เตรียมทำประชามติ 3 ครั้ง สู่รัฐธรรมนูญใหม่ หลังพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล

รัฐธรรมนูญ 2560 มีความพิเศษที่บังคับไว้ว่า หากจะแก้ไขเพื่อเปิดทางไปสู่การ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ” ต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชน ทำให้ขั้นตอนการทำประชามตินั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจริง เพื่อให้มีความชอบธรรม รัฐธรรมนูญก็ควรผ่านการรับรองโดยประชามติด้วยอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายจะทำประชามติ “ก่อน” ในทันทีที่ได้เป็นรัฐบาลก็จะทำให้มีประชามติรวม 3 ครั้ง ในรอบสองปี
วันที่ 2 สิงหาคม 2566 หลังพรรคก้าวไกลไม่สามารถเสนอพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคอันดับสองพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและออกแถลงการณ์เรื่อง “เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ” สาระสำคัญ คือ ขอถอนตัวจากการร่วมมือกับพรรคก้าวไกล และเสนอเศรษฐา ทวีสินเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีภารกิจข้อ 1. ระบุว่า “เราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สสร. …” 
ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคภูมิใจไทยที่จะจัดตั้งรัฐบาลและออกแถลงการณ์ร่วมกัน มีสาระสำคัญในข้อ 2. ทำนองเดียวกันว่า จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวาระแรก จะมีมติให้ทำประชามติขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการจัดตั้ง สสร.
จึงชัดเจนแล้วว่า ภายใต้การนำจัดตั้งรัฐบาลของสองพรรคการเมืองนี้ จะมีการทำประชามติทันทีที่มีรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนการทำประชามติพิเศษเพิ่มเติมขึ้นมาจากประชามติอีกอย่างสองครั้งที่ต้องทำตามกำหนดอยู่แล้ว เท่ากับว่าหากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้สำเร็จ ประชาชนจะต้องเข้าร่วมการทำประชามติอย่างน้อย 3 ครั้ง ดังนี้

1. ประชามติครั้งแรก ตามคำประกาศของพรรคเพื่อไทย

ไม่มีกฎหมายใดที่เขียนบังคับว่าจำเป็นต้องทำประชามติ “ก่อน” ที่จะเสนอรายละเอียดของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่มีแนวโน้มพอสมควรว่าหากมีการเสนอเข้าสู่สภาทันทีก็อาจจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งต้องการปกป้องอำนาจของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ 2560 การทำประชามติ “ก่อน” จึงเป็นความพยายามขอเสียงประชาชนสนับสนุนเพื่อ “เปิดทาง” และหวังว่าพลพรรค ส.ว. จะไม่กล้าขัดขวางผลประชามติจากประชาชนอีก
ก่อนหน้านี้ในปี 2563 เคยมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งจากการเข้าชื่อของประชาชน จากพรรคเพื่อไทย และจากพรรคพลังประชารัฐยื่นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว แต่สว. และสส. พรรคพลังประชารัฐ ไม่อยากลงมติในประเด็นนี้ จึงเข้าชื่อกันส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พวกเขาสามารถลงมติได้หรือไม่ หรือต้องทำประชามติก่อน ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคขัดขวางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าออกไป โดยที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นทั้งภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ รวมทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านต่างไม่เห็นด้วย
ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ โดยต้องมีการทำประชามติก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำประชามติก่อนเริ่มการพิจารณาของรัฐสภา สามารถทำประชามติหลังรัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้วก็ได้ การทำประชามติครั้งนี้จึงไม่ได้ถูกบังคับในทางกฎหมายแต่เป็นการทำเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองเพื่อต่อรองกับ สว.

2. ประชามติครั้งที่สอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256

การจะจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่สามารถทำได้โดยทันทีเพราะไม่มีองค์กรใดมีอำนาจนี้ แต่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อบรรจุอำนาจหน้าที่และขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไปก่อน ซึ่งหมายความว่าต้องแก้ไขมาตรา 256 ที่เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขและจัดทำรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ต้องมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 สามารถผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาได้ โดยได้เสียงสว. มากถึงหนึ่งในสาม หรือ 84 เสียง และได้เสียงจากพรรคฝ่ายค้านถึงร้อยละ 20 มาตรา 256 ในปัจจุบันก็กำหนดไว้ว่า การแก้ไขมาตรา 256 ไม่ว่าแก้ไขเป็นอย่างใด ก็ต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนจึงสามารถแก้ไขได้ ดังนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ก็จะต้องนำไปทำประชามติโดยประชาชนอย่างแน่นอน 

3. ประชามติครั้งที่สาม รับรองรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน

หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถผ่านสภาและผ่านประชามติครั้งที่สองมาได้ ก็จะเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปิดทางให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ยังไม่มีความชัดเจน แต่จากการประชุมของคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาในปี 2564 เคยมีมติร่วมกันแล้วว่า ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด และพวกเขาก็จะมีหน้าที่มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
หากจัดทำสำเร็จ ก็จะได้ร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งฉบับโดยสสร.จากการเลือกตั้ง แต่จะประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญทันทีก็อาจจะยังไม่สมบูรณ์ เพราะประชาชนยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการอนุมติและประกาศใช้ด้วย จึงน่าจะมีการจัดทำประชามติอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ สสร. เป็นผู้ยกร่างขึ้น เท่ากับเป็นประชามติครั้งที่สาม การทำประชามติครั้งนี้ยังไม่มีกฎหมายใดบังคับไว้แต่เชื่อว่ากระบวนการที่เดินหน้าไปจะต้องกำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องผ่านการรับรองโดยประชาชนด้วย
จากการคาดการณ์กรอบเวลาในการดำเนินการทั้งหมด อาจใช้เวลาในการทำประชามติครั้งแรกประมาณ 3 เดือนหลังจากได้รัฐบาลใหม่ และใช้เวลาเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาประมาณ 4 เดือน ในเวลาทำประชามติครั้งที่สองประมาณ 3 เดือน ใช้เวลาในการจัดตั้งสสร.และการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกประมาณ 10 เดือน และทำประชามติครั้งที่สามประมาณ 3 เดือน รวมแล้วก็ใช้เวลาประมาณ 23 เดือน หรืออย่างเร็วจะเสร็จภายใน 2 ปี 
นอกจากนี้ระหว่างทางยังมีกระบวนการเลือกตั้งสสร. ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีกระบวนการคัดสรรสว. ชุดใหม่จากการจัดกลุ่มอาชีพอีกด้วย
You May Also Like
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย
Phue Thai Needs
อ่าน

รัฐบาลเพื่อไทย ต้องมีอย่างน้อย 13.25 ล้านเสียง เพื่อผ่านประชามติ “คำถามติดล็อก”

รัฐบาลเพื่อไทยให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญ โดยคำถามที่มีเงื่อนไข ตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ประชามติ จะผ่านได้ต้องอาศัย “เสียงข้างมากสองชั้น” ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายเลย