สรุปการตั้งข้อกล่าวหาและสถานะของนักกิจกรรมที่ถูกจับกุม ช่วง 23-24 มิถุนายน 2559

ช่วงวันที่ 23 และ 24 มิถุนายน 2559 มีผู้ถูกจับกุมตัวจากการทำกิจกรรมทางการเมืองถึง 20 คน 13 คน ถูกจับตัวในช่วงค่ำวันที่ 23 เมื่อไปแจกใบปลิวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่จังหวัดสมุทรปราการ ขณะที่อีกเจ็ดคนถูกจับตัวในเช้าวันที่ 24 ระหว่างทำกิจกรรมรำลึกวันอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ด้วยการเดินเท้าจากวัดพระศรีมหาธาตุไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ วงเวียนหลักสี่ 

จุดร่วมของทั้ง 20 คน คือ ทุกคนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่ก็มีจุดต่างคือแต่ละคนถูกตั้งข้อหาพ่วงเป็นของแถมหนักเบาแตกต่างกันไป กฎหมายที่นำมาใช้มีทั้ง พ.ร.บ.ประชามติฯ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.บัตรประชาชน และประกาศ คปค. ชะตากรรมแต่ละคนก็ต่างกัน 7 คนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข 6 คนต้องวางเงินประกัน และอีก 7 คน ยังอยู่ในเรือนจำ

 

คดีแจกใบปลิวรณรงค์โหวตโนที่สมุทรปราการ 

คืนวันที่ 23 มิถุนายน 2559 นักกิจกรรมรวม 13 คนได้แก่ รังสิมันต์ โรม, กรกช, นันทพงศ์, อนันต์, ธีรยุทธ, ยุทธนา, สมสกุล, วรวุฒิ, เตือนใจ, ปีใหม่, พรรณทิพย์, รักษ์ชาติ และกรชนก ถูกทหารและตำรวจจับกุมตัวหลังไปแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารชี้แจงวิธีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิลงประชามตินอกเขต ในพื้นที่ชุมชนเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 

นักกิจกรรม 13 ซึ่งมีทั้งนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ถูกนำตัวไป สน.บางเสาธงเพื่อสอบสวนและตั้งข้อกล่าวหาหนัก 2 ข้อหา ได้แก่

1. รวมตัวกันแจกใบปลิว เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. รวมตัวกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป แจกใบปลิวรณรงค์ให้คนลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (Vote NO) เข้าข่ายความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 (1) วรรคสองและสาม ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับตั้งแต่สองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี 

นอกจากนี้ รังสิมันต์, กรกช, นันทพงศ์, อนันต์, ธีรยุทธ, ยุทธนา, สมสกุล, วรวุฒิ ซึ่งปฏิเสธที่จะให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือ ถูกตั้งข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งพนักงานสอบสวน ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพิ่มเติม

ขณะที่รังสิมันต์, กรกช, นันทพงศ์, เตือนใจ, ปีใหม่ และพรรณทิพย์ ซึ่งปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการพิมพ์ลายนิ้วมือที่สถานีตำรวจถูกตั้งข้อหาไม่แสดงบัตรหรือใบรับแทนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจ ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 ซึ่งมีโทษปรับ 200 บาท 

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ช่วงเย็น พนักงานสอบสวน สน.บางเสาธงยื่นคำร้องต่อศาลทหารขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 13 คน โดยระบุเหตุผลว่า ต้องสอบพยานบุคคลอีกสิบปากและรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา และขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก และจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน 

ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ผู้ต้องหาหกคน ได้แก่ วรวุฒิ, เตือนใจ, ปีใหม่, พรรณทิพย์, รักษ์ชาติ และกรชนก ยื่นขอประกันตัว ซึ่งศาลตีราคาประกันคนละ 50,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายหรือให้คนละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ทั้งหกได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางในคืนวันเดียวกัน

ผู้ต้องหาอีกเจ็ดคนได้แก่ รังสิมันต์ โรม, กรกช, นันทพงศ์, อนันต์, ธีรยุทธ, ยุทธนา, สมสกุล ไม่ประสงค์จะยื่นขอประกันตัว เพราะพวกเขาเห็นว่าสิ่งที่พวกตนทำนั้นไม่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจควบคุมตัวตั้งแต่แรก และพวกเขาไม่มีหน้าที่ต้องขอประกันตัว จึงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่คืนวันที่ 24 มิถุนายน โดยการฝากขังผลัดแรกจะสิ้นสุดลงในวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ซึ่งทั้งเจ็ดจะถูกนำตัวไปที่ศาลทหารเพื่อฟังคำสั่งว่าศาลทหารจะให้ฝากขังต่อเป็นผลัดที่สองหรือไม่ 

 

คดีทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

เช้าวันที่ 24 มิถุนายน นักกิจกรรมเจ็ดคนได้แก่ คุณภัทร, อุทัย, เกษมชาติ, กานต์, สุธิดา, อรัญญิกา และชนกนันท์ รวมทรัพย์ เดินเท้าจากวัดพระศรีมหาธาตุไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่วงเวียนหลักสี่ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เมื่อเดินไปถึงบริเวณวงเวียนหลักสี่ ทั้งเจ็ดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวโดยรถตู้ไปที่ สน.บางเขนและถูกตั้งข้อกล่าวหารวมสองข้อ ได้แก่

1. รวมตัวกันแจกใบปลิว เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ไม่แจ้งการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

หลังทำการจับกุมในช่วงเช้า พนักงานสอบสวน สน.บางเขนก็นำตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดไปฝากขังกับศาลทหารกรุงเทพในช่วงบ่าย ผู้ต้องหาและทนายความยื่นคำร้องและแถลงคัดค้านการฝากขัง ศาลทหารให้ยกคำร้องฝากขังนักกิจกรรมทั้งเจ็ดโดยระบุว่าผู้ต้องหายังเป็นนักศึกษาและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง นักกิจกรรมทั้งเจ็ดได้รับการปล่อยตัวจากศาลทหารในช่วงค่ำวันเดียวกัน