เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ประชาชน 36,723 คนรวมตัวกันเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน หลักการสำคัญคือ นิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 2549ถึงวันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ข้อหาที่จะได้รับการนิรโทษกรรมในทันทีตามมาตรา 5 ของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามคำสั่งและประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังความคิดเห็น 90 วันผ่านทางเว็บไซต์ได้รับความเห็น 86,343 ความคิดเห็น มีความคิดเห็นที่ไม่ซ้ำซ้อนกันประมาณ 3,500 ความคิดเห็น หรือมีความเห็นที่ไม่ซ้ำซ้อนประมาณร้อยละ 4.05 จากความเห็นทั้งหมด
ประเด็นหลักเรื่องนิรโทษกรรมคดีการเมือง ผู้ที่เห็นด้วยมองว่า ในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมามีการดำเนินคดีต่อผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม มีการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมและกลั่นแกล้งทางการเมืองจึงเห็นควรให้มีการนิรโทษกรรม ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่า ผู้ที่กระทำความผิดควรได้รับผลจากการกระทำ การนิรโทษกรรมจะทำให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำและกฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมยังตั้งข้อสังเกตถึงความชัดเจนแน่นอนของประเภทคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมผ่านช่องทางคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน และการที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาทางปกครอง ทำให้ปิดช่องทางการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ วางหลักไว้
รับฟังยาว 90 วันเหตุมีข้อถกเถียงกม.ลดสถานะคุ้มครองกษัตริย์
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดให้รับฟังความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญรวม 90 วัน เดิมวางกรอบไว้ที่ 45 วัน คือตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2567แต่มีการขยายเวลารับฟังความคิดเห็นสองครั้ง ครั้งแรกเพิ่มอีก 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2567 และครั้งที่สองเพิ่มอีก 30 วันเนื่องจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ในประเด็นร่างกฎหมายที่เป็นการลดสถานะความคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงขยายเวลาเพิ่มเป็นจนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2567
การรับฟังความเห็นแบ่งเป็นสองส่วนคือ ผ่านเว็บไซต์ของรัฐสภาและส่งประเด็นไปรับฟังที่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง 18 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมราชทัณฑ์ กรมองค์การระหว่างประเทศ สถาบันพระปกเกล้า สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง
จากการรับฟังความเห็นบนเว็บไซต์มีผู้ตอบจำนวน 86,343 คน ขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงตอบกลับมา 17 หน่วยงาน คือเกือบครบทุกหน่วยงานยกเว้นกรมองค์การระหว่างประเทศ จากการรับฟังความเห็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการรับฟังความคิดเห็นฯ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีข้อสังเกตว่า การรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเว็บไซต์ใช้ข้อความซ้ำเดิมจำนวนมาก จากความเห็น 86,343 ความคิดเห็น มีความคิดเห็นที่ไม่ซ้ำซ้อนกันประมาณ 3,500 ความคิดเห็น หรือมีความเห็นที่ไม่ซ้ำซ้อนประมาณร้อยละ 4.05 จากความเห็นทั้งหมด
ฝ่ายเห็นด้วยยึดสิทธิมนุษยชน-ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม อีกฝ่ายแย้งทำผิดต้องรับโทษ
ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นมีแปดข้อหลักและข้อคิดเห็นอื่นๆ ที่อาจเสริมได้หนึ่งข้อ ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์มีความเห็นทั้งในฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในประเด็นต่างๆ โดยสรุปดังนี้
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
ผู้ที่เห็นด้วยมองว่า กรอบระยะเวลาครอบคลุมความขัดแย้งการเมืองไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองเป็นการสร้างความขัดแย้ง กลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง คดีที่เกิดขึ้นเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้ที่ยึดอำนาจโดยมิชอบ ทั้งการแสดงออกของผู้ที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระของกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่า ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษ หากนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกกล่าวหาจะขาดการสำนึกและกระทำผิดซ้ำเพราะเห็นว่า กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้มี “คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน” เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยการกระทำที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม และเห็นด้วยหรือไม่กับองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจและระยะเวลาดำเนินงานของคณะกรรมการนี้
ผู้ที่เห็นด้วยมองว่า การมีคณะกรรมการเป็นการส่งเสริมให้มีการพิจารณาคดีอย่างลึกซึ้ง กรอบเวลายังมีความชัดเจนและลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของบุคคลหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ไม่มีความมั่นใจในความโปร่งใสของคณะกรรมการ โดยกรรมการบางคนอาจมีส่วนได้เสียไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับการพิจารณาหรือกับบุคคลที่กระทำความผิด การกระทำที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรมสามารถระบุกำหนดให้ชัดเจนไว้ได้จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มขั้นตอนการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการ ทั้งยังมีความกังวลว่า อาจจะเป็นช่องในการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดในคดีที่ไม่ใช่คดีการเมือง
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความตามฐานความผิดในร่างมาตรา 5 โดยที่คณะกรรมการไม่ต้องพิจารณา
ผู้ที่เห็นด้วยมองว่า การกระทำที่ก่อให้เกิดคดีความเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่พึงกระทำได้ การนิรโทษกรรมเป็นการลดความขัดแย้งตึงเครียดทางสังคม และเป็นขั้นตอนที่รวดเร็วในการคืนเสรีภาพให้ประชาชน พร้อมระบุว่า สถาบันหลักของชาติควรวิจารณ์อย่างสุจริตได้ ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่า ไม่ควรรวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้ามาด้วย
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการไม่นิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหรือการสลายการชุมนุมที่ได้กระทำไปเกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ผู้ที่เห็นด้วยมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้รับการคุ้มครองสำหรับการกระทำที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งหากเป็นการปฏิบัติ “เกินกว่าเหตุ” แม้เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือเกินไปกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ก็ควรต้องรับโทษ ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรมเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐตระหนักถึงความรับผิดชอบและไม่ก่อให้เกิดสภาวะพ้นผิดลอยนวล ด้านฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้ความเห็นแบ่งเป็นหลายลักษณะตั้งแต่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด อ้างความเท่าเทียมกันและแบ่งเป็นพฤติการณ์ตามกรณีหรือให้ศาลพิสูจน์ว่า การกระทำแต่ละกรณีเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ รวมถึงขอให้ดูถึงเจตนาว่า เป็นการกระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้บุคคลที่อาจเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม หรือสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว มีสิทธิยื่นคำร้องเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัย
ผู้ที่เห็นด้วยมองว่า ช่องทางนี้จะเปิดกว้างให้แก่คนใกล้ชิดทั้งทางสายเลือดและทางอื่นๆ ในการเรียกร้องและอำนวยความสะดวกในกรณีที่ผู้ที่คิดว่า ตนเองเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมแต่ไม่สามารถกระทำด้วยตนเองได้ไม่ว่าด้วยเหตุเจ็บป่วยหรือลี้ภัยทางการเมือง ขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่า เป็นการให้สิทธิแก่บุคคลหลายประเภทที่กว้างเกินไปและอาจเกิดการแอบอ้าง
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการลบทะเบียนประวัติอาชญากรรมของผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ต้องมีการร้องขอจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ผู้ที่เห็นด้วยมองว่า การนิรโทษกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อลบล้างความผิด และเมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดแล้ว ทะเบียนประวัติอาชญากรรมของผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมย่อมถูกลบไปโดยผลของกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีหน้าที่ดำเนินการดังกล่าวโดยไม่ต้องมีการร้องขอ ซึ่งจะลดขั้นตอนและลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ผู้ที่กระทำความผิดอาจไม่สำนึก ควรที่จะต้องมีการบันทึกประวัติอาชญากรรมเอาไว้
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้บุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำของผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ได้
ผู้ที่เห็นด้วยมองว่า ควรจะต้องเปิดช่องให้ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบสามารถเรียกร้องความเสียหายทางแพ่งได้ ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองสองทางคือ ควรจะให้ภาครัฐดูแลเอกชนและให้ความช่วยเหลือเยียวยาค่าเสียหายที่เกิดขึ้น และอีกทางหนึ่งคือ หากสร้างความเสียหายให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐก็ควรจะต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ให้สิทธิเฉพาะเอกชน
- ท่านเห็นว่าการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่ เพียงใด
ในประเด็นนี้รายงานไม่ได้จัดแบ่งเป็นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย โดยสรุปคือ การนิรโทษกรรมจะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความโปร่งใสและความยุติธรรมของกระบวนการนิรโทษกรรม รวมถึงการแก้ไขรากเหง้าของความขัดแย้ง เช่น การปฏิรูปการเมือง และการเสริมสร้างความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจ อาจจะแก้ไขความขัดแย้งไม่ได้อย่างหมดจดแต่ในแง่หนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองควบคู่ไปกับกรอบคิด “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ที่ประกอบด้วยการรับผิดรับชอบ ความจริงและการสร้างความปรองดอง
นิรโทษกรรมเพียงประตูสู่ความปรองดอง ต้องแก้รากเหง้าปัญหาด้วย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง 17 หน่วยงานส่งความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ในภาพรวมเห็นว่า หน่วยงานที่ส่งความเห็นมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทั้งในเชิงหลักการและในเชิงรายละเอียดหรือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะสรุปเป็นประเด็นสำคัญดังนี้
- นิรโทษกรรมจะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง
ประเด็นนี้มีเจ็ดหน่วยงานที่ตอบคำถามดังกล่าวในจำนวนนี้ห้าหน่วยงานเขียนในเชิงที่เห็นด้วยกับหลักการการนิรโทษกรรมแต่แสดงข้อห่วงกังวลอื่นๆ เช่น การแก้ไขรากเหง้าของความขัดแย้งและแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ตัวอย่างดังนี้
สำนักงานศาลยุติธรรม – ความคิดที่แตกต่างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ ในสังคมประชาธิปไตยความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองสามารถจัดการได้ด้วยกลไกประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้งและการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง หากมุ่งแต่นำกฎหมายมาใช้จัดการอย่างเข้มงวด ไม่ได้สัดส่วนและไม่คำนึงถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนความขัดแย้งทางการเมืองจะลุกลาม การนิรโทษกรรมจะช่วยลดความขัดแย้งได้ แต่ต้องระมัดระวังภายใต้หลักการการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและควรให้สังคมเชื่อมั่นในความเป็นกลางของผู้ที่จะชี้ขาดเกี่ยวกับการกระทำที่จะเข้าข่ายการนิรโทษกรรม
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ – การนิรโทษกรรมตามร่างกฎหมายนี้เป็นการนำแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างความปรองดอง แต่การนิรโทษกรรมตามร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ได้มีหลักประกันใดว่า ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมจะไม่กระทำความผิดซ้ำอีก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องย้อนพิจารณาถึงมูลเหตุความขัดแย้งว่า ถูกแก้ไขบนฐานของการยอมรับจากทุกฝ่ายหรือไม่
- คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนมาตรา 3 วรรคท้ายระบุว่า คำวินิจฉัยและประกาศของคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาทางปกครอง ศาลปกครองเห็นว่า คณะกรรมการนิรโทษกรรมฯ ถือเป็น “เจ้าหน้าที่” ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองที่มีการกำหนดมาตรฐานและหลักการทั่วไปที่จะนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครอง ประกอบกับเป็นช่องทางให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจของคณะกรรมการฯ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง จึงไม่เหมาะสมที่ยกเว้นให้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน มาตรา 8 (1) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อำนาจคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนพิจารณาคดีที่มีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งอยู่นอกเหนือข้อหาที่จะได้รับการนิรโทษกรรมในทันทีตามมาตรา 5 สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่า การให้คณะกรรมการฯ วินิจฉัยคดีที่มี “มูลเหตุจูงใจทางการเมือง” ซึ่งยังไม่มีการนิยามความหมายและกำหนดขอบเขตของคดีในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ขาดความชัดเจนว่ากรณีที่บุคคลจะได้รับการนิรโทษกรรมมีกรณีใดบ้าง การกำหนดให้คณะกรรมการฯ ใช้ดุลยพินิจออกเป็นคำวินิจฉัยและออกประกาศหรือวางระเบียบของคณะกรรมการฯ เพื่อบังคับให้เป็นไปตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ และอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 วรรคสอง สอดคล้องกับความคิดเห็นของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่มองว่า ฐานความผิดที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรมควรกำหนดไว้ในกฎหมายให้ชัดเจนแน่นอน ไม่ควรให้คณะกรรมการฯ ไปกำหนดประเภทหรือฐานความผิดในภายหลัง อันจะเป็นการป้องกันปัญหาจากการใช้ดุลพินิจและการมีส่วนได้ส่วนเสียในการนิรโทษกรรม
- การนิรโทษกรรมมาตรา 112
การรับฟังความเห็นในประเด็นการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 5 ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมอยู่ด้วยมีอย่างน้อยสองหน่วยงานที่แสดงความไม่เห็นด้วยและแสดงความเป็นห่วงกังวลในเรื่องนี้
หน่วยงานที่หนึ่งคือ สภาความมั่นคงแห่งชาติที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 โดยยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 ที่มองว่า การกระทำตามมาตรา 112 มีความร้ายแรงกว่าการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป และเพื่อให้เป็นการพิทักษ์บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 112 เช่น พระมหากษัตริย์ ไม่ให้ถูกละเมิดโดยง่ายจึงไม่มีการยกเว้นความผิดหรือโทษ และคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ที่ระบุว่า กรณีการเสนอร่างกฎหมายให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้นั้นเป็นการลดสถานะความคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ และการพิจารณาคดีของศาลจะต้องมีการสืบพยานหลักฐานจำเป็นต้องพาดพิงหรือกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในสถานะอันควรเคารพสักการะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจกระจายสู่สาธารณะอันเป็นการเสื่อมพระเกียรติจึงไม่เป็นไปตามมาตรา 6 รัฐธรรมนูญ ดังนั้นการเสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหานิรโทษกรรมฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ประกอบกับสภาความมั่นคงแห่งชาติจัดทำและดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการธำรงรักษาสถาบันหลักของชาติ พ.ศ. 2566–2570 เป็นกรอบแนวทางให้แก่ทุกส่วนราชการในการธำรงรักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ไม่ควรรวมมาตรา 112 ที่ไม่ใช่ความผิดที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองเนื่องจากไม่สอดคล้องกับหลักการดำเนินงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ
สอดคล้องกับหน่วยงานที่สองคือ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ระบุว่า มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 นอกจากนี้ยังปรากฏในส่วนของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบอันเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายในเรื่องผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ กล่าวทำนองเดียวกันและเพิ่มเติมว่า การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และการเสนอร่างกฎหมายนี้อาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567
- การนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐและคดีกบฏ
ในประเด็นเรื่องการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ สำนักงานศาลยุติธรรมให้ความเห็นว่า ในมาตรา 4 ไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนว่า กระทำการเกินกว่าเหตุคืออะไร ซึ่งอาจเกิดปัญหาการตีความในภายหลัง จึงควรกำหนดขอบเขตหรืออาจใช้คำว่า “เกินสมควรแก่เหตุ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 นอกจากนี้ยังไม่ได้ระบุว่า องค์กรใดจะมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการเกินกว่าเหตุหรือไม่ ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยมีความเห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีหลายระดับ ควรแบ่งแยกเป็นระดับบังคับบัญชาและระดับปฏิบัติ ซึ่งหากเป็นระดับบังคับบัญชาหรือมีอำนาจสั่งการที่ดำเนินการไม่ได้สัดส่วนก็ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม และในกรณีของระดับปฏิบัติต้องพิจารณาว่า เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งหรือเป็นการกระทำโดยอำเภอใจ ซึ่งหากเป็นอย่างหลังก็ควรจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ในประเด็นเรื่องความผิดตามมาตรา 113 หรือคดีกบฏ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรมราชทัณฑ์และสำนักงานศาลยุติธรรมเห็นร่วมกันว่า ไม่ควรนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 113 ให้เหตุผลในภาพรวมว่า เป็นคดีที่เป็นภัยความมั่นคงของชาติอย่างร้ายแรง อยู่ในหมวดความมั่นคงและมีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
ตารางสรุปภาพรวมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ประเด็น | เห็นด้วย | ไม่เห็นด้วย |
นิรโทษกรรมทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 2549 | สำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎรสำนักงานศาลยุติธรรมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกรมราชทัณฑ์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย | สถาบันพระปกเกล้า |
คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน | สำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎรสำนักงานศาลยุติธรรมกรมราชทัณฑ์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย | สำนักงานอัยการสูงสุดสำนักงานศาลยุติธรรมสำนักงานศาลปกครองสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ· สถาบันพระปกเกล้า |
นิรโทษกรรมในความผิดตามมาตรา 5 (มาตรา 112 และอื่นๆ) | ไม่มี | สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ· สถาบันพระปกเกล้า |
ไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐและการกบฏ | สำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎรสำนักงานศาลยุติธรรม· กรมราชทัณฑ์ | สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสถาบันพระปกเกล้า· สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย |
ให้บุคคลอื่นเช่น ผู้สืบสันดานและผู้อุปการะเสนอให้คณะกรรมการฯวินิจฉัยนิรโทษกรรม | สำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎรสำนักงานศาลยุติธรรมกรมราชทัณฑ์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย | สถาบันพระปกเกล้า |
ลบประวัติอาชญากรรมอัตโนมัติ | สำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎรสำนักงานศาลยุติธรรมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกรมราชทัณฑ์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย | สถาบันพระปกเกล้า |
เปิดให้เฉพาะบุคคลเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ | สำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎรสำนักงานศาลยุติธรรมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกรมราชทัณฑ์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย | สำนักงานศาลยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า |
สถาบันพระปกเกล้า “ไม่เห็นด้วย” ทุกคำถาม สับกฎหมายอคติ
สถาบันพระปกเกล้าเพียงหน่วยงานเดียวที่ไม่เห็นด้วยทั้งแปดคำถาม ระบุว่า การนิรโทษกรรมไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสังคมและร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนมีอคติและไม่เป็นกลาง รายละเอียดดังนี้
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
ความเห็นของสถาบันพระปกเกล้าอ้างข้อมูลจากวุฒิสาร ตันไชยและคณะระบุทำนองว่า การนิรโทษกรรมไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้เลย มีข้อเสียไม่อาจแก้ไขความขัดแย้งในระยะยาวเพราะเป็นการทอดทิ้งผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวและไม่ทำให้ผู้กระทำความผิดหรือสังคมเกิดกระบวนการเรียนรู้จากความผิด โดยยกกรณีของฮ่องกงที่เป็นการสร้างความสงบระยะสั้น ทั้งระบุว่า เงื่อนไขของการนิรโทษกรรมคือ เกิดขึ้นระหว่างการเกิดเหตุเพื่อจูงใจผู้กระทำความผิดไม่ให้ถลำลึกหรือกระทำผิดซ้ำ แต่กรณีของไทยได้ผ่านเงื่อนเวลาดังกล่าวมาแล้ว
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้มี “คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน” เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยการกระทำที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม และเห็นด้วยหรือไม่กับองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจและระยะเวลาดำเนินงานของคณะกรรมการนี้
องค์ประกอบของคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนจากทั้งหมด 20 คน ในจำนวนนี้สองคนเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม โดยกำหนดให้มาจากการเลือกกันเองจึงเข้าข่ายพฤติการณ์ที่เรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากผู้เสนอร่างนี้เกี่ยวข้องกับองค์กรที่มีบทบาทขับเคลื่อนการชุมนุมทางการเมือง นอกจากนี้ยังมองว่า ช่วงเวลาของการนิรโทษกรรมแสดงอคติทางการเมืองและความไม่เป็นกลางเนื่องจากเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เว้นการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวันที่ 19 กันยายน 2549
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความตามฐานความผิดในร่างมาตรา 5 โดยที่คณะกรรมการไม่ต้องพิจารณา
ผู้ให้ความเห็นเทียบเคียงการกระทำความผิดที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันทีตามมาตรา 5 คือ พ.ร.บ.ประชามติฯ ระบุว่า ผู้กระทำผิดข้อหานี้จำนวนหนึ่งปัจจุบันดำรงทางการเมือง จึงเห็นว่าเข้าข่ายพฤติการณ์ที่เรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน/การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ขณะที่การกระทำอั้งยี่ซ่องโจร ขัดขวางการเลือกตั้งของกปปส.ที่ศาลพิพากษาว่า มีความผิด ซึ่งความผิดฐานนี้ไม่ได้กำหนดไว้ตามมาตรา 5 จึงไม่เป็นการสร้างความเป็นธรรมหรือการไม่เลือกปฏิบัติ
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการไม่นิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหรือการสลายการชุมนุมที่ได้กระทำไปเกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 4 ของร่างกฎหมายนี้เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือให้โทษแก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการชุมนุมประท้วงและเหตุจลาจลอื่นๆ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ “จะถูกกลั่นแกล้งให้เสียขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ โดยการใช้อำนาจของคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน”
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้บุคคลที่อาจเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม หรือสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว มีสิทธิยื่นคำร้องเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัย
เป็นการเปิดช่องให้มีผู้ร้องที่กว้างขวางและจากการศึกษาพบว่า ผู้ชุมนุมมีการรับเด็กและเยาวชนมาอุปการะโดยไม่มีความเกี่ยวข้องทางกฎหมาย จึงเป็นข้อเสียให้บุคคลหรือองค์กรอื่นสามารถนำคดีความมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการลบทะเบียนประวัติอาชญากรรมของผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ต้องมีการร้องขอจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ผู้ให้ความเห็นอ้างข้อเสนอของวุฒิไชย ตันสารและคณะว่า การออกกฎหมายในลักษณะนี้จะเป็นการทอดทิ้งผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวและการนิรโทษกรรมจะไม่ทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดกระบวนการเรียนรู้จากความผิด ไม่อาจเป็นแนวทางที่จะสร้างความปรองดองในสังคมระยะยาว
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้บุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำของผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ได้
มองว่า เป็นการรอนสิทธิของหน่วยงานราชการและการทำลายทรัพย์สินของเอกชน วางเพลิงเผาทรัพย์เป็นการกระทำที่สมควรการลงโทษทางอาญาไม่ใช่ผลักให้เป็นความรับผิดชอบทางแพ่ง
- ท่านเห็นว่าการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่ เพียงใด
ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ อ้างเหตุผลตามข้อ 1