ภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมากที่ความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน ประเด็นข้อถกเถียงทางการเมืองที่สำคัญ คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคดีความจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และประชาชนที่สนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นในช่วงที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีเต็ม ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นแกนนำเสนอร่างกฎหมายแล้วหนึ่งฉบับ ด้านพรรคก้าวไกลก็เสนอร่างกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของสองพรรคที่จุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน แต่มีจุดประสงค์ต้องการจะยุติคดีความทางการเมืองทำนองเดียวกัน ขณะที่คณะรัฐมนตรียังไม่เคยเสนอร่างของตัวเอง
ข้อถกเถียงสำคัญในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือ จะนิรโทษกรรมให้กับความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาใดบ้าง และจะนิรโทษกรรมให้กับคดีในข้อหาอะไรบ้าง ซึ่งประเด็นที่ความเห็นยังแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว คือ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กำลังมีคดีความดำเนินอยู่กว่า 300 คดี และเป็นข้อหาที่ทำให้คนติดคุกเป็นจำนวนมาก โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่นิรโทษกรรมให้คดีมาตรา 112 ขณะที่ในช่วง 20 ปีมานี้ คนจำนวนไม่น้อยที่ถูกดำเนินคดีและต้องถูกคุมขังด้วยมาตรานี้ก็เป็นผู้สนับสนุน สส. และคนทำงานในพรรคเพื่อไทยเอง พรรคแกนนำรัฐบาลจึงอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และไม่เร่งรัดที่จะดำเนินการใดๆ อย่างจริงจัง
วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ข้อสังเกตในรายงานการศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (กมธ.นิรโทษกรรมฯ) ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ไม่มีผลผูกพันต้องปฏิบัติตามข้อสังเกตในรายงานดังกล่าว แม้การลงมติ สส. ในวาระนี้ จะเป็นเพียงการพิจารณารายงานผลการศึกษาว่าจะดำเนินการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม อย่างไร และจะมีกระบวนการช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกกฎหมายอย่างไรบ้าง
ต่อมาภูมิธรรม เวชชยะชัย รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่ารัฐบาลเตรียมที่จะเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะไม่รวมฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเห็นว่าพรรคเพื่อไทยควรเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยในสมัยประชุมถัดไป ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นมาว่าแนวโน้มของสภาผู้แทนราษฎรเสียงส่วนใหญ่จะไม่ต้องการให้รวมคดีมาตรา 112 ให้ได้นิรโทษกรรมด้วย
ชวนสำรวจความคิดเห็นจากหลายมุม หลายฝ่ายว่า การนิรโทษกรรมที่รวมคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีปัญหาอย่างไร เหตุใดจึงถูกคัดค้าน และหากมีการนิรโทษกรรมที่ไม่รวมคดีเหล่านี้ด้วยจะส่งผลอย่างไรต่อไป
ควรรวมคดีมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรมด้วย
ความเห็นจากผู้มีประสบการณ์ในแวดวงการเมืองหลายคนมองว่า คดีความจากความขัดแย้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 ส่วนมากเป็นความผิดตามมาตรา 112 รวมไปถึงปัญหาของการใช้มาตรา 112 ที่ถูกมองว่านำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง และบางส่วนมองว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ด้วยความสุจริตใจไม่ใช่เรื่องที่ผิดในประเทศประชาธิปไตย
วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น อดีตแนวร่วมเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วีระได้ให้ความเห็นไว้ในรายการ “101 Policy Forum #20 หาทางออก ‘นิรโทษกรรม’ หาทางออกสังคมไทย” ว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดี 112 หลายคดีไม่เข้าองค์ประกอบความผิด แต่ถูกเหมารวม ตีความให้เข้าข่าย อยู่ในชั้นตำรวจตั้งข้อหา เป็นปัญหาที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติ ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
“ในความเห็นผม ผมก็เห็นด้วยนะว่าต้องเสนอ (นิรโทษกรรมแบบรวม 112) เพราะว่าทางฝ่ายนั้นยังกล้าเสนอนิรโทษกรรม แล้วทางฝ่ายประชาชนจะเสนอให้นิรโทษให้คนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาตรา 112 ก็เสนอเข้าไปได้นี่ครับ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร ฝ่ายที่เขาจะเสนอให้นิรโทษพวกที่ทุจริต เค้ายังเสนอเข้าได้เลยครับ… “
เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
เหวง กล่าวผ่านรายการ ”101 Policy Forum #20 หาทางออก ‘นิรโทษกรรม’ หาทางออกสังคมไทย“ เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รุ่งเรือง แต่กฎหมายดูหมิ่นกษัตริย์ในสมัยนั้นมีโทษจำคุกสูงสุดเพียง 3 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีโทษสูงสุด 7 ปี และในสมัยปรีดี พนมยงค์ หากการกระทำนั้นทำไปเพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็จะยกความผิด ส่วนกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดโทษขั้นสูงสุด 15 ปีนั้น เพิ่งมาจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจในสมัย 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นสมัยที่เกลียดและใส่ร้ายคนเห็นต่างว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และนับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเหตุการณ์ช่วงปี 2563 ฝ่ายขวาจัดก็ใช้มาตรานี้อย่างจ้าละหวั่น เพราะสามารถฟ้องโดยผู้ใดก็ได้
“น้องๆ หรือลูกหลานไม่เห็นมีใครบอกว่าจะเปลี่ยนระบอบ ไม่เห็นมีใครบอกว่าต้องการสร้างระบอบสาธารณรัฐ แต่ยังเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังเป็นประเทศไทยที่เป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวอันแบ่งแยกมิได้ แล้วทําไมคุณไปเกลียดชังพวกเขาเข้ากระดูกดํา”
“ถ้าคิดอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ ก็ควรนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วย แต่ผมดูแล้วความหวังริบหรี่เต็มแก่ แต่ถ้าไม่นิรโทษกรรมคดี 112 ความคุกรุ่นทางการเมืองก็จะไม่จบ กรุณาอย่าก่อกรณี 6 ตุลา ซ้ำเดิมอีกเลย”
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน อดีตทนายความคดีมาตรา 112 หลายคดี
ศศินันท์กล่าวผ่านรายการ ”101 Policy Forum #20 หาทางออก ‘นิรโทษกรรม’ หาทางออกสังคมไทย“ ว่า หากกระบวนการนิรโทษกรรมตัดความผิดมาตรา 112 ออกไป ก็เหมือนกับทิ้งการชุมนุมปี 63 ไปเกือบ 80-90 % เพราะว่าคดีตอนปี 2563 เป็นกลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่ที่ถูกฟ้องจากคดีมาตรา 112
”ถ้าคุณปัด 112 ทิ้ง มันคือการที่เราปัดคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นช่วงเวลาทางการเมืองช่วงหนึ่งคือหลังปี 63 ทิ้งไปเยอะมากเลยนะคะ เพราะ 112 มันจะไปแทรกอยู่แทบทุกคดีที่ทางตำรวจฟ้องมาเลย เพราะฉะนั้นแจมมองว่า ถ้าเราจะต้องการนิรโทษกรรมเพื่อคลายความขัดแย้งของสังคมจริงๆ เพื่อเป็นทางออกจริงๆ เนี่ย ถ้าคุณจะนิรโทษกรรมแค่คนบางคนกลุ่ม แล้วทิ้งคนอีกกลุ่ม แจมว่ายังไงมันก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาได้อยู่แล้ว”
อมร อมรรัตนานนท์ อดีตแนวร่วมเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
อมร กล่าวไว้ในเสวนานิรโทษกรรมว่า เขาค่อนข้างเห็นด้วยว่าการที่จะข้ามพ้นความขัดแย้งแล้วให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันได้กฎหมายนิรโทษกรรมมีความจำเป็นและเห็นด้วยกับแนวคิดของพรรคก้าวไกลที่จะให้มีคณะกรรมการมาคัดกรองว่าจะได้รับนิรโทษกรรมหรือไม่ แล้วเรื่องที่แกนนำจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ก็จะได้ถกเถียงกัน เพราะการฟันธงว่าจะให้นิรโทษกรรมใครบ้างก็จะเกิดจะเป็นปลายปิดแล้วเกิดปัญหาตามมา
“…แต่ในวันนี้ผมก็เห็นว่าปัญหา 112 เป็นปัญหาร่วมของสังคมที่ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหา ถ้าไม่คลี่คลายเยาวชนลูกหลานเราก็จะติดกับวังวนของความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นแนวคิดผมสนับสนุนว่าก่อนที่จะมีเนื้อหาก็มีกรรมการมานั่งคุยกัน แต่ปลายทางคือต้องปลดล็อกทางสังคมเพื่อที่จะเริ่มเดินหน้า”
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
ณัฐวุฒิ ให้ความเห็นไว้ในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอว่า “…ผมเห็นด้วยให้นิรโทษกรรมคดีที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 เพราะหากนิรโทษให้ทุกกลุ่มทุกฝ่าย แต่คงเหลือผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่ขณะนี้มีจำนวนไม่น้อยไว้ ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวเยาวชน สิ่งที่จะเกิดคือคู่เผชิญหน้าเดียวในสังคมในการเมือง คือ คนรุ่นใหม่กับประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าว และขณะนี้แต่ละคนที่โดนมา 20-30 คดี บางคนเกิน 50 คดี ประสบการณ์ผมสู้มาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันนี้คดีเก่ายังสู้ไม่จบและไม่รู้ไปจบเมื่อไร เด็กๆ วันนี้ที่โดน 40-50 คดีอาจจะต้องสู้คดีตั้งแต่อายุยี่สิบต้นๆ ยี่สิบกลางๆ จนถึงอายุ 60 ปี ในคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซ้ำไปเรื่อยๆ ผมว่าแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับใครฝ่ายไหนหรอก มิสู้ว่าให้นิรโทษกรรมรวมคดีมาตรา 112 ด้วย แล้วให้เริ่มต้นกันใหม่”
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.มุนินทร์ ให้ความเห็นไว้ในงานเสวนา “นิรโทษกรรมประชาชน: หนทางสู่ความปรองดอง หรือ ปมความขัดแย้งครั้งใหม่ว่า “โดยส่วนตัวในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ผมมองว่ากระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ค่อนข้างจะมีปัญหา มีคำถามมีข้อสงสัยเยอะมาก ต้องบอกอย่างงี้ว่าในความเห็นของผมในภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ปี ’49 มา มันมีกระบวนการยุติธรรมอยู่สองส่วน ซึ่งดูเหมือนกับว่ามันกลายเป็นสภาวะยกเว้นในกระบวนการยุติธรรมหรือระบบกฎหมายของไทยก็คือคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในช่วงเวลาที่มันมีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายฉุกเฉิน คดีเหล่านี้พอขึ้นไปสู่ศาลแล้วมันจะมีรูปแบบหรือกระบวนพิจารณาที่ค่อนข้างจะแปลกและก็ผิดปกติ … แต่ว่าพอเป็นคดี 112 มันมักจะมีความไม่ปกติในเกือบทุกกระบวนการของกฎหมาย มันสามารถมีคนหยิบยกคำถามขึ้นมาได้เสมอไม่ว่าจะเป็นการจับกุม การให้ประกันตัว การสืบพยานในศาล การตีความกฎหมายกว้างแคบแค่ไหน”
“แม้กระทั่งบางคดี 112 อาจจะมีเรื่องที่มันเกินเลยไปบ้าง แต่ถ้าเมื่อพิจารณาถึงบริบทในภาพรวมทั้งหมด ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมมันถึงเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นแล้วมันก็เข้าใจได้ว่าเราควรจะให้อภัยกับการกระทำทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไปด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องมานั่งแยกว่าเฮ้ยมันเกินไปมากเกินไปแค่ไหน”
สิรภพ อัตโตหิ ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง
สิรภพ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า “ที่ผ่านมาก็โดนคดีกันแบบไม่ชอบธรรมกันเยอะ ตั้งแต่ ม.112 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถ้าเกิดเอา wave 2563 เป็นต้นมา เราก็จะเห็นว่า การใช้กฎหมายมันก็โฟกัสที่ผู้ชุมนุมเป็นหลัก ถ้ามันได้รับการนิรโทษกรรม มันก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แล้วก็สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันควรจะไปถึงด้วยก็คือ มาตรา 112 เพราะว่าเราก็เห็นว่าจริงๆ แล้ว 112 ที่โดนกัน หนึ่งคือโทษร้ายแรง มันยังมีคำถามอยู่มากมายที่เกี่ยวกับกระบวนการฟ้อง กระบวนการการดำเนินคดี โทษต่างๆ อะไรอย่างนี้ การให้ประกันตัว และมันก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเยอะ ในการแบบที่ใครจะฟ้องใส่ใครก็ได้อะไรอย่างนี้ เราก็เลยรู้สึกว่า มันก็ควรจะถูกรวมอยู่ในการนิรโทษกรรม“
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และทนายความคดีมาตรา 112 หลายคดี
กฤษฎางค์ มองว่า ทัศนคติที่เห็นว่าหากให้นิรโทษกรรมแล้วก็จะไปทำผิดซ้ำอีกนั้น ไม่มีเหตุผล เพราะการนิรโทษกรรมเป็นการยกโทษให้กัน เพื่อให้สังคมสามัคคีมากขึ้น ในอดีตนักศึกษาในธรรมศาสตร์ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายมกุฎราชกุมาร ซึ่งถ้าเป็นจริงก็หนักหนาสาหัสกว่าคดีในปัจจุบัน แล้วทำไมถึงยังนิรโทษกรรมให้กันได้โดยที่ไม่กลัวว่าเขาจะกลับไปทำความผิดอีก แล้วคนที่ได้รับนิรโทษกรรมก็อยู่ในสภา หรือในคณะรัฐมนตรี
“การนิรโทษกรรมมาตรา 112 ไม่ใช่การแก้ไขมาตรา 112 มันเป็นคนละส่วนกัน ผมคิดว่าสถาบันกษัตริย์มีเมตตาอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าการแย่งกันแสดงความจงรักภักดีโดยไม่ให้รวมคดีในมาตรา 112 เป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย”
ผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร. เข็มทอง กล่าวในงานเสวนา “จับตานิรโทษกรรม ยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง” ว่า ในระยะยาว หากไม่ได้มีการวม ม.112 ไว้ในการนิรโทษกรรม ผู้คนก็จะเริ่มสูญเสียศรัทธาในกระบวนการประชาธิปไตยในระบบตัวแทน และมองว่านักการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามที่เคยหาเสียงเอาไว้ได้ คล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน และมองว่านักการเมืองไทยคือปัญหา แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ กลุ่มพันธมิตร สามารถต่อต้านรัฐบาลได้โดยที่มีอำนาจข้าราชการประจำหนุนหลัง ในขณะที่ม็อบปัจจุบันไม่มีเส้นสาย เข็มทองจึงให้คำนิยามถึงสภาวะนี้อย่างติดตลกว่า หากไม่มีการรวม 112 ไว้ในการนิรโทษกรรมก็อาจจะเกิดปรากฎการณ์สลิ่มที่น่าสงสารที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
“คือผมกังวลเรื่องนี้นะ เพราะว่าเรื่องการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งคือคนมันเริ่มรู้สึกว่า กระบวนการประชาธิปไตยมันไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง นิรโทษก็นิรโทษแบบหลอก ๆ แบบราชการ คือติดป้าย ยิงพลุหนึ่งทีว่านิรโทษ แต่ไม่รวม 112 เพราะงั้นวิธีเดียวที่จะรอดจากตรงนี้ ให้ประเทศรอดจริงๆ คือคุณต้องทำในสิ่งที่คนไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ ให้เป็นไปได้ คือนิรโทษ 112 ให้ดู อันนี้คือมันจะเปลี่ยนบรรยากาศไปอีกรอบเลย แสดงให้เห็นว่า รัฐไทยคุยได้ ยินดีที่จะต่อรอง ยินดีที่จะให้อภัย ยินดีที่จะเปลี่ยนทิศทาง ทำอะไรที่เป็นการปฏิรูป คือถ้าเป็นแบบนันมันก็จะเป็นอีกอย่างนึงเลย“
วรชัย เหมมะ อดีตสส. พรรคเพื่อไทยผู้เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในปี 2556 อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
วรชัย กล่าวในรายการ นิรโทษกรรมทางออกประเทศไทย? ทางช่อง Top News ว่า “…112 ต้องมีนิรโทษกรรมด้วย เราจะเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา ยุคไหนที่มีคดีมากที่สุด แล้วคนที่มีความคิดต่างกับรัฐบาลยุคนั้น ผิดนิดเดียวก็โดน 112 แล้ว เพราะง่าย ฐานความผิดอะไรบ้าง เข้าข่ายอะไรบ้าง เอาเลย 112 เพราะฉะนั้นคนเลยโดนคดีนี้เยอะ 112 อะ มันไม่เป็นธรรมเลย เพราะฉะนั้นในเมื่อเป็นอย่างนี้ ผมว่าถ้าไปพิจารณาแต่ละคดี แต่ละราย แต่ละฐานความผิด มันยาวไหม ความต้องการของเรา คือต้องการให้ประเทศสงบใช่ไหม เดินหน้าได้ใช่ไหม เอากันให้เป็นให้ตาย ผลที่สุดบ้านเมืองก็แย่อยู่อย่างนี้ นิรโทษกรรมเรื่องมูลเหตุแรงจูงใจ ผมว่ามันมาจากความคิดที่ต่าง เพราะฉะนั้นเนี่ย ต้องทำให้จบทีเดียว ถ้าไม่จบทีเดียวนะครับ มันก็ยาวไปอีก”
ไม่ควรรวมคดีมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม
พรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลเป็นกลุ่มหลักที่แสดงความคิดเห็นยืนยันว่าการนิรโทษกรรมต้องไม่รวมคดีมาตรา 112 เหตุผลหลักก็เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของประเทศชาติ และอาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงทางการเมือง โดยมองว่ามีความคิดเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับมาตรานี้ การนิรโทษกรรมจึงอาจจะเพิ่มความขัดแย้งมากกว่าลดความขัดแย้ง
คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ อดีตทนายความคดีมาตรา 112
คารม แสดงความเห็นส่วนตัวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยิ่งเป็นการบอกชัดว่าการละเมิดพระมหากษัตริย์ นั้น คือการเจตนากัดเซาะ บ่อนทำลายระบบการปกครองของประเทศไปด้วย ดังนั้น การละเมิดพระมหากษัตริย์จึงไม่อาจทำได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาหรือทางใด และไม่ต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองหรือทางใด ไม่อย่างนั้นทุกคนก็เอามูลเหตุจูงใจในทางการเมืองมาอ้างเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ การนำเอาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 หรือ 112 เข้ามาอยู่ในกฎหมายนิรโทษกรรมจึงทำไม่ได้ เพราะความผิดมาตรา 110 และ 112 ไม่เหมือนกับความผิดอาญาทั่วไป จะทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมโมฆะเพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 5 ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งจะทำให้ส่วนดีของกฎหมาย และเจตนาดีที่จะนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่มาชุมนุมตกไปไม่ได้รับประโยชน์ แทนที่จะได้ลดความขัดแย้งลง แต่จะเพิ่มความขัดแย้งเพราะนำมาตรา 110 และ 112 เข้าไปรวมด้วย
นพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย
นพดล ซึ่งเป็นหนึ่งในกมธ.นิรโทษกรรมฯ ได้อภิปรายถึงรายงานผลการศึกษาของกมธ. โดยให้ความเห็นส่วนตัวว่า มีบางเรื่องที่เรายังไม่ตกผลึก ยังไม่มีฉันทามติของสังคม ว่าความผิดบางมาตรานั้น ควรจะนิรโทษกรรมหรือไม่ พร้อมเห็นด้วยกับประธานกรรมาธิการว่า การนิรโทษกรรมจะต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ
นพดลแสดงจุดยืนของตนเองสามข้อชัดเจน คือ
1.การนิรโทษกรรมการกระทำความผิดอาญามาตรา 110 และ 112 นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
2.การกระทำความผิดมาตรา112 เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของชาติ
3.ในขณะนี้สังคมมีความเห็นที่หลากหลายแตกต่างกันค่อนข้างมาก ยังมีเวลาที่จะแสวงหาฉันทามติในประเด็นนี้ต่อไปได้อีก
“ผมเป็นคนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมไม่เห็นด้วยกับการรวมความผิดตามมาตรา 112 และมาตรา 110 เพื่อนิรโทษกรรม”
ธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
ธนกร อภิปรายถึงรายงานผลการศึกษาของกมธ.นิรโทษกรรมฯ ว่า “ไม่สมควรรวมคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง อีกทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ระบุไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระนามพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องการเมือง หากจะนิรโทษกรรมให้ก็เสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ”
ชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ชัยชนะ ได้ให้ความเห็นในการประชุมกมธ.นิรโทษกรรมว่า จะนิรโทษกรรมเฉพาะคดีชุมนุมทางการเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ส่วนของคดีที่มีการชุมนุมและกระทำความผิดตามมาตรา 112 นั้น ไม่รวมด้วย เพราะส่วนตัวมองว่าการเรียกร้องการชุมนุม หรือการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้นในการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ที่จาบจ้วงสถาบันจะให้นิรโทษกรรมไม่ได้
สนอง เทพอักษรณรงค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย
สนอง อภิปรายถึงรายงานผลการศึกษาของกมธ.นิรโทษกรรมว่า “…วันนี้ถ้าเราดึงสถาบันเข้ามาแล้วไปก้าวก่ายถึงพระองค์ท่าน ย้อนถามสักนิดท่านไปทําความเดือดร้อนอะไรให้พวกเรา มีใครได้รับผลกระทบจากการกระทําของสถาบัน ไม่มีครับ พระองค์ท่านมีแต่ให้ ชาติบ้านเมืองอยู่ได้ก็เพราะสิ่งนี้ แต่สุดท้ายในปัจจุบันนี้มีกลุ่มบุคคลที่พยายามจะปลูกฝังให้คนเห็นต่าง ให้คนเห็นความไม่สําคัญต่อสถาบัน ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วย ถ้าหากว่ารายงานฉบับนี้ผ่านไปถึงคณะรัฐมนตรี เสร็จแล้วจะมีการร่างกฎหมายออกมาโดยจะอ้างว่าเป็นมติของสภาที่ผ่านความเห็นชอบในการศึกษาจากรายงานนี้แล้ว แล้วจะให้มีการตราเป็นพระราชบัญญัติเพื่อนิรโทษกรรมในการกระทําที่ล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะมาตรา 110 มาตรา 112 ขอยืนยันต่อประธานและสมาชิกทุกท่านตลอดถึงพี่น้องประชาชนว่า คนของภูมิใจไทยเราจะไม่เป็นมิตรและเราจะไม่ยินยอมกับการกระทําในครั้งนี้ เรายืนยันเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าเราจะจงรักภักดีและปกป้องสถาบันให้ถึงที่สุด”
วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ และประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย
วิสุทธิ์ กล่าวว่า “…ไม่ว่าจะนิรโทษกรรมแบบไหน แต่ย้ำว่า เราจะไม่นิรโทษกรรมความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 โดยเด็ดขาด ขอให้ความมั่นใจกับประชาชน ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วยกับการแก้ไขร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ที่จะแก้ไขมาตรา 112 ส่วนที่มีข้อกล่าวหาว่า เราจะนิรโทษกรรมให้นั้นก็ไม่มีข้อเท็จจริง แต่หากเป็นคดีธรรมดา คดีการเมือง ที่เกิดขึ้นมาหลาย 10 ปี จากความขัดแย้ง จะอยู่ในข่ายที่เราพิจารณา อย่างไรก็ตาม ต้องมีการหารือกับสส.ในพรรค รวมถึงต้องปรึกษากับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และจะแก้ไขอย่างไรบ้าง…”
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 โดยมองว่าเรื่องการนิรโทษกรรมนั้นหากเป็นกรณีในความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น บางคนอาจไม่ได้มีส่วนร่วมแต่ถูกจับโยงเข้าไป รวมถึงการแสดงความเห็นต่างทางการเมือง ควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่ความผิดทางอาชญากรรม แต่หากเป็นการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยืนยันว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมในเรื่องดังกล่าว เพราะถือเป็นเจตจำนงตั้งแต่ต้นของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลมา ที่สำคัญเรื่องการกระทำผิดหรือคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่สังคมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็ไม่ควรจะหยิบมาเป็นประเด็น
พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ
พงศ์พล ให้สัมภาษณ์กับไทยโพสต์ว่า “ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เห็นด้วยที่จะรวมคดีอ่อนไหวทางการเมืองอย่าง ม.112, ม.110 ในการนิรโทษกรรม ด้วยเหตุผลหลักๆ ดังนี้
1. ปัญหาเชิงคุณภาพ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตั้งต้น ที่จะต้องการสร้างความปรองดองสังคม เพราะอาจเป็นการสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่
2. ปัญหาเชิงปริมาณ ในแง่ของจำนวนคดีม.112 คิดเป็นจำนวนน้อย ไม่ถึง 2% เทียบกับคดีทั้งหมด แต่อาจทำให้การนิรโทษกรรมคดีที่เหลือ 98% มีปัญหาได้
3. กระทำผิดซ้ำ มีโอกาสในการกระทำผิดซ้ำสูง หลังการได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมถอย
4. คดีลักษณะเฉพาะ คดีม.112, 110 เป็นคดีลักษณะเฉพาะพิเศษ ไม่สามารถแก้โดยนิรโทษกรรมได้ คล้ายกับความผิดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คดีม.135 ควรให้เป็นการพระราชทานอภัยโทษเป็นรายกรณีไป คณะกรรมาธิการฯ ศึกษาแนวทางทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ได้มีมติสุดท้าย ใช้กระบวนการผสมผสานนิรโทษกรรมโดยกรอบกฎหมาย ร่วมกับการมีคณะกรรมการ คอยวินิจฉัยและอุทธรณ์”
ทางเลือกอื่นสำหรับคดีมาตรา 112 ในการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม
นอกจากความเห็นสองฝ่ายที่ “ต้องรวม” และ “ต้องไม่รวม” คดีมาตรา 112 ในการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว ยังมีคนที่พยายามเสนอทางเลือกอื่นๆ ที่จะยุติการดำเนินคดี เช่น การขอพระราชทานอภัยโทษ หรือการจำแนกประเภทของการกระทำ หรือรูปแบบของคดี หรือการหากลไกป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น
สมคิด เลิศไพทูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมคิด กล่าวใน การเสวนาทางออกในการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ และปัญหาพ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับมาตรา 112 ที่จัดโดยพรรคไทยสร้างไทย ว่า “คนธรรมดาถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาทไม่ได้ พระมหากษัตริย์จะถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาทได้ยังไง เพราะฉะนั้นใครที่กระทำความผิดเรื่องนี้โดยตรงก็ต้องรับผิดชอบ ส่วนใครที่ถูกกลั่นแกล้งหรือมีปัญหา อันนี้ก็ต้องช่วยเขาหน่อย และวิธีช่วยก็ต้องเหมาะสม”
สมคิดเสนอว่า หากนิรโทษกรรมก็สามารถทำได้ แต่การขอพระราชทานอภัยดูจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด พร้อมอธิบายว่าในระบบกฎหมายไทยก็เคยมีการให้อภัยมาก่อน เช่น กรณีโอลิเวอร์ จูเฟอร์ หรือ กรณีสุชาติ นาคบางไทร ดังนั้น การขอพระราชทานอภัยก็ดูจะเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สาทิตย์ กล่าวในรายการ นิรโทษกรรมทางออกประเทศไทย? ทางช่อง Top News ”เวลาเราพูดถึงเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม มันมักจะทำกับเหตุการณ์ที่เมื่อนิรโทษกรรมไปแล้ว ทำให้เกิดความปรองดองแล้วจบ แต่ถ้า 112 เราตีขลุมรวมไปหมด ยกให้คนที่มีความจงใจอาฆาตมาดร้าย เช่น กระทำผิดซ้ำ 20 ครั้ง มันไม่จบนะครับ เพราะฉะนั้น มันตีขลุมรวมไม่ได้ ผมจึงเสนอว่า รัฐบาลจะต้องมีกลไกแยกแยะก่อน (แยะแยะผู้ที่จงใจอาฆาตมาดร้าย กับผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง) แยกแยะแล้ว มาว่ากันในตัวกฎหมาย ผมไม่ปิดประตู 100% อันนี้เป็นความคิดที่เกิดจากการคุยกับหลายๆ คน แต่ถ้าประเภทจงใจอาฆาตมาดร้าย กระทำซ้ำ อันนี้ผมก็ไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรม“
ประพันธ์ คูณมี อดีตแกนนำแนวร่วมเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ประพันธ์ กล่าวในรายการ นิรโทษกรรมทางออกประเทศไทย? ทางช่อง Top News ว่า “ประเด็นความผิดเกี่ยวกับ 112 มันเป็นประเด็นเรื่องการกระทำผิดต่อบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นประมุข หรืออยู่ในสถานะที่มีกฎหมายคุ้มครอง เพราะฉะนั้นมันสามารถที่จะแยกออกจากการชุมนุมทางการเมืองได้ และโดยพระราชประเพณีการปกครองของประเทศไทย ส่วนใหญ่เรื่องทำนองนี้ เขาจะไปใช้ช่องทางเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะฉะนั้นใครที่กระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องอย่างนี้ แล้วสำนึกในการกระทำความผิด ขอพระราชทานอภัยโทษ ท่านก็จะทรงพระกรุณาให้พระราชทานอภัยโทษแทบทุกรายเท่าที่ผมศึกษามา…“
จตุพร พรหมพันธ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
จตุพร พรหมพันธ์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว TODAY ว่า “คดีนี้เป็นคดีการเมืองใช่ไหม แล้วอะไรเป็นอุปสรรคกับการเดินหน้าคดีการเมืองที่ทำให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไปต่อไม่ได้ ตอนนี้ที่ สว. ออกมาแสดงออกคือ เรื่องมาตรา 112 ดังนั้น ถ้าเป็นอุปสรรคก็แยกออกเป็นสอง พ.ร.บ. ไหม มาดูว่าคดีการเมืองเฉพาะที่ไม่มี 112 จะเอายังไงกัน ผมว่าอันนี้มันไปต่อได้ ถ้าเรายอมรับว่าเป็นคดีการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่งั้นก็ติดขัดกันไปหมด”
“อะไรเป็นอุปสรรคก็เอาออกมาก่อน แยกเป็นอีก พ.ร.บ. แต่เราจะยอมรับว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีการเมืองหรือไม่ ก็เถียงกันอีกยาว ผมเห็นด้วยนะว่าต้องมีการอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม แต่ในเมื่อมันเป็นอุปสรรคอยู่ก็แยกออกมาก่อน เอากันทีละตอน เหมือนที่คุณทักษิณแยกตัวเองออกมาก่อน เป็นต้น แต่ไม่ได้บอกให้ทิ้งคดี 112 นะ”
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข กมธ.นิรโทษกรรมฯ
ชูวัส กล่าวในงานเสวนา “เส้นทางนิรโทษกรรมทางการเมืองและคดีมาตรา 112” ว่า การหารือกันในชั้น กมธ. ไม่ได้มีข้อสรุปว่าการนิรโทษกรรมควรรวมมาตรา 112 หรือไม่ แต่ก็มีการบันทึกความเห็นของ กมธ. แต่ละคนอย่างเต็มที่ โดยความเห็นส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมรวมคดี 112 แบบมีเงื่อนไข สำหรับเหตุผลที่เขามองว่าควรจะรวมคดี 112 แบบมีเงื่อนไขก็เพราะว่าดูเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด บวกกับกังวลด้วยว่าถ้าเสนอแบบไม่มีเงื่อนไขก็อาจไม่ผ่าน หากเป็นเช่นนั้นจะไม่มีใครได้ประโยชน์เลย และถ้านิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีมาตรา112 ก็จะกลายเป็นการ “ปิดจ๊อบ” ให้เฉพาะกลุ่มที่เป็นคนสร้างเงื่อนไขให้นำไปสู่การรัฐประหารให้ได้รับการนิรโทษกรรมแต่เพียงฝ่ายเดียว
ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ยุทธพร ให้สัมภาษณ์กับไทยโพสต์ว่า ”วันนี้ หากเราจะพูดกันถึงเรื่องคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 หรือคดีที่เป็นความผิดต่อเสรีภาพ คดีที่เป็นความผิดต่อร่างกาย ก็ควรต้องมีเงื่อนไขในการให้มีการพูดคุยกันก่อน เพื่อให้สังคมได้ตกผลึก ไม่ใช่บอกว่าให้นิรโทษกรรมทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งมันก็ไม่ได้ เพราะมันก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ซับซ้อนตามมาอีก ดังนั้น ก็ต้องมีการพูดคุย โดยอาจจะให้มีการนิรโทษกรรมในเรื่องอื่นๆ ก่อนในคดีหลัก คดีรอง หรือคดีที่สังคมตกผลึกไปแล้วเดินหน้าไป แต่คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อาจต้องมีเงื่อนไข เช่นอาจให้มีเวทีพูดคุยกัน โดยอาจมีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ อาจต้องมีการหารือแนวทางให้มันตกผลึกก่อน ที่เป็นสิ่งที่เรียกว่าการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข“
สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
สติธรให้สัมภาษณ์กับพีพีทีวี มองว่าต้องแบ่งการนิรโทษกรรมในคดีความผิดทางการเมืองออกเป็นสองช่วงเวลา ถ้าจะให้เดินหน้าต่อไปโดยที่ไม่ต้องรอกันก็คือตัดช่วงเวลาอย่างเช่น คดีทางการเมืองที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 อาจจะใช้แนวทางที่ไม่ไปรวมกับ ม.112 แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ต้องมาคิดว่าเรื่อง 112 จะมีเงื่อนไขหรือไม่ และต้องมีการพิสูจน์กัน โดยเฉพาะหลังเลือกตั้งปี 62 ที่มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวนมาก ซึ่งควรจะมีคณะกรรมการแยกแยะเจตนาของการกระทำ มองว่าหากจะนิรโทษกรรมแบบเหมารวมทั้งหมด ถือว่าเป็นเรื่องลำบาก เพราะวันนี้ที่ติดกับการนำเสนอช่วงสองเวลารวมกัน ส่วนพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะเป็นทางออกของความขัดแย้ง ถ้าเก็บประเด็นที่อ่อนไหว และยังมีความเห็นไม่ตรงกันออกมาก่อน ส่วนคดีความที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของผู้ที่ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ควรจะสะสางได้แล้ว