รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว)’57 สองปีแก้สี่ครั้ง

รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 จากนั้น หนึ่งวันให้หลัง วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในขณะนั้น อธิบายถึงลักษณะของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่า “รัฐธรรมนูญชั่วคราว มีความหมายอยู่ในตัวว่า ให้ใช้บังคับไปพลางก่อน ซึ่งคาดว่า จะมีระยะเวลาประมาณ 1 ปี บวกลบ เพื่ออยู่ระหว่างการรอการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร” 
นับถึงวันที่ 13 มกราคม 2560 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ยังคงประกาศใช้อยู่เป็นเวลาประมาณ 2 ปี 5 เดือน หรือประมาณ 905 วัน นับว่า มีอายุยาวนานกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวจากการรัฐประหาร 5 ครั้งหลังสุดในประเทศไทยที่เฉลี่ยแล้วอายุประมาณ 1 ปี และอายุน้อยกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวเพียงฉบับเดียวคือ ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2502 อายุประมาณ 3,433 วัน ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์  
ระยะเวลาประมาณ 2 ปี 5 เดือน รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง ทุกครั้งใช้เวลาเพียงวันเดียวในการให้ความเห็นชอบ เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญถาวรเรียกว่า แก้ได้ง่ายกว่ามาก และเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยกันยังไม่มีข้อมูลว่า ในอดีตเคยมีฉบับไหนมีการแก้ไขเพิ่มเติมบ้าง แต่ที่ทราบคือจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 8 ฉบับ มีเพียงสองฉบับที่บัญญัติให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ คือ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2519
 

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1: จัดให้มีประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

หลังจากมีเสียงกดดันจากหลายฝ่าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งแรกในยุคคสช. จึงเกิดขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มหลายประเด็น โดยมีประเด็นหลักสองประเด็นคือ 
1) กำหนดให้มีการจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแก้ไขจากขั้นตอนเดิมที่เมื่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ จะส่งร่างให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่เห็นชอบหรือไม่เท่านั้น ถ้าสปช.เห็นชอบ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญไปออกเสียงประชามติ แต่ถ้าสปช. ไม่เห็นชอบ ให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแทน เมื่อกรธ.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จให้นำไปออกเสียงประชามติเลย นอกจากนี้ให้มีการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) เพื่อสานต่องานจากสปช.
ผลของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำให้ต่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กมธ.ชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกสปช.ไม่เห็นชอบ ทั้งสององค์กร คือ กรธ.และสปช.ชุดเดิมจึงถูกยุบ และตั้งกรธ.และสปท. ชุดใหม่ขึ้นมา นำโดยมีชัย ฤชุพันธ์เข้ามาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแทน 
2) แก้ไขลักษณะต้องห้ามของครม. จากเดิมกำหนดห้ามบุคคลที่ “เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” แก้ไขเป็น “ไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” การแก้ไขประเด็นนี้เกิดในช่วงที่รัฐบาลคสช.ถูกตั้งคำถามถึง ความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของทีม มรว.ปรีดิยาธรเทวกุล รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่ดูจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ดั่งใจ รัฐบาลทหารจึงต้องแก้ไขมาตรานี้เพื่อให้สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลไทยรักไทยซึ่งเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเข้ามานำทีมเศรษฐกิจแทน   

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2: แก้ความผิดพลาดการนับเสียงข้างมากประชามติ

จากความผิดพลาดในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งที่หนึ่ง ทำให้เกิดความสับสนในประเด็นการนับเสียงข้างมากในการออกเสียงประชามติ ที่เดิมเขียนว่าให้นับ “เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ” ทำให้เกิดการตีความว่า การนับคะแนนประชามติให้นับรวมผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิด้วยซึ่งหากเป็นเช่นนี้ร่างรัฐธรรมนูญก็มีโอกาสมากที่จะไม่ผ่านประชามต
ในวันที่ 10 มีนาคม 2559 คสช.จึงให้ สนช.แก้ไขเพิ่มเติม เป็นให้นับ “เสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติ” คือนับเฉพาะผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเท่านั้น ถ้าเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็ให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย
นอกจากนี้ ยังมีแก้ไขให้ สนช.สามารถเสนอคำถามเพิ่มเติมหรือคำพ่วงในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ได้อีกหนึ่งคำถาม

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3: เพิ่มสนช.อีก 30 คน รับนายทหารเกษียณและเลื่อนขั้น

ก่อนการปรับโยกย้ายข้าราชการประจำปีในเดือนกันยายน 2559 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 คสช.ส่งร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ให้สนช.พิจารณา การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้มีประเด็นเดียวคือ การเพิ่มจำนวนสมาชิกสนช.จากเดิมไม่เกิน 220 คน เป็นไม่เกิน 250คน โดยเหตุผลในการเพิ่มจำนวนสนช. คือ เพื่อเข้ามาช่วยแบ่งเบาภารกิจ ในการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญที่ยังค้างการพิจารณาอีกจำนวนมากรวมถึงมีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องพิจารณาภายในระยะเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งสนช.ใหม่ 30 คน ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยนายทหารที่เพิ่งเกษียณอายุราชการและนายทหารที่เพิ่งได้รับการเลื่อนขั้นไปดำรงตำแหน่งสำคัญ  

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4: เปิดช่องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามพระราชทานข้อสังเกต

ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปแล้วกว่า 5 เดือน และยังอยู่ในขั้นตอนการรอพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธยก็เท่ากับร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป อย่างก็ไรก็ตามวันที่ 13 มกราคม 2560 คสช.ส่งร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สี่ ให้สนช.พิจารณาเห็นชอบ โดยมีการแก้ไขมีสองประเด็น
1) ถ้าพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้
2) เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า หากพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใด ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าใหม่
การแก้ไขในประเด็นที่สองจะนำไปสู่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ วิษณุ เครืองาม บอกไม่มีส่วนใดกระทบกับสิทธิเสรีภาพ โครงสร้างทางการเมือง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ
ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น