#สมรสเท่าเทียม : เปิด 3 ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ ปลดล็อกไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีใจความหลักสำคัญการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งยังรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น เพื่อให้รับรองการสมรสสำหรับบุคคลสองคนไม่ว่าจะมีเพศตามทะเบียนราษฎรเป็นเพศใดก็ตาม
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เข้าสภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 มีจำนวนถึงสามฉบับ เรียงตามลำดับช่วงวันที่เสนอต่อสภา ได้แก่ 1) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล 2) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน ใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกลไกรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 10,000 ชื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา และ 3) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผลักดันโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม 
ร่างทั้งสามฉบับ มีความแตกต่างกันในเชิงรายละเอียด ดังนี้

เปรียบเทียบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมสามฉบับ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ร่างฉบับภาคประชาชน
ร่างฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล
ร่างฉบับที่เสนอโดย ครม.

การหมั้น
ชาย-หญิง อายุ 17 ปี ทำการหมั้นได้
ไม่ได้แก้ไข

แก้ไข บุคคลอายุ 17 ปีทำการหมั้นได้
แก้ไข บุคคลอายุ 17 ปีทำการหมั้นได้
ของหมั้น
ฝ่ายชายมอบให้หญิง
ไม่ได้แก้ไข
ฝ่ายผู้หมั้นมอบให้ผู้รับหมั้น

ฝ่ายผู้หมั้นมอบให้ผู้รับหมั้น

อายุขั้นต่ำที่จะทำการสมรสได้
ชาย-หญิง 17 ปี

บุคคล อายุ 18 ปี
*แก้ไขอายุให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็ก
บุคคล อายุ 18 ปี
*แก้ไขอายุให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็ก
17 ปี
การรับรองสิทธิหน้าที่คู่สมรส ตามกฎหมายอื่นๆ
กำหนดให้คู่สมรสมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ โดยอัติโนมัติ แม้ว่ากฎหมายเหล่านั้นจะใช้คำมีลักษณะเป็นระบบสองเพศ
กำหนดให้หน่วยงานรัฐไปทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นให้สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมกำหนดให้หน่วยงานรัฐไปทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นให้สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม


ที่มาของร่างแต่ละฉบับ : ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ 1) ครม. 2) สส. จำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน 3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 มีจำนวนสามฉบับ ผู้เสนอร่างกฎหมายแตกต่างกัน ดังนี้

[1] ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล : ในสมัยสภาที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 พรรคก้าวไกลเคยเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสภา เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล ไปพร้อมกับรับหลักการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเสนอโดยครม. ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีกฉบับเสนอโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์

แม้สภาผู้แทนราษฎรจะรับหลักการร่างกฎหมายแล้ว และพิจารณาแล้วเสร็จในชั้นกรรมาธิการ เตรียมลงมติรายมาตราในวาระสอง แต่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภา ส่งผลให้ร่างกฎหมายหรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ก็ตามที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จทุกกระบวนการก็จะเป็นอันตกไป แต่มีข้อยกเว้นว่าร่างกฎหมายเหล่านั้นจะมีทางไปต่อได้ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่หลังการเลือกตั้งร้องขอรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา (แล้วแต่ว่าร่างกฎหมายนั้นพิจารณาโดยองค์กรใดและค้างที่ขั้นตอนไหน) พิจารณาร่างกฎหมายนั้นต่อไป เงื่อนไขสำคัญคือ ครม. จะต้องร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 147) 

วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 คือวันที่ กรกฎาคม 2566 ดังนั้น ระยะเวลา 60 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 1 กันยายน 2566 เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ราบรื่นเนื่องจากยังคงมี สว. ชุดพิเศษ จากคสช. ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. ทำให้ครม. ไม่ได้ร้องขอรัฐสภาภายในกำหนดดังกล่าว ร่างกฎหมายที่ค้างท่อจากสภาชุดที่แล้วรวมถึงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงไม่ได้นำมาพิจารณาต่อจากเดิม

พรรคก้าวไกล จึงเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสภาอีกครั้ง โดยมีหลักการเช่นเดียวกับร่างที่เคยเสนอสภาชุดที่แล้ว แต่ในเชิงรายละเอียดเนื้อหาจะเหมือนกันกับร่างที่ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมติรายมาตราวาระสอง และร่างตกไปเสียก่อน

[2] ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน : ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมหลายองค์กรในนาม ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามพ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ 11,611 ชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย โดยการรวบรวมรายชื่อทำผ่านระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย e-initiative ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร https://einitiative.parliament.go.th

[3] ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย ครม. : ฟากฝั่งฝ่ายบริหาร กรมคุ้มครองสิทธิเสรีและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ก็ผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หลังจากเดิมก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงปี 2556 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกฎหมายแยกออกไปเพื่อรับรองสิทธิการตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังไม่ได้มีแนวทางการผลักดันแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง เป็นรับรองสิทธิสมรสสำหรับทุกคนแต่อย่างใด

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย ครม. เปิดรับฟังความเห็นประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ law.go.th และเว็บของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไปแล้วเมื่อ 31 ตุลาคม – 14 พฤศจิกายน 2566 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปดำเนินการตรวจร่างกฎหมาย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเปิดเผยกับสื่อหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสภาในวันที่ 21 ธันวาคม 2566

ในเชิงเนื้อหา ร่างทั้งสามฉบับมีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น

การหมั้น : ในทางกฎหมาย การหมั้นเป็นการทำสัญญาว่าคนสองคนจะทำการสมรสกันในอนาคต แต่การหมั้นเป็นเพียงทางเลือกสำหรับบุคคลเท่านั้น บุคคลสองคนอาจเลือกที่จะหมั้นก่อนสมรสก็ได้เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะสมรสกันในอนาคต และหากมีฝ่ายผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายก็มีสิทธิเรียกค่าทนแทนได้ หรือจะเลือกไม่ทำการหมั้นแต่ไปจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้

ใน ป.พ.พ. บรรพ 5 การสมรส ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2478 นั้น กำหนดให้การหมั้นกระทำได้ระหว่างชาย-หญิง ที่มีอายุ 17 ปี (มาตรา 1435) ส่วนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล และฉบับที่เสนอโดย ครม. เสนอแก้ไขให้การหมั้นทำได้เมื่อบุคคลสองฝ่ายมีอายุ 17 ปีแล้ว โดยในเชิงเงื่อนไขของอายุที่จะทำการหมั้นได้นั้นร่างทั้งสองฉบับไม่ได้เสนอปรับแก้ แต่แก้ในเงื่อนไขเรื่องเพศ ขณะที่ร่างฉบับภาคประชาชนไม่ได้กำหนดเสนอแก้ไขเรื่องการหมั้นเอาไว้

นอกจากเงื่อนไขเรื่องอายุ อีกหนึ่งเงื่อนไขที่สำคัญสำหรับการหมั้นคือ ของหมั้น ซึ่งจะมีผลต่อความสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ของสัญญาหมั้นนั้นๆ ตามมาตรา 1437 ของ ป.พ.พ. กำหนดว่า การหมั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อฝ่ายชาย (ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะชายผู้ที่จะหมั้น แต่รวมถึงบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองของชายคนนั้น) ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นให้แก่หญิง (หมายความเฉพาะหญิงที่เป็นคู่หมั้น) เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้ว ของหมั้นตกเป็นสิทธิฝ่ายหญิง

ส่วนสินสอด จะเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้กับบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้ามีเหตุที่การสมรสไม่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากฝ่ายหญิงเอง ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้

ขณะที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้งฉบับที่เสนอโดย ครม. และฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล ใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศว่าการหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายผู้หมั้นส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินของหมั้นให้แก่ตัวผู้รับหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรส ในส่วนนี้อาจตีความได้ว่า ในทางหนึ่งผู้ที่เป็นคู่หมั้นอาจจะตกลงกันว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้หมั้นที่จะมอบทรัพย์สินให้อีกฝ่าย อีกทางหนึ่งก็คือคู่หมั้นทั้งสองคนอาจตกลงกันมอบของหมั้นให้แก่คู่หมั้นของตนก็ได้เช่นกัน (คือ ในทางกฎหมาย ฝ่ายหนึ่งมีสถานะเป็นทั้งผู้หมั้นและผู้รับหมั้น) หรืออาจจะเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนของหมั้นก็ได้ อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติว่าการมอบของหมั้นจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงของคู่หมั้น

อายุขั้นต่ำในการสมรส : ป.พ.พ. มาตรา 1448 กำหนดให้ชาย-หญิงที่มีอายุ 17 ปีสามารถทำการสมรสได้ กรณีที่มีเหตุอันสมควร เช่น หญิงตั้งครรภ์ก่อนอายุ 17 ปี ศาลอาจอนุญาตให้สมรสก่อนได้ ทั้งนี้ กรณีที่บุคคลที่จะทำการสมรสยังเป็นผู้เยาว์ มีอายุต่ำกว่า 20 ปี การสมรสนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาด้วย (มาตรา 1454 ประกอบ 1436) ในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย ครม. เสนอแก้ไขเงื่อนไขเรื่องเพศโดยใช้คำว่า บุคคลสองฝ่าย ซึ่งไม่ได้เจาะจงเพศใด ในเงื่อนไขเรื่องอายุขั้นต่ำที่จะทำการสมรสได้ ร่างฉบับนี้ไม่ได้เสนอแก้ไข ยังคงไว้ที่ 17 ปี ในขณะที่ร่างฉบับภาคประชาชน และร่างฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล นอกจากจะแก้ไขเงื่อนไขเรื่องเพศ ยังแก้ไขเรื่องอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปี เพื่อจัดเกณฑ์อายุให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กำหนดให้ “เด็ก” คือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ดังนั้นการที่ป.พ.พ. เดิมกำหนดให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจดทะเบียนสมรสได้ อีกนัยหนึ่งก็เป็นเหมือนการให้เด็ก (ตามความหมายของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก) สามารถสมรสได้

การรับรองสิทธิหน้าที่ของคู่สมรส : แบ่งได้เป็นสองกรณี

สิทธิหน้าที่ตามที่ ป.พ.พ. กำหนดไว้ : โดยภาพรวม ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้งสามฉบับกำหนดแก้ไขถ้อยคำหลายส่วนที่บ่งชี้เพศให้มีความเป็นกลางทางเพศมากขึ้น หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จนประกาศใช้เป็นกฎหมาย ก็จะทำให้คู่สมรสทั้งชาย-หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิหน้าที่เหมือนกัน เช่น การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส รวมถึงสิทธิในการรับมรดก

สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ : นอกจากป.พ.พ. ยังมีกฎหมายอื่นๆ ทั้งนี้ระดับพระราชบัญญัติและกฎหมายลำดับรอง (เช่น กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง) ที่รับรองสิทธิหน้าที่คู่สมรสเอาไว้ โดยกฎหมายเหล่านั้นบางกรณีอาจใช้คำที่เป็นกลางทางเพศในตัวอยู่แล้ว อย่างคำว่า คู่สมรส ซึ่งเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้ กฎหมายเหล่านั้นก็จะไม่ขัดแย้งกันและสามารถรับรองสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสได้เลย ตัวอย่างเช่น


  • รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 108 ข. (8) กำหนดลักษณะต้องห้ามของส.ว. ต้องไม่เป็น “คู่สมรส” ของส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง ฯลฯ และมาตรา 184 วรรคสาม ที่กำหนดห้ามคู่สมรสของส.ส. หรือส.ว. แทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ และต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ

  • พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 มาตรา 3 (2) กำหนดยกเว้นไม่ให้เก็บภาษีมรดก กับมรดกที่ตกทอดไปยัง “คู่สมรส” เท่ากับว่าคู่สมรสที่ได้รับมรดกจากคู่สมรสอีกฝ่ายที่เสียชีวิตไป ไม่ต้องเสียภาษีมรดก

  • พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 มาตรา 12 กำหนดให้ “คู่สมรส” มีสิทธิใช้นามสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้นามสกุลเดิมของตนก็ได้ และคู่สมรสอาจใช้นามสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นชื่อรองได้หากได้รับความยินยอม 

  • กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรอิสระ จะกำหนดให้กรรมการที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยหากครบวาระ ลาออก มีอายุครบ 70 ปี หรือตาย ซึ่งกรณีที่ตาย สิทธิบำเหน็จตอบแทนนั้นจะตกกับ “คู่สมรส” หรือทายาทที่ได้แจ้งไว้ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ได้แก่

  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 40พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 32พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 31พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 25
  • แต่บางกรณีก็อาจใช้คำที่แบ่งแยกเพศสองเพศ สามี-ภริยา ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมหากมีการบังคับใช้แล้ว ตัวอย่างเช่น
  • พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับประโยชน์ทดแทน โดย “คู่สมรส” ของผู้ประกันตนมีสิทธิไปรับบริการทางการแพทย์ได้ และมีหลายสิทธิที่กำหนดให้เป็นของ “สามีภริยา” เช่น สิทธิได้ประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนตาย สิทธิได้ประโยชน์ทดแทนกรณีภริยาคลอดบุตร เป็นต้นพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือพ.ร.บ.อุ้มบุญฯ กำหนดให้คู่ “สามีภริยา” ที่ภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้เท่านั้นที่จะให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้ หมายความว่า แม้ในกรณีของคู่สมรสชายหญิงก็ไม่ใช่ทุกคู่ที่จะมีลูกโดยการอุ้มบุญได้ หากฝ่ายหญิงมีสุขภาพแข็งแรงสามารถตั้งครรภ์ได้ ก็ไม่สามารถมีบุตรด้วยวิธีการอุ้มบุญได้ กรณีที่จะให้คู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือคู่ชีวิตอุ้มบุญได้ ก็ต้องแก้ไขหลักเกณฑ์ในกฎหมายให้ผ่อนคลายมากขึ้น

  • พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 กำหนดหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทย สำหรับหญิงต่างชาติที่มีสามีสัญชาติไทย และชายต่างชาติที่มีภริยาสัญชาติไทย เอาไว้ความแตกต่างกัน กรณีของหญิงต่างชาติ หากประสงค์ถือสัญชาติไทยตามสามี ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องแนบหลักฐาน ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส โดยการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ได้สัญชาติไทยให้อยู่ในดุลพินิจของรมต.กระทรวงมหาดไทย 


สำหรับการออกแบบวิธีแก้ไขปัญหากรณีที่กฎหมายอื่นใช้ถ้อยคำที่ระบุเจาะจงเพศและอาจส่งผลต่อการรับรองสิทธิหน้าที่ของคู่สมรส หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาและบังคับใช้ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้งสามฉบับ เสนอแนวทางแก้ไขแตกต่างกัน ดังนี้

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล และฉบับที่เสนอโดย ครม. : กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบ ที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับ สามี ภริยา หรือคู่สมรส และให้เสนอผลการทบทวน ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้นๆ ก็เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้นต่อ ครม. ด้วย ภายใน 180 วันนับแต่กฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้

โดยสรุป คือ ร่างทั้งสองฉบับนี้กำหนดให้หน่วยงานรัฐไปทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้รับรองสิทธิ หน้าที่ สถานะของคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อไป 

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับภาคประชาชน : กำหนดให้คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้แล้ว เป้นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สมรส สามีภริยา หรือบิดามารดา เพราะในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน เสนอแก้ไขคำว่าบิดามารดา ใช้คำว่าบุพการีแทน

สรุปสั้นๆ คือ ร่างฉบับนี้ กำหนดให้คู่สมรสมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ โดยอัติโนมัติ แม้ว่ากฎหมายเหล่านั้นจะใช้คำมีลักษณะเป็นระบบสองเพศ เช่นคำว่า สามีภริยา

สภาสามารถพิจารณาร่างทุกฉบับประกบกันได้ รับร่างประชาชนตัวแทนประชาชนได้โควตาเป็นกรรมาธิการ



สำหรับกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร วาระหนึ่ง เนื่องจากร่างกฎหมายทั้งสามฉบับมีหลักการทำนองเดียวกัน สภาสามารถพิจารณาไปพร้อมกันได้ และสามารถลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการร่างทุกฉบับในวาระหนึ่งได้ หากสภาลงมติรับหลักการร่างกฎหมายแล้ว ลำดับถัดไปก็จะเป็นการลงมติว่าจะใช้ร่างใดเป็นร่างหลักในการพิจารณาในวาระสอง (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 117) 

หากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทุกฉบับไปพร้อมกันและมีมติรับหลักการร่างทุกฉบับ เนื่องจากมีร่างภาคประชาชนด้วย ก็จะส่งผลให้ตัวแทนภาคประชาชนได้โควตาเข้าไปเป็นกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดด้วย (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 122)


ข้อสังเกต : สภาออกแบบกฎหมาย ต้องคำนึงถึงการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพในอนาคต

  • ร่างมาตรา 14 แก้ไขมาตรา 1452 และมาตรา 1453 ในส่วนของมาตรา 1453 ระบุใจความว่า หญิงที่ชายคู่สมรสตายหรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่น จะทำการสมรสใหม่กับชายต่อเมื่อการสิ้นสุดการสมรสนั้นผ่านไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่…
  • ร่างมาตรา 41 แก้ไขมาตรา 1504 วรรคสอง ระบุใจความว่า ถ้าศาลไม่ได้สั่งเพิกถอนการสมรสจนบุคคลทั้งสองอายุครบ 17 ปี หรือในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิง เมื่อหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปี ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์ตั้งแต่เวลาสมรส
ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป