ย้อนดูกฎหมาย-คำสั่งในอดีต ข้อหาที่โทษหนักกว่ามาตรา 112 ก็นิรโทษกรรมมาแล้ว

เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เริ่มเปิดตัวแคมเปญ #นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ต่อสภา ขณะเดียวกัน ก่อนหน้าที่ภาคประชาชนจะผลักดันร่างกฎหมาย ฟากฝั่งพรรคการเมืองอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ก็เสนอร่างกฎหมายสองฉบับ ที่มีเนื้อหาทำนองเดียวนิรโทษกรรมให้กับคดีความต่างๆ แต่กลับใช้ชื่อร่างกฎหมายว่า ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. ….

ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. ทั้งฉบับที่พรรครวมไทยสร้างชาติ และฉบับที่พรรคครูไทยเพื่อประชาชนเสนอนั้น เขียนชัดเจน ว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้กับคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งก็สอดรับกับเสียงขอบงรรดานักการเมืองจากพรรคการเมืองทั้งฟากรัฐบาลและฟากฝ่ายค้านที่ต่างออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่ควรนิรโทษกรรมให้กับข้อหาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หากย้อนดูประวัติศาสตร์กฎหมายนิรโทษกรรมในไทย รวมถึงการใช้มาตรการของรัฐในอดีตเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในสังคม จะพบว่าการนิรโทษกรรมให้กับความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือแม้กระทั่งความผิดที่มีอัตราโทษสูงกว่า มาตรา 112 ก็ตาม ก็เคยออกกฎหมายมาแล้ว มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นจริง และมีผู้ที่ได้นิรโทษกรรมจากกฎหมายดังกล่าว ข้อเสนอเพื่อนิรโทษกรรมครอบคลุมความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น มาตรา 112 ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย

6oct19_amnestylaw

นิรโทษกรรมหลัง 6 ตุลา 19 เจ้าหน้าที่รัฐ-ผู้ชุมนุมพ้นผิดทุกข้อหา

หนึ่งในเหตุการณ์ที่มีการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา ในข้อหาที่ร้ายแรงมากกว่าเหตุการณ์ครั้งไหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ การนิรโทษกรรมให้กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งภายหลังจากที่ได้มีทำกิจกรรมเล่นละครการแขวนคอซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นความตั้งใจในการหมิ่นประมาทองค์รัชทายาทในขณะนั้น (ซึ่งคือพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน) จนนำไปสู่การล้อมปราบ ใช้กำลังเพื่อล้อมฆ่านักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์นั้น ในภายหลังก็ได้มีการจับกุมนักศึกษากับประชาชนที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การฟ้องดำเนินคดีที่มีอัตราโทษสูงต่อแกนนำและผู้ชุมนุม เป็นคดีดำที่ 253ก./2520 จำเลยได้แก่ นายสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) กับพวกรวม 18 คน

โดยข้อหาที่จำเลยทั้ง 19 คนถูกฟ้อง เช่น ข้อหาหมิ่นประมาทองค์รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ซึ่งขณะนั้นมีบทลงโทษคือจำคุกไม่เกินเจ็ดปี) ร่วมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ (ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต) ร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธเพื่อเป็นกบฏ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 114 โทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึง 15 ปีเท่ากับมาตรา 112 ในปัจจุบัน) ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น (ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 กำหนดโทษไว้ที่ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี) เป็นต้น

ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ครึ่งเดือนผ่านมาคณะรัฐประหารก็ออกคำสั่งที่ 41 มีเนื้อหาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพิ่มโทษความผิดที่เกี่ยวกับการแสดงออกหลายมาตรา โดยหนึ่งในนั้นคือการเพิ่มโทษมาตรา 112 จากจำคุกไม่เกินเจ็ดปี เป็นจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปลายปีก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเองที่ก่อรัฐประหาร

เวลาผ่านไปเกือบสองปีเต็ม สภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้นก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับทั้งแกนนำนักศึกษา และผู้ที่ถูกจับกุมกว่า 3,000 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตามข้อหาต่างๆ เนื่องจากการชุมนุม ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 ส่งผลให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีและถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเวลานั้น ได้รับการปล่อยตัว และพ้นผิดจากทุกข้อหา จำเลยในคดีดำที่ 253ก./2520 ก็ได้รับการปล่อยตัวและหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งปวง ส่วนสุธรรม แสงประทุม หนึ่งในจำเลยคดีนี้ ก็เป็นสส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566

โดยสรุป การนิรโทษกรรมหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แม้รัฐจะ “เหมาเข่ง” นิรโทษกรรมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการรุนแรงต่อผู้ชุมนุม แต่ขณะเดียวกันก็นิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมและผู้ถูกดำเนินคดีที่ข้อหาร้ายแรงด้วย แม้การดำเนินคดีนั้นรัฐและผู้มีอำนาจจะเป็นผู้ริเริ่มขึ้นเอง แต่การนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ ก็เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดที่ผู้มีอำนาจในอดีตใช้เพื่อบรรเทาความขัดแย้งที่พวกเขาสร้างขึ้นมา

คำสั่ง 66/2523 ผ่อนปรนคนร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ให้กลับเข้าสู่สังคม

หลังเหตุการณ์ล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นอกจากกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมและขึ้นศาลทหารแล้ว ยังมีอีกส่วนที่หลบหนีเข้าป่าและเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพื่อจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลไทยในขณะนั้น ในภายหลังเพื่อยุติความขัดแย้งและพยายามหาทางออกในภาวะสงครามเย็น รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เพื่อกำหนดนโยบายในการผ่อนปรนให้ผู้ที่เข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สามารถมอบตัวและพ้นผิดจากข้อหาต่างๆ ได้

หากสำรวจดูผู้ที่มีบทบาทในการเมืองไทย พบว่ามีนักการเมืองบางส่วนที่เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อน และยังมีบทบาททางการเมืองทั้งในสภาอันเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงบทบาทในฟากรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร อาจกล่าวได้ว่าพวกเขาเหล่านี้สามารถกลับเข้าสู่สังคม ใช้ชีวิตได้และมีบทบาททางเมืองไทยในเวลาต่อมา เพราะผลจากคำสั่งที่ 66/2523

โดยนักการเมืองที่เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อน เช่น

1.       ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

2.       พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน

3.       อดิศร เพียงเกษ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (เลือกตั้ง 2566)

4.       จาตุรนต์ ฉายแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (เลือกตั้ง 2566)

5.       สงวน พงษ์มณี อดีตสส. แบบแบ่งเขต พรรคเพื่อไทย (เลือกตั้ง 2562)

6.       ศุภชัย โพธิ์สุ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง (เลือกตั้ง 2562)

7.       เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นิรโทษกรรม 2532 ยุติคดีความผิดความมั่นคงรัฐ-คอมมิวนิสต์

ปี 2532 สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ยังได้มีการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้กระทำการอันเป็นความผิดแก่ความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532 เนื่องในวาระที่รัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 42 ปีเท่ากับรัชกาลที่ 5 วันที่ 30 สิงหาคม 2532 กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ โดยการกระทำที่เข้าเงื่อนไขการนิรโทษกรรมตามกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่

(1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา (เช่น ความผิดฐานเป็นกบฏ ตามมาตรา 113 ซึ่งมีโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต)

(2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

(3) กระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับความผิด (1) หรือ (2) ที่ไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

โดยการกระทำดังกล่าวหากกระทำก่อน 2 กรกฎาคม 2531 ให้การกระทำนั้นๆ ไม่เป็นความผิด ให้ผู้กระทำพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษา ถ้ารับโทษอยู่ ให้การลงโทษสิ้นสุดลง

จากกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสองฉบับ ประกอบกับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ซึ่งออกโดยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะเห็นได้ว่า บรรดาความผิดที่เคยถูกกล่าวหาและดำเนินคดีภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ตั้งแต่ข้อหาประทุษร้าย ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตลอดไปจนถึงข้อหาล้มล้างการปกครองหรือเป็นกบฏ ล้วนแต่ได้รับการนิรโทษกรรม โดยไม่ยกเว้นข้อหาใดข้อหาหนึ่งเป็นการพิเศษ ส่งผลให้กลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แกนนำ นักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือนักศึกษาและประชาชนที่เข้าป่าจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลไทย ล้วนเคยได้รับการนิรโทษกรรมหรือได้รับผลจากคำสั่งที่ 66/2523 มาแล้ว