ส่งกำลังใจ กมธ.นิรโทษกรรมฯ ก่อนสภาโหวตรับหรือไม่รับรายงาน

24 ตุลาคม 2567 เวลา 09.30 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเข้าไปยื่นหนังสือต่อตัวแทนของประธานสภาผู้แทนราษฎร และตัวแทนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (กมธ.นิรโทษกรรมฯ) ณ รัฐสภา (เกียกกาย) เพื่อขอให้รัฐสภารับรองรายงานการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และดำเนินกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยเร็ว เนื่องจากวันนี้ในช่วงบ่ายมีกำหนดนัดลงมติเรื่องดังกล่าว

พูนสุข พูนสุขเจริญ จากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน อธิบายถึงสาเหตุที่มายื่นหนังสือในวันนี้ว่า ทางเครือข่ายภาคประชาชนขอสนับสนุน และเป็นกำลังใจให้ สภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ผลักดันการนิรโทษกรรมจากทุกฝ่าย ทุกประเภทคดี เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง และขอเร่งให้มีการรับรายงานแนวการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ส่งต่อไปยังรัฐบาล และผลักดันให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมโดยเร็ว

การนิรโทษกรรมจะเป็นเพียงการแก้ไขเหตุการณ์ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าคลี่คลายความขัดแย้ง ไม่ใช่การแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 การนิรโทษกรรมจึงไม่ได้กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในทางตรงกันข้าม การนิรโทษกรรม จะเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทของประเทศไทย ในการได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) 

สภาผู้แทนราษฎร จะเป็นพื้นที่สุดท้ายในการให้สังคมไทยได้ถกเถียง แก้ไขปัญหา และหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ การนิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีมาตรา 112 เข้ามาด้วย จะเป็นการเลือกปฏิบัติ และทำให้ปัญหาดังกล่าวแก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น 

ส่งกำลังใจ กมธ.นิรโทษกรรมฯ ก่อนสภาโหวตรับหรือไม่รับรายงาน


ณธกร นิธิศจรูญเดช เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์สาธารณะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ HRC ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้ประเทศไทยต้องรักษามาตรฐานสิทธิมนุษยชนภายในประเทศด้วย แต่ไทยยังถูกตั้งคำถามในประเด็นการใช้มาตรา112 และไทยยังได้ให้คำมั่นสัญญาจะส่งเสริมความเสมอภาค ความเท่าเทียม ความยุติธรรมทางสังคม หากสภาผู้แทนราษฎรรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จะตอบคำถามได้และเป็นผลดีต่อสถานะของไทยและภาพลักษณ์ต่อสายตานานาชาติ และจะแสดงถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องรักษาสิทธิมนุษยชน

สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้ต้องขังทางการเมือง และผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เน้นย้ำว่า การโดนคดีมาตรา 112 ถือเป็นผลสืบเนื่องจากการต่อต้านรัฐประหารในปี 2549 เป็นผลสืบเนื่องจากการต่อสู้เพื่อปกป้องพรรคการเมือง ไม่ให้ถูกรัฐบาลเผด็จการยุบพรรค รวมไปถึงการเรียกร้องการเลือกตั้งในระบอบประชาธิไตย ดังนั้นในฐานะประชาชนผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดี จึงอยากเรียนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และหากไม่มีเหล่าผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เราจะไม่มีการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง หลังการรัฐประหาร 2549 เราจะไม่มี สส.พรรคประชาชน สส.พรรคเพื่อไทย หรือทุกพรรค

แม่ของเก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรงค์ ผู้ถูกคุมขังด้วยคดีมาตรา 112 กล่าวว่า ขอเป็นตัวแทนครอบครัวผู้ต้องหาทางการเมืองเพื่อเรียกร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรขอให้พิจารณารวมคดีมาตรา 112 ด้วย เพราะบางคนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยใจบริสุทธิ์ที่อยากเห็นสถาบันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยให้มีภาพลักษณ์ที่เหมาะสม แต่ถูกกล่าวหาโดยคนที่เป็นขั้วตรงข้ามความคิดทางการเมือง และถูกกลั่นแกล้งแจ้งความ คดีมาตรา 112 จึงเป็นคดีทางการเมืองไม่ใช่อย่างที่บางพรรคการเมืองต่อต้าน

“การนิรโทษกรรม จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน และจะไม่ได้มีผลแค่กับเก็ท ลูกของแม่ แต่จะมีผลต่อทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง โปรดคืนลูก คืนพ่อ คืนแม่ คืนภรรยา กลับสู่ครอบครัว” เพชรดา สุรฤทธิ์ธำรงค์ กล่าว 

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.พรรคประชาชน เป็นผู้มารับหนังสือในนามของโฆษกกมธ.นิรโทษกรรมฯ กล่าวว่า การผ่านรายงานของคณะกรรมาธิการโดยปกติแล้วไม่ใช่เรื่องยาก เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ และรายงานไม่ได้มีผลผูกพันอะไรถึงขั้นที่จะไม่สามารถรับรายงานได้ วันนี้จะมึการพิจารณารายงาน และอาจจะมีการลงมติด้วยในเวลา 13.30 น. อยากให้ทุกท่านช่วยกันติดตาม และยินดีที่จะนำหนังสือไปส่งมอบให้กับประธานกรรมาธิการวิสามัญ ฯ ต่อไป 

หลังจากนั้นทางตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนได้มีการส่งมอบดอกกุหลาบเป็นจำนวน 112 ดอก ฝากไปยังประธาน กมธ. นิรโทษกรรม และประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย พร้อมร่วมกันส่งเสียง “เดินหน้าประเทศไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” 

ทั้งนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม นี้ ทางเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจะได้ส่งตัวแทนจำนวน 15 คน เพื่อเข้าสังเกตการณ์และติดตามผลการลงมติรับรองรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอีกด้วย

เนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือที่ยื่นวันนี้ระบุว่า เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนขอขอบคุณประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกที่เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมขึ้นมาศึกษาแนวทางและนำเสนอรายงานผลการศึกษาต่อสภาผู้แทนราษฎรซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวนั้นเป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมาธิการที่ไม่ได้มีความผูกพันต่อรัฐบาลหรือมีสถานะในทางกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากร่างกฎหมายที่เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาฯ แล้วก็จะมีผลบังคับใช้ต่อบุคคลทั่วไป

ตั้งแต่กรกฎาคม 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างน้อย 1,960 ราย ใน 1,305 คดี ปัจจุบันมีผู้ต้องขังคดีการเมืองอย่างน้อยถึง 37 ราย เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี 22 ราย ซึ่งมีข้อสังเกตว่าแม้คดีมาตรา 112 จะมีผู้ถูกดำเนินคดีประมาณ 300 คน แต่ในจำนวนผู้ต้องขังทางการเมือง 37 รายนี้เป็นคดีมาตรา 112 มากถึง 25 ราย ซึ่งนับว่าเป็นฐานความผิดที่มีผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองมากที่สุด โดยยังมิได้นับรวมถึงผู้ลี้ภัย ทั้งนี้ คดีกว่าครึ่งหนึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีและมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ต้องขังคดีทางการเมือง รวมถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

คดีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายอาญา เป็นคดีความผิดต่อความมั่นคง และเป็นคดีการเมือง ประเทศไทยเคยนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 มาแล้ว เช่นเดียวกับมาตรา 113 และมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาที่เป็นกฎหมายอาญา เป็นคดีความผิดต่อความมั่นคง เป็นคดีการเมืองและได้รับนิรโทษกรรมเช่นเดียวกัน ทั้งที่มาตรา 113 ประมวลกฎหมายอาญานั้นมีโทษสูงถึงขั้นประหารชีวิต ในขณะที่คดีมาตรา 112 มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปี ความอ่อนไหวของคดีมาตรา 112 จึงมิใช่ความอ่อนไหวเนื่องจากลักษณะการกระทำที่เป็นเหตุร้ายแรง

สภาผู้แทนราษฎร คือ ตัวแทนของประชาชน เมื่อประชาชนมีปัญหาและเป็นปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างยาวนาน สภาผู้แทนราษฎรจึงควรใช้พื้นที่ดังกล่าวถกเถียง แก้ไขปัญหา และหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ การนิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีมาตรา 112 เป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งที่คดีดังกล่าวเป็นหนึ่งในความขัดแย้งของสังคม หากมีการนิรโทษกรรมอย่างเลือกปฏิบัติจะทำให้ปัญหาดังกล่าวพอกพูนและแก้ไขได้ยากยิ่งขึ้นในอนาคต

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage