Fact-checking : เลือกนายกฯ เสนอชื่อเดิมกี่ครั้งก็ได้ 3 ชื่อในบัญชีไม่ได้มีเพื่อบังคับหนึ่งชื่อหนึ่งครั้ง

19 กรกฎาคม 2566 เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายระหว่างการพิจารณาในประเด็นว่า การเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกลให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ อีกครั้ง ถือเป็นการนำญัตติที่ตกลงไปแล้วขึ้นมาเสนอในอีกสมัยประชุมเดียวกันต้องห้ามตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 หรือไม่ โดยบางช่วงบางตอนอันเป็นสาระสำคัญ เสรี สุวรรณภานนท์ กล่าวว่า

“กราบเรียนท่านประธานว่า ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ได้บัญญัติในวรรคหนึ่งไว้จริงครับ ว่าในการที่จะเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ​นั้น ไม่ได้กำหนดเวลาไว้ ไม่ได้กำหนดครั้งไว้ว่าจะทำได้กี่ครั้ง แต่ในกระบวนการในทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 มันเป็นเรื่องของข้อเสนอ แต่การจะเสนอได้กี่ครั้งท่านต้องดูวรรคที่สองครับ ในวรรคที่สองถ้าท่านดูข้อความในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง ก็คือในห้าปี หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ท่านประธานครับ นี่คือเป็นคำสำคัญครับ ที่ผมบอกว่าท่านเสนอชื่อได้ครั้งเดียวจากถ้อยคำที่ว่า หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้ง เพราะฉะนั้น ชื่อของคุณพิธาเป็นชื่อที่นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาและในสภาแห่งนี้ไม่แต่งตั้งไปแล้ว แต่ถ้าดูแค่นี้ท่านอาจจะแย้งได้ 

ผมก็เลยกราบเรียนว่า ถ้าดูข้อความต่อไปที่ท่านพิธา เป็นชื่อที่เป็นบุคคลที่ไม่ได้แต่งตั้งหรือไม่อาจแต่งตั้งได้แล้วนะครับ แต่งตั้งเป็นนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 

ท่านต้องไปดู 88 ครับ ในมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าในการเสนอบัญชีรายชื่อของบุคคลที่เป็นนายกฯ ของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ท่านเสนอได้ไม่เกินสามรายชื่อครับ นั่นหมายความว่าไง หมายความว่าในทุกๆพรรคที่ต้องการจะเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ เขาให้แค่สามชื่อทำไมให้สามชื่อ ทำไมไม่ให้ชื่อเดียว ที่ให้สามชื่อเนี่ยนะครับ ก็จะได้พิจารณาสามครั้งครับท่านประธาน เพราะคนหนึ่งคนจะถูกพิจารณาจากมาตรา 272 ที่ประชุมพิจารณาไม่แต่งตั้งไปแล้ว ไม่เห็นชอบไปแล้ว ดังนั้นต้องไปดูบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88 ว่าในแต่ละรายชื่อนะครับมีบุคคลอื่นที่นอกจากสภาเนี่ยเขาพิจารณาไปแล้วและไม่เห็นชอบ แล้วมีใครอีก 

ดังนั้น ขออนุญาตเอ่ยเป็นตัวอย่าง ของพรรคเพื่อไทย ก็พรรคท่านมีบุคคลที่ถูกเสนอในบัญชีรายชื่อสามรายชื่อ ถ้าหากว่าเราบอกว่าในหลักการให้เสนอซ้ำได้ นั่นหมายความไง หมายความว่าในสามรายชื่อนี้ เสนอชื่อคนที่หนึ่งและถ้าสมมติคนที่หนึ่งที่ประชุมไม่เห็นชอบ ท่านก็กลับมาเสนอคนที่หนึ่งอีก และก็เสนอคนที่หนึ่งไปเรื่อยๆ ไม่ถึงสองสามสักที มันจะขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไหมครับที่ให้สามรายชื่อ ส่วนที่ท่านเสนอมาชื่อเดียวหรือสองชื่อในแต่ละพรรคมันก็อยู่ที่ความประสงค์ของแต่ละพรรคว่าต้องการเสนอกี่ชื่อ แต่ถ้ามีกี่ชื่อแล้วก็ต้องให้สิทธิแต่ละพรรคดำเนินการตามรายชื่อที่เสนอ เมื่อกี้ยกตัวอย่างพรรคเพื่อไทย ถ้ารายชื่อหนึ่งผ่านไปแล้วและที่ประชุมไม่เห็นด้วย ท่านก็ต้องเอาชื่อที่สองมาพิจารณา ชื่อที่สองไม่เห็นชอบก็ต้องเอาชื่อที่สาม 


ท่านจะเอาชื่อที่หนึ่งที่สองมาซ้ำ ไม่มีระยะเวลา เมื่อกี้ท่านเองบอกไม่มีระยะเวลา ไม่มีครั้ง ท่านจะให้เสนออย่างนี้ไปนานเท่าไร หรือสักกี่ครั้งซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เขาถึงให้สามชื่อไงครับ ถ้าเขาเจตนาให้ชื่อเดียวและซ้ำได้ เขาไม่ต้องให้สามชื่อหรอกครับ รัฐธรรมนูญให้เพียงชื่อเดียวเท่านั้นแหละในแต่ละพรรคการเมือง เพราะท่านสามารถเสนอซ้ำได้ นี่แหละครับคือเหตุผลว่าไอ้การเสนอชื่อของแต่ละพรรคการเมืองมันจะต้องมีข้อชัดเจนว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้ทำแบบไม่มีข้อจำกัด 

สิ่งสำคัญการที่ลงมติไปแล้วมันก็จะปรากฎชื่อของคนที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบหรือคนงดออกเสียงเมื่อมันรู้ผลไปหมดแล้ว เกิดเราไปเสนอชื่อซ้ำ แล้วเราให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ท่านประธานทราบไหมจะเกิดไรขึ้น มันก็เกิดกระบวนการที่ต้องการให้เสียงมากขึ้นอาจจะเกิดจากอะไร เกิดจากการให้ผลประโยชน์ ให้กล้วย หรือว่าไปข่มขู่ไปคุกคามหรือไปแสดงพฤติกรรมอะไรที่เกิดความเกรงกลัวแล้วมาลงมติให้ เขาถึงได้บอกให้ลงครั้งเดียว ถ้าไปลงสองครั้งสามครับ มันรู้ชื่อไปแล้ว มันไม่ปลอดภัยแล้ว ถ้าไม่ลงคะแนนให้แล้วมันก็จะปัญหา ดังนั้น เจตนาสำคัญครับ เขาถึงได้ให้สามรายชื่อในมาตรา 88 นะครับ ส่วนท่านที่เสนอชื่อเดียวมันก็เป็นความประสงค์เพราะรัฐธรรมนูญใช้คำว่าไม่เกินสามชื่อ

ดังนั้น รัฐธรรมนูญมีความชัดเจน ชัดเจนที่จะบอกว่าท่านลงได้ครั้งเดียวเพราะรายชื่อที่ท่านพิจารณาไปแล้วใช้ถ้อยคำว่าไม่อาจแต่งตั้ง ในส่วนของข้อเสนอดังกล่าวนี้ ผมอยากจะกราบเรียนว่า ถ้าหากว่าเราไปปล่อยให้กระบวนการทำได้ซ้ำหลายครั้ง ก่อให้เกิดแนวปฏิบัติ นี่แหละครับคือแนวปฏิบัติที่เราบอกว่าในอนาคตเราจะใช้แบบนี้ต่อไปมันก็จะทำให้เกิดกระบวนการที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนและไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ 

ข้อเสนอที่เสนอให้พิจารณาซ้ำ ถูกข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาได้บัญญัติยืนยันในเรื่องเหล่านี้ก็คือกลับมาในส่วนญัตติ ญัตติข้อ 41 เขาถึงได้บอกว่าให้เสนอได้ครั้งเดียว ถ้าเสนอซ้ำในสมัยประชุมเดียวกันมันก็คือทำไม่ได้ นี่แหละครับคือเหตุผลทำไมข้อ 41 ที่หยิบยกขึ้นมา ถึงไม่สามารถพิจารณาบุคคลที่เข้ามาเป็นนายกฯ ได้ซ้ำเป็นครั้งที่สอง” 


คำกล่าวนี้มีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด ดังเหตุผลต่อไปนี้ 

3 ชื่อบัญชีแคนดิเดต มีเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน ไม่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกนายกฯ 

ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 88 บัญญัติไว้ว่า “ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมือง ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติ ว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการ เลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ และให้นำความในมาตรา 87 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม 

พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง ก็ได้”
คำอธิบายประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นหลักการใหม่ที่ต้องการให้คะแนนเสียงของประชาชนมีนัยสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา และการแจ้งรายชื่อบุคคลจะทำให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่ามีบุคคลใดบ้างที่มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี 

สำหรับจำนวนรายชื่อผู้ถูกเสนอให้เป็นนายกฯ กำหนดให้ไม่เกินสามรายชื่อ ก็เพื่อให้พรรคการเมืองมีทางออกในกรณีที่บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อในอันดับต้น ๆ หรืออันดับใดอันดับหนึ่งมีเหตุทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ 

คำอธิบายข้างต้นสะท้อนเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวว่าต้องการมุ่งเน้นด้านความโปร่งใสให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าก่อนลงคะแนนเสียงให้แคนดิเดตพรรคใดพรรคหนึ่งเพื่อเข้าไปทำหน้าที่เป็นนายก ฯ และการให้เสนอได้อย่างน้อยสามรายชื่อก็เพื่อแก้ปัญหาในประเด็นที่บุคคลที่ถูกเสนอรายชื่อคนใดคนหนึ่งเกิดปัญหาทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้พรรคการเมืองก็จะสามารถส่งคนที่อยู่ในบัญชีและประชาชนให้ความไว้วางใจผ่านตาประชาชนมาแล้วที่เหลืออยู่ให้สภาพิจารณา แต่มิได้หมายความว่ามาตรานี้มุ่งให้แคนดิเดตคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในบัญชีสามารถถูกเสนอชื่อได้เพียงครั้งเดียว

การตีความบทบัญญัตินี้ว่ามีความมุ่งหมายให้ที่ประชุมรัฐสภามีสิทธิลงมติเห็นชอบให้แคนดิเดตหนึ่งคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนได้เพียงครั้งเดียว หากมีสามรายชื่อก็ถูกพิจารณาได้เพียงชื่อละหนึ่งครั้ง ห้ามลงมติซ้ำนั้นจะเป็นการตีความที่เกินขอบเขตเจตนารมณ์ของมาตรานี้ และไม่มีผลดีอย่างใดแก่ประชาชน

เพราะหากในที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งและรวมเสียงข้างมากได้เพียงครั้งเดียวโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่สามารถพิจารณาอีกครั้งด้วยเหตุจากการตีความมาตรานี้ตามเหตุผลของเสรี สุวรรณภานนท์ ยิ่งเท่ากับว่าที่ประชุมรัฐสภากำลังตีความรัฐธรรมนูญย้อนแย้งกับบทบัญญัติมาตรานี้ที่มีใจความเป็นประเด็นหลักว่าต้องการสะท้อนความสำคัญเสียงของประชาชนในการเลือกนายกฯ ในสภาแต่กลับกระทำการโดยใช้มติของที่ประชุมรัฐสภาซึ่งส่วนหนึ่งประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนมาเหนือกว่ามติจากประชาชน


นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง กำหนดว่า 

“ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

บทบัญญัติดังกล่าว เป็นกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการเปิดทางเพื่อเลือกนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ซึ่งกรณีดังกล่าวต้องใช้มติรัฐสภาไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน สส. และ สว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จากนั้นจึงจะกลับไปดำเนินการเพื่อเสนอชื่อต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้หรือไม่ก็ได้ นั่นหมายความว่า ในมาตรา 272 ซึ่งว่าด้วยการพิจารณาผู้ถูกเสนอให้เป็นนายกฯ ได้กำหนดกระบวนการพิจารณาไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้วด้วยว่าหากไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯ ตามบัญชี ต้องอาศัยมติของที่ประชุมรัฐสภาก่อน ดังนั้น การยกมาตรา 88 ขึ้นมากล่าวอ้างในประเด็นการพิจารณานายกฯ จะยิ่งทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญขัดแย้งกัน 


ไม่พิจารณานายกฯ ซ้ำ อ้างกลัว “แจกกล้วย” ไม่ใช่เหตุผล สส. สว. ต้องยืนหยัดเพื่อประชาชน 

ยิ่งไปกว่านั้น อีกประเด็นหนึ่งที่ สว. เสรี  ยกเหตุผลขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีการพิจารณาผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ซ้ำ ว่า

“สิ่งสำคัญการที่ลงมติไปแล้วมันก็จะปรากฎชื่อของคนที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบหรือคนงดออกเสียงเมื่อมันรู้ผลไปหมดแล้ว เกิดเราไปเสนอชื่อซ้ำ แล้วเราให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ท่านประธานทราบไหมจะเกิดไรขึ้น มันก็เกิดกระบวนการที่ต้องการให้เสียงมากขึ้นอาจจะเกิดจากอะไร เกิดจากการให้ผลประโยชน์ ให้กล้วย หรือว่าไปข่มขู่ไปคุกคามหรือไปแสดงพฤติกรรมอะไรที่เกิดความเกรงกลัวแล้วมาลงมติให้ เขาถึงได้บอกให้ลงครั้งเดียว ถ้าไปลงสองครั้งสามครับ มันรู้ชื่อไปแล้ว มันไม่ปลอดภัยแล้ว ถ้าไม่ลงคะแนนให้แล้วมันก็จะปัญหา”

การกล่าวอ้างด้วยเหตุผลเช่นนี้ เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการคาดการณ์ยกสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อซ่อนเร้นเจตนาที่แท้จริงเท่านั้น และยังลดทอนศักดิ์ศรีความเป็น “ผู้แทนปวงชน” เพราะการเข้ามาดำรงตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการใช้อำนาจนั้นจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติสูงสุด  โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ก็ได้กำหนดย้ำถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาซึ่งหมายความถึงทั้งสส.และสว. บัญญัติไว้ว่า  “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”  

เมื่อพิจารณา คำอธิบายประกอบรัฐธรรมนูญ จะพบว่า มาตรา 114 มีความมุ่งหมายให้สมาชิกแห่งสภาทั้งสองต่างมีฐานะเป็น “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” และไม่ว่าประชาชนชาวไทยจะเป็นผู้ลงคะแนนเลือกสมาชิกผู้นั้นมาหรือไม่ การปฏิบัติหน้าที่จะต้องคำนึงถึงปวงชนชาวไทยเป็นสำคัญ จะมุ่งแต่เฉพาะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในเขตหรือจังหวัดที่ตนได้รับเลือกมาไม่ได้ ส่วนบทบัญญัติที่ว่า “ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ” ก็เพื่อให้สมาชิกทั้งสองสภาได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ที่ตนจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนและประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยไม่ถูกผูกมัดหรือครอบงำจากบุคคลหรือคณะบุคคลใด


ดังนั้น คำกล่าวของสว. เสรี ที่ยกขึ้นอ้างข้างต้นเพื่อไม่ให้มีการพิจารณาผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ซ้ำ กลับไม่มีน้ำหนักเพียงพอ แสดงให้เห็นถึงความเกรงกลัวในการใช้อำนาจเพื่อประชาชนและคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติขัดแย้งกับหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญ 


ข้อบังคับฯ ข้อ 41 ไม่เกี่ยวกับการพิจารณานายกฯ อย่างที่สว. เสรีอ้างเพราะการเลือกนายกฯ มีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เฉพาะ  

นอกจากนี้ คำกล่าวของ สว.เสรี ในตอนท้ายที่กล่าวว่า 

“ข้อเสนอที่เสนอให้พิจารณาซ้ำ ถูกข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาได้บัญญัติยืนยันในเรื่องเหล่านี้ก็คือกลับมาในส่วนญัตติ ญัตติข้อ 41 เขาถึงได้บอกว่าให้เสนอได้ครั้งเดียว ถ้าเสนอซ้ำในสมัยประชุมเดียวกันมันก็คือทำไม่ได้ นี่แหละครับคือเหตุผลทำไมข้อ 41 ที่หยิบยกขึ้นมา ถึงไม่สามารถพิจารณาบุคคลที่เข้ามาเป็นนายกฯ ได้ซ้ำเป็นครั้งที่สอง”

เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างชัดเจน เพราะเป็นการยกข้อบังคับของการประชุมรัฐสภาซึ่งมีศักดิ์กฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญมาใช้กับกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เฉพาะ เป็นการขัดกับหลักทฤษฎีลำดับศักดิ์กฎหมาย (Hierachy of Laws) ตีความกฎหมายลำดับรองซึ่งมีศักดิ์ต่ำกว่ามาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ประกอบกับความเห็นของ บวรศักดิ์  อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวไว้ว่า

“เอาข้อบังคับการประชุมมาทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกไว้เป็นการเฉพาะแล้ว น่าสงสารประเทศไทย” 

“ผิดหวัง ส.ส. คนที่ไปร่วมลงมติห้ามเสนอชื่อซ้ำ แม้คุณจะอยู่ฝ่ายค้านคุณก็ควรรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องทิ้งความเป็นฝ่ายค้าน ทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่การตีความของรัฐสภาไม่เป็นที่สุด คนที่คิดว่าสิทธิของตนถูกกระทบ ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ว่ามติรัฐสภาซึ่งเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้ตรวจการไม่ส่งศาล ผู้นั้นยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้”

“ผมจะรอดูคำร้องว่าการกระทำของรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญครับ และจะดูว่าศาลรัฐธรรมนูญว่ายังไง สอนรัฐธรรมนูญมาสามสิบกว่าปีต้องทบทวนแล้วว่าจะสอนต่อไหม?!?!?!” 







You May Also Like
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ