10 เหตุผล ประชามติ’ 59 ไม่อาจใช้อ้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญ

ถึงวันนี้ยังมีคนที่ต้องการรักษาอำนาจให้ คสช.​ อ้างเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2560 “ผ่านประชามติมาแล้ว” และยืนยันที่จะไม่แก้ยอมให้แก้ไข

ลองดูกันว่า ข้ออ้างนี้ไม่ถูกต้องอย่างไร

การลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ผ่านไป โดยเสียงส่วนใหญ่ของผู้มาใช้สิทธิเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างโดย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคำถามพ่วง ที่เสนอโดย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีผู้ออกเสียงว่า “เห็นชอบ” กว่า 16 ล้านเสียง ทำให้รัฐธรรมนูญและเนื้อหาในคำถามพ่วงถูกบังคับใช้ต่อมา เป็นสิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธ

แต่จากการสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลตลอดกระบวนการจัดทำประชามติครั้งนี้ พบปัญหาอุปสรรคหลายประการที่ภาครัฐจงใจสร้างขึ้น ซึ่งกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นและการได้รับข้อมูลของผู้ใช้สิทธิลงคะแนน จนทำให้ประชามติที่เกิดขึ้นไม่อาจมีความหมายเป็นกระบวนการที่ประชาชนให้ความเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงอย่างชอบธรรมได้ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

 

1. ตัวร่างที่ใช้ถามความเห็น มาจาก คสช. 100%

ตัวร่างรัฐธรรมนูญ​ และ “คำถามพ่วง” ที่นำมาเป็นตัวตั้งเพื่อถามประชาชนว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ มีที่มาจากคนของระบอบ คสช. ทั้งหมด กล่าวคือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ​ 21 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. รวมทั้งตัวประธาน คือ มีชัย ฤชุพันธ์ุ เองก็เป็นหนึ่งในคณะรัฐประหารในนาม คสช. ด้วย ส่วนคำถามพ่วงนั้นก็เสนอขึ้นมาโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งสิ้น

ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ “เนื้อหา” สิ่งที่จะนำมาทำประชามติตั้งแต่ต้น มีแต่เพียงโอกาสที่จะเลือกระหว่าง “เห็นชอบ” และ “ไม่เห็นชอบ” ในเนื้อหาที่ถูกเสนอมาแล้วเท่านั้น ซึ่งประชาชนบางคนอาจจะเห็นชอบบางส่วนหรือไม่เห็นชอบบางส่วนก็ไม่มีทางเลือกที่จะออกเสียงได้

 

2. คสช. ออก พ.ร.บ.ประชามติฯ จำกัดการแสดงความเห็น

ภายใต้รัฐบาล คสช. มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) มาเพื่อควบคุมการทำประชามติครั้งนี้ โดยมี มาตรา 61 วรรคสอง พร้อมกับประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559

ซึ่งเขียนข้อความกว้างๆ ที่จำกัดการแสดงความคิดเห็นระหว่างการรณรงค์ก่อนการทำประชามติ เช่น “ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่” ทำให้ประชาชนไม่ทราบว่าจะแสดงความคิดเห็นได้เพียงใด พร้อมกับกำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี จากการแสดงความคิดเห็นทำให้บรรยากาศการถกเถียงเรื่องเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปอย่างเงียบงัน

 

3. คสช. ใช้อำนาจคุมสื่อ ห้ามกิจกรรมการเมือง

ระหว่างการทำประชามติระบบกฎหมายยังอยู่ภายใต้ระบอบของคณะรัฐประหาร ที่ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ คสช. เขียนขึ้นเอง มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ควบคุมการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน และบังคับวิทยุโทรทัศน์ทุกช่องถ่ายทอดรายการของรัฐบาลทุกวันตอนเย็น

มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่คล้ายกฎอัยการศึกให้อำนาจทหารจับกุมตัวประชาชนไปคุมขังได้ 7 วัน และสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป มีการบังคับใช้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น พร้อมกับกระบวนการยุติธรรมที่ทหารเข้ามามีส่วนร่วมในการจับกุม การสอบสวน และการใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือน ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมโดยสงบเกี่ยวกับกระบวนการประชามติ ด้วยข้อหาต่างๆ อย่างน้อย 142 คน

 

4. เวทีเสวนาห้ามจัด กิจกรรมสาธารณะถูกปิดกั้น

เจ้าหน้าที่รัฐหลายฝ่ายประกาศต่อสาธารณะอ้างอิง พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง เพื่อข่มขู่และห้ามการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยตีความการกระทำพื้นฐาน เช่น การขายเสื้อ Vote No หรือการแต่งเพลงล้อเลียน ว่า “อาจ” เข้าข่ายความผิด

มีกิจกรรมสาธารณะเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ถูกปิดกั้นอย่างน้อย 19 ครั้ง มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติฯ อย่างน้อย 39 คน สร้างบรรยากาศความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และสร้างความหวาดกลัวแพร่กระจายออกไปในสังคมวงกว้างก่อนการลงประชามติ

 

5. ไม่แจกร่างรัฐธรรมนูญ แจกแต่เอกสารชวนเชื่อ 

ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริงได้ก่อนการลงประชามติ โดย กกต. ประกาศว่า จะจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 1,000,000 เล่ม ส่งไปตามหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษา ไม่ส่งไปยังครัวเรือนของผู้มีสิทธิลงคะแนนกว่า 50 ล้านคน จัดส่งเพียง จุลสารสรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญไปแทน ซึ่งเต็มไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ ที่ไม่เป็นความจริง หรือเป็นการตีความรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเกินเลยไปจากที่ตัวบทเขียนไว้

ในเอกสารที่แจกไปตามบ้านเรือนประชาชน ยังซ่อนเร้นไม่อธิบายถึงปัญหาที่เป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น การให้ ส.ว. ชุดแรกมาจากการคัดเลือกของ คสช., การสร้างกลไกให้รัฐธรรมนูญแทบจะแก้ไขไม่ได้, การเปิดช่องทางให้มีนายกฯ ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง 

 

6. กลไกของรัฐ ใช้นำเสนอแต่ “ข้อดี” ของร่างรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ประชาชนถูกปิดกั้นการแสดงออกทำนองไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ภาครัฐกลับใช้กลไกและเครื่องมือของรัฐ เช่น อาสาสมัครรักษาดินแดน, วิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตย (ครู ก. ข. ค.), รายการ 7 สิงหาประชามติร่วมใจ, การทำคลิปวิดีโอข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ, แอปพลิเคชั่นต่างๆ ฯลฯ นำเสนอข้อดีด้านต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ

ดูตัวอย่างได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4231

 

7. การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง

การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการลงประชามติยังไม่ทั่วถึง จากการสำรวจของเราประมาณหนึ่งเดือนก่อนการลงประชามติ พบว่า ประชาชนร้อยละ 70.25 ไม่ทราบวันที่ลงประชามติที่ถูกต้อง ร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าลงประชามติเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 92.41 ไม่ทราบว่าคำถามพ่วงคืออะไร 

 

8. “คำถามพ่วง” เขียนมาเองให้อ่านไม่เข้าใจ

“คำถามพ่วง” จงใจเขียนด้วยข้อความยาวสี่บรรทัด ยากต่อการเข้าใจสำหรับประชาชนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง วิธีการเขียนมีข้อความที่ไม่ใช่สาระสำคัญแต่มุ่งสนับสนุนให้เห็นชอบ เช่น “เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง” หลีกเลียงสาระสำคัญที่จะให้อำนาจแก่ ส.ว. โดยใช้คำว่า “ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” และไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่า ส.ว.ชุดแรกมาจากการแต่งตั้งโดย คสช.

 

9. หลายคน “บอยคอต” ไม่ไปลงคะแนน

ประชาชนจำนวนมาก เห็นว่าการทำประชามติครั้งนี่ไม่มีความชอบธรรมทั้งในแง่เหตุที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นก่อนการทำประชามติ จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมกระบวนการ หรือไม่ไปลงคะแนนเลย เช่น พรรคพลังประชาธิปไตย นักศึกษากลุ่มดาวดิน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, โตมร สุขปรีชา หรือกรณีชาวนนทบุรีที่ประกาศว่า “ไม่มีสิทธิ์ร่าง จึงไม่ขอมีสิทธิ์ร่วม” เป็นต้น ผลคะแนนที่ออกมาจึงไม่ได้แสดงถึงความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มได้จริง

 

10. ไม่มีทางเดินต่อ หากประชาชนไม่เห็นชอบ

ก่อนการลงประชามติ ประชาชนพอจะหาข้อมูลได้ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่าน ทิศทางการเมืองของไทยจะเป็นอย่างไรต่อ แต่รัฐบาล คสช. ซึ่งถืออำนาจเบ็ดเสร็จกลับจงใจไม่ชี้แจงว่า หากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่ผ่านประชามติ จะมีกระบวนการอย่างไรให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด

ซ้ำร้าย มีชัย ฤชุพันธ์ุ ยังเคยขู่ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติอาจจะเจอฉบับที่โหดกว่านี้ ซึ่งทำให้ประชาชนที่ไปออกเสียงลงคะแนนตกอยู่ในสภาวะ “ไม่มีทางเลือก” เพราะหากเลือกไม่เห็นชอบก็ไม่อาจมั่นใจในอนาคตได้ว่า ประเทศจะเดินหน้าไปอย่างไรต่อ

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคของการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของประชาชน และส่งผลต่อยอดรวมคะแนนการออกเสียงทั้งประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อประชาชนเสียงข้างมากได้ออกเสียงไปแล้ว ไม่ว่าการออกเสียงนั้นจะเกิดจากการตัดสินใจโดยไม่มีข้อมูลเพียงพอ หรือการรับข้อมูลเท็จ หรือการไม่มีทางเลือก หรือการตัดสินใจด้วยเหตุผลใดๆ ก็ย่อมเป็นการตัดสินใจที่มีความหมายและต้องเคารพ รัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงดังกล่าวจึงประกาศใช้ และมีผลบังคับใช้มาเป็นเวลานานกว่าสามปี

เมื่อนำไปใช้แล้วกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่วางไว้ค่อยๆ เผยตัวอกมาให้เห็นชัดมาขึ้น และเมื่อประชาชนเห็นว่า รัฐธรรมนูญที่สร้างระบอบการเมืองที่รวบอำนาจไว้ในมือของคณะรัฐประหารต้องถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือต้องการให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้ตั้งแต่กระบวนการแรก การหยิบยกเอาการทำประชามติ ภายใต้อำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ขึ้นมาเป็นเหตุผลเพื่อจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ​ จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post