24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็น “กองเซ็นเซอร์”

“วันหนึ่งกำลังประชุมเตรียมจะจัดงานกัน มีโทรศัพท์เข้ามาจากทหาร ให้เราชี้แจงว่างานนี้มีที่มาที่ไปยังไง พอชี้แจงไปเสร็จปุ๊บ เย็นวันนั้นเลย เขาก็โทรกลับมาประมาณว่า ดูแล้วเนี่ย เขาลำบากใจที่จะให้มีงานนี้เกิดขึ้นอยากจะให้เลื่อนไปก่อน” 

ปกรณ์ อารีกุล Co-Producer งานผืนดินเราที่ดินใคร เล่าให้ฟังถึงวินาทีที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาพูดคุย และท้ายที่สุดงานที่ปกรณ์เป็นผู้ดูแลก็ไม่ได้จัด

การจัดกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นงานเสวนา การจัดนิทรรศการ หรือแม้แต่งานศิลปะ ต่างก็ถูกจับตาโดยฝ่ายความมั่นคงและบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ทหารมักจะอ้างเหตุผลในการปิดกั้นกิจกรรมว่า พวกเขาไม่สบายใจต่อกิจกรรมเพราะอาจจะมีเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง เป็นต้น 

 

กิจกรรมใดที่ไม่ขออนุญาต มีโอกาสไม่ได้จัดพร้อมกับถูกตั้งข้อหา

ในยุคของ คสช. รัฐสร้างเงื่อนไขการทำกิจกรรมขึ้นมาใหม่ โดยพยายามบีบให้การจัดกิจกรรมเสวนาสาธารณะไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงหรือไม่ก็ตาม ต้องทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดและขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน ซึ่งในหนังสือขออนุญาตต้องระบุ รายละเอียดการจัดงาน ว่ากิจกรรมในงานมีอะไรบ้าง ระบบที่เกิดขึ้นนี้ช่วงแรกไม่มีกฎหมายใดสั่งให้ผู้จัดงานต้องขออนุญาตก่อน แต่ช่วงหลัง คสช.อ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองยกเว้นได้รับอนุญาต แต่การขออนุญาตก่อนก็ใช่ว่าจะได้จัดงานเสมอไป 

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม นปช.จะจัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดย จตุพร พรหมพันธ์ ประธาน นปช. ได้มอบหมายให้ ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. และสมหวัง อัสราษี แกนนำ นปช. ยื่นหนังสือขออนุญาต คสช.แถลงข่าวเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล แต่ คสช.ไม่อนุญาต โดยอ้างเหตุว่า จำเป็นต้องยึดถือแนวทางเดิมที่ได้ขอความร่วมมือไว้ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมใดๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความสับสนหรือมีผลต่อแนวทางการเสริมสร้างความสามัคคีและแนวทางการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือที่อาจไปกระทบต่อแนวทางการเดินตามโรดแมป

มิใช่แค่การปิดกั้นแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีบางกิจกรรมที่ผู้จัดถูกเรียกเข้าพบและถูกตั้งข้อหา เช่น ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กับพวก ที่ถูกตั้งข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป จากการจัดงานแถลงข่าวเรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

 

“แก้ไข หรือ ยกเลิก” ทางเลือกของผู้จัดกิจกรรมภายใต้รัฐบาลทหาร

“เขาไม่สบายใจกับแขกรับเชิญบางคน ก็อยากจะให้เราถอดคนนั้นออก” 

“เราเสียหาย เราพีอาร์ไปแล้ว เราก็ต้องมีเหตุผลอธิบายกับสาธารณะ เราคงถอดไม่ได้ เขาก็เลยบอกว่า ถ้าถอดไม่ได้ก็คงจัดไม่ได้”

“เขาก็อยากให้เราจัดได้ แต่ในเมื่อเราไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงตัววิทยากร มันก็ต้องจบแบบนี้”

ปกรณ์ อารีกุล บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาแทรกแซงกิจกรรม “ผืนดินเราที่ดินใคร” ที่เขาเป็นผู้ประสานงาน และท้ายที่สุดกิจกรรมของเขาก็ถูกสั่งให้ยกเลิก ทำให้ผู้จัดงานบางส่วนถูกพาตัวไปพูดคุยที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามแม้จะยังไม่มีการตั้งข้อหาก็ตาม

ทั้งนี้ไม่ใช่แค่วิทยากรที่ทำให้ทหารต้องเข้ามาเซ็นเซอร์ แม้แต่สิ่งของบางอย่างในนิทรรศการ ก็เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ไม่สบายใจ อย่างเช่น งานปล่อยปีก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ในโครงการของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ได้ปล่อยของหรือโชว์ผลงานและสื่อสารประเด็นทางสังคมที่ได้เรียนรู้มา แต่ทว่า หนึ่งในนิทรรศการที่ทหารไม่สบายใจก็คือ “นิทรรศการห้องส้วม” ซึ่งสื่อสารถึงบางเรื่องที่ไม่สามารถพูดในที่สาธารณะได้ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร หรือเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ 

ศักดิ์สินี เอมะศิริ หรือ หญิง เล่าว่า นิทรรศการส้วมเริ่มจัดตั้งแต่วันแรก แต่วันที่สองมีการใส่ข้อมูลเพิ่ม ทหารจึงรู้สึกว่าเนื้อหาค่อนข้าง “ชี้เป้า” หญิงก็บอกว่าจะให้คนทำนิทรรศการเอาออกเองก็รู้สึกไม่ดี อยากให้ทหารเป็นคนมาบอกเองว่าจะให้เอาอันไหนออกบ้าง แต่ทหารบอกว่าไม่อยากเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงเพราะเดี๋ยวเป็นข่าวแล้วจะไม่ดี ทางผู้จัดเลยเสนอทางเลือกใหม่ว่าจะรื้อห้องน้ำออกทั้งหมด ทหารบอกว่าจะรื้อทั้งห้องน้ำเลยก็ได้แต่ต้องไม่ทำข่าว ไม่ให้เป็นประเด็นขึ้นมาอีก 

ถ้าไม่คิดจะแก้ไข ก็คงจะไม่ได้จัด” นี่คือทางเลือกที่รัฐหยิบยื่นให้ในวันที่เสรีภาพมีจำกัด 

 

มหาวิทยาลัยหรือค่ายทหาร? การกดดันเจ้าของสถานที่ไม่ให้อำนวยความสะดวก

พื้นที่มหาวิทยาลัยถูกคาดหมายว่า จะเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพในการแสดงออกโดยเฉพาะในเชิงวิชาการ แต่ทว่า ภายหลังการรัฐประหาร มหาวิทยาลัยมีความสุ่มเสี่ยงเป็นอันดับต้นๆ ที่จะถูกปิดกิจกรรม และบางกิจกรรม มหาวิทยาลัยก็ให้ความร่วมมือกับทหารในการปิดกั้น-แทรกแซงเสียเอง 

ตัวอย่างเช่น งานเสวนา “จากทุ่งบางเขนสู่ราชดำเนิน: เกษตรศาสตร์กับการเมืองไทย” ที่จัดโดยกลุ่มเสรีนนทรี กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยใช้ลานกิจกรรมหน้าตึก 8 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่จัดงาน แต่ก่อนเริ่มงาน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยแจ้งผู้จัดว่า ไม่ให้จัดงานเพราะยังไม่ได้ขออนุญาตกองกิจการนิสิต ขณะที่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งเข้ามาเก็บเก้าอี้ที่เตรียมไว้ให้ผู้ฟังเสวนาไป ทางผู้จัดจึงทำกิจกรรมต่อโดยนั่งกับพื้นแทน 

หลังการเสวนาเริ่มไปได้ครู่หนึ่ง ก็มีการตัดไฟในพื้นที่ทำให้บริเวณที่จัดกิจกรรมตกอยู่ในความมืด ขณะที่เครื่องเสียงก็ใช้ไม่ได้ ผู้จัดกิจกรรมจึงแก้ปัญหาด้วยการนำเทียนมาจุดและดำเนินกิจกรรมต่อไปจนถึงเวลา 19.00 น. 

 

ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหลายกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยมีท่าทีจะไม่ยินดีจะอำนวยความสะดวก เช่น เสวนา “ลายพรางโกงชาติ” ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ทั้งนี้ในงานมีทั้งการจัดแสดงนิทรรศการและการเสวนาในหัวข้อ “จอมพลสฤษดิ์ และมรดกที่ประกอบสร้างจากยุคพัฒนา” แต่ก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเจรจาขอให้ผู้จัดย้ายนิทรรศการบางส่วน ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และอุทยานราชภักดิ์ออกไป เหลือไว้แต่นิทรรศการเกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ แม้ผู้จัดจะยอมให้ความร่วมมือ แต่เมื่อกิจกรรมดำเนินไปจนถึงเวลาประมาณ 18.30 น. ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยตัดไฟบริเวณหอประชุม ทำให้ผู้จัดต้องออกมาทำกิจกรรมต่อด้านนอกโดยใช้โทรโข่งแทน

 

“สิทธิ” และ “รัฐธรรมนูญ” คือคำอ่อนไหวที่เจ้าหน้าที่ไม่อยากให้ใช้จัดกิจกรรม

ในช่วงแรกหลังการรัฐประหาร การจัดงานเสวนาที่มีคำว่า “สิทธิ” “เสรีภาพ” หรือ “สิทธิมนุษยชน” มักจะเป็นรายชื่องานต้นๆ ที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าไปสั่งห้ามหรือแทรกแซง ซึ่งจากการเก็บข้อมูล พบว่า สองปีในยุคของ คสช.มีกิจกรรมที่ใช้คำว่า “สิทธิ” “เสรีภาพ” หรือ “สิทธิมนุษยชน” ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงอย่างน้อย 9 กิจกรรม

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนคนก็เปลี่ยน คำที่อ่อนไหวสำหรับทหารไม่แพ้คำว่าสิทธิเสรีภาพก็คือคำว่า “รัฐธรรมนูญ” โดยลักษณะเริ่มเห็นชัดภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยร่างแรกได้ถูกเผยแพร่สู่สายตาประชาชนในช่วงปลายเดือนมกราคม 2559 และนำไปสู่การถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขว้าง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องหันมาจับตาเวทีเสวนาที่มีคำว่ารัฐธรรมนูญมากขึ้น 

อย่างเช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2559 พบว่า มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 5 งานถูกปิด คือ กิจกรรมวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญของนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ถูกห้ามจัด, กิจกรรมเสวนาร่างรัฐธรรมนูญและการมีส่วนร่วมของประชาชนของกลุ่มผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (วีมูฟ) ถูกห้ามจัดกลางคัน, กิจกรรมรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มเส้นทางสีแดงถูกขอให้ยุติ, นอกจากนี้กิจกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของเว็บไซต์ประชามติก็ถูกแทรกแซงจนต้องย้ายสถานที่ถึงสองงานในวันเดียวกัน ทั้งนี้ รัฐบาลและ คสช.เคยออกมาเรียกร้องให้หลายฝ่ายแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้วิธีการที่เหมาะสม หากพบว่าผู้ใดบิดเบือนรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ คสช.จะเชิญมาพูดคุยทำความเข้าใจ เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการปรองดอง

ตลอดสองปีในยุค คสช. มีกิจกรรมสาธารณะที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 130 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นกิจกรรมเสวนาสาธารณะอย่างน้อย 76 ครั้ง และเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่เรื่องสถานการณ์การเมือง การต่อต้าน คสช. หรือนโยบายของ คสช. อย่างน้อย 20 ครั้ง

 

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในฐานะเครื่องมือชิ้นใหม่ในการข่มขู่ผู้จัดกิจกรรม

นอกจากการห้ามแสดงความคิดเห็นด้วยการอ้างอำนาจตามประกาศและคำสั่ง คสช.แล้ว พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ออกมาในเดือนกรกฎาคม 2558 ก็เป็นเครื่องมืออีกชิ้นที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหยิบมาใช้เพื่อข่มขู่คนจัดกิจกรรม เช่น วันที่ 25 สิงหาคม 2558 พ.อ.อำนวย จุลโนนยาง รองผู้บัญชาการจังหวัดทหารบกเลย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดเลย มีคำสั่งห้ามไม่ให้มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จัดค่าย “เยาวชนฮักบ้านเจ้าของ” เพราะเกรงว่าจะมีการปลุกปั่นเยาวชนให้ต่อต้านอำนาจรัฐ และยุยงให้ชาวบ้านแตกแยกกัน และขู่ว่าหากทีมงานค่ายยังดื้อรั้นไม่ยอมยกเลิกการจัดค่ายเยาวชนฯ จะใช้กฎหมายห้ามชุมนุมจัดการกับทีมงานที่เข้ามามาจัดค่ายครั้งนี้ เพราะถือเป็นภัยต่อความมั่นคง

อีกกรณีตัวอย่าง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมรายงานว่า สน.นางเลิ้งใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ สั่งไม่อนุญาตให้เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมนุมคัดค้านการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3 และ 4/2559 เรื่องการยกเว้นผังเมืองในกิจการบางประเภท และในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 

ดูรายงานปรากฏการณ์ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ “ขู่” ประชาชนห้ามชุมนุมทุกประเภท ได้ที่ http://ilaw.or.th/node/3991

 

เสรีภาพสื่อและอินเทอร์เน็ตในวันที่ไม่มีเสรี

“เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตประเทศไทย ‘ไม่เสรี’ (Not Free)” คือสิ่งที่อยู่ในรายงานเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตที่ทาง “ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House)” องค์กรภาคเอกชนทำวิจัยด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมืองเป็นผู้จัดทำและเผยแพร่

จากรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) พบว่า ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2557 ถึง 12 มีนาคม 2558 มีจำนวนยูอาร์แอลที่ถูกระงับประมาณ 2,308 ยูอาร์แอลเนื่องจากมีเนื้อหาที่อาจจะผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้งยังมีจำนวนยูอาร์แอลที่กระทรวงไอซีทีส่งให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการอยู่อีกประมาณ 3,604 ยูอาร์แอล และทั้งสองตัวเลขเป็นแค่จำนวนอย่างน้อยที่กระทรวงไอซีทีเปิดเผยออกมา

รายงานประจำเดือนพฤศจิกายน 2557 ของกระทรวงไอซีที ยังระบุว่า รัฐบาลไทยได้ขอความร่วมมือและประสานงานไปยังเว็บไซต์ยูทูบอีกด้วย มิใช่แค่นั้น มีรายงานจากประชาไทว่า ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2559 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘กูkult’ ซึ่งมีผู้กดไลค์หลายหมื่น และมักมีการโพสต์ภาพเชิงล้อเลียนเสียดสีสังคมและการเมือง รวมทั้งสถาบันกษัตริย์ ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ และเฟซบุ๊กก็ชี้แจ้งว่า “ไม่มีเนื้อหาอยู่ในไทย คุณไม่สามารถดูเนื้อหานี้ได้เนื่องจากกฎหมายในท้องถิ่นจำกัดความสามารถของเราในการแสดงเนื้อหานั้น หากคุณต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูที่ศูนย์ช่วยเหลือ”

นอกจากพื้นที่การแสดงออกในโลกออนไลน์แล้ว พื้นที่ของสื่อมวลชนเองก็ได้รับผลกระทบภายหลังการรัฐประหารไม่แพ้กัน วิธีการ และวิธีคิดในการกำกับดูแลสื่อโทรทัศน์ในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไปภายใต้ยุค คสช. เริ่มตั้งแต่การออกประกาศอย่างน้อย 10 ฉบับ การตั้งคณะกรรมการพิเศษติดตามตรวจสอบเนื้อหา และการส่งเรื่องผ่าน กสทช.ให้ใช้อำนาจแทน 

 

กสทช. ในฐานะ ‘ผู้จัดระเบียบสื่อ’ ให้ คสช. 

อำนาจที่ กสทช. หยิบมาใช้ในการจัดการกับสื่อที่ออกนอกลู่นอกทางจากที่รัฐตีกรอบก็คือ มาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ) ซึ่งกำหนดว่า สื่อใดๆ จะนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงไม่ได้ และหากมีการละเลยและปล่อยให้มีการนำเสนอข้อมูล ที่เข้าข่ายความผิดข้างต้น ก็จะเป็นผลให้เจ้าของสถานีถูกปรับ ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ 

จากการติดตามข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่  22 พฤษภาคม 2557 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 พบว่า มีอย่างน้อย 18 กรณี จาก 12 สถานี ที่ถูกเรียกให้เข้าสู่กระบวนการกำกับเนื้อหาโดยรัฐ โดยมีกรณีตัวอย่างเช่น การสั่งปิดพีซทีวี เพราะมีบางรายการที่ละเมิดข้อตกลงใน MoU การตรวจสอบไทยพีบีเอส เนื่องจากเสนอสกู๊ป “กลุ่มดาวดิน” เป็นต้น

ดูรายงาน ข้อมูลและขั้นตอนการปิดกั้นเนื้อหาในสื่อโทรทัศน์ภายใต้ยุค คสช. คลิกที่

 

‘ฟ้าให้ทีวี’ จุดเริ่มต้นการใช้อำนาจนอกระบบกับสื่อ

สถานีวิทยุโทรทัศน์ ฟ้าให้ทีวี (Fah Hai TV) ที่มีพรทิพา หรือ ดีเจฟ้า เป็นเจ้าของ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจค้นและยึดอุปกรณ์ของสถานี โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 หลังตรวจสอบพบว่า รายการทีวีรายการหนึ่งที่ออกอากาศทางสถานี อาจมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน  

เหตุการณ์นี้นับเป็นครั้งแรกที่ทหารใช้อำนาจเข้ามาจัดการสื่อเอง โดยผ่านกลไก กสทช. นอกจากนี้ ภายหลังตรวจค้น ยึดอุปกรณ์ของสถานีแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารยังนำบุคคลห้าคนที่เกี่ยวข้องกับสถานีไปแจ้งความ ที่กองบังคับการปราบปราม ข้อหาร่วมกันประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกด้วย

 

บรรยากาศทางการเมืองที่บีบให้ต้องเซนเซอร์ตัวเอง

ภายใต้เสรีภาพที่มีอยู่อย่างจำกัด สื่อมวลชนจึงจำเป็นจะต้องระแวดระวังการแสดงออกของตัวเองเพื่อไม่ให้ไปขวางหูขวางตาของผู้มีอำนาจ ดังนั้นการเลือกนำเสนอหรือการไม่นำเสนอข้อมูลบางส่วนจึงเกิดขึ้น หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เซนเซอร์ตัวเอง”

ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งภายหลังการรัฐประหาร อย่างเช่น ผู้พิมพ์ในไทยการถอดบทความหน้าแรกของ International New York Times ถึงสองครั้ง โดยในครั้งแรกคือวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ซึ่งเขียนโดย โทมัส ฟุลเลอร์ ผู้สื่อข่าวของนิวยอร์คไทมส์ ในหัวข้อ “เศรษฐกิจและกำลังใจของคนไทยกำลังตกต่ำ” และครั้งที่สองคือวันที่ 4 ธันวาคม 2558 โดยบทความทั้งสองมีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้พื้นที่บทความดังกล่าวเหลือเพียงที่ว่างและข้อความที่ระบุว่า “บทความนี้ถูกถอดโดยผู้จัดพิมพ์ของเราในประเทศไทย โดยหนังสือพิมพ์ International New York Times และกองบรรณาธิการ ไม่ได้มีส่วนในการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด”

มิใช่แค่สื่อในต่างประเทศ ที่ผ่านมาก็มีสื่อไทยหลายแห่งที่เลือกจะเซนเซอร์ตัวเอง โดยหนึ่งในนั้นก็คือเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ “บางกอกโพสต์” ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ครั้งแรกของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังการรัฐประหาร แต่วันต่อมาบทสัมภาษณ์ดังกล่าวถูกลบหายไปจากเว็บไซต์ โดยวาสนา นาน่วม เจ้าของบทความดังกล่าวชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กว่า บทความดังกล่าวไม่ได้มาจากการให้สัมภาษณ์ของยิ่งลักษณ์ เพียงแต่เป็นการพูดคุยกันและหยิบส่วนที่เป็นเรื่องเบาๆ ว่าชีวิตในแต่ละวันเปลี่ยนไปอย่างไรมาเขียนเท่านั้น เพราะตนทราบดีว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะให้สัมภาษณ์ในประเด็นทางการเมืองได้

จะเห็นได้ว่า สถานะของเสรีภาพของการแสดงออก การจัดกิจกรรม สื่อมวลชน และสื่อออนไลน์ กำลังถูกจัดระเบียบและปกคลุมไปด้วยความกลัว ซึ่งผลกระทบจากการปิดกั้นช่องทางเหล่านี้นอกจากจะตัดโอกาสในการแลกเปลี่ยนถกเถียงแล้วนั้น ยังลดทอนภูมิคุ้มกันของประชาชนในการเผชิญหน้ากับความจริงภายใต้สภาวะความขัดแย้งอย่างทุกวันนี้อีกด้วย


อ่านรายงาน 24 เดือน คสช.: เมื่ออำนาจทหารอยู่เหนือระบบยุติธรรม ต่อตอนอื่นที่