แนวโน้มคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ในปี 2565

*ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2565

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายอาญาที่มีบทลงโทษหนักคือจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี มักจะถูกนำมาบังคับใช้ในทางจำกัดเสรีภาพการแสดงออกและใช้ในการจัดการขั้วตรงข้ามทางการเมือง ระหว่างการรัฐประหาร 2557 เป็นอีกช่วงเวลาที่มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ปราบปรามประชาชน การบังคับใช้ในช่วงเวลาดังกล่าวเห็นถึงปัญหาของตัวบทกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ตีความกว้างขวาง การลงโทษหนักหน่วงและจำเลยบางคนไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้เนื่องจากคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารและเหตุแห่งคดีเกิดระหว่างมีการประกาศกฎอัยการศึก แต่แล้วในปี 2561 เกิดปรากฏการณ์ที่พลิกโฉมการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีคดีที่ศาลยกฟ้องอย่างไม่ทราบสาเหตุ และเริ่มมีการนำกฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาดำเนินคดีคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์บนโลกออนไลน์แทนมาตรา 112

ในปี 2563 การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนมีการพัฒนาข้อเรียกร้องไปสู่เพดานสูงสุดอย่างการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยกับการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยทั้งในพื้นที่สาธารณะและบนโลกออนไลน์ แม้การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวแทบไม่มีการดำเนินคดีประชาชนด้วยมาตรา 112 ซึ่งทุกอย่างมาถูกเฉลยด้วยคำสัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563

“ทำไมมาตรา 112 ถึงไม่ถูกดำเนินคดี เพราะทรงมีพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ ได้กำชับมากับผมโดยตรง ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการใช้ไหม ม.112 ก็ละเมิดกันไปเรื่อย เพราะฉะนั้นทุกคนที่อยู่ในประเทศมีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็ต้องช่วยกันด้วย”

แต่หลังจากนั้น การวิพากษ์วิจารณ์และข้อเรียกร้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์บนท้องถนนที่แหลมคมขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องไปกับการผลักดันนโยบายในรัฐสภาด้วยการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และร่างแก้ไขดังกล่าวที่ไม่ได้จำกัดว่า “ห้ามแก้หมวดหรือมาตราใด” ก็ได้สร้างความไม่สบายใจให้เหล่าผู้มีอำนาจที่อาจเข้าใจว่าร่างแก้ไขดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หรือเจตนาใดแอบแฝง แม้ระหว่างนั้นการชุมนุมจะอยู่ในกระแสสูง แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ถูกผู้แทน (และส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง) ปัดตกไปในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 วันถัดมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาออกแถลงการณ์ว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกบททุกมาตรา

และแล้วมาตรา 112 กลับมาอีกครั้ง…

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ถูกดำเนินคดีเพราะการแสดงออกทางการเมืองมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 – 28 ธันวาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 225 คน ใน 243 คดี

สังคมอาจจดจำว่า จำเลยมาตรา 112 คือ แกนนำนักกิจกรรมผู้ปราศรัยพังเพดานเสรีภาพที่เคยกดต่ำอย่างยาวนาน หากแต่คนที่ถูกดำเนินคดีจำนวนมากเป็นประชาชนทั่วไปที่โพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 100 คดี และพวกเขาเหล่านี้ต่างนับถอยหลังสู่วันพิพากษา จากจำนวนคดีที่มากกว่าหลัก 200 คดี มีอย่างน้อย 33 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 

ข้อสังเกต

o ในคดีที่ “ยกฟ้อง” ศาลให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาไว้อย่างน่าสนใจ ได้แก่ คดีของอิศเรศและทิวากร ที่ศาลมีคำพิพากษาไปในทิศทางเดียวกันว่า จำเลย ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ ขณะที่คดีของ “วุฒิภัทร” ศาลมีคำพิพากษาว่า มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ณ เวลาเกิดเหตุเท่านั้น และคดีอื่นๆ ศาลให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอจึงยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย

อย่างไรก็ตาม ในคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด ก็มีคำพิพากษาที่ขัดหรือแย้งกับคดีที่ยกฟ้องข้างต้น เช่น คดีของจรัส ศาลอุทธรณ์จังหวัดจันทบุรีมีความเห็นว่า มาตรา 112 คุ้มครองอดีตกษัตริย์ด้วย เนื่องจากการดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ กระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์จะสืบทอดทางสันตติวงศ์ทางสายพระโลหิตติดต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ต้นราชวงศ์ ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน และคดีของเพชร ธนกร ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาว่า มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันฯ

o อย่างน้อย 26 คดี ที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด มากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 17 คดี ศาลลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำที่สุดต่อกรรมที่มาตรา 112 กำหนดไว้ โดยจำเลยที่ต้องโทษหนักที่สุดสามลำดับในกลุ่มนี้คือ

  1. ภัคภิญญา บรรณารักษ์ชาวกรุงเทพฯ ที่ต้องเดินทางไกลไปสุไหงโก-ลก ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาว่ามีความผิด 3 กรรม ลงโทษกรรมละ 3 ปี รวม 9 ปี ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ
  2. ก้อง-อุกฤษฏ์ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุราม ที่ศาลอาญา รัชดา พิพากษาว่ามีความผิด 5 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 15 ปี ให้การรับสารภาพ เหลือจำคุก 5 ปี 30 เดือน
  3. “ปุญญพัฒน์” ผู้ป่วยพัฒนาการช้าและสมาธิสั้น ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาว่ามีความผิด 4 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 12 ปี ให้การรับสารภาพ เหลือจำคุก 4 ปี 24 เดือน

ในหลายๆ คดีศาลมักจะหาเหตุบรรเทาโทษจำคุกให้จำเลย แต่มีอย่างน้อย 3 คดี คือคดีของสมบัติ ทองย้อย กัลยา และภัคภิญญา ที่ศาลไม่บรรเทาโทษให้จำเลย ทั้งสามจึงต้องรับโทษจำคุกเต็มเวลาจากการกระทำความผิดกรรมละ 3 ปี  

o มีจำเลยให้การรับสารภาพอย่างน้อย 14 คดี และศาลก็มีคำพิพากษาให้ “รอการลงโทษ” หรือรอลงอาญา จำนวน 8 คดี และ “ให้รอการกำหนดโทษ” อีก 2 คดี ส่วนคดีของ “พลทหารเมธิน”, “ปุญญพัฒน์”, สุทธิเทพ, “ปณิธาน”,  พิทักษ์พงษ์และอุกฤษฏ์ ที่แม้จะรับสารภาพ แต่ศาลก็พิพากษาจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา สมบัติและอุกฤษฏ์ เป็นจำเลยที่ไม่ได้ประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์คดี ในขณะที่จำเลยคนอื่นๆ ได้รับการประกันตัว

คดีมาตรา 112 ที่มีคำพิพากษาแล้ว มีดังนี้

คดีที่ยกฟ้องทุกข้อหา : 6 คดี

  1. คดีของอิศเรศ : โพสต์ข้อความถึงการไม่แต่งตั้งกษัตริย์ใหม่หลังการสวรรคต 
    16 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดนครพนมยกฟ้องโดยระบุว่า ข้อความไม่ได้แสดงความอาฆาตมาดร้าย ไม่ได้ระบุถึงบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอ และเมื่อไม่ผิดตามมาตรา 112 จึงไม่มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
  2. คดีของทิวากร : โพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และอีก 2 ข้อความ
    29 กันยายน 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นยกฟ้องทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116 โดยระบุว่าข้อความและรูปภาพของจำเลยเป็นการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ  
  3. คดีของสุริยศักดิ์ : ส่งข้อความผ่านไลน์
    5 ตุลาคม 2565 ศาลอาญา รัชดา พิพากษายกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีมีความขัดแย้งกันและพบพิรุธหลายประเด็น เช่น การเบิกความของพยานโจทก์ การพิสูจน์ตัวตนของจำเลยในการใช้บัญชีไลน์  
  4. คดีของ “วารี” : คอมเมนต์รูปการ์ตูนบนเฟซบุ๊ก และอีก 2 โพสต์ 
    6 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากพยานโจทก์ไม่เพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ และมีเพียงผู้กล่าวหาคนเดียวที่เบิกความว่าจำเลยโพสต์ แต่กลับเบิกความถึงการเห็นโพสต์แตกต่างกัน อีกทั้งภาพที่นำมาแจ้งความไม่ปรากฏ URL ประกอบการคำเบิกความของพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนเห็นว่า ภาพมีการตัดต่อมา 
  5. คดีของพิพัทธ์โพสต์ภาพรัชกาลที่สิบในรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส
    26 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานเป็นเพียงการแคปภาพหน้าจอ ไม่ใช่สิ่งพิมพ์จากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง จึงไม่สามารถนำสืบได้ว่าข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์มีจุดเริ่มต้นส่งข้อมูล และปลายทางส่งข้อมูลเป็นอย่างไร หมายเลขประจำตัวเครื่องคอมพิวเตอร์คืออะไร ซึ่งเป็นข้อมูลระบุตัวตนสำคัญ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
  6. คดีของ “ชัยชนะ” : โพสต์ข้อความวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์
    21 ธันวาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวจริง ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ที่เป็นพยานจำเลยก็เบิกความว่า ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเผยแพร่อยู่บนอินเทอร์เน็ต สามารถถูกนำไปตัดต่อ ปลอมแปลงเป็นภาพและข้อมูลเท็จได้ นอกจากนั้นจากการตรวจสอบโทรศัพท์ของจำเลยก็ไม่พบว่ามีประวัติการเข้าถึงเฟซบุ๊กที่เป็นปัญหาในคดีนี้ ประกอบกับจำเลยมีอาการทางจิต จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

คดีที่ยกฟ้องเฉพาะมาตรา 112 แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ : 1 คดี

  1. คดีของ “วุฒิภัทร” : โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ 3 จำเลยกรณีสวรรคต ร.8
    25 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการยกฟ้องโดยเห็นว่า องค์ประกอบ ม.112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (1) เนื่องจากเห็นว่าข้อความกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนทั่วไป จึงพิพากษาจำคุก 1 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ

คดีที่พิพากษาว่ามีความผิดตาม ม.112 : 26 คดี

o รอกำหนดโทษ : 2 คดี

  1. คดีของชลสิทธิ์ จากการโพสต์ภาพวาดล้อเลียน รัชกาลที่ 10 ลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก โดยศาลจังหวัดกันทรลักษ์ พิพากษาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ให้รอการกำหนดโทษ 2 ปี ให้คุมความประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง เนื่องจากไม่เคยทำผิดมาก่อนและขณะโพสต์รู้เท่าไม่ถึงการณ์
  2. คดีของ “โจ” จากการแชร์โพสต์ข้อความจากเพจเยาวชนปลดแอกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโอกาสครบรอบ 7 ปี การรัฐประหาร โดยศาลจังหวัดลำปางพิพากษาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ให้รอการกำหนดโทษ 2 ปี โดยพิจารณาถึงพฤติการณ์ของจำเลย ประวัติส่วนตัว ที่จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน ทั้งนี้ ในการสอบคำให้การของศาล โจได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และศาลได้มีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์จำเลยเพิ่มเติมก่อนพิพากษา

o รอการลงโทษ (รอลงอาญา) : 8 คดี

  1. คดีของ “บุญลือ” จากการคอมเมนต์ถึงลักษณะที่ดีของกษัตริย์และความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันฯ โดยศาลจังหวัดพังงาพิพากษาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565  ให้จำคุก 3 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน เพราะจำเลยรับสารภาพ ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมประพฤติ 1 ปี โดยให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง และทำกิจกรรมบริการสังคม 12 ชั่วโมง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อตักเตือนก็ยินยอมลบข้อความ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองหรือหวังผลอย่างอื่นใด
  2. คดีของ “ณชา” จากการคอมเมนต์ในโพสต์ข้อความในกลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส โดยศาลอาญา รัชดา พิพากษาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ให้จำคุก 3 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน เพราะจำเลยรับสารภาพ พร้อมเหตุผลว่า จำเลยไม่เคยรับโทษมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนครั้ง ภายใน 1 ปี ทำงานบริการสังคม 12 ชั่วโมง และริบโทรศัพท์ที่เป็นของกลาง
  3. คดีของจรัส จากแสดงความคิดเห็นวิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9
    คดีนี้ ในเดือนสิงหาคม 2563 ตำรวจแจ้งข้อหาจรัสตามมาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่มาแจ้งข้อหาแจ้งมาตรา 112 เพิ่มภายหลังการประกาศใช้กฎหมายทุกบททุกมาตราของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยใน 30 พฤศจิกายน 2564 ศาลจังหวัดจันทบุรีศาลยกฟ้องมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า องค์ประกอบมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ให้มีความผิดตามมาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี แต่ลดโทษให้เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือนและปรับเงิน 26,666.66 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ใน 1 ปี 
    ต่อมา ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จังหวัดจันทบุรี กลับคำพิพากษา เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565 โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า การกระทำต่อพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วนั้น ย่อมกระทบมาถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบันด้วย ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี 
  4. คดีของ เพชร ธนกร จากการปราศรัยในการชุมนุมคนนนท์ท้าชนเผด็จการ (ม็อบ10กันยา63) โดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจังหวัดนนทบุรี พิพากษาเมื่อ 22 ธันวาคม 2565 ให้จำคุก 3 ปี แต่พิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เพราะขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปี เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้รอลงอาญา 2 ปี 
  5. คดีของ “อัปสร” จากการแชร์โพสต์ข้อความของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ วิจารณ์ราชวงศ์ไทย โดยศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ให้จำคุก 4 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี เพราะจำเลยรับสารภาพ ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี กับคุมประพฤติโดยให้ไปรายงานตัว 3 ครั้งภายในระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน 
  6. คดีของพิทยุตม์ จากการวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 โดยศาลจังหวัดอุดรธานี พิพากษาเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565 ให้จำคุก 5 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี คุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง
  7. คดีของ “พนิดา” จากการพ่นสีใต้พระบรมฉายาลักษณ์ในเมืองพัทยาจำนวน 2 จุด โดยศาลจังหวัดพัทยาพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 2 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง
  8. คดีของธัญดล จากการแชร์เฟซบุ๊กจากเพจ “KonthaiUK” 2 ข้อความ โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการ พิพากษาเมื่อ 27 ธันวาคม 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน รวม 2 ปี 12 เดือน แต่เห็นว่าจำเลยสำนึกผิด ประกอบกับไม่เคยกระทำผิดมาก่อน จึงให้รอลงอาญา 3 ปี และให้คุมประพฤติ 3 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้ง

o กรรมละ 2 ปี ได้แก่ คดีของเพชร ธนกร จากการปราศรัยในการชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ เมื่อ 6 ธันวาคม 2563 โดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พิพากษาเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565 ว่าแม้คำปราศรัยจะไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์ใด แต่เห็นว่ามาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ม.142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี

o กรรมละ 3 ปี

  1. คดีของ “ปุญญพัฒน์” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 4 ข้อความ
    ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาเมื่อ 20 มิถุนายน 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 12 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 4 ปี 24 เดือน
  2. คดีของพอร์ท ไฟเย็น ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 3 ข้อความ
    ศาลอาญาพิพากษาเมื่อ 15 สิงหาคม 2565 ว่าข้อความทั้งสามเป็นข้อมูลเท็จ ให้จำคุกกรรมละ 3 ปีรวม 9 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 6 ปี
  3. คดีของสมบัติ ทองย้อย ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 3 ข้อความ
    ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาเมื่อ 28 เมษายน 2565 ว่าจากการโพสต์ 3 ข้อความ มี 2 ข้อความที่เป็นการกระทำด้วยเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน สมบัติจึงมีความผิด 2 กรรม ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 6 ปี ไม่มีเหตุลดโทษ
  4. คดีของ “กัลยา” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 2 ข้อความ
    ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาเมื่อ 2 สิงหาคม 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 6 ปี ไม่รอการลงโทษ ไม่มีเหตุลดโทษ
  5. คดีของอุดม ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 7 ข้อความ
    ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาเมื่อ 26 กรกฎาคม 2565 ว่ามีความผิด 2 ข้อความ จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือโทษจำคุก 4 ปี โดยอีก 4 ข้อความ ศาลมองว่าไม่ครบองค์ประกอบเนื่องจาก ม.112 คุ้มครองเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ขณะที่อีก 1 ข้อความ โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าหมายถึงบุคคลใด
  6. คดีของนรินทร์ ถูกกล่าวหาว่าแปะสติกเกอร์ “กูkult” คาดทับพระเนตรบนพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 10 
    ศาลอาญาพิพากษาเมื่อ 4 มีนาคม 2565 ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงว่ามีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ ให้จำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษจำคุก 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี 
  7. คดีของ นิว จตุพร ถูกกล่าวหาว่าใส่ชุดไทยเลียนแบบพระราชินี
    ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาเมื่อ 12 กันยายน 2565 เห็นว่าจำเลยมีการแสดงตนเป็นราชินี ในเชิงล้อเลียนเสียดสี ก่อให้เกิดความตลกขบขัน จำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 
  8. คดีของภัคภิญญา ถูกกล่าวหาว่าแชร์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ
    ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาเมื่อ 19 ตุลาคม 2565 ว่ามี 3 ข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 9 ปี
  9. คดีของสุทธิเทพ ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 1 ข้อความ
    ศาลอาญา รัชดา พิพากษาเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2565 ให้จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ 
  10. คดีของพรชัย ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 3 ข้อความ
    ศาลจังหวัดยะลา พิพากษาเมื่อ 15 ธันวาคม 2565 ว่ามี 1 ข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 ให้จำคุก 3 ปีให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือ 2 ปี ในขณะที่อีก 2 ข้อความให้ยกฟ้องเนื่องจาก ภาพหลักฐานไม่ปรากฏ URL ที่มาของข้อความในเอกสารที่นำมาแจ้งความ 
  11. คดีของอุกฤษฏ์ ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 5 ข้อความ
    ศาลอาญา รัชดา พิพากษาเมื่อ 21 ธันวาคม 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน รวม 5 ปี 30 เดือน และเนื่องจากคดีเป็นเหตุร้ายแรง ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและดูหมิ่นเกลียดชังสถาบันฯจึงไม่มีเหตุให้บรรเทาโทษ 

o กรรมละ 4 ปี ได้แก่ 

  1. คดีของมีชัย ถูกกล่าวหาว่า โพสต์วิจารณ์การใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์ โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาเมื่อ 18 กรกฎาคม 2565 ว่าข้อความที่โพสต์เป็นความเท็จ มีเจตนาลดเกียรติและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จำคุก 4 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน ไม่รอการลงโทษ
  2. คดีของ “ปณิธาน” ถูกกล่าวหาว่า คอมเมนต์ในโพสต์ข้อความในกลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส โดยศาลอาญา รัชดา พิพากษาเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565 ให้จำคุก 4 ปี รับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี ทั้งนี้ ศาลระบุว่าจากรายงานการสืบเสาะจำเลยประกอบอาชีพสุจริต ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ต้องเลี้ยงดูครอบครัว แต่การกระทำของจำเลยทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เป็นความผิดร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษ

o กรรมละ 5 ปี ได้แก่ 

  1. คดีของ “พลทหารเมธิน” ถูกกล่าวหาว่าพาดพิงกษัตริย์ระหว่างเถียงกับคู่กรณีที่ขับรถเฉี่ยวชน โดยคดีนี้พิจารณาในศาลทหารกรุงเทพ เมื่อ 11 สิงหาคม 2565 จำเลยให้รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน   
  2. คดีของ พิทักษ์พงษ์ ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความพาดพิงถึงความประพฤติของกษัตริย์ โดยศาลอาญา รัชดา พิพากษาเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565 ให้จำคุก 5 ปี รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน และเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ