ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับประชาชน: เพิ่มเอกภาพให้ภาครัฐ เพิ่มพื้นที่ให้ภาคประชาชน

ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหามากมายในด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำท่วมอุทกภัย น้ำแล้ง มลพิษปนเปื้อน ความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ ความขัดแย้งจากการแย่งชิงน้ำและการระบายน้ำ รวมทั้งการสูญเสียความสมดุลของน้ำในระบบนิเวศ ขณะเดียวกัน การจัดการปัญหาของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมเจ้าท่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ ยังคงขาดเอกภาพและการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน อีกทั้งการดำเนินโครงการหรือกิจการด้านการบริหารจัดการน้ำจำนวนมากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและส่งผลอย่างร้ายแรงต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น 
 
ภาคประชาชน โดยสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ(สคส.) จึงมีหนังสือถึงคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) เพื่อขอคำปรึกษาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นกฎหมายแม่บทที่มีหลักการและสาระสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ที่คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล 
 
ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ร่างขึ้นโดยสคส.และคปก.กำลังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น โดยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 คปก.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และตัวแทนภาคประชาชนขึ้น เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่จะรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 คน และเสนอร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนนี้ต่อรัฐสภาต่อไป
 
พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. … มีหลักการสำคัญดังนี้
 
          • การใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์รายย่อย และการใช้น้ำเพื่อระบบนิเวศ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรัฐมีหน้าที่จะต้องจัดให้เป็นอันดับแรก (มาตรา 7)
           หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลและชี้แจงต่อประชาชนอย่างทั่วถึง เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนการบริหารจัดการ การออกกฎ การทำโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม และส่งเสริมให้ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างสมดุลและยั่งยืน (มาตรา 10)
           กำหนดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 4 ระดับ ได้แก่ ระดับประเทศ เรียกว่า “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ”(มาตรา11) ระดับลุ่มน้ำ เรียกว่า “คณะกรรมการลุ่มน้ำ”(มาตรา27) ระดับลุ่มน้ำสาขา เรียกว่า “คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา”(มาตรา32) และระดับกลุ่มผู้ใช้น้ำ(มาตรา35)
           ให้มี “กองทุนทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” เพื่อการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ, คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาและองค์กรผู้ใช้น้ำ รวมทั้งการพัฒนา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และการศึกษาวิจัย และการวางแผนแม่บทเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว (มาตรา39-54)
           ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อรักษา ฟื้นฟู และกำหนดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำในพื้นที่ของตน(มาตรา98) รวมทั้งมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ก่อความเสียหายฟื้นฟูทรัพยากรน้ำให้กลับดังเดิม(มาตรา99)
          กำหนดให้หน่วยงานรัฐกำหนดมาตรการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำเป็นการเฉพาะในเขต “พื้นที่ต้นน้ำ” และ“พื้นที่ชุ่มน้ำ” (มาตรา88-94) รวมทั้งให้จัดทำทะเบียนแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลต่อไป(มาตรา95)
           กำหนดความรับผิดทั้งทางแพ่ง(มาตรา103-105) และทางอาญา(มาตรา109-118) แก่ผู้ที่ทำความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำ
 
 
 
 
 
 
ไฟล์แนบ