เว็บเสี่ยง “ปลิว” มากขึ้น, คดียัดข้อหาเกิดง่าย หากร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่าน

เราได้เห็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับล่าสุดกัน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในครั้งนี้

ร่างฉบับที่เราเห็นกันล่าสุด ต่างจากร่างฉบับที่เคยเสนอต่อ สนช. ในเดือนเมษายน 2559 อยู่หลายมาตรา แต่ยังคงไว้ซึ่งหลักการที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทุกฉบับมุ่งไป คือ การเพิ่มอำนาจให้รัฐเข้ากำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น และเมื่อผู้ใช้เน็ตหลายคนได้ทราบข่าวก็ตื่นตกใจในความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพราะเชื่อมือการทำงานเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะปกป้องศีลธรรมและความปลอดภัยให้ประชาชนได้

ลองอ่านข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างละเอียด และลองจินตนาการความเป็นไปได้แบบคิดในแง่ลบ หากร่างฉบับนี้ผ่านการพิจารณาและประกาศใช้ สถานการณ์ต่อไปนี้อาจจะเกิดขึ้นได้

 

1. เนื้อหาบนเว็บไซต์จะหายไปมากกว่าเดิม บรรยากาศการเถียงเรื่องหนักๆ บนโลกออนไลน์ถูกตัดตอน

ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื้อหาบนเว็บไซต์ต่างๆ อาจจะถูกเอาออกจากโลกออนไลน์ได้สองระดับ คือ

1) ระดับผู้ดูแลเว็บไซต์เอาออกเอง เนื่องจากมาตรา 15 ใหม่ จะกำหนดให้ผู้ให้บริการมีความผิดเท่ากับคนโพสต์ ถ้าให้ความร่วมมือ ยินยอม รู้เห็นเป็นใจ กับการโพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมาย แต่หากมีการแจ้งเตือนและผู้ดูแลเว็บไซต์ลบข้อความออกแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ไม่ต้องรับโทษ การเขียนกฎหมายเช่นนี้จูงใจให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ต้องหมั่นตรวจสอบการแจ้งเตือนและเมื่อได้รับการแจ้งเตือนให้ลบข้อความใดๆ ก็ต้องรีบลบออกทันที

นอกจากนี้ วิธีการและขั้นตอนการแจ้งเตือนถูกเขียนขึ้นในร่างประกาศกระทรวงดิจิทัล ข้อ 5(2) กำหนดให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ลบข้อมูลภายใน 3 วัน นับแต่ได้รับแจ้ง โดยไม่ได้กำหนดให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ใช้วิจารณญาณพิจารณาก่อนว่า ข้อความนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ และต้องลบออกหรือไม่

ร่างประกาศดังกล่าวกำหนดให้ผู้ดูแลเว็บไซต์สร้างขั้นตอนการแจ้งเตือนขึ้นมาเปิดช่องให้ผู้ใช้บริการทั่วไปแจ้งเตือนได้ จึงอาจเกิดสถานการณ์ที่ผู้ใช้บางคนไม่พอใจข้อมูลหรือความคิดเห็นของคนอื่นที่คิดเห็นต่างกัน หรือไม่พอใจที่ตนเองถูกวิจารณ์ ก็จะตัดตอนความเห็นต่างโดยการแจ้งให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ลบออก เมื่อผู้ดูแลเว็บไซต์ได้รับการแจ้งเตือนแล้วก็ย่อมต้องเลือกวิธีการลบออกไว้ก่อนเพื่อ “ความปลอดภัย” ของตัวเอง เพื่อจะไม่ต้องถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 15

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้บรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นหนักๆ ที่สังคมมีความเห็นแตกออกเป็นหลายฝ่าย หรือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยประชาชน หรือโดยสื่อทางเลือก เกิดได้ยากขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์

2) ระดับเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นโดยขอหมายศาล ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ที่เจ้าหน้าที่จะสั่งปิดได้ ต้องมีเนื้อหาที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี และต้องขออนุญาตจากศาลเพื่อสั่งปิด หากเป็นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายอื่น เช่น เว็บละเมิดลิขสิทธิ์ เว็บเล่นพนันออนไลน์ เว็บขายยาปลอม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ได้ให้อำนาจสั่งปิดเว็บไซต์เหล่านั้นด้วย

ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ปิดเว็บไซต์ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ และเว็บไซต์ที่ละเมิดกฎหมายอื่นๆ ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีได้ ซึ่งจุดมุ่งหมายอาจรวมถึงเว็บไซต์การพนัน หรือการหลอกลวงประชาชน แต่การเขียนหลักเกณฑ์ด้วยถ้อยคำกว้างๆ ย่อมเสี่ยงต่อการตีความเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลต่างๆ ได้อีกหลายประเด็น

นอกจากนี้ มาตรา 20/1 ยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง 5 คน ขึ้นมาพิจารณาปิดเว็บไซต์ที่อาจจะไม่ได้ผิดกฎหมายอะไรเลย แต่คณะกรรมการเห็นว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีได้ ซึ่งยิ่งจะขยายขอบเขตเว็บไซต์ที่อาจถูกปิดกั้นออกไปให้กว้างขวางมากขึ้นอีก เช่น การวิจารณ์พระสงฆ์ การให้ข้อมูลเรื่องยุติการตั้งครรภ์ การจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล ฯลฯ จนมองไม่เห็นขอบเขตของเนื้อหาที่อาจจะถูกสั่งให้ลบ

 

2. การฟ้องคดีเพื่อ “ปิดปาก” การตรวจสอบรัฐจะไม่หมดไป แต่จะเพิ่มมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) กำหนดห้ามโพสต์ข้อมูลเท็จ กลายเป็นกฎหมายที่ถูกเอามาใช้ฟ้องคดีหมิ่นประมาท เพื่อปิดปากนักเคลื่อนไหวทางสังคมและสื่อมวลชนที่จะตรวจสอบการทำงานของภาครัฐหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ เป็นคดีความกันมากมาย ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มคำว่า “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง” เข้ามาในมาตรา 14(1) โดยผู้ร่างยืนยันว่า การเขียน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แบบนี้จะนำมาใช้ฟ้องหมิ่นประมาทไม่ได้แล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงการฟ้องคดีก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก หากผู้ฟ้องคดีมีเงินจ้างทนายความ ส่วนศาลจะตัดสินอย่างไรก็เป็นภาระของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะต้องต่อสู้ดิ้นรนกันไป

แต่ขณะเดียวกัน ผู้ร่างกลับเพิ่มข้อความในมาตรา 14(2) กำหนดห้ามโพสต์ข้อมูลที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อ “ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งถ้อยคำเหล่านี้ล้วนมีความหมายกว้างและเปิดให้ผู้ใช้ตีความได้หลากหลาย หากอ่านผ่านๆ อาจเห็นว่ามาตรานี้เขียนไว้เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ แต่เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดแล้ว การโพสต์ “ข้อความ” บนโลกออนไลน์ที่ไม่ใช่การเจาะระบบหรือโจมตีระบบไม่น่าจะสร้างความเสียหายต่อความปลอดภัย การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานได้

ในทางกลับกัน คำว่า “การบริการสาธารณะ” ย่อมครอบคลุมกิจการของรัฐทุกประเภท ทั้งการจัดการศึกษา สาธารณสุข การสร้างถนน การสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า งานของตำรวจ ฯลฯ การเขียนกฎหมายเช่นนี้จึงทำให้การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐอาจถูกดำเนินคดีเพื่อปิดปากด้วยมาตรา 14(2) ได้ง่ายกว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับเดิมเสียอีก

 

3. เปิดช่องให้กลั่นแกล้งยัดข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กันได้ง่ายขึ้น

มาตรา 16/2 ของร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดว่า ผู้ใดครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ศาลสั่งให้ทำลาย รู้แล้วว่าศาลสั่งให้ทำลายแต่ไม่ยอมทำลาย จะมีความผิด ในทางทฤษฎีหากคนที่ครอบครองข้อมูลพิสูจน์ได้ว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าศาลมีคำสั่งให้ทำลาย คนนั้นย่อมไม่มีความผิด เพราะไม่มีเจตนา แต่ในทางปฏิบัติคงไม่มีใครติดตามฟังคำพิพากษาของศาลทุกคดีเพื่อจะรู้ว่าต้องลบข้อมูลใดออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์บ้าง และการจะพิสูจน์ว่ารู้หรือไม่รู้ย่อมต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล ซึ่งหมายความว่าต้องถูกฟ้องร้องต่อศาลก่อนจึงจะมีโอกาสพิสูจน์

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีใดก็ตาม หลายครั้งเจ้าหน้าที่จะยึดโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ไปตรวจสอบก่อนว่ามีข้อมูลใดผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ผ่าน เจ้าหน้าที่ย่อมมีความชอบธรรมมากขึ้นที่จะตรวจสอบดูว่า คนที่ถูกจับในคดีต่างๆ มีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ศาลสั่งให้ทำลายอยู่ในครอบครองหรือไม่

หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบข้อมูลที่ศาลสั่งให้ทำลายอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของใคร เจ้าหน้าที่ก็อาจตั้งข้อหาตามมาตรา 16/2 ก่อนได้ หากผู้ต้องสงสัยจะต่อสู้ว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีคำพิพากษาสั่งให้ทำลาย ก็ต้องเป็นภาระไปต่อสู้คดีกันในชั้นศาล ยิ่งในยุคสมัยที่เจ้าหน้าที่มักหาข้อหามาดำเนินคดีกับผู้ที่เคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมือง ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมีคนถูกตั้งข้อหาการครอบครองข้อมูลตามมาตรา 16/2 ได้จำนวนมาก ซึ่งจะเป็นภาระทั้งต่อผู้ถูกตั้งข้อหา และกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมารับมือกับคดีเหล่านี้