สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: ตัด ‘สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี’ โบกมือลา องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม

ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในสังคมว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ จะช่วยคุ้มครองและทำให้สิทธิของชุมชนใช้ได้จริงในทางปฏิบัติมากขึ้นหรือน้อยลง เนื่องจากร่างนี้ ‘ตัดสิทธิ’ การแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการของรัฐ และตัดขั้นตอนการขอความเห็นชอบจากองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินโครงการต่างๆ

 

‘ตัดสิทธิ’ ของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมในสิ่งแวดล้อมที่ดี

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมเนื้อหาสิทธิชุมชนให้ชัดเจนขึ้นตามความต้องการของภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ นักวิชาการ และสื่อมวลชน หลังเขียนร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกออกมาแล้วถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องนี้ 

เรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม ถูกเขียนไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 43

         “มาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ
         (1) อนุรักษ์ฟื้นฟูหรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ
         (2) จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
         (3) เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
         (4) จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน สิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย”

นอกจากสิทธิที่ประชาชนจะมีในมาตรา 43 แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังกำหนดหน้าที่ของรัฐ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเอาไว้ในมาตรา 57-58 กำหนดให้รัฐอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม ให้รัฐต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA, EHIA) และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนดำเนินโครงการต่างๆ ฯลฯ

ด้านรัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชนไว้ในมาตรา 56 หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยว่า บุคคลมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการบำรุงรักษาและได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ บุคคลสามารถฟ้องร้องรัฐได้เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามสิทธิและการมีส่วนร่วมดังกล่าว

และรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 67 หมวดสิทธิชุมชน ก็ได้เขียนถึงบุคคลมีสิทธิ มีส่วนร่วม และฟ้องร้องกับรัฐและชุมชนที่จะได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญปี 2540

เมื่อนำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ มาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 พบว่า เนื้อหาส่วนหนึ่งที่หายไปจากร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ คือ ส่วนที่เขียนว่า สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วม “ในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของคน” ซึ่งมีในรัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้านี้ 

ขณะที่ประเด็นอื่นๆ เช่น การกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องรัฐได้หากไม่ดำเนินการคุ้มครอง ก็เป็นบทบัญญัติที่ยังมีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ 

 

‘ตัดสิทธิ’ ของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการต่างๆ 

รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 59 หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เขียนไว้ว่า บุคคลมีสิทธิแสดงความคิดเห็น และได้รับข้อมูล คำชี้แจง เหตุผล จากหน่วยงานรัฐ ก่อนการอนุญาตดำเนินโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของตนหรือชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ 

รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 57 หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย  เขียนไว้เหมือนกับมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่มีเพิ่มประเด็นการวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดินและการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ

แต่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ มาตรา 41 หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เขียนเพียงว่า บุคคลและชุมชนมีสิทธิรับทราบ-เข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ และมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และฟ้องหน่วยงานรัฐให้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยเร็ว อีกทั้งให้รับผิดจากการกระทำของบุคลากรรัฐได้

เมื่อนำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ มาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 พบว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ ไม่มีการเขียนถึงสิทธิแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งมีมาแต่รัฐธรรมนูญเดิม แต่มีการเพิ่มสิทธิ ของประชาชนที่จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องพิจารณาข้อเสนอนั้นๆ หมายความว่า การใช้สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองเปลี่ยนจากการแสดงความคิดเห็นโดยบุคคลคนเดียว เป็นการเข้าชื่อกัน โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องเข้าชื่อกันเป็นจำนวนกี่คน

และไปเขียนไว้ในมาตรา 58 ให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและจัดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียก่อนดำเนินโครงการที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “อย่างรุนแรง”

 

‘องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ’ ไม่มีแล้วในร่างนี้

ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ก่อนการดำเนินโครงการใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรัฐจะต้องผ่านสามขั้นตอน คือ 1) จัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 2) ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 3) ผ่านการให้ความเห็นขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 

ตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ กำหนดขั้นตอนไว้ลดลง เหลือเพียงข้อ 1) และ 2) เท่านั้น ส่วนขั้นตอนที่เคยต้องอาศัยความเห็นชอบโดยองค์กรอิสระถูกตัดออกไป

องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นถ้อยคำที่มีอยู่ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 แต่รัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้านี้ไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ว่า องค์กรอิสระจะมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้าง ที่ผ่านมาภาคประชาชนเคยผลักดันให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ก็ยังไม่สำเร็จเป็นรูปธรรม  

ในทางปฏิบัติ เมื่อปี 2553 รัฐบาลภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้ง คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ขึ้นมาทำหน้าที่ ให้ความเห็นชอบโครงการต่างๆ ที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่องค์กรที่จัดตั้งขึ้นนี้ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่อยมาว่ายังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูเพราะไม่ได้เป็นองค์กรที่จัดตั้งตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และยังทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ไม่ดีเท่าที่ควร สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559 จึงตัดขั้นตอนดังกล่าวออกไป  

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น