จับตาสภาพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม 9 ก.ค. 68 นี้หลังรัฐบาลเลื่อน Entertainment Complex

หลังรัฐบาลประกาศเลื่อนร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ออกไป ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับที่ค้างคาอยู่ในระเบียบวาระมาราวหนึ่งปีก็กลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อีกครั้ง ที่ประชุมอาจนัดอภิปรายและลงมติรับหลักการในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 นี้

25 มิถุนายน 2568 มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ารัฐบาลได้ขอเลื่อนร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ออกไปพร้อมขยับร่างนิรโทษกรรมขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นๆ ซึ่งคาดหมายว่าจะถูกพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ทำให้ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด ว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาในลำดับต้นๆ ตามการจัดคิวใหม่ของรัฐบาลหรือไม่ แม้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องวันพิจารณา แต่ทิศทางนี้สะท้อนชัดว่านิรโทษกรรมกำลังก้าวขึ้นมาเป็นวาระสำคัญในการเมืองไทย

ก่อนหน้านี้ในช่วงเมษายน 2568 นิรโทษกรรมเคยเป็น “เรื่องเร่งด่วน” มาก่อนโดยถูกมัดรวมอยู่กับกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เคยพยายามเลื่อนให้ร่างกฎหมายสองฉบับนี้ถูกพิจารณาไวขึ้นแต่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย โดยหันไปอภิปรายเรื่องอื่นแทนจนหมดสมัยประชุม ทำให้ในสมัยประชุมใหม่ที่จะเริ่มในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไปนี้สภาผู้แทนราษฎรอาจได้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

เลื่อนคาสิโน จ่อเข้านิรโทษกรรมในช่วงเสียงปริ่มน้ำ

ในวันที่ 25 มิถุนายน 2568 มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมสมัยสามัญแห่งรัฐสภาในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เดิมมีแผนจะเริ่มพิจารณาด้วยร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามด้วยร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสี่ฉบับ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตัดสินใจเสนอให้เลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ออกไปก่อน เนื่องจากรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนที่มีความไม่เข้าใจและกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมาย ซึ่งตนยอมรับว่าการสื่อสารยังไม่เพียงพอ และต้องใช้เวลาเพิ่มเติมในการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน

พร้อมกันนั้น รัฐบาลได้เสนอให้ขยับร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆ ของการพิจารณาในสมัยประชุมวิสามัญครั้งนี้ แทนที่ร่างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยมนพรระบุว่า การปรับลำดับวาระครั้งนี้เป็นมติที่ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายวิปรัฐบาล ซึ่งมีวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานวิป

ร่างนิรโทษกรรม 4 ฉบับ กับเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

การเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมถึงสี่ฉบับ ในระยะเวลาตั้งแต่ปลายปี 2566 – ต้นปี 2567 ประกอบไปด้วยร่างของก้าวไกลเสนอเป็นร่างแรก พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรครวมไทยสร้างชาติ และร่างของภาคประชาชนตามลำดับ

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสี่ฉบับมีประเด็นที่แตกต่างกันอยู่ 3 ประเด็น ประกอบด้วย ระยะเวลาที่นิรโทษกรรม คดีที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมทันที และกรณียกเว้นที่ไม่ได้นิรโทษกรรม 

ในประเด็นกรอบเวลานิรโทษกรรม มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสองฉบับได้แก่ร่างครูไทยเพื่อประชาชนและร่างของภาคประชาชนที่กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นเหมือนกัน คือวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งตรงกับเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ขณะที่ร่างของพรรคก้าวไกลเลือกถอยระยะเวลาเริ่มต้นให้ยาวขึ้นไปถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการขับไล่รัฐบาลทักษิณ ส่วนร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติย้อนไปไกลกว่านั้นอีกหนึ่งปี คือปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์จนได้เสียงเกินครึ่งของสภา และเริ่มเกิดกระแสความไม่พอใจในสังคมจากกรณีการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ป นำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องให้ทักษิณลาออก 

สำหรับกรอบเวลาสิ้นสุด ร่างของภาคประชาชนและพรรคก้าวไกลกำหนดให้สิ้นสุดที่วันที่กฎหมายประกาศใช้ หมายความว่าคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตก่อนกฎหมายบังคับใช้จะเข้าข่ายได้รับนิรโทษกรรมทั้งหมด ขณะที่ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคครูไทยเพื่อประชาชนกำหนดให้สิ้นสุดแค่ปี 2565 เท่านั้น ซึ่งทำให้คดีการเมืองหลังจากปี 2565 ไม่อยู่ในข่ายได้รับนิรโทษกรรม แม้ว่าจะเข้าเงื่อนไขในด้านอื่นก็ตาม

 นอกจากประเด็นกรอบระยะเวลาที่กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ คดีที่เข้าข่ายได้รับนิรโทษกรรมทันที โดยเฉพาะร่างที่เสนอโดยภาคประชาชน ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่ามีหกกลุ่มคดีที่ต้องได้รับนิรโทษกรรมในทันทีโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ตัวอย่างเช่น 

  • ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
  • คดีจากความผิดตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 
  • คดีที่เกี่ยวข้องกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 
  • ความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 

ขณะที่ร่างจากพรรคครูไทยเพื่อประชาชนและพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะมีคณะกรรมการพิจารณา แต่คดีก็จะได้รับนิรโทษเฉพาะบางประเภทเท่านั้นตามที่ระบุไว้ท้ายร่าง ไม่ใช่ทุกคดีการเมืองจะถูกนิรโทษกรรมโดยอัตโนมัติ

ประเด็นที่สามคือเรื่องของความผิดหรือคดีที่ไม่เข้าข่ายการนิรโทษกรรม ซึ่งกลายเป็นจุดตัดสำคัญระหว่างร่างกฎหมายแต่ละฉบับ ร่างของภาคประชาชนและพรรคก้าวไกลไม่ให้นิรโทษกรรมคดีเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายมาตรา 113 รวมถึงความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม นอกจากนี้พรรคก้าวไกลไม่นิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา (เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น) ยกเว้นเสียแต่ว่าจะเป็นการกระทำโดยประมาท 

ในขณะที่สองร่างจากพรรครวมไทยสร้างชาติและครูไทยเพื่อประชาชนระบุชัดว่าไม่ให้นิรโทษกรรมคดีทุจริต คดีมาตรา 112 และคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง โดยเฉพาะร่างรวมไทยสร้างชาติที่เขียนชัดเจนว่าไม่ให้นิรโทษกรรมกับคดีที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ว่าจะเจตนาหรือประมาทก็ตาม