นิรโทษกรรมประชาชนจะแก้ไขปัญหาทางนิติศาสตร์และรอยตำหนิของกระบวนการยุติธรรมใน 2 ทศวรรษ  

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.30 น. ในงานเสวนา “นิรโทษกรรมประชาชน: หนทางสู่ความปรองดอง หรือ ปมความขัดแย้งครั้งใหม่ ?” รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นเรื่องการนิรโทษกรรมโดยสรุปแล้วเขามองว่า การนิรโทษกรรมเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทย การอภัยโทษและการนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่มีกรอบคิดเดียวกันคือ การให้อภัยและการให้โอกาสคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง การนิรโทษกรรมตามหลักนิติศาสตร์มีความชอบธรรมตามกฎหมาย ไม่ได้มีข้อเสียใดทั้งสิ้น  เป้าหมายวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจะแก้ไขปัญหาในทางนิติศาสตร์  รอยตำหนิที่อยู่บนคดีความและกระบวนการยุติธรรมในช่วงที่ผ่านมา

นิรโทษกรรมเป็นกระบวนการชอบธรรมและเป็นเรื่องปกติ

รศ.ดร.มุนินทร์เริ่มด้วยการอธิบายในเรื่องพื้นที่การเสนอกฎหมายและการใช้สภาเป็นพื้นที่ถกเถียงว่า “ถ้าเรายังเชื่อว่าสังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแล้วเราก็ได้เลือกผู้แทนของพวกเราเข้าไปแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนในสภาเพราะฉะนั้นการยุติความขัดแย้งในทางการเมืองหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายก็ควรจะให้ประชาชนเป็นคนที่ตัดสินใจบนพื้นฐานของการได้พูดคุยกัน ผมคิดว่าสิ่งที่มีการเสนอในร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับประชาชนอาจจะไม่มีคนเห็นด้วยทั้งหมด แต่ว่าการที่มันได้เข้าไปในสภาก็จะเป็นโอกาสที่ผู้แทนประชาชนจะได้มีการพูดคุยกันนั่นคือเวทีที่ดีที่สุดในการที่จะได้หาทางออกร่วมกัน”

“ถ้ามองจากกฎหมายการให้อภัยกับคนที่กระทำความผิด จริงๆแล้วมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว นั่นอาจจะเป็นอีกคอนเซ็ปต์หนึ่งก็คือคอนเซ็ปต์ของการพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งก็จะมีคนที่ได้รับการให้อภัย ได้รับโอกาส มีการยุติการลงโทษ มีการลดโทษทำให้คนเหล่านั้นไม่ต้องรับโทษ…ส่วนการนิรโทษกรรมมันอาจจะเป็นเรื่องซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เราก็เคยทำมาก่อนแต่คอนเซ็ปต์ก็คือคอนเซ็ปต์เดียวกันคือ อยู่บนพื้นฐานของการที่เราให้อภัยให้โอกาสคนที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีโดยถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมายหรือว่าเป็นการดำเนินคดีที่ไม่ถูกต้อง ที่ไม่ชอบธรรมหรือมันมีปัญหาอะไรทางกฎหมาย”

“คำถามคือมันมีความชอบธรรมไหมในทางกฎหมายที่จะให้อภัยในรูปของการนิรโทษกรรม คำตอบคือมันมีแน่นอน ในทางนิติศาสตร์ ถ้าประชาชนก็คือผู้แทนประชาชนตัดสินใจว่ามันถึงเวลาที่จะนิรโทษกรรม การออก พ.ร.บ.มันก็มีความชอบธรรมในเชิงรูปแบบของนิติศาสตร์อยู่แล้ว ผมก็ยืนยันว่า การให้อภัยมันไม่มีข้อเสียอะไรทั้งสิ้น มันมีแต่ข้อดีอย่างที่ผมบอกว่าต่อให้เราไม่นิรโทษกรรม กลุ่มคนเยอะขนาดนี้หรือช่วงเวลากว้างขนาดนี้มันต้องมีการพระราชทานอภัยโทษอยู่แล้วเพราะฉะนั้นมันไม่มีปัญหาอะไรในทางกฎหมาย… มันไม่มีปัญหาอะไรในทางเทคนิคในทางนิติศาสตร์เลย”

นิรโทษกรรมประชาชนจะแก้ไขตำหนิในอดีตของกระบวนการยุติธรรม

“ในทางกลับกันผมกลับมองว่า เป้าหมายวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายฉบับนี้มันไปแก้ไขปัญหาในทางนิติศาสตร์  ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีการประณามโดยตรงในตัวร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ว่าผมเชื่อว่านักกฎหมายทุกคน หรือเกือบทุกคนในเวลานี้ เราไม่กล้าพูดว่าทุกคน ต้องบอกว่านักกฎหมายส่วนใหญ่ผมก็เชื่อว่าคนที่ได้เรียนตำราเดียวกันในคณะนิติศาสตร์ เราก็ใช้ตำราเดียวกันหลักการเดียวกันซึ่งเราก็เรียนเป็นหลักการต่างประเทศ ผมคิดว่าเราทุกคนก็ทราบดีว่าตั้งแต่มีการปฏิวัติเมื่อปี 2549 มันมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายมาตลอด มันมีปัญหาในเรื่องของการดำเนินคดีกับคนที่เป็นเหยื่อตั้งแต่นักการเมือง ประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง ประชาชนที่ออกมาต่อสู้ ซึ่งถึงแม้ว่าคนเหล่านั้นจะกระทำความผิดตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เขียนไว้ แต่ว่าในหลายกรณีกระบวนการในการดำเนินคดีกระบวนการในการพิสูจน์ความผิดมันก็มีปัญหา”

“ผมยกตัวอย่างเช่นเอาตัวอย่างที่คลาสสิกที่สุด นักการเมืองอย่างเช่นกรณี…หยิบยกเคสที่เห็นชัดที่สุดคือคุณทักษิณก็ถูกกล่าวหาเยอะแยะเป็นคดีความบางคดีก็ถูกตัดสินไปแล้ว บางคดีก็ยังอยู่ในระหว่างการที่จะตัดสิน ถ้าถามในมุมมองนักกฎหมาย แน่นอนเขาสามารถชี้ได้หมดว่าการกระทำความผิด มันเป็นการกระทำความผิดตามมาตราไหนบ้าง กฎหมายไหนบ้างแต่คำถามคือมันไม่ใช่แค่บอกว่าคนนี้กระทำความผิดตามมาตราไหน แต่กระบวนการในการพิสูจน์ความผิดมันต้องมีความชอบธรรมด้วย คำถามคือกระบวนการยุติธรรมเราได้ให้โอกาสคนที่ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ความผิดอย่างเต็มที่ไหม หมายความว่าเขาสามารถที่จะนำเสนอพยานหลักฐานได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลของฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า อันนี้คือปัญหาหรือคำถาม”

“ไม่ต้องนับถึงคนเล็กคนน้อยประชาชนทั่วไปที่ออกมาเรียกร้องมาชุมนุมหลายคนก็ถูกดำเนินคดีภายใต้ประกาศหรือข้อกำหนดที่ออกโดยคณะปฏิวัติในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งนักกฎหมายก็รู้กันอยู่ดีว่าไอ้กฎเกณฑ์เหล่านั้นเนี่ยมันเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ชอบธรรมภายใต้กฎหมาย เพราะว่าอะไรก็ตามที่ออกมาจากคำสั่งของคณะปฏิวัติ มันไม่มีความชอบธรรมในทางนิติศาสตร์อยู่แล้วเพราะว่ามันไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ เพราะฉะนั้นแล้วหลายคดีปัญหามันก็มีปัญหาตั้งแต่กฎเกณฑ์เลย แต่ว่ากฎเกณฑ์ที่ออกมาโดยคณะปฏิวัติ คณะรัฐประหาร มันเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่มีความชอบธรรมไม่สามารถใช้เป็นฐานกฎหมายในการดำเนินคดีกับบุคคลใด”

ประเด็นนี้เขากล่าวว่า ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีพรรคการเมืองยื่นร่างกฎหมายยกเลิกประกาศคำสั่งคสช. แสดงให้เห็นว่า นักการเมืองก็ยอมรับว่า ประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารมีปัญหา “มีคนอีกจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีหรือรับโทษไปแล้วจนกระทั่งพ้นโทษไปแล้ว แต่ว่าตราบาปที่เกิดขึ้นกับเขาผลกระทบที่เกิดกับพวกเขามันมันยากที่จะ…เรียกว่ามันไม่มีทางจะฟื้นคืนความเป็นธรรมให้คนเหล่านั้นได้จากการที่ถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายที่มันไม่ชอบธรรม หรือกระบวนการที่มันมีปัญหา”

คดี 112 ปัญหาข้อสงสัยและสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย

ต่อเรื่องมาตรา 112  เขาระบุว่า “จริงอยู่ว่ามาตรานี้กฎหมายนี้ มันเป็นกฎหมายที่มีอยู่มาตั้งแต่เดิม ผมเห็นด้วยว่าเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งนำมาสู่การดำเนินคดีในแต่ละช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2549  มันเป็นเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กัน มันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน นั่นคือมันมีเหตุการณ์ก่อนหน้ามันทำให้เกิดเหตุการณ์ต่อมาใช่ไหม เกิดการรัฐประหารเมื่อปี ’49 มีการประกาศใช้กฎเกณฑ์ซึ่งมันไม่ชอบธรรมเป็นทางกฎหมาย มีคนต่อต้าน มีการเลือกตั้ง มีการปฏิวัติอีกมีการร่างรัฐธรรมนูญ มีคนต่อต้านแล้วก็มีการออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งมันสืบเนื่องกันมาหมด มันเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาหมด เพราะฉะนั้นถ้าเกิดถามว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ในช่วงเวลาที่ผ่านมาถ้าหยิบมาแค่สัก 3 ปี 4 ปีที่ผ่านมามันเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ก่อนหน้าเพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าโดยหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้มันเป็นหลักการที่ถูกต้องแล้วที่เราจะพิจารณาการกระทำที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี ’49 เป็นต้นมา มันมีความเชื่อมโยงแล้วก็สัมพันธ์กันหมด”

“โดยส่วนตัวในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ผมมองว่ากระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ค่อนข้างจะมีปัญหา มีคำถามมีข้อสงสัยเยอะมาก ต้องบอกอย่างงี้ว่าในความเห็นของผมในภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ปี ’49 มา มันมีกระบวนการยุติธรรมอยู่สองส่วน ซึ่งถ้ายืมคำอาจารย์ธงชัยที่ใช้อยู่บ่อยๆในช่วงหลังก็คือสภาวะยกเว้นในทางนิติศาสตร์ มันมีอยู่สองเรื่อง ซึ่งดูเหมือนกับว่ามันกลายเป็นสภาวะยกเว้นในกระบวนการยุติธรรมหรือระบบกฎหมายของไทยก็คือคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในช่วงเวลาที่มันมีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายฉุกเฉิน คดีเหล่านี้พอขึ้นไปสู่ศาลแล้วมันจะมีรูปแบบหรือกระบวนพิจารณาที่ค่อนข้างจะแปลกและก็ผิดปกติ แล้วก็มีแนวโน้มที่ว่าประชาชนมักจะมีโอกาสน้อยมากที่จะชนะคดีและส่วนใหญ่ก็จะแพ้ พอเป็นเรื่องความมั่นคงมันจะมีความรู้สึกหวั่นเกรง แม้กระทั่งในหมู่ของคนที่พิทักษ์รักษากฎหมายมันเลยทำให้กระบวนการมันดูแปลกหรือผิดปกติไปจากกระบวนการปกติ”

“ในมุมมองของผมมองว่า ในช่วงเวลาแบบนั้นจริงๆแล้วคนในกระบวนการยุติธรรมควรจะต้องเป็นเสาเป็นหลักให้ให้ประชาชนซึ่งหวาดกลัวอยู่แล้วกับการใช้อำนาจรัฐการใช้ความรุนแรง กระบวนการยุติธรรมผู้พิพากษา อัยการควรจะเป็นเสาหลักที่มั่นคงให้กับประชาชนไม่ควรจะโอนอ่อนไปตามอำนาจต่างๆ …เราเห็นได้ชัดว่าคดีอะไรที่เกี่ยวกับเกี่ยวเนื่องกับการใช้อำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกฎหมายความมั่นคงมันจะมีข้อสงสัยว่าจะมีคำถามเกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย จะมีข้อโต้แย้งจากประชาชนที่ถูกดำเนินคดีต่างๆ หรือว่าจากทนายความที่ปกป้องสิทธิต่างๆ ก็มีข้อร้องเรียนมีคำถามเยอะแยะมากมายนั่นคือข้อยกเว้นประการที่หนึ่ง”

“ข้อยกเว้นประการที่สอง เห็นได้ชัดยิ่งกว่าก็คือกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องมาตรา 112 เห็นได้ชัดเจนว่ามันเกิดปัญหาเกิดข้อโต้แย้งในคดีส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนพิจารณา หรือบางกรณีก็มีกรณีที่ผู้บริหารศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วมันจะมีการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือคำสั่งหรือการดำเนินการที่แปลกๆที่เกิดขึ้นทำให้เราแบบเฮ้ย สงสัยว่า ทำไมมันไม่ดำเนินการไปตามหลักการของกฎหมายหรือกระบวนการปกติเหมือนที่เราคุ้นเคย ถ้าเกิดเราไปดูคดีอาญาที่เป็นคดีฆ่าคนตาย เราเทียบกันได้ในข่าวคนนั้นคนนี้ถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนตาย กระบวนการในการพิจารณาในศาล มันก็เป็นเรื่องที่ปกติมากถูกตั้งข้อหาถูกส่งตัวไปฟ้องศาลแล้วก็ขอประกันตัวก็ได้รับการประกันตัว มันเป็นกระบวนการที่มันตรงไปตรงมา ที่เราเห็นแล้วมันก็ปกติดีไม่ว่าคดีนี้จะเป็นคดีกระทำความผิดอาญาร้ายแรงขนาดไหน”

“แต่ว่าพอเป็นคดี 112 มันมักจะมีความไม่ปกติในเกือบทุกกระบวนการของกฎหมาย มันสามารถมีคนหยิบยกคำถามขึ้นมาได้เสมอไม่ว่าจะเป็นการจับกุม การให้ประกันตัว การสืบพยานในศาล การตีความกฎหมายกว้างแคบแค่ไหน…ผมเชื่อว่าหลายคนที่เป็นนักกฎหมายก็มองคล้ายๆกันว่ามันกลายเป็นข้อยกเว้นในทางนิติศาสตร์คือมันกลายเป็นคดีนโยบาย เป็นคดีพิเศษที่ศาลหรือคนในกระบวนการยุติธรรมจะปฏิบัติกันด้วยความระมัดระวังและอาจจะมีแนวปฏิบัติที่มันอาจจะแตกต่างจากคดีอื่นๆ ซึ่งคำถามคือทำไมต้องปฏิบัติแตกต่างจากคดีอื่นๆแล้วการปฏิบัติจากคดีอื่นๆเนี่ย มันทำให้สิทธิคนที่ถูกกล่าวหามันได้รับตามที่รัฐธรรมนูญให้อย่างครบถ้วนหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องเป็นคำถาม”

นิรโทษกรรมแล้วยังต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย ทบทวนเรื่องมาตรา 112 

“ผมคิดว่า ปัญหาต่างๆก็มันแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรม ของนิติศาสตร์ไทยเพราะฉะนั้นไม่ว่า ต้องบอกว่า ต้องยอมรับว่าในบรรดาคดีจำนวนมาก  ผมต้องพูดอย่างนี้ก่อนว่าไม่ได้บอกว่าทุกคนได้รับการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดต้องพูดอย่างนี้คือผมไม่อยากจะพูดในลักษณะที่มันเรียกว่า Absolute เกินไปหรือว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ มันเป็นความผิดพลาดของรัฐ มันเป็นความผิดพลาดของระบบกฎหมาย แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้แม้กระทั่งบางคดี 112 อาจจะมีเรื่องที่มันเกินเลยไปบ้าง แต่ถ้าเมื่อพิจารณาถึงบริบทในภาพรวมทั้งหมด ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมมันถึงเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นแล้วมันก็เข้าใจได้ว่าเราควรจะให้อภัยกับการกระทำทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไปด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องมานั่งแยกว่าเฮ้ยมันเกินไปมากเกินไปแค่ไหน ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า มันเป็นการกระทำที่เข้าใจได้มันมีสาเหตุของมัน ทำให้เกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์กันแบบนี้”

“แต่ว่าในภาพรวมผมคิดว่า คดีส่วนใหญ่มันมีปัญหามีข้อตำหนิในทางกฎหมายที่ควรจะได้รับ [สิ่งที่]เรียกว่า เรามาเริ่มต้นกันใหม่ เราให้อภัยกันไป ผมคิดว่ามันมีความชอบธรรมในแง่ทางนิติศาสตร์ที่เราจะกลับไปแก้ไขข้อผิดพลาด ปัญหาข้อสงสัยคำถามที่เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินคดีการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละคดีที่เป็นคดีทางการเมืองที่ถูกระบุอยู่ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ผมยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรทางกฎหมายและมันจะมีคุณประโยชน์ในทางกฎหมายในการเข้าไปแก้ไขความผิดปกติทั้งหลายในกระบวนการยุติธรรมแล้วก็ในระบบกฎหมายในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมา…มันเหลืออย่างเดียวก็คือว่ามันเป็นเรื่องของการตัดสินใจทางการเมือง”

รศ.ดร.มุนินทร์มองว่า “การเงียบไม่ได้หมายความว่า คนจะรู้สึกลืมไปแล้วว่า มันเคยเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ผมเชื่อว่ามันแค่รอเวลาที่จะปะทุขึ้นมาอีก ถ้าเกิดรัฐไม่จริงใจที่จะหาวิธีการในการที่จะจัดการต้นตอของปัญหา ผมคิดว่า การนิรโทษกรรมมันคือจุดเริ่มต้น ผมไม่ได้คิดว่า คือจุดสุดท้าย จุดสิ้นสุดของการที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและพยายามแก้ปัญหาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าพูดเฉพาะคดี 112 ซึ่งถือว่า เป็นเรื่อง sensitive ที่สุดในความรู้สึกของหลายๆคนหรือความรู้สึกของนักการเมืองในเวลานี้ ผมไม่คิดว่า ไม่ใช่แค่ว่า เรานิรโทษกรรมให้แก่คนที่ถูกกล่าวหาในคดี 112 อย่างเดียวแต่เมื่อมันทำสำเร็จแล้วมันต้องมาคุยต่อไปอีกว่าเราจะอยู่ร่วมกันยังไงภายใต้กฎหมายนี้” เขามองว่า ต้องมาสร้างเวทีที่ปลอดภัยเหมือนกับที่นักการเมืองเคยพูดเมื่อสองสามปีที่แล้วว่า อยากจะสร้างเวทีที่ปลอดภัย ใช้เวทีสภามาพูดคุยกันเรื่องนี้ อยากให้ทำเรื่องนี้แล้วก็คิดถึงว่า มาตรา 112 มันควรจะทบทวนหรือแก้อะไรไหม ไม่เช่นนั้นแล้วมันก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป ไม่มีวันจบสิ้นก็อยากจะฝากไว้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเวทีที่ปลอดภัยและความรู้สึกที่ดีต่อกัน