กมธ.นิรโทษกรรมฯ สรุปรายงานส่งสภา ใส่เกียร์ว่าง ม.112 “ไม่สามารถหาข้อสรุปได้” แต่ 18 เสียงยืนยันรวม ม.112 ได้

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สรุปรายงานส่งสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญเห็นว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 เป็นคดีที่มีความอ่อนไหว ซึ่งไม่สามารถหาข้อสรุปเป็นมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ เนื่องจากกรรมาธิการมีความเห็นแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นสามแนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว แนวทางที่ 2 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข และแนวทางที่ 3 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไข

โดยตลอดการทำงาน 6 เดือน ของ กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรมฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อให้การพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จำนวน 2 คณะ คือ

(1) คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจาก แรงจูงใจทางการเมือง โดยมี นิกร จำนง เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ

(2) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทาง การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยมี รองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสรชัย เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ

AMPP-กมธ

โดยสาระสำคัญรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร มีดังต่อไปนี้

นิรโทษกรรม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 48 และต้องเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง

ผลการพิจารณาศึกษาช่วงเวลาในการนิรโทษกรรมสรุปได้ว่าให้อยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน โดยที่ “ปัจจุบัน” หมายถึง วันที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ฐานความผิดนั้นสามารถเป็นกรอบในการพิจารณาว่า ฐานความผิดใดที่มีผลสืบเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง 

โดยนิยามของคำว่า “การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง” หมายความว่า “การกระทำที่มีพื้นฐาน มาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมาย ทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”

และกำหนดขอบเขตการนิรโทษกรรมว่าบรรดาการกระทำใด ๆ หากเป็นความผิดตามบัญชีแนบท้ายร่างพระราชบัญญัติ ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและให้ถือเสมือนว่าบุคคลนั้นไม่เคยกระทำความผิด

เสนอจำแนกคดีเป็น 3 ประเภท คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว

ผลจากการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทาง การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีข้อเสนอว่าประเด็นคดีที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมควรแบ่งออกเป็นคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว ซึ่งแนวทางในการดำเนินการเมื่อมีการจำแนกคดีต้องปฏิบัติ ดังนี้ 

1) คดีหลักและคดีรอง ในส่วนนี้ผู้พิจารณาวินิจฉัยเบื้องต้นว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่ คือ หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม โดยพิจารณาวินิจฉัยจากองค์ประกอบว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ และเป็นฐานความผิดตามบัญชีฐานความผิดท้ายร่างพระราชบัญญัติหรือไม่ หากเข้าองค์ประกอบ หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมสามารถพิจารณาวินิจฉัยการนิรโทษกรรม แล้วจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรม เสนอต่อคณะกรรมการนิรโทษกรรมเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการไม่มีความเห็นแย้งภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือให้ถือว่าคณะกรรมการ เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมตามเสนอ 

2) คดีที่มีความอ่อนไหว ในส่วนนี้ผู้พิจารณาวินิจฉัยคือ คณะกรรมการนิรโทษกรรม

สำหรับการจำแนกคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว ดังนี้

(ก) การกระทำในคดีหลัก

(1) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

(1.1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร 

มาตรา 113 (1) หรือ (2) (ความผิดฐานกบฏ)

มาตรา 114 (สะสมกำลังเพื่อก่อกบฏ) (เฉพาะการตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ)

มาตรา 116 (กระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย) 

มาตรา 117 (ยุยงให้หยุดงานเพื่อให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย) 

มาตรา 118 (กระทำต่อธงชาติ)

 (1.2) ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย

มาตรา 135/1 (2) หรือ (3) (ความผิดฐานก่อการร้าย) 

มาตรา 135/2 (ขู่เข็ญจะก่อการร้าย)

มาตรา 135/3 (โทษของผู้สนับสนุนการก่อการร้าย)

(2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 

(3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 

(4) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

(5) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 

(6) ความผิดตามคำสั่ง คสช.

(7) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559

(ข) การกระทำในคดีรอง

(1) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 

(1.1) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

มาตรา 136 (ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน) 

มาตรา 137 (แจ้งความเท็จ)

มาตรา 138 (ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน)

มาตรา 139 (ข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ)

มาตรา 140 (รับโทษหนักขึ้นฐานต่อสู้ขัดขวางและข่มขืนใจเจ้าพนักงาน)

(1.2) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม

มาตรา 168 (ขัดขืนคำบังคับของอัยการ หรือพนักงานสอบสวนเพื่อให้ถ้อยคำ) มาตรา 169 (ขัดขืนคำบังคับของอัยการ หรือพนักงานสอบสวนให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใด)

มาตรา 170 (ขัดขืนหมายหรือคำสั่งศาลให้มาเบิกความ) 

มาตรา 184 (ทำลายหลักฐานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ต้องรับโทษ) 

มาตรา 190 (หลบหนีระหว่างถูกคุมขัง)

มาตรา 191 (ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากการคุมขัง) 

มาตรา 198 (ดูหมิ่นหรือขัดขวางผู้พิพากษา)

(1.3) ความผิดเกี่ยวกับศาสนา

มาตรา 206 (กระทำการเหยียดหยามศาสนา)

มาตรา 208 (แต่งกายเป็นนักบวชในศาสนา)

(1.4) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน

มาตรา 209 วรรคหนึ่ง (ความผิดฐานเป็นอั้งยี่)

มาตรา 210 ถึงมาตรา 214 (ความผิดฐานซ่องโจร, ร่วมประชุมอั้งยี่ ซ่องโจร, ช่วยเหลือ อุปการะอั้งยี่ ซ่องโจร, โทษของสมาชิกและพรรคพวกอั้งยี่ ซ่องโจร และจัดหาที่พำนัก ซ่อนเร้นให้ผู้กระทำผิด) 

มาตรา 215 วรรคหนึ่ง (มั่วสุมทำให้เกิดการวุ่นวายในบานเมือง)

มาตรา 216 (ไม่ยอมเลิกมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน)

(1.5) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

มาตรา 217 ถึงมาตรา 220 (วางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น, เหตุฉกรรจ์วางเพลิง ทรัพย์ผู้อื่น, ตระเตรียมวางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุ) 

มาตรา 221 (ทำให้เกิดระเบิดน่าจะเป็นอันตรายฯ) 

มาตรา 225 (ทำให้เกิดระเบิดจนเป็นอันตรายแก่ทรัพย์)

มาตรา 226 (กระทำต่อโรงเรียน สิ่งปลูกสร้าง น่าจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น) 

(1.6) ความผิดต่อร่างกาย

มาตรา 295 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ)

มาตรา 296 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บด้วยเหตุฉกรรจ์)

มาตรา 297 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส) 

มาตรา 299 (ชุลมนต่อสู้บาดเจ็บสาหัส)

มาตรา 300 (ประมาทเป็นเหตุให้บาดเจ็บสาหัส) 

(1.7) ความผิดต่อเสรีภาพ

มาตรา 309 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการ ไม่กระทำการ)

มาตรา 310 วรรคหนึ่ง (หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น)

มาตรา 310 ทวิ (หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อให้กระทำการให้แก่บุคคล)

มาตรา 311 วรรคหนึ่ง (ทำให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยประมาท)

(1.8) ความผิดฐานหมิ่นประมาท 

มาตรา 326 (หมิ่นประมาท)

มาตรา 328 (หมิ่นประมาทโฆษณา)

มาตรา 329 (แสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท) 

(1.9) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

มาตรา 358 (ทำให้เสียทรัพย์)

มาตรา 359 (3) (เหตุเพิ่มโทษฐานทำให้เสียทรัพย์) 

มาตรา 360 (ทำให้เสียทรัพย์สาธารณประโยชน์)

(1.10) ความผิดฐานบุกรุก

มาตรา 362 (บุกรุกอสังหาริมทรัพย์) 

มาตรา 364 (บุกรุกเคหสถาน)

มาตรา 365 (1) หรือ (2) โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ (3) (บุกรุกเหตุฉกรรจ์)

(1.11) ความผิดลหุโทษ

มาตรา 368 (ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน)

มาตรา 370 (ส่งเสียงดังอื้ออึง)

มาตรา 371 (พกพาอาวุธ)

มาตรา 385 (กีดขวางทางสาธารณะ)

มาตรา 391 (ทำร้ายร่างกายไม่บาดเจ็บ) 

มาตรา 393 (ดูหมิ่นซึ่งหน้า)

(2) ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 30 (ศาลออกข้อกำหนด เพื่อรักษาความเรียบร้อยในศาล) 

มาตรา 31 (ละเมิดอำนาจศาล)

(3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

(4) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

(5) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 และที่แก้ไข

(6) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

(7) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  

(8) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

(9) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535

(10) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วย การควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493

(11) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

(12) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 

(13) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียม อาวุธปืน พ.ศ. 2490 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

(14) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

(15) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินทางอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

(16) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

(17) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

(18) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธง พ.ศ. 2522

(19) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550

(ค) การกระทำในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

มาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) 

มาตรา 112 (หมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ)

ในส่วนของคดีที่มีความอ่อนไหว (ความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112) คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาในประเด็นการนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมหรือไม่นั้น ได้มีการแสดงความเห็นออกเป็น 3 แนวทาง 

๐ แนวทางที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว 14 คน 

๐ แนวทางที่ 2 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข 14 คน

๐ แนวทางที่ 3 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว 4 คน

และไม่ประสงค์แสดงความคิดเห็น 4 คน ดังนี้

                         รายชื่อ กมธ. ที่มีความเห็นเกี่ยวกับคดีที่มีความอ่อนไหว

แนวทางที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวแนวทางที่ 2 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไขแนวทางที่ 3 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไขไม่ประสงค์แสดงความคิดเห็น
1. ไพบูลย์ นิติตะวัน 
2. วิชัย สุดสวาสดิ์
3. นิกร  จำนง
4. เจือ ราชสีห์
5. นพดล ปัทมะ
6. นริศรา  แดงไผ่
7. พงศ์พล  ยอดเมืองเจริญ
8. ศาสตราจารย์วุฒิสาร  ตันไชย 
9. ประดิษฐ์ สังขจาย
10. สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง
11. ชัยชนะ  เดชเดโช
12. นรินท์พงศ์  จินาภักดิ์
13. จำลอง ภูนวนทา
14. ชัยรัตน์ มาตยานุมัตย์
1. รองศาสตราจารย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์
2. สมคิด เชื้อคง
3. รังสิมันต์ โรม
4. เอกชัย ไชยนุวัติ 
5. ชัยธวัช ตุลาธน 
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
7. พิชัย นิลทองคำ
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์จันจิรา สมบัติพูนศิริ
9. ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข 
10. รองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสรชัย 
11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู
12. วัฒนา เตียงกูล
13. รองศาสตราจารย์โคทม อารียา
14. ศุภสิทธิ์ ลิ้มตระกูล
1. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
2. หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์
3. ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์
4. ศักดา นพสิทธิ์
1. ขัตติยา สวัสดิผล
2. ชัยอนันต์ มานะกุล
3. ณัฐพศุตม์ ภัทธิราสินสิริ
4. สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ

ไพบูลย์อ้างนิรโทษกรรมรวม ม.112 ไม่ได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่ ให้ความเห็นโดยสรุปว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 ไม่ว่าจะกำหนดให้มีเงื่อนไขหรือไม่ โดยกรรมาธิการส่วนหนึ่งเห็นว่าคดีความผิด เนื่องจาก

1) ประชาชนทั่วทั้งประเทศจำนวนมากยังมีความเห็นคัดค้านในการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากดำเนินการไปจะทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ 

2) การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 

3) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นกฎหมายคุ้มครองไม่ให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ และเป็นสถาบันหลักของประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้เช่นนี้และรัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองไว้อย่างชัดเจน จึงควรให้ผู้กระทำผิดถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แต่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรานี้จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 

ชัยธวัชชี้แจงการนิรโทษกรรมรวม ม.112 ไม่ใช่การเสนอให้ยกเลิกมาตรานี้

AMPP-กมธ-2

ชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษา มีท่าทีสนับสนุนกับแนวทางที่ 2 โดยมีความเห็นโดยสรุปว่า เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไขให้ความเห็น โดยสรุปว่าเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยในคดีที่มีการร้องขอให้พรรคก้าวไกลเลิกการกระทำตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีการให้ความเห็นยึดโยงว่าการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อาจจะขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตนในฐานะที่เป็นกรรมาธิการสัดส่วนของพรรคก้าวไกลต้องชี้แจงให้ชัดเจนก่อนว่า การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้เลิกการกระทำสองประการ คือ 

1) สั่งให้เลิกการแสดงความคิดเห็นหรือการรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ

2) สั่งห้ามไม่ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยกระบวนการนิติบัญญัติโดยไม่ชอบ

หมายความว่า หากเป็นการเสนอแก้ไขมาตรานี้ด้วยกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบสามารถกระทำได้ จึงขอชี้แจงให้เกิดความชัดเจนและเป็นข้อมูลเพื่อไม่ให้มีข้อกังวลมากเกินไปว่าจะมีการนำเรื่องนี้ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณาว่าควรจะนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่

ส่วนข้อห่วงใยว่าการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือขัดกับมาตรา 6 หรือมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ไม่ว่ากรรมาธิการจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรานี้ ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตรา หรือมาตราใด ๆ โดยขอยืนยันว่าการเสนอให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่การเสนอให้ยกเลิกมาตราหรือฐานความผิดนี้ อีกทั้งการยกเลิกฐานความผิดนี้จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ยังเป็นข้อถกเถียงในทางกฎหมายแต่การนิรโทษกรรมไม่ใช่การยกเลิกฐานความผิดนี้ในการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งคดีความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดจากการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น 

การตีความให้เป็นความผิดที่มุ่งหมายให้หลักการและคุณค่าพื้นฐานระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขถูกล้มเลิกหรือสูญเสียไปจึงเป็นการตีความเกินเลย ซึ่งข้อหาที่ใช้ดำเนินคดีกับการเสนอความเห็นล้มเลิกระบอบการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงการปกครองอื่นมีบัญญัติไว้อยู่แล้ว อาทิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 หรือกรณีการรณรงค์ให้เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ดังนั้น จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตรา 6 หรือมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งย่อมจะทราบดีว่าบทบัญญัติในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะมีเหตุผลที่ไม่ยึดโยงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เป็นการวางหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ยึดโยงกับหลักการเรื่องพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมืองจึงทรงอยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะและละเมิดมิได้หมายความว่าจะนำไปฟ้องร้องในศาลไม่ได้ แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นคนละเรื่องกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 

การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ควรนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้เพราะโดยข้อเท็จจริงพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากเกิดการรัฐประหารอย่างชัดเจนทั้งในเรื่องสถิติและเนื้อหาแห่งคดี ประกอบกับความผิดอันเกิดจากการแสดงออกทางการเมือง เป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากการแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ใช่ความผิดร้ายแรงที่กระทำต่อร่างกายและชีวิต จึงควรเข้าข่ายที่จะพิจารณานิรโทษกรรมหรือให้อภัยได้เพื่อทำให้เกิดความปรองดองทางการเมือง รวมถึงการนิรโทษกรรมจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับองค์พระมหากษัตริย์หรือสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่มีความเห็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ 

และหากมีกระบวนการนิรโทษกรรม (Amnesty Program) ก็จะมีโอกาสที่จะมีการปรับความเข้าใจให้ผู้กระทำความผิดได้ทบทวนการแสดงออกทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ส่วนข้อกังวลว่าหากนำฐานความผิดมาตรานี้รวมอยู่กับฐานความผิดอื่นจะทำให้เกิดแรงต่อต้านทางการเมือง การนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขโดยกำหนดเงื่อนไขในการพิจารณานิรโทษกรรมและมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำที่เหมาะสม เช่น การไม่กระทำผิดซ้ำภายในระยะเวลาที่กำหนดสามปีหรือห้าปีจะสามารถสร้างการยอมรับได้ แม้ปัจจุบันคดีทางการเมืองที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมและผู้ต้องหาที่ถูกจำคุกอาจมีจำนวนไม่มากนัก แต่เป็นคดีที่มีนัยสำคัญในแง่ของความขัดแย้งทางการเมือง การไม่นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้จะไม่ช่วยคลี่คลายกระแสความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันได้ 

ในทางกลับกัน หากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดอื่นทั้งหมดยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สังคมหรือประชาชนจะมีความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร และอาจจะก่อให้เกิดทัศนคติที่ไม่พึงประสงค์ต่อสถาบันมหากษัตริย์มากขึ้นก็ได้ ตนเข้าใจถึงความเห็นต่างในการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ไม่ควรมองว่าการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรานี้จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือทำลายระบอบการปกครอง เพราะเมื่อปี 2521 เคยมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้แล้วเช่นกัน

AMPP-กมธ-3

ในขณะที่ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ คนที่สาม หรือที่รู้จักกันในฐานะ อดีตผู้ดำเนินรายการ Voice TV ให้ความเห็นโดยสรุปว่าควรนิรโทษกรรมรวมมาตรา 112 แต่มีเงื่อนไข เนื่องจากชูวัสยืนยันหลักการสี่เรื่อง คือ 

1) ไม่ลดทอนหลักสิทธิเสรีภาพอันเป็นหัวใจของประชาธิปไตย ไม่ลดทอนความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์อันอยู่ร่วมกับระบอบประชาธิปไตย 

2) นอกจากต้องคำนึงถึงความมั่นคงของสถาบันแล้วยังต้องคำนึงถึงความสถาพรของสถาบันอีกด้วย 

3) ควรใช้หลักภราดรภาพ เอื้ออาทร ความเป็นพี่เป็นน้อง การให้โอกาสกัน ความเมตตา เพื่อให้ประเทศนี้เป็นพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ที่ผิดพลาดได้ปรับปรุงตนเอง

4) ยกระดับกระบวนการทางสังคมและการเมือง และป้องกันความขัดแย้งไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก หรือให้เกิดขึ้นได้ยาก 

สำหรับความเห็นต่อการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 เห็นว่าสามารถนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้โดยใช้วิธีการประนีประนอมหรือมีเงื่อนไขหรือใช้กระบวนการชะลอก็ได้ และยืนยันว่าการพิจารณาเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 แต่เป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้เท่านั้น

ม.ล. ศุภกิตต์ยืนยันนิรโทษกรรมรวม ม.112 ได้อย่างไม่ต้องมีเงื่อนไขใดๆ

AMPP-กมธ-4

หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ กรรมาธิการ ให้ความเห็นโดยสรุปว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญไม่ได้หน้าที่และอำนาจในการยกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแต่มีหน้าที่ทำรายงานการศึกษาประเด็นนี้อย่างรอบด้าน จึงไม่ใช่หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการวิสามัญในการยกเว้นการนิรโทษกรรมคดีความผิดใด จากการศึกษาเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2519 มีความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในช่วงเวลานั้น ได้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเพิ่มโทษมากขึ้นด้วย 

แต่ในปี 2521 ได้มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 กำหนดให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้กระทำความผิดกลับสู่สังคมและเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ จึงสามารถนำกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้มาประกอบการพิจารณาการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้

องค์ประกอบคณะกรรมการนิรโทษกรรม รมว.ยุติธรรมเป็นประธาน เกินครึ่งเป็นข้าราชการโดยตำแหน่ง

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สรุปว่าเห็นควรใช้การนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบผสมผสาน เนื่องจากในการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เริ่มศึกษาจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน จากนั้นได้กำหนด ช่วงเวลาในการนิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็น ช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองจำนวนมาก มีฐานความผิดที่หลากหลาย เพื่อให้การนิรโทษกรรมเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดที่การกระทำเกิดจากแรงจูงใจ ทางการเมืองอย่างแท้จริง โดยใช้กลไกสามส่วน คือ

1) กลไกที่ให้หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ศาล พนักงานอัยการ กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาหรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตามบัญชีฐานความผิดแนบท้ายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 

2) กลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมาย และประสงค์ใช้สิทธิให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของหน่วยราชการนั้น คือ ให้หน่วยงาน ราชการที่รับคำร้องมีอำนาจรับคำร้องและพิจารณาหรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เขาองค์ประกอบที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตามบัญชีฐานความผิดแนบท้ายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ให้แล้วเสร็จ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

(ก) หากคดีอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเจ้าของคดี ให้ยุติการสอบสวน

(ข) คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการยุติการดำเนินคดี คดีที่พนักงานอัยการส่งฟ้องแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ให้พนักงานอัยการถอนฟ้อง

(ค) กรณีที่จำเลยถูกฝากขังในเรือนจำ ให้ศาลพิจารณาออกหมายปล่อย

(ง) คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและผู้ต้องคดีเป็นนักโทษในเรือนจำ ให้ศาลพิจารณา ออกหมายปล่อย เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวนักโทษ

(จ) คดีถึงที่สุด ผู้เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดประสงค์ขอให้ลบล้างประวัติให้ยื่น คำร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ฉ) ให้หน่วยงานตามข้อ (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) จัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมตามข้อ (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) แล้วเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการ ไม่มีความเห็นแย้งภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือถือว่าคณะกรรมการเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมตามเสนอ

(ช) กรณีผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธไม่ดำเนินการ ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการนิรโทษกรรม

3) กลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมายขออุทธรณ์ คือ กรณีที่หน่วยราชการปฏิเสธ ไม่ให้สิทธินิรโทษกรรม

ทั้งนี้ ในชั้นพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการนิรโทษกรรม หากคณะกรรมการนิรโทษกรรม รับเรื่องไว้พิจารณากลั่นกรองแล้ว หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายที่มีคดีที่เข้าข่าย ตามกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี ให้หยุดการดำเนินคดีหรือการพิจารณาในคดีนั้นไว้ก่อน และศาลอาจใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวฃ

๐ องค์ประกอบของคณะกรรมการนิรโทษกรรมรูปแบบผสมผสาน มีดังนี้

(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ

(2) ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ

(3) กรรมการโดยตำแหน่ง 15 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อัยการสูงสุด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมบังคับคดี อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และนายกสภาทนายความ

(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ได้แก่ผู้ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกระบวนการยุติธรรม จำนวนด้านละหนึ่งคน โดยมาจากการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี

(5) กรรมการผู้แทนองค์กรภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม 3 คน ได้แก่ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับบริบททางการเมือง การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และความปรองดอง สมานฉันท์ ซึ่งเลือกกันเองจำนวน 3 คน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีประกาศ กำหนด

(6) ให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแต่งตั้งข้าราชการของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจำนวนไม่เกินสองคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

๐ คณะกรรมการนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) พิจารณารายงานคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมที่หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมเสนอ หากมีความเห็นแย้งให้ตอบกลับหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม ภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานนั้น

(2) พิจารณาอุทธรณ์กรณีผู้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณา ได้รับการปฏิเสธไม่ดำเนินการ ให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการนิรโทษกรรมมีผลผูกพันหน่วยราชการดังกล่าวให้พิจารณาการให้นิรโทษกรรม

(3) หยิบยกคดีที่ได้รับผลตามพระราชบัญญัตินี้แต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้หยิบยก ขึ้นมาพิจารณาเพื่อส่งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งกรณีที่ คณะกรรมการเห็นเองหรือกรณีที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้องร้องขอ

(4) พิจารณาชี้ขาดกรณีที่มีปัญหามาสู่คณะกรรมการว่าคดีใดได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ จากการเสนอของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการพบเห็นเอง

(5) จัดทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ และเผยแพร่ต่อสาธารณชน

(6) สื่อสารสร้างความเข้าใจสาธารณะเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดอง 

(7) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

(8) อำนาจหน้าที่อื่นใดเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ 

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ