักษาระยะห่างอยู่ตลอด รวมทั้งมีทีมงานคอยวัดไข้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย แต่เมื่อเคลื่อนขบวนแล้วก็ไม่มีการทำกิจกรรมที่ให้คนมารวมตัวกันอีก ขบวนเคลื่อนไปครบตามเส้นทางที่กำหนดผู้ร่วมกิจกรรมต่างก็แยกย้ายกันไปเท่านั้น สำหรับในวันที่มีการจัดกิจกรรมทั้งสองครั้งพินิจระบุว่าไม่มีเจ้าหน้าที่มาอ่านข้อกำหนดให้ฟังว่าการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบที่กำลังจะเกิดขึ้นขัดต่อข้อกฎหมายแต่อย่างใด มีเพียงบุคคลที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมายืมจับกลุ่มกันและอาจจะจับกลุ่มใกล้ชิดกว่าผู้ชุมนุมที่รอเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบเสียด้วยซ้ำ
สำหรับสถานการณ์โควิดในพื้นที่จังหวัดลำปางในช่วงที่จัดคาร์ม็อบ ถูกจัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามคำสั่งศบค.ฉบับที่ 10/2564  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศบค.ออกคำสั่งฉบับที่ 11/2564 กำหนดประเภทพื้นที่ใหม่ จังหวัดลำปางยังคงถูกจัดอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเช่นเดิม 
ในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งที่ 1 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจังหวัด 53 คน เป็นผู้ป่วยรับมาจากต่างจังหวัดในโครงการรับคนลำปางกลับบ้าน 36 คน เป็นผู้ติดเชื้อพบในจังหวัด 17 คน ส่วนวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ที่มีกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งที่สองและมีการดำเนินคดีกับผู้ร่วมกิจกรรมรวมเก้าคน จังหวัดลำปางมีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยัน 15 คน เป็นผู้ติดเชื้อจากโครงการรับคนลำปางกลับบ้านแปดคน และผู้ติดเชื้อในจังหวัดเจ็ดคน  

ภูเก็ตแซนด์บ็อก? ดำเนินคดีผู้ชุมนุม แต่ฝ่ายต้านไม่มีคดี

เฉลิมพงศ์ แสงดี ตัวแทนพรรคก้าวไกลเขต 2 จังหวัดภูเก็ต หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบที่จังหวัดภูเก็ตร่วมกับเยาวชนที่เป็นคนจัดงานอีกสองคนให้ข้อมูลว่า ในวันเกิดเหตุตัวเขาไม่ใช่ผู้จัด แต่คาดว่าตัวเองน่าจะถูกดำเนินเพราะมีบทบาททางการเมือง เป็นที่รู้จักในพื้นที่
เฉลิมพงศ์ระบุว่า ก่อนวันเกิดเหตุเขาแชร์กำหนดการกิจกรรมคาร์ม็อบที่ภูเก็ตบนเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า เช็คแตรให้ดัง เติมน้ำมันให้เต็มถัง เราออกไปล่ประยุทธ์กัน หลังจากนั้นวันก่อนกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนจังหวัดเข้ามาพูดคุยกับเขาที่สำนักงานบอกว่าขอไม่ให้จัดกิจกรรม แต่หากจะจัดก็ขอให้ไม่พูดเรื่องสถาบันฯ และไม่เผาทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เฉลิมพงศ์จึงปฏิเสธไปว่าเขาไม่ใช่ผู้จัด
ในวันเกิดเหตุ 24 กรกฎาคม 2564 เฉลิมพงศ์ไปนั่งดื่มกาแฟที่ร้านแห่งหนึ่งใกล้สวนสาธารณะสะพานหินซึ่งเป็นสถานที่นัดหมายตั้งขบวนคาร์ม็อบ จากนั้นมีเหตุชุลมุนระหว่างผู้จัดคาร์ม็อบกับผู้ที่ต่อต้านการจัดคาร์ม็อบ โดยมีผู้ต่อต้านบางส่วนเข้าไปดึงป้ายข้อความประท้วงรัฐบาลที่ติดบนรถของคนที่มาคาร์ม็อบจนสถานการณ์ตึงเครียด เฉลิมพงศ์ได้ไปดูที่เกิดเหตุ ระหว่างที่ไปสังเกตการณ์ก็มีเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าเป็นตำรวจสันติบาลเข้ามาขอพูดคุยพร้อมกับกลุ่มต่อต้าน ขอให้ยุติการชุมนุมซึ่งเขาก็แจ้งไปว่าตัวเองไม่ใช่ผู้จัด 
เฉลิมพงศ์ เดินเข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ผ่อนคลายสถานการณ์และยุติเหตุเผชิญหน้า ผู้ชุมนุมสองฝ่ายได้พูดคุยเพื่อไกล่เกลี่ยกัน ขณะที่ผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งเดินทางไปทำกิจกรรมต่อ หลังการพูดคุยซึ่งใช้เวลาครู่ใหญ่เฉลิมพงศ์ก็ขี่รถจักรยานยนต์ตามขบวนไป ซึ่งผู้ชุมนุมก็ไปถึงปลายทางที่จวนผู้ว่าฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องแล้ว ที่จวนผู้ว่าฯ ผู้ชุมนุมไม่ได้ลงมาร่วมยืนหนังสือมีเพียงกลุ่มผู้จัดที่ลงจากรถมายื่นหนังสือ แต่ก็มีเหตุชุลมุนเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีผู้ต่อต้านคาร์ม็อบเข้ามาแย่งไมโครโฟนไปจากมือของผู้ปราศรัยซึ่งนั่งอยู่ข้างคนขับรถเครื่องเสียงและเปิดกระจกไว้ 
เฉลิมพงศ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลังกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งตัวเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ปรากฎว่าผู้ชุมนุมกลุ่มต่อต้านคาร์ม็อบซึ่งก็มีการเตรียมป้ายและมารวมตัวในลักษณะการชุมนุมเหมือนกันกลับไม่ปรากฎว่ามีบุคคลใดถูกดำเนินคดี รวมทั้งหลักฐานที่นำมาใช้ปรักปรำเขากับพวกยังเป็นภาพและคลิปวิดีโอซึ่งส่วนหนึ่งถ่ายโดยกลุ่มผู้ต่อต้านคาร์ม็อบด้วย
สำหรับสถานการณ์โควิดในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ตถูกจัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงตามคำสั่งศบค.ฉบับที่ 10/2564  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม และมีผลบังคับใช้ในวันที่มีกิจกรรมคาร์ม็อบ
ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีกิจกรรมคาร์ม็อบ มีการยืนยันผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในจังหวัด 21 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในจังหวัด 16 คน 

ยะลา – ปัตตานี ผู้จัดกิจกรรมถูกดำเนินคดีทั้งที่ไม่มีการปักหลักปราศรัย

อารีฟีน โสะ นักกิจกรรมในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดคาร์ม็อบทั้งที่จังหวัดยะลาและที่จังหวัดปัตตานี ให้ข้อมูลว่า เขามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบมาแล้วสามครั้ง สองครั้งที่จังหวัดปัตตานี และหนึ่งครั้งที่จังหวัดยะลา โดยในอารีฟีนได้รับหมายเรียกจากการจัดคาร์ม็อบที่จังหวัดยะลาและจากการจัดคาร์ม็อบปัตตานีทั้งสองครั้งรวมสามคดี
ในส่วนของจังหวัดยะลา อารีฟีนให้ข้อมูลว่า เขากับเพื่อนประกาศจัดคาร์ม็อบในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 คู่ขนานกับการจัดคาร์ม็อบในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ อารีฟีนระบุว่าเขากับเพื่อนตัดสินใจจัดคาร์ม็อบเพราะเห็นว่าเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 เพราะต่างคนต่างอยู่บนรถไม่ได้มารวมตัวแออัด ในวันที่จัดกิจกรรมที่จังหวัดยะลา มีคนมาเข้าร่วมประมาณ 200 – 300 คน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์มาร่วมกิจกรรม ส่วนรถยนต์มีคนนำมาร่วมขบวนไม่มากนัก รูปแบบกิจกรรมที่จังหวัดยะลาเป็นเพียงการขับรถไปตามจุดที่กำหนดและเมื่อถึงจุดสิ้นสุดก็แยกย้ายกันไป ทว่าหลังผ่านกิจกรรมคาร์ม็อบไปไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์เขาก็ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
ส่วนที่จังหวัดปัตตานี อารีฟีนร่วมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ 2 ครั้ง วันที่ 7 สิงหาคมและ 14 สิงหาคม 2564 รูปแบบกิจกรรมคาร์ม็อบทั้งสองครั้งเป็นเพียงการขับรถไปตามเส้นทางที่กำหนด คาร์ม็อบปัตตานีในวันที่ 14 สิงหาคมจะมีช่วงที่ผู้ร่วมกิจกรรมมารวมตัวเป็นเวลาสั้นๆ เนื่องจากจุดสิ้นสุดกิจกรรมเป็นบริเวณลานกิจกรรมของจังหวัดซึ่งทางผู้จัดกิจกรรมมีการปราศรัยด้วยรถเครื่องเสียงสั้นๆ เกี่ยวกับความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโควิดและชวนผู้ร่วมกิจกรรมร้องเพลง “เราคือเพื่อนกัน” ของวงสามัญชน โดยไม่ได้ชักชวนให้ผู้มารวมคาร์ม็อบลงมานั่งรวมตัวฟังปราศรัยแต่ก็มีผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนที่ลงรถมาจับกลุ่มถ่ายภาพร่วมกัน หลังจัดกิจกรรมทั้งสองครั้งปรากฎว่ามีนักกิจกรรมสามคนรวมทั้งอารีฟีนถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 
สำหรับสถานการณ์โควิดในพื้นที่จังหวัดยะลาถูกจัดเป็นพื้นที่ถูกจัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามคำสั่งศบค.ฉบับที่ 10/2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันจัดกิจกรรมคาร์ม็อบที่จังหวัดยะลา มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 162 คน 
สำหรับสถานการณ์โควิดในพื้นที่ จังหวัดปัตตานีถูกจัดเป็นพื้นที่ถูกจัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามคำสั่งศบค.ฉบับที่ 11/2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564  ในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันจัดคาร์ม็อบครั้งแรก มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 219 คน  และวันที่ 14 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันจัดคาร์ม็อบรอบที่สอง ไม่สามารถหาข้อมูลได้ 

ฟ้องเร็ว! สมบัติ บุญงามอนงค์เตรียมขึ้นศาล คดีคาร์ม็อบ 10 กรกฎาคม

ในวันที่ 3 กันยายน 2564 สมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมคาร์ม็อบ ถูกอัยการยื่นฟ้องคดีในข้อหาไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด -19) กับผู้เข้าร่วมชุมนุมและทำกิจกรรมตามที่ทางราชการกำหนด ทั้งการวัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง และจัดเจลล้างมือ จึงเป็นการชุมนุม มั่วสุม หรือจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ที่มีการรวมตัวของคนมากกว่า 20 คน จากกรณีที่เขาจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ซึ่งระหว่างการตั้งขบวนที่บริเวณร้านแม็คโดนัลด์ราชดำเนินมีรถยนต์และจักรยานยนต์มาร่วมมากกว่า 100 คัน อันเป็นการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนเกินกว่า 20 คน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในลักษณะกีดขวางการจราจรและทางสาธารณะ ศาลแขวงดุสิตประทับรับฟ้องคดีแล้วและได้ปล่อยตัวสมบัติโดยให้สาบานตนแทนการวางหลักประกัน