ก้าวแรกสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำไมประชาชนถึงต้องเสนอ “ประชามติ”

ก้าวแรกสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำไมประชาชนถึงต้องเสนอ “ประชามติ”   

ประชามติเป็นขั้นแรกของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งได้โดยการเข้าชื่ออย่างน้อย 50,000 คน เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติทำประชามติ การเข้าชื่อโดยประชาชนยังเป็นการมีส่วนร่วมในการ “กำหนดคำถามประชามติ” ว่าจะออกมาอย่างไร เพื่อรับรองว่าสสร. ที่มาจากประชาชนจะมีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแท้จริง 

ประชาชนเป็นผู้กำหนดคำถามเองได้ ไม่ซ้ำรอยประชามติ 59

หลักการสำคัญของการออกเสียงประชามติ คือ “ข้อความที่จะขอความเห็นต้องชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถตัดสินใจว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องนั้นๆ ได้” แต่หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 กระบวนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่างทั้งบรรยากาศในขณะนั้น ไปจนถึงคำถามของประชามติ โดยเฉพาะ “คำถามพ่วงประชามติ” ที่มีปัญหาว่า คำถามมีความยาว กำกวม และซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมา อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นคำถามชี้นำเพื่อนำไปสู่คำตอบในทิศทางที่ต้องการ และทำให้เกิดความสับสนในการตีความของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน ผลสุดท้ายประชามติออกมากลับกลายเป็นการมอบอำนาจให้สว. มีส่วนร่วมในการโหวตนายกฯ และกลายเป็นข้ออ้างอย่างผิด ๆ ที่ สว. มักจะหยิบยกขึ้นมากล่าวเสมอว่าพวกเขามาจากเจตจำนงของประชาชน

ฉะนั้น ยิ่งประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญร่วมกันมากเท่าไร ยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นกฎกติกาที่สร้างมาเพื่อประชาชนโดยประชาชนอย่างแท้จริง หากเริ่มตั้งแต่การกำหนดคำถามได้นั้นก็ยิ่งเป็นการ “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” ไม่ให้คำถามที่ออกมานั้นสร้างความสับสนจนทำให้ประชาชนออกไปลงเสียงประชามติโดยขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และกลายเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขอีกครั้งดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในการออกเสียงประชามติปี 59 

คำถามดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ประชาชนเคาะแล้วรัฐสภาต้องเดินตาม

หากผ่านขั้นตอนประชามติเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ขั้นตอนต่อมาที่จะเกิดขึ้น คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วย สส. และสว. จะต้องร่วมกันพิจารณาร่างฉบับที่เสนอเข้ามา โดยเงื่อนไขสำคัญที่เป็นอุปสรรคของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขั้นตอนนี้ยังคงอยู่ครบถ้วน กล่าวคือ เงื่อนไขที่ว่าต้องมีเสียง สว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน และฝ่ายค้านร้อยละ 20 ในจำนวนเสียงครึ่งหนึ่งของสองสภาที่ใช้ลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในขั้นตอนพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในสภานี้เอง ที่จะเป็นการเปิดช่องให้ สว. เข้ามามีส่วนร่วม หากกำหนดคำถามออกมาไม่ชัดเจน ก็มีโอกาสที่จะมีการ “เติม” เงื่อนไขบางประการเข้าไปในสภาจนทำให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ถูก “ล็อคสเปค” ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม 

ดังนั้น ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมตั้งแต่การกำหนดคำถามประชามติ ให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ มีประชาชนเข้ามาเป็นผู้ออกแบบตั้งแต่ต้นทาง หากคำถามมีความชัดเจน และประชาชนเห็นชอบ รัฐสภาก็ไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะขัดขวางเจตจำนงประชาชนหรือใส่เงื่อนไขที่ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทำได้ไม่เต็มที่อีก