ประชาชนเสนอกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ คำนำหน้า-เอกสารราชการยึดตามเจตจำนง

กฎหมายไทยในปัจจุบัน ยังรับรองสิทธิ-สถานะของบุคคล โดยยึดจากเพศภายใต้กรอบสองเพศ คือ “ชาย-หญิง” สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการรับรองสิทธิ-สถานะในกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายแพ่งเรื่องการสมรส การกำหนดคำนำหน้านาม รวมถึงเอกสารแสดงตนทางราชการที่ระบุได้เพศชายและหญิง
อย่างไรก็ดี เพศของบุคคลซึ่งยึดโยงกับลักษณะเพศทางชีววิทยา ก็ไม่ได้มีเพียงสองแบบเท่านั้น ยังมีบุคคลที่เป็น Intersex ซึ่งกฎหมายยังไม่รับรองสิทธิและสถานะของบุคคลกลุ่มนี้ และนอกจากนี้ อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ (Gender Identity) ของบุคคลก็อาจจะไม่ได้สอดคล้องกับเพศเสมอไป เมื่อยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดกลไกรับรองสิทธิและสถานะที่ชัดเจน ก็ทำให้บุคคลเหล่านี้ต้องเผชิญปัญหาทั้งการยอมรับของผู้คนในสังคม และการแสดงตัวตนในระบบราชการ
การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องมีการออกกฎหมายโดยสภา ซึ่งในเดือนกันยายน 2566 ภาคประชาชน ใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT) ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเปิดให้ลงชื่อแล้ว สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีขึ้นไป) สามารถร่วมลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ กันได้ทาง https://www.gen-act.org
รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพได้ตามเจตจำนง ไม่ต้องใช้วิธีการแพทย์พิสูจน์
ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ กำหนดให้บุคคลมีสิทธิในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย มีเสรีภาพในการพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตน รวมทั้งต้องได้รับการรับรองชื่อตัว ภาพถ่าย และเพศที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตนในเอกสารแสดงตน
ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ บุคคลสามารถยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อระบุเพศ ชื่อตัว และเครื่องหมายระบุเพศสภาพ (Gender Marker) ซึ่งเป็นคำหรือเครื่องหมายที่บันทึกเพศภาพของบุคคล ในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจำนงของตนเองได้หรือเรียกว่า “การจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคล”
โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
๐ กรณีบุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป : สามารถยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่ (ตามกฎหมายจะเรียกว่า “นายทะเบียน”) ได้ที่สำนักทะเบียนกรุงเทพมหานคร (ในสำนักงานเขต 50 เขต) สำนักทะเบียนจังหวัด สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น เช่น เทศบาล สำหรับบุคคลสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของสถานทูตหรือสถานกงสุล
โดยสิ่งที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน ได้แก่
สำเนาสูติบัตร
  • เอกสารอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งหากร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและประกาศใช้ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยก็จะต้องออกกฎกระทรวงมากำหนดรายละเอียดเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคล
  • ระบุชื่อตัวตามความต้องการ โดยต้องไม่ขัดกับกฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคล ซึ่งในพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 6 วรรคแรก ก็กำหนดหลักที่เป็นข้อห้ามสำหรับชื่อบุคคลไว้ว่า ชื่อตัวต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
  • ระบุเพศ เครื่องหมายระบุเพศสภาพ ที่ต้องการให้ปรากฏอยู่ในบัตรประชาชนและเอกสารราชการอื่นๆ ที่ต้องใช้แสดงตน แจกแจงได้เป็น
                       o เพศชาย (Male/M) สำหรับผู้ที่แสดงเจตจำนงว่าตนมีอัตลักษณ์ทางเพศสภาพเป็นชาย
                       o เพศหญิง (Female/F) สำหรับผู้แสดงเจตจำนงว่าตนมีอัตลักษณ์ทางเพศสภาพเป็นหญิง
                       o เพศกรณีอื่น (Other/X) สำหรับผู้ที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาที่หลากหลาย (Intersex)
หรือผู้ที่เพศสภาพที่หลากหลาย รวมถึงบุคคลซึ่งมีเพศสภาพที่ไม่ได้อยู่ในระบบสองเพศ (Non-binary)
หลังจากนายทะเบียนได้รับคำขอและเอกสารประกอบคำขอแล้ว ต้องพิจารณาคำขอและเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องให้เสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอจดทะเบียน ถ้าหากคำขอนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกฎหมาย เอกสารครบถ้วน เจ้าหน้าที่ก็จะทำการแก้ไขข้อมูล เพศและชื่อตัวในใบสูติบัตร รวมถึงเครื่องหมายระบุเพศสภาพในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจำนงของผู้ยื่นคำขอ โดยการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพมีผลในทางกฎหมายนับแต่วันที่มีการแก้ไขในใบสูติบัตร
หากนายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับคำขอหรือไม่ดำเนินการให้ ผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ สามารถอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
๐ กรณีบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี : ต้องได้รับความยินยอมจากจากผู้แทนโดยชอบธรรม (บิดามารดา)
  • หากได้รับความยินยอมจากบิดามารดา : สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพได้เลย
  • หากความยินยอมของเด็กขัดกับความเห็นบิดามารดา : เด็กสามารถร้องขอต่ออัยการ ให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศและชื่อตัวในสูติบัตร และข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ เมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว นายทะเบียนก็จะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่อไป
ทั้งนี้ ในร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ยังกำหนดห้ามไม่ให้นายทะเบียนเรียกเอาเอกสารทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองทางจิตเวชหรือจิตวิทยาจากผู้ยื่นคำขอ การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคลตามร่างกฎหมายนี้ จึงพิจารณาจากเจตจำนงของบุคคลนั้นๆ โดยไม่มีการนำกระบวนการผ่าตัดแปลงเพศ การใช้ฮอร์โมน ฯลฯ มาเป็นเงื่อนไขสำหรับบุคคลเพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ
Intersex กำหนดเพศ-อัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจำนงตัวเองได้
ตามกฎหมายไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังกำหนดความเป็น “เพศ” ไว้เพียงกรอบ “ชาย-หญิง” เท่านั้น จะเห็นได้จากการระบุในเอกสารราชการ ไม่ว่าจะเป็นสูติบัตร ประชาชน รวมถึงถ้อยคำในตามกฎหมาย เช่น การสมรส ก็ยังจำกัดเฉพาะระหว่างชาย-หญิง อย่างไรก็ดี โลกนี้ก็ยังมีมนุษย์ที่ลักษณะทางชีววิทยาไม่ตรงกับกรอบที่รัฐกำหนด เช่น มีอวัยวะสืบพันธ์ โคมโมโซม หรือระบบภายใน ที่แตกต่างออกไปจาก ซึ่งในภาษาที่หลายคนคุ้นชินอาจเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า ผู้มีเพศกำกวม (Intersex) ซึ่งในร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ใช้คำว่า บุคคลที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาที่หลากหลาย
หนึ่งในปัญหาที่ Intersex ต้องเผชิญ คือการกำหนดเพศลงในสูติบัตรโดยพ่อแม่ของเขา เพศที่ระบุไว้ในสูติบัตรนั้น อาจไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคลนั้นๆ เมื่อกฎหมายไทยยังไม่มีกลไกรับรองสิทธิเรื่องนี้ ทำให้ Intersex ต้องเผชิญกับปัญหาที่ความรับรู้-ความเข้าใจของบุคคลอื่น ยึดตามที่ระบุเพศในระเบียนราษฎร ซึ่งไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพและอาจไม่ตรงกับเพศที่เขาต้องการกำหนด
ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ กำหนดกลไกสำหรับเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อเด็กที่เกิดมาเป็น Intersex ให้ระบุเพศในสูติบัตรว่าเป็นบุคคลที่มีลักษณะทางชีววิทยาที่หลากหลาย และระบุในเอกสารราชการหรือบัตรประชาชนของเด็กนั้นว่าเป็นเพศกรณีอื่น (Other/X) และเมื่อบุคคลนั้นมีอายุ 15 ปีแล้ว ก็มีสิทธิยื่นคำขอเพื่อระบุเพศและชื่อตัวในใบสูติบัตร รวมถึงเครื่องหมายระบุเพศสภาพในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจำนงของตนได้
แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ที่เป็น intersex รายนั้นมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องการระบุเพศ รวมถึงเครื่องหมายระบุเพศสภาพในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศตามเจตจำนงของตน ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาก่อน หากไม่ได้รับความยินยอม สามารถร้องขอต่ออัยการ ให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศและชื่อตัวในสูติบัตร และข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ เมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว นายทะเบียนก็จะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่อไป
นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ยังกำหนดห้ามมิให้ทำการผ่าตัดเพื่อเลือกเพศ และหรือใช้กระบวนการผ่าตัดในการแทรกแซงลักษณะทางเพศของเด็กจนกว่าบุคคลนั้นจะแสดงความยินยอมได้ด้วยตนเอง และหากเด็กมีความประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดเพื่อเลือกเพศ การให้ความยินยอมจะกระทำผ่านบิดามารดา หากมีผู้ฝ่าฝืน ก็จะมีความผิดตามฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาเหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (2)
มีสิทธิใช้คำนำหน้าตามเพศสภาพ
สำหรับผลที่ตามมาสำหรับผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศและชื่อตัวในใบสูติบัตร รวมถึงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ก็จะมีสิทธิใช้คำนำหน้านามที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตน และมีสิทธิและหน้าที่ตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพนั้นๆ เช่น ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดให้ ชายสัญชาติไทย มีหน้าที่รับราชการทหาร ดังนั้นผู้ที่เปลี่ยนแปลงข้อมูลในเอกสารราชการและระบบทะเบียนราษฎร เป็นเพศชาย ก็จะมีหน้าที่ตามกฎหมายนี้เช่นกัน หรือในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ยังกำหนดเรื่องการสมรสกระทำได้ระหว่าง ชาย-หญิง หากบุคคลจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพแล้ว ฝ่ายหนึ่งมีเพศสภาพเป็นหญิง อีกฝ่ายมีเพศสภาพเป็นชาย ก็มีสิทธิสมรสได้ ถึงแม้จะยังไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรับรองสิทธิสมรสระหว่าง บุคคล-บุคคล ก็ตาม
ส่วนกรณีของ Intersex รวมถึงผู้ที่มีเพศสภาพที่ไม่ได้อยู่ในระบบสองเพศ (Non-Binary) ที่ตามข้อมูลทะเบียนราษฎรระบุไว้ว่าเป็นเป็นเพศกรณีอื่น (Other/X) ก็จะมีมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย
ห้ามเปิดเผยข้อมูลเพศ-ชื่อตามใบสูติบัตรเดิม ฝ่าฝืนผิด PDPA
สำหรับกลไกการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ กำหนดให้ ข้อมูลเกี่ยวกับเพศและชื่อตัวบุคคลในใบสูติบัตร เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลส่วนบุคคล ห้ามไม่ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเพศและชื่อตัวบุคคลตามใบสูติบัตรเดิมของผู้ที่ผ่านกระบวนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคลมาแล้ว การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเท่านั้น
ทั้งนี้ ในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act : PDPA) ก็กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย ซึ่งหากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลฝ่าฝืน เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อแสวงหาประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล จนน่าจะทำให้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย  ก็จะมีโทษทางอาญา
ไฟล์แนบ
  • 1 (255 kB)