“ประชามติ” คืออะไร ทำไมประชาชนต้องมีส่วนร่วม

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนไม่ได้จบลงแค่ออกไปเลือกตั้ง อีกหนึ่งกลไกที่กฎหมายรับรองและกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนคือ “การออกเสียงประชามติ” ซึ่งเป็นกระบวนการให้ประชาชนได้ตัดสินใจกำหนดทิศทางด้วยตนเองเฉพาะในประเด็นที่สำคัญ อันจะส่งผลต่อประโยชน์ของประเทศชาติและตัวประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย 

ประชาชนตัดสินใจทางการเมืองเองได้ผ่านกระบวนการทำประชามติ โดยไม่ต้องพึ่ง สส./สว.

ความหมายของ ประชามติ (Referendum) คือ มติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่แสดงออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือที่ใดที่หนึ่ง อีกนัยหนึ่งคือ มติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายสำคัญที่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว หรือให้ตัดสินในปัญหาสำคัญในการบริหารประเทศ
การออกเสียงประชามติ เป็นกลไกที่ตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยทางตรงสมัยใหม่ (Modern Direct Democracy) โดยปกติ แม้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นหรือปราถนาได้ว่าอยากเห็นการเมืองเป็นแบบใดแต่ในความเป็นจริงภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative democracy) ผู้มีอำนาจตัดสินใจท้ายสุดกลับเป็นบรรดานักการเมืองในฐานะผู้แทนราษฎร (สส.) 
สส. หรือ พรรคการเมืองที่สังกัดก็ดีอาจใช้วิธีการต่าง ๆ ในการเอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือแก่พรรคซึ่งทำให้การใช้อำนาจเหล่านั้นไม่ตรงกับเจตนาของประชาชนส่วนใหญ่หรือแม้ว่า สส. มีเจตนาบริสุทธิ์ก็ตาม แต่ประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของประเทศมีผลได้ผลเสียด้วยต่อการตัดสินใจของพวกเขา ดังนั้น การออกเสียงประชามติ จึงเสมือนเป็นการคืนอำนาจอธิปไตยชั่วคราวให้ประชาชนทั่วไปทุกคนได้ใช้สิทธิออกเสียงชี้ขาดว่าจะให้ความ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ในเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ เช่น การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ  โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง 
หลักการสำคัญของการออกเสียงประชามติ ประกอบไปด้วย 
  1. เรื่องที่จะจัดทำประชามติต้องมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติและประชาชน โดยไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล
  2. ข้อความที่จะขอความเห็นต้องชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถตัดสินใจว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องนั้น ๆ ได้
  3. ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน
  4. ต้องจัดให้มีการลงคะแนนออกเสียงประชามติโดยอิสระ
  5. ต้องนำผลการออกเสียงประชามติไปดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนผู้มาออกเสียงประชามติ

ประชามติ 59 ต้นกำเนิดอำนาจสว.เลือกนายก 

การออกเสียงประชามติของประเทศไทย เกิดขึ้นไม่บ่อยนักจนอาจทำให้หลายๆ คนไม่คุ้นชินกับกระบวนการดังกล่าว ล่าสุดกระบวนการประชามติครั้งใหญ่ในไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 เป็นการออกเสียงประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งบรรยากาศของการทำประชามติในขณะนั้นมีทั้งปัญหาและอุปสรรคหลายประการจากรัฐบาลทหาร รวมทั้งยังปิดกั้นไม่ให้มีการรณรงค์ของฝั่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยร้ายแรงไปจนถึงจับกุมกลุ่มคนดังกล่าว

การออกเสียงประชามติปี 2559 มีประชาชนคนไทยทั่วประเทศมาใช้สิทธิทั้งสิ้น 29,740,677 คน คิดเป็น 59.4% ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50.07 ล้านเสียง โดยในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ มีคำถามที่ประชาชนผู้มีสิทธิต้องตอบทั้งสิ้น 2 ข้อ ได้แก่

1. การรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ว่าจะ “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช … ทั้งฉบับ”
2. การให้ความเห็นชอบคำถามพ่วง ว่าจะให้ สว. มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ 

ซึ่งผลปรากฎว่าผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่ 15,132,050 คน (58.07%) เห็นด้วยกับการให้ สว. มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ในขณะที่เสียงส่วนน้อย 10,926,648 คน (41.93%) ไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวนี้ 

ผลสืบเนื่องจากในอดีตส่งผลถึงปัจจุบัน เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับประเด็นดังกล่าว จึงกลายเป็นที่มาทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บัญญัติบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 272 ให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยมติของสภาร่วม (สส. + สว.) หรือก็คือให้ สว. มีสิทธิร่วมเลือกนายกฯ ด้วย

อย่างไรก็ตาม การออกเสียงประชามติของประชาชนที่จะสะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนได้นั้น ประชาชนจะต้องได้รับข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจอย่างครบถ้วนและถูกต้อง คำถามที่ออกมาเพื่อสอบถามประชาชนนั้นจะต้องมีความชัดเจน และผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ควรจะมีโอกาสในการแสดงออกและรณรงค์อย่างเต็มที่โดยไม่มีการปิดกั้นจากภาครัฐ

ปัจจุบันกฎหมายที่รับรองอำนาจให้มีการจัดทำประชามติ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดูแลจัดการควบคุมให้เป็นไปอย่างสุจริต เสรี เสมอภาคและชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง ระบุกรณีต่างๆ ที่สามารถทำประชามติได้ ดังนี้ 
  1. ประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256
  2. ประชามติเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร
  3. ประชามติตามที่กฎหมายกำหนด
  4. ประชามติกรณีที่รัฐสภามีมติเห็นควร
  5. ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 ชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบทำประชามติ

ทั้งนี้ การทำประชามติในเรื่องใดก็ตามจะเป็นกรณีที่ทำแล้วส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ไม่ได้ 

ไม่ได้มีแค่ “ประชามติ” ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยตรงอีกหลายทาง 

ในต่างประเทศกระบวนการการออกเสียงประชามติก็ถูกนำมาใช้เพื่อหยั่งเสียงถามความเห็นประชาชน เช่น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอทำประชามติทั้งในประเด็นที่รัฐธรรมนูญกำหนด , เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงคัดค้านกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ซึ่งในปี 2564 หลังจากที่ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่สามารถผ่านได้เพราะถูกต่อต้านจากฝั่งอนุรักษ์นิยม จึงเป็นเหตุให้ต่อมามีการจัดทำประชามติขึ้น ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการรับรองประชามติจากชาวสวิสเซอร์แลนด์ราว 2 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่โหวตเห็นชอบให้การสมรสเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ในประเทศไทย กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางของประเด็นทางการเมืองไม่ได้มีอยู่แค่การทำประชามติ แต่ยังมีอีกหลายช่องทาง เช่น
  • การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน  โดยประชาชนจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างพระราชบัญญัติ ต้องไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ) เข้าชื่อเพื่อเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย
  • การทำประชาพิจารณ์ เป็นกระบวนการที่หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนริเริ่มกระบวนการอื่นๆ ในการจัดทำโครงการของรัฐ เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินนโยบายหรือการออกกฎหมายได้แสดงความคิดเห็นทั้งในเชิงสนับสนุนหรือคัดค้าน เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐที่จะมีหน้าที่นำทุกความเห็นไปดำเนินการใช้ดุลยพินิจหาสมดุลระหว่างผลประโยชน์และผลเสียของประชาชนที่จะเกิดจากการกระทำของรัฐ

อ้างอิง 

  1. เลิศศักดิ์ ต้นโต, ความหมาย หลักการสำคัญของการออกเสียงประชามติ (Referendum)
  2. รองศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ ชาย ไชยชิต, การออกเสียงประชามติ: กระบวนการประชาธิปไตยทางตรงสมัยใหม่