เพราะทำ “ผิดซ้ำผิดซ้อน” จึงเลือกนายกฯ ไม่ได้สักที

วันที่ 4 สิงหาคม 2566 เดิมเป็นวันกำหนดนัดหมายประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สาม แต่ก่อนถึงวันนัดประธานรัฐสภาก็สั่งเลื่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ยังไม่มีกำหนดวันนัดประชุมวาระนี้ใหม่ โดยอธิบายเหตุผลว่า ต้องรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อน ทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปอีก และอาจไม่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาครั้งถัดไปของศาลรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเกิดจากสององค์กรหลัก คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ประกาศผลอย่างเป็นทางการล่าช้า และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ไม่ลงคะแนนให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งและรวมเสียงข้างมากได้ แต่หลังผ่านการเลือกตั้งมาเกือบสามเดือนแล้วก็พบว่า กระบวนการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่ไม่น่าเป็นประเด็นปัญหาตั้งแต่แรก บวกกับกลไกศาลรัฐธรรมนูญ กำลังกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ชะลอให้การตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นไม่ได้เสียที

กว่าจะเดินทางมาถึงวันที่ติดขัดยาวนานขนาดนี้ได้ เป็นเพราะเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ใช้อำนาจผิดหลักการของกฎหมาย เมื่อผิดไปแล้วหนึ่งครั้ง ก็ทำให้กระบวนการต่อๆ มามีเหตุต้องอ้างอิงเพื่อยันการใช้อำนาจที่ผิดทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนี้

ผิดครั้งที่หนึ่ง : เมื่อใช้เสียงสว. ลงมติห้ามเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่สองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ต้องเจออุปสรรคที่อยู่นอกเหนือตำรากฎหมาย เมื่อพรรคก้าวไกลยืนยันเสนอพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นครั้งที่สอง แต่ถูก สว. และฝ่ายพรรคเสียงข้างน้อยส่วนหนึ่งตั้งประเด็นว่า การเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ซึ่งขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ทั้งที่ในข้อบังคับกำหนดชัดเจนแล้วว่า สิ่งที่ห้ามเสนอซ้ำนั้นคือญัตติซึ่งขั้นตอนและหลักเกณฑ์การเสนอญัตติมีเขียนชัดอยู่แล้วในหมวด 1 ส่วนที่ 2 ข้อ 29-41 แต่การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น มีขั้นตอนและหลักเกณฑ์เฉพาะต่างหากอยู่ในหมวด 9 ข้อ 138 ซึ่งอ้างอิงมาจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ดังนั้น การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่ญัตติทั่วไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา หมวด 1 และไม่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ห้ามเสนอซ้ำตามข้อ 41

ในทางกฎหมายการทำความเข้าใจว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้นเสนอซ้ำได้โดยไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามเอาไว้นั้น สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก แต่เหล่า สว. ต่างก็ยืนยันว่า การเสนอชื่อเดิมนั้นขัดต่อข้อบังคับข้อ 41 การตีความข้อบังคับนั้นเป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งเท่ากับต้องใช้วิธีการลงคะแนนเสียง โดยสว. ที่มีอยู่ 250 เสียง เมื่อรวมกับ สส.จากขั้วรัฐบาลเดิมที่เป็นเสียงข้างน้อยจากการเลือกตั้ง ก็เอาชนะไปด้วยคะแนน 395 ต่อ 317 เสียง 

เท่ากับเป็นการเล่นเกมการเมืองที่จะใช้เสียงข้างมาก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อลงมติตัดสินในสิ่งที่ผิดต่อหลักกฎหมาย เริ่มปมปัญหาของความยุ่งเหยิงในขั้นตอนต่อๆ ไป

ผิดครั้งที่สอง : เมื่อโยนลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติของรัฐสภา

 หลังจากรัฐสภาลงมติตีความข้อบังคับการประชุมในทางที่ผิดแล้ว วิธีการแก้ไขที่ง่ายที่สุดและถูกต้องตามระบบมากที่สุด คือ การลงมติใหม่โดยรัฐสภาเองกลับมติเดิม เนื่องจากการลงมติที่เกิดขึ้นไปแล้วมีสถานะเป็นเพียงความเห็นในการตีความข้อบังคับเท่านั้นไม่ได้มีสถานะเป็นการลงมติเพื่อออกกฎหมาย จึงสามารถเปลี่ยนใจลงมติใหม่ได้ทุกเมื่อ ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดที่ตรงไปตรงมาตามระบบของรัฐสภา และไม่ได้ยากจนเกินไป

 แต่เนื่องจากการลงมติที่ผิดครั้งที่หนึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชน จึงมีประชาชนยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างน้อย 17 คำร้อง และผู้ตรวจการแผ่นดินก็รับลูกอย่างรวดเร็ว โดยมีคำสั่งในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติของรัฐสภาครั้งนี้ต่อ https://www.ombudsman.go.th/new/news660724/ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจโดยตรงที่จะเข้าแทรกแซงว่า การตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้นต้องตีความอย่างไร เพราะเป็นการกระทำภายในของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่ออำนาจตามปกติของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่มีอยู่ คดีนี้จึงตั้งประเด็นโดยการพลิกเนื้อหาเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติของรัฐสภาเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เป็นผู้ร้องในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เรื่องขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการตั้งประเด็นในคดีที่ไกลออกไปกว่ามูลเหตุของคดีเพื่อจะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ได้

 พนัส ทัศนียานนท์ นักกฎหมายที่ไม่เห็นด้วยกับมติของรัฐสภา ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรมีอำนาจวินิฉัยคดีนี้ เพราะผิดหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย และหลักอำนาจรัฐสภาธิปัตย์ (Parliamentary Sovereignty) กลายเป็นตุลาการธิปัตย์ (Judicial Sovereignty) โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรมีอำนาจวินิจฉัยสวนทางกับการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติของรัฐสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งรับไว้ในสำนวน เป็นการเดินทางผิดครั้งที่สอง

ผิดครั้งที่สาม : เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรีบรับ แต่ไม่รีบสั่ง

 หลังผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งรีบแถลงการณ์ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ก็เป็นเหตุให้วันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานรัฐสภาสั่งเลื่อนวันนัดหมายประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สาม จากที่เดิมกำหนดไว้เป็นวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ออกไปก่อน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ทราบดีอยู่แล้วถึงผลของคดีนี้ว่าจะกระทบกรอบเวลาการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลได้จึงควรรีบมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้เร็วที่สุด แต่ในวันที่ 4 สิงหาคม 2566 หลังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วก็สั่งเพียงรับคำร้องแต่ไม่ได้สั่งเรื่องวิธีการชั่วคราวให้เกิดความชัดเจน 

 คดีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังยื่นคำร้องโดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนวินิจฉัยด้วย เท่ากับศาลอาจสั่งให้รอการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไว้ก่อนก็ได้ หรือจะสั่งว่า ไม่กำหนดวิธีการชั่วคราวใดๆ และให้เลือกนายกรัฐมนตรีไปก่อนเลยก็ได้ แต่ศาลกลับใช้วิธีการไม่สั่งอย่างใดอย่างหนึ่งในเรื่องวิธีการชั่วคราวมาโดยเร็ว หากเทียบกับคดีคำร้องเรื่องคุณสมบัติของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 หลังการยื่นคำร้องเพียงเจ็ดวัน โดยสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาพร้อมกับคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่สส. ไปพร้อมกันด้วย จะเห็นได้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและตั้งใจที่จะรีบออกคำสั่ง กำหนดมาตรการการชั่วคราวอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจน ก็สามารถทำได้ แต่คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญเลือกที่จะยังไม่ทำและปล่อยให้เกิดช่องว่างเอาไว้ก่อน

 นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังกำหนดวันพิจารณาครั้งต่อไปเป็นวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ถัดไปอีกสองสัปดาห์ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าคดีนี้จะกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังไม่ได้พยายามนัดหมายให้เร็วที่สุด ดังเช่นที่เคยทำได้ในคดีอื่นๆ เพื่อให้กระบวนการที่รออยู่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ผิดครั้งที่สี่ : เมื่อรอแล้ว จึงต้องรอต่อไปเรื่อยๆ

 การที่วันมูหะมัดนอร์ มะทา ตัดสินใจครั้งแรกในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ให้เลื่อนการนัดประชุมรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปเพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน เป็นการตัดสินใจที่ผิดไปจากสถานการณ์ความเป็นจริง เพราะในขณะนั้นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลแถลงต่อสาธารณะแล้วว่า จะขอเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนและพรรคก้าวไกลไม่ได้จะเสนอชื่อของพิธาซ้ำอีก ส่วนทางพรรคเพื่อไทยก็ประกาศพร้อมเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีสถานการณ์ที่จะต้องเสนอชื่อบุคคลเดิมซ้ำ และไม่มีเหตุผลที่จะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญ

 ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะออกคำวินิจฉัยหรือคำสั่งมาอย่างไร ก็ไม่กระทบกับการที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ใช่การเสนอชื่อซ้ำและไม่อาจขัดต่อข้อบังคับข้อ 41 ได้อย่างแน่นอน การเลื่อนการนัดประชุมจึงไม่ได้เป็นเหตุผลที่ถูกต้องในทางกฎหมาย แต่ส่งผลเพียงในทางการเมืองเพื่อขยายเวลาให้แกนนำการจัดตั้งรัฐบาลมีเวลามากขึ้นในการไปเจรจาต่อรองกับทั้ง สว. และสว. เพื่อหาเสียงสนับสนุนเท่านั้น

 เมื่อประธานรัฐสภาตัดสินใจเลื่อนโดยอ้างเหตุนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็มาผิดที่ไม่รีบสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจน ประธานรัฐสภาจึงมีคำพูดและเหตุผลที่ผิดของตัวเองค้ำคออยู่และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเลื่อนการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปอีกเป็นครั้งที่สอง และต้องเลื่อนไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเพื่อให้สอดคล้องกับเหตุผลที่ผิดของตัวเองที่ได้ให้ไว้ในครั้งแรก และการกระทำเช่นนี้ก็จะส่งผลกระทบให้กำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรีอาจต้องเลื่อนออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่รีบวินิจฉัย ประธานรัฐสภาก็จะเรียกประชุมไม่ได้ไปเรื่อยๆ 

You May Also Like
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ