เปิดขั้นตอนประชาชนเข้าชื่อเสนอ ครม.ทำประชามติ ผู้มีสิทธิเข้าชื่อต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

เส้นทางของ “ประชาชน” ในการเป็นผู้ริเริ่มจัดทำ “ประชามติ” เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นไม่ได้ยุ่งยากสลับซับซ้อนจนเกินไป แต่ระหว่างทางต้องเดินอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้กำกับดูแลก่อนถึงมือคณะรัฐมนตรีที่จะเป็นผู้พิจารณาในด่านสุดท้าย

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นอกเหนือจากรับผิดชอบควบคุมดูแลเรื่องการจัดการการเลือกตั้งแล้วนั้น การออกเสียงประชามติก็อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของ กกต.เช่นเดียวกัน  โดยการออกเสียงประชามตินั้น กกต. มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็นผู้จัดการและควบคุมดูแลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย สุจริต และเที่ยงธรรม  (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 224 (1) และ (2)) รวมถึง กกต. มีอำนาจในการออกประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อกำหนดที่จำเป็นแก่การปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.ประชามติ) อีกด้วย 

ดังนั้น ขั้นตอนที่ประชาชนจำนวนอย่างน้อย 50,000 คนจะสามารถมีส่วนร่วมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการทำประชามติในเรื่องใดก็ตามจะต้องดำเนินให้เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด ซึ่ง กกต.ได้ออก ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2565 โดยกำหนดถึงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าชื่อไปจนถึงต้องดำเนินการอย่างไรให้ถูกวิธี 

สรุป 5 ขั้นตอน 50,000 รายชื่อ ชงเรื่องเสนอ ครม.ทำประชามติ

 

สำหรับการเดินทางของการเสนอเรื่องโดยภาคประชาชนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้พิจารณาว่าจะให้มีการออกเสียงประชามติ โดยสรุปออกมามี 5 ขั้นตอน ดังนี้ 

ขั้นแรก จัดทำเอกสารและข้อมูลเป็นหนังสือตามแบบฟอร์มที่ กกต.กำหนด

ในขั้นตอนแรก “ผู้ริเริ่มจัดทำ” จะต้องเตรียมเอกสารและข้อมูลซึ่งต้องทำเป็นหนังสือ เรียกว่า “หนังสือกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง” (ประกาศกกต.ฯข้อ 5 (1)) ซึ่งเนื้อหาต้องประกอบไปด้วยใจความสำคัญสองประการ คือ

  • ประการที่หนึ่ง เนื้อหาต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าประสงค์จะออกเสียงในเรื่องใด
  • ประการที่สอง เรื่องที่เสนอต้องไม่ใช่เรื่องที่ต้องห้ามมิให้ออกเสียงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องที่ลิดรอนหรือตัดทอนสิทธิ ของคนอื่นจะกระทำมิได้ 

ขั้นที่สอง รวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบอย่างน้อย 50,000 ชื่อ 

ในขั้นตอนที่สอง เป็นขั้นตอนในการล่ารายชื่อให้ได้อย่างน้อย 50,000 รายชื่อ (ประกาศกกต.ฯ ข้อ 5 (2)) ซึ่งเป็นเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยรายชื่อทั้งหมดจะต้องอยู่ในแบบฟอร์มประกอบกับหนังสือซึ่งเขียนรายละเอียดเป็นเนื้อหาข้อเสนอในขั้นตอนแรก โดยในส่วนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อจะต้องลงรายละเอียดอย่างครบถ้วนทั้งสามอย่าง ดังนี้

  1. เลขประจำตัวประชาชน
  2. ชื่อและชื่อสกุล
  3. ลายมือชื่อ

ขั้นที่สาม ยื่นหนังสือพร้อมด้วยรายชื่ออย่างน้อย 50,000 ชื่อ ต่อสำนักงาน กกต.

หลังจากที่จัดทำหนังสือและรวบรวมรายชื่อครบ 50,000 ชื่อประกอบกันเป็นเอกสารที่มีข้อมูลละเอียดครบถ้วนแล้ว ต่อมาเป็นการจัดทำรูปแบบข้อมูลเพื่อส่งให้สำนักงาน กกต.เป็นผู้ตรวจสอบเบื้องต้น โดย กกต.กำหนดให้จัดทำข้อมูลในรูปแบบ “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใส่แผ่นบันทึกข้อมูล (แผ่น CD) หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลแบบพกพา (USB Flash Drive)” ที่มีข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน ชื่อและชื่อสกุล ลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อทุกคน  (ประกาศกกต.ฯ ข้อ 5 (3))  

เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วผู้ริเริ่มจัดทำในฐานะผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อสามารถยื่นเอกสารและข้อมูลได้ 3 วิธี คือ 
  1. ยื่นด้วยตนเองต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงานกลาง กทม.) หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด)
  2. ส่งไปรษณีย์ลงทะเบียน 
  3. ส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) 
 

ขั้นที่สี่ สำนักงาน กกต.ตรวจสอบความถูกต้องแล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ

เมื่อผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อ ทำการยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อแล้ว สำนักงาน กกต.จะทำการตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในความถูกต้องก่อน  โดย กกต.จะตรวจสอบว่าทำตามแบบที่ กกต.กำหนดไว้หรือไม่ และตรวจสอบรายชื่อว่ามีจำนวนครบถ้วนหรือไม่ ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับเอกสาร (ประกาศ กกต.ฯ ข้อ 6)

  • หากข้อมูลถูกต้องครบถ้วน กกต.จะทำการแจ้งกลับไปให้ผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อทราบโดยเร็ว  
  • หากข้อมูลไม่ถูกต้อง กกต.จะส่งเรื่องคืนให้ทำการแก้ไขและผู้แทนฯ ต้องส่งกลับมาที่ กกต.อีกครั้งภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก กกต. ถ้าแก้ไขไม่แล้วเสร็จภายในเวลาถือว่ายุติเรื่องทันที

ทั้งนี้ ในกรณีที่ทำการยื่นหนังสือต่อสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเอกสารและข้อมูล สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดจะต้องนำส่งหนังสือเอกสารและข้อมูลให้สำนักงาน กกต.กลาง (กทม.) เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ  

นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเข้าชื่อร่วมลงชื่อในแบบฟอร์มไปแล้วเกิดเปลี่ยนใจภายหลังแล้วอยู่ในช่วงที่กระบวนการดำเนินการถึงขั้นส่งเรื่องให้สำนักงาน กกต. ผู้ที่ต้องการถอนการร่วมเข้าชื่อจะต้องทำหนังสือซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ ชื่อสกุล และข้อความที่แสดง ให้เห็นว่าตนประสงค์จะถอนการร่วมเข้าชื่อพร้อมลงลายมือชื่อไปยื่นต่อ กกต.ตามวิธีการที่กำหนดด้วยตนเองภายใน 10 วันนับตั้งแต่  กกต.ได้รับเอกสาร (ประกาศกกต.ฯ ข้อ 7) 

ขั้นที่ห้า กกต.ส่งเรื่องต่อให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณารายชื่ออีกรอบก่อนรายงานต่อครม.

เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเบื้องต้นโดยสำนักงาน กกต.แล้ว สำนักงาน กกต.จะทำการส่งเรื่องต่อไปให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อ โดยสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะรับหน้าที่ในการพิจารณามอบหมายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นวิเคราะห์เรื่องที่จะเสนอให้ครม.เพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบในการออกเสียง รวมถึงอาจขอให้หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ช่วยดำเนินการตรวจสอบรายชื่ออีกครั้ง ทั้งนี้ เมื่อรายชื่อครบถ้วนไม่ผิดพลาดใดๆ ก็จะดำเนินเรื่องรายงานเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นขั้นตอนสุดท้าย  (ประกาศกกต.ฯ ข้อ 8 และข้อ 9)  

สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนนี้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้กำหนด (ประกาศกกต.ฯ ข้อ 10) หากในขั้นตอนนี้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้งแล้วปรากฎว่าจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่ครบ 50,000 คน สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะทำการยุติการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี แล้วจะแจ้งไปยัง กกต. และตัวแทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อพร้อมส่งเรื่องคืน (ประกาศกกต.ฯ ข้อ 8 วรรคสอง)

มีสิทธิเลือกตั้ง = มีสิทธิเข้าชื่อเสนอประชามติ 

สำหรับคุณสมบัติของประชาชนผู้มีสิทธิในการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมทั้งต้องไม่ถูกจำกัดสิทธิบางอย่างทางกฎหมายตามที่ พ.ร.บ.ประชามติกำหนดไว้ (พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 24)

คุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าชื่อ 3 ประการ มีดังต่อไปนี้ 

  • มีสัญชาติไทย (หากแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี) 
  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันออกเสียง
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันออกเสียง

ส่วนบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามทำให้ไม่มีสิทธิเข้าชื่อ มีดังต่อไปนี้ 

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

นอกจากนี้ แม้จะมีคุณสมบัติครบถ้วนแต่พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 24 (3) กำหนดให้กรณีที่บุคคลไม่ได้ไปใช้สิทธิออกเสียงโดยไม่ได้แจ้งเหตุไว้จะถูกจำกัดสิทธิในการเข้าชื่อเสนอประชามติเป็นเวลา 2 ปี

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ประชามติให้บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 2)  กล่าวคือ พ.ร.บ.ประชามตินั้นพึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2564 ในขณะที่ประชามติครั้งล่าสุดที่เคยเกิดขึ้นเกิดในปี 2559 ดังนั้นจึงหมายความว่า แม้ผู้มีสิทธิเข้าชื่อคนใดก็ตามไม่ได้ออกไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติปี 2559 ก็จะยังไม่ถูกจำกัดสิทธิตามมาตรานี้และยังมีสิทธิที่จะร่วมเสนอทำประชามติได้

ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่มีปัญหา ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งใน 50,000 รายชื่อได้ !

ตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 35 และพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 42 กำหนดกรณีสำหรับบุคคลที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปหรือเลือกตั้งท้องถิ่นโดยที่ไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ก็จะถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองบางประการเป็นระยะเวลาสองปี สำหรับกรณีเลือกตั้งทั่วไปจะถูกจำกัดสิทธิห้าประการ  ได้แก่

  1. ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  2. ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น สว. 
  3. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

ส่วนกรณีของเลือกตั้งท้องถิ่นจะถูกจำกัดสิทธิหกประการ ได้แก่

  1. สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา 
  2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน 
  3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น

ฉะนั้น แม้ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปหรือไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ก็ยังมีสิทธิร่วมเข้าชื่อในการเสนอทำประชามติได้ เพราะไม่ได้มีข้อห้ามมาจำกัดสิทธิแต่อย่างใด