Q&A ถาม-ตอบข้อสงสัย อยากลงชื่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ต้องทำยังไง? มีขั้นตอนใดบ้าง?

ในช่วงเทศกาลแห่งความรักปีนี้ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 องค์กรภาคประชาสังคมรวมถึงนักกิจกรรมหลายกลุ่มในนาม “เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” เดิน Kick off แคมเปญ #นิรโทษกรรมประชาชน พร้อมเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน นิรโทษกรรมให้ “ทุกข้อหา” ที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น คดีตามประกาศ/คำสั่งคสช. คดีพลเรือนในศาลทหาร คดีมาตรา 112 คดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือคดีพ.ร.บ.ประชามติฯ เพื่อให้สภาพิจารณา

สำหรับผู้ที่สนใจจะลงชื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนให้ถึงสภา แล้วมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงชื่อ เราได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยมาไว้แล้ว ดูแล้วสามารถไปลงชื่อได้เลย

Q: ใครมีสิทธิลงชื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนได้บ้าง

A: ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ ต้องเป็น “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” คือ คนที่มีสัญชาติไทย ถ้าแปลงสัญชาติมา ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วห้าปีขึ้นไป และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันที่เสนอร่างพ.ร.บ.และรายชื่อผู้ที่ลงชื่อเสนอกฎหมายต่อสภา

แต่มีบุคคลบางกลุ่ม ที่จะไม่สามารถใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นบุคคลต้องห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้แก่

·      พระภิกษุ สามเณร นักพรต หรือ นักบวช

·      บุคคลที่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

·      บุคคลที่ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

·      บุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

ทั้งนี้ หากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง สส. หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ยังมีสถานะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ ยังสามารถใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้

Q: ต้องใช้จำนวนกี่ชื่อถึงจะสามารถเสนอร่าง.พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภาได้

A: รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 (3) และพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงชื่อ 10,000 ชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อสภาได้ แต่หากเป็นการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ต้องใช้จำนวนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 รายชื่อ

การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ใช้แค่ 10,000 รายชื่อผู้มีสิทธิก็สามารถเสนอเข้าสภาได้แล้ว แต่เพื่อให้เสียงของประชาชนดังขึ้น ส่งไปให้ถึงสภาและผู้มีอำนาจ ช่วยกันลงชื่อให้ได้มากที่สุดเพื่อเพื่อผลักดันให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนเข้าสภา

Q: ลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ได้ทางไหนบ้าง

A: สามารถลงชื่อได้สองวิธีหลักๆ เลือกลงชื่อวิธีใดวิธีหนึ่งได้เลย

·      ลงชื่อทางออนไลน์ทาง amnestypeople.com 

·      ลงชื่อบนแบบฟอร์ม มีสองวิธี เลือกวิธีใดก็ได้ที่สะดวก ดังนี้

o   ปรินท์แบบฟอร์มจากเว็บ amnestypeople.com มาเขียนเอง และส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ช่วยกันรวบรวมรายชื่อครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ได้ ทาง “ออฟฟิศ iLaw 099-678-6031 1111/3 บ้านกลางเมืองรัชดา-ลาดพร้าว ถ.ลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กทม. 10900” สามารถส่งเอกสารได้ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 (นับจากวันที่ประทับตราส่ง)

o   ลงชื่อได้ที่จุดรับลงชื่อตามสถานที่ที่อาสาสมัครช่วยเปิดจุดรับลงชื่อให้ เช็คจุดรับลงชื่อได้ทาง https://amnestypeople.com/locations

การลงชื่อช่องทางออนไลน์หรือลงชื่อบนแบบฟอร์ม “มีค่าเท่ากัน” สามารถเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งได้เลย ไม่ต้องลงชื่อซ้ำสองช่องทาง หากลงชื่อซ้ำสองช่องทาง เบื้องต้นจำนวนรายชื่อจะถูกนับเป็นสองชื่อ (สำหรับหนึ่งคน) และหลังจากส่งเอกสารรายชื่อต่อสภาแล้ว ก็จะถูกตรวจสอบและคัดออก ทำให้จำนวนลงชื่อรวมเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นเลือกลงช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็เพียงพอแล้ว

สำหรับผู้ที่กังวลเรื่องการลงชื่อทางออนไลน์จะทำได้จริงๆ หรือไม่ ในพ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย “เขียนชัด” ว่าสามารถทำได้ (มาตรา 8 วรรคห้า) และการลงชื่อเสนอกฎหมายจะอยู่ในความรับผิดชอบโดยสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แตกต่างจากแคมเปญ #Conforall เสนอคำถามประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 มาตรา 9 (5) ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับ และกกต. ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบหลัก ตีความว่าไม่สามารถลงชื่อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

วิธีการกรอกข้อมูล

๐ ชื่อร่างกฎหมาย : ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. ตรงจุดสี่ตัวหลัง พ.ศ. ไม่ต้องเขียนข้อความใดๆ ลงไป

๐ เขียนที่ : ใส่ชื่อสถานที่ที่เขียนแบบฟอร์มลงชื่อ เข่น ชื่อย่าน ชื่อจังหวัด กรณีอยู่ต่างประเทศ สามารถเขียนชื่อประเทศ ชื่อเมือง ได้

๐ ชื่อ-นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้เขียนตัวบรรจง

๐ ลงลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ด้านล่าง จากนั้นเขียนชื่อ-นามสกุลอีกครั้ง ในช่องวงเล็บด้านล่างสุด

Q: การลงชื่อต้องใช้เอกสารเพิ่มเติม เช่น สำเนาบัตรประชาชน หรือไม่

A: ไม่ต้องใช้เอกสารใดเพิ่มเติม ขอแค่กรอกข้อมูลบนเว็บไซต์หรือบนแบบฟอร์มและลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน ถ้าลงชื่อผ่านทางแบบฟอร์ม เขียนข้อความ โดยเฉพาะเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักด้วยตัวบรรจงให้สามารถอ่านออกได้ เพราะหลังจากนำเอกสารรายชื่อไปยื่นต่อสภาแล้ว ทางสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะต้องส่งเอกสารไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำข้อมูลไปตรวจสอบอีกทีว่าผู้ที่ลงชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่

Q: สำหรับคนที่ลงชื่อทาง amnestypeople.com จะรู้ได้อย่างไรว่าลงชื่อสำเร็จแล้ว

A: หากกรอกข้อมูลครบถ้วน ในช่อง เขียนที่ … วันที่ … ชื่อ-นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ลงลายมือชื่อครบถ้วน และกดส่ง รายชื่อก็จะอยู่ในระบบแล้ว

Q: อยู่ต่างประเทศลงได้ไหม

A: หากยังมีสัญชาติไทยอยู่ สามารถลงชื่อได้ ผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่ amnestypeople.com โดยช่อง “เขียนที่” กรอกชื่อประเทศ ชื่อเมือง หรือชื่อรัฐได้เลย

Q: ลงชื่อได้ถึงวันไหน

A: แคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนจะเปิดรับลงชื่อเสนอกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เท่านั้น

Q: หลังลงชื่อแล้วกระบวนการจะเป็นไงต่อ

A: หลังจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ทางองค์กรเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จะรวบรวมรายชื่อประชาชนทที่ลงชื่อมาจากทั่วสารทิศ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อนำไปยื่นต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

หลังจากรายชื่อถึงมือเจ้าหน้าที่แล้ว ต่อมาจะเป็นกระบวนตรวจสอบรายชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน หากครบถ้วนตามกฎหมายก็จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ https://www.parliament.go.th/section77/ หลังจากนั้นก็จะเป็นกระบวนการบรรจุร่างกฎหมายเข้าสู่วาระประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาในวาระหนึ่ง (รับหลักการ) ต่อไป

หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “รับหลักการ” ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ในวาระหนึ่ง จะทำให้ตัวแทนภาคประชาชนได้โควตาเป็นกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.นั้นได้วาระสองด้วย โดยต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกมธ.วิสามัญทั้งหมด (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 128 วรรคสอง)

ทำความเข้าใจขั้นตอนการพิจารณากฎหมายในรัฐสภาได้ทาง https://www.ilaw.or.th/articles/3667

สำหรับผู้ที่อยากเป็นอาสาสมัครจุดรับลงชื่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/18070

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ