ฐานความผิดที่มีโทษสูงกว่า “มาตรา112”  ได้รับนิรโทษกรรมมาแล้วหลายครั้ง หลายกรณี

9 กรกฎาคม 2568 สภาผู้แทนราษฎรจะบรรจุญัตติพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. ที่เสนอโดยการเข้าชื่อของประชาชน พร้อมกับร่างอื่นๆ อีกสามฉบับจากพรรคก้าวไกล พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน โดยมีเพียงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเท่านั้นที่เสนอให้นิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยไม่มีเงื่อนไข ในขณะท่ีร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคครูไทยเพื่อประชาชนเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า จะไม่นิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 ด้วย

ทั้งพรรคการเมืองและกลุ่มประชาชนที่เห็นว่า ไม่ควรนิรโทษกรรมคดดีมาตรา 112 ให้เหตุผลว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีในหมวด “ความมั่นคง” ที่มีโทษร้ายแรง ไม่ใช่เป็นเพียงคดีอาญาจากการชุมนุมทั่วไป จึงไม่ควรให้นิรโทษกรรมด้วย อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปในอดีต จะพบว่ายังมีความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญาที่มีอัตราโทษสูงกว่ามาตรา 112 เคยได้รับการนิรโทษกรรมมาแล้ว และถูกเสนอให้ได้รับการนิรโทษกรรมในรอบนี้ด้วย 

เราขอชวนทุกคนเปิดสถิติการนิรโทษกรรมที่ผ่านมาว่า มีคดีไหนเคยได้รับนิรโทษกรรมไปแล้วบ้าง

กบฏ ก่อการร้าย ฆ่า อยู่ในข่ายพิจารณานิรโทษกรรม

ตามรายงานของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมระบุว่า การพิจารณาฐานความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม สามารถพิจารณาได้จากฐานความผิดจำนวน 25 ฐาน จากกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยนิกร จำนง ประธานอนุกรรมาธิการดังกล่าวระบุว่า ฐานความผิดเหล่านี้พิจารณาจากบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา พ.ศ. …. (ของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความยุติธรรมในคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557) ร่วมกับบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. ของพรรครวมไทยสร้างชาติ และฐานคดีความผิดทางการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2567 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงเพิ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกแปดฉบับ ให้ครอบคลุมกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-2567 

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา อัตราโทษตามมาตรา 112 อยู่ที่ จำคุกสามปีถึง 15 ปี ซึ่งยังมีฐานความผิดอื่นๆ ที่เทียบเท่าและสูงกว่ามาตรา 112 ที่กรรมาธิการชุดดังกล่าวพิจารณาว่าอยู่ในข่ายของการได้รับนิรโทษกรรม ดังตารางด้านล่าง

มาตราในกฎหมายอาญาความผิดบทกำหนดโทษ
113เป็นกบฏประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
114สะสมกำลังพลหรืออาวุธเพื่อเป็นกบฏจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
135/1ก่อการร้ายประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-1,000,000 บาท
218วางเพลิงเผาสถานที่ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง 20 ปี
288ฆ่าผู้อื่นประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี
289ฆ่าผู้อื่น โดยเหตุฉกรรจ์ประหารชีวิต

โดยฐานความผิดทั้ง 25 ฐานนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมได้แบ่งฐานความผิดออกเป็นสามกลุ่ม คือ การกระทำในคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว โดยฐานความผิดตามตารางดังนี้ คณะกรรมาธิการดังกล่าวได้จัดให้เป็น “คดีหลัก” ยกเว้นมาตรา 218 ที่เป็นคดีรอง และความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (ฆ่าผู้อื่น) และมาตรา 289 (ฆ่าผู้อื่นโดยฉกรรจ์) ซึ่งมีฐานความผิดสูงกว่าความผิดตามมาตรา 112 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญเห็นว่า เป็นการกระทำความผิดที่มีความรุนแรง ควรให้ผู้กระทำความผิดรับผิดชอบต่อการกระทำความเสียหายกับบุคคลภายนอก ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้ส่งความเห็นว่า ความผิดที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จึงมีความเห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมต่อความผิดในสองมาตราดังกล่าว 

อย่างไรก็ดี มีการแสดงความกังวลว่า มาตรา 288 และ 289 นี้เองจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานผู้ต้องหาในคดีการเมืองได้ จึงควรให้สิทธิผู้ต้องหาที่มิได้กระทำความผิดจริงตามสองมาตราดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรมได้

หลังการชุมนุมใหญ่ เคยนิรโทษกรรมไร้เงื่อนไขคดีอัตราโทษสูงกว่า ม.112 มาแล้ว

เป็นที่ปรากฏตามรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมว่า กรรมาธิการเสียงข้างมากยังเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดมาตรา 112 ทว่ามีคณะกรรมาธิการอย่างน้อยสองคน คือ ชัยธวัช ตุลาธน และหม่อมหลวงศุภกิตติ์ จรูญโรจน์ กล่าวถึงการนิรโทษกรรมคดีในมาตรา 112 และคดีที่อัตราโทษสูงกว่าในอดีต โดยทั้งสองกล่าวถึงกฎหมายเดียวกัน คือ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึง 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดที่ถูกคุมขังตามคดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ  และ คดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา 

โดยคดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ศาลทหารกรุงเทพฟ้อง สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) กับพวก รวม 18 คน ในหลายข้อหา ทั้งความผิดต่อองค์รัชทายาท (ในขณะนั้น) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ความผิดฐานสะสมอาวุธ ซ่องสุมกำลังคนตามมาตรา 114 รวมถึงความผิดฐานร่วมกันฆ่าและพยายามผู้อื่นตามมาตรา 288 มีอัตราโทษอยู่ที่ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี) ซึ่งสูงกว่ามาตรา 112 

เมื่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ประกาศใช้แล้ว ส่งผลให้ศาลทหารปล่อยตัวสุธรรมและพวก รวมถึงบุญชาติ เสถียรธรรมมณี จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา ซึ่งมีข้อหามาตรา 112 ด้วย

กรณีการนิรโทษกรรมแก่นิสิต นักศึกษา ในการชุมนุมทางการเมือง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ มีการออก พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 พ.ศ. 2516 อันมีสาระสำคัญ คือ ให้นิรโทษกรรมการกระทำที่เกิดขึ้นจากการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 รวมถึงการกระทำต่างๆ ในการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 8-15 ตุลาคม 2516 ด้วย โดยไม่มีการแยกประเภทฐานความผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดหมวดใดมีอัตราโทษเท่าไรก็นิรโทษกรรมไปพร้อมกัน ข้อน่าสังเกตคือ การนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่นับรวมการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐไปด้วย

หลังจากนั้น ยังมีเหตุการณ์การชุมนุมครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “พฤษภาทมิฬ” ซึ่งเป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลที่นำโดยพล.อ. สุจินดา คราประยูร ก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน นำไปสู่การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 พ.ศ. 2535 อันเป็นการนิรโทษกรรมแบบ “เหมาเข่ง” ทั้งฝั่งผู้ชุมนุม และทหารผู้สลายการชุมนุมในแทบจะทันทีที่เหตุการณ์คลี่คลายลง โดยไม่มีการแยกฐานความผิดเช่นกัน

นิรโทษกรรมข้อหากบฏ เป็นเรื่องปกติ

ในประวัติศาสตร์ไทย มีความพยายามรัฐประหารทั้งสิ้น 20 ครั้ง สำเร็จจนนิรโทษกรรมตัวเอง 11 ครั้ง   และไม่สำเร็จ 9 ครั้ง

อันที่จริงแล้ว การทำรัฐประหารเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 หรือฐานความผิดว่าด้วยการเป็นกบฏ มีโทษถึงประหารชีวิต แต่เมื่อรัฐประหารสำเร็จ สิ่งที่จะล้างมลทินของการยึดอำนาจจากปวงชนได้ ก็คือ การชิงล้างความผิดของตัวเองเสียก่อน

หากไม่นับการนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่การรัฐประหารมากถึง 11 ฉบับ ด้วยกัน ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 จนถึงครั้งล่าสุด คือ การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 

กลับกัน ในกรณีที่รัฐประหารไม่สำเร็จ และผู้ก่อการมีความผิดในฐานะ “กบฏ” ตามมาตรา 113 แล้วนั้น ก็มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมต่อผู้ก่อการกบฏทั้งสิ้น 6 ครั้ง คือ 

  1. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488   ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อนิรโทษกรรมเหตุการณ์กบฏบวรเดชเมื่อปี 2476 และกบฏพระยาทรงสุรเดชเมื่อปี 2481
  2. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 ซึ่งมีผลให้นิรโทษกรรมกบฏที่เกิดขึ้น 4 ครั้ง ระหว่างปี 2491-2494 ได้แก่ กบฏเสนาธิการ กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน และกบฏสันติภาพ
  3. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่าง วันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 มีผลให้นิรโทษกรรมเหตุการณ์กบฏเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2520 ที่นำโดย พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ
  4. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 มีผลให้นิรโทษกรรมเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย เมื่อ เมษายน 2524 และกบฏยังเติร์ก เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ 
  5. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 มีผลให้นิรโทษกรรมกบฏทหารนอกราชการ ที่นำโดยพันเอกมนูญ รูปขจร เมื่อปี 2528 

จากสถิติที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงพอจะชี้ให้เห็นได้ว่า การนิรโทษกรรมข้อหากบฏตามมาตรา 113 อันมีอัตราโทษสูงกว่ามาตรา 112 อย่างเห็นได้ชัด ก็เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ

นิรโทษกรรมข้อหา “คอมมิวนิสต์” ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

นอกจากการนิรโทษกรรมให้กับเหตุาการณ์การชุมนุมทางการเมือง อีกกรณีสำคัญที่มีการนิรโทษกรรมให้กับคดีความผิดอัตราโทษสูงกว่ามาตรา 112 คือ ข้อหาคอมมิวนิสต์ โดยภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นิสิตนักศึกษาบางส่วนได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลไทย

เวลาต่อมา ในรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 โดยมีเนื้อความส่วนหนึ่งผ่อนปรนให้ผู้ที่เข้าร่วมกับ พคท. สามารถมอบตัว พ้นผิดจากข้อหาต่างๆ และยุติความขัดแย้งในภาวะสงครามเย็น

หลังจากนั้น เมื่อปี 2532 ในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ได้มีการออก พระราชบัญญัติ นิรโทษกรรมผู้กระทำการอันเป็นความผิดแก่ความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532 โดยให้ถือว่า การกระทำดังนี้ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม 2531 ได้รับการนิรโทษกรรม

(1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา (เช่น ความผิดฐานเป็นกบฏ ตามมาตรา 113 ซึ่งมีโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต)

(2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด คือ 5-10 ปี

(3) กระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับความผิด (1) หรือ (2) ที่ไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จึงอาจนับได้ว่า กลุ่มนิสิต นักศึกษา ที่เข้าร่วมกับพคท. หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นับเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการนิรโทษกรรมในฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงกว่ามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาด้วย และหลายคนยังกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารของประเทศในปัจจุบัน เช่น ภูมิธรรม เวชชยะชัย รองนายกรัฐมนตรี, สุธรรม แสงประทุม สส.พรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ กว่า 33 ปีนับแต่การนิรโทษกรรมประชาชนอย่างไม่มีเงื่อนไขครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2535 ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ที่มีแรงจูงใจทางการเมืองในมาตราอื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 1,150 คน ที่ชุมนุมช่วงปี 2552-2553 หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่กว่า 1,683 คน ที่ชุมนุมช่วงปี 2563-2564 ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจึงกลายเป็นความหวังของผู้ต้องคดีการเมืองหลายคนว่า จะได้กลับมาใช้ชีวิตดังเดิม  

ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ของกฎหมายนิรโทษกรรมก็ย้ำเตือนเราอยู่ว่า เราเคยนิรโทษกรรมประชาชนอย่างไร้เงื่อนไข ทั้งคดีความผิดตามมาตรา 112 และคดีที่มีฐานความผิดสูงกว่ามาตรา 112 มาแล้ว และวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 จะเป็นวันประวัติศาสตร์อีกครั้งว่า สุดท้ายแล้ว ร่างกฎหมายฉบับใดจะกลายเป็นร่างหลักของการนิรโทษกรรมท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองไทยกว่าสองทศวรรษ