การรับรองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เริ่มขยับขึ้นไปก้าวหนึ่งหลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมเริ่มมีผลใช้บังคับ เมื่อ 23 มกราคม 2568 แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่หน่วยงานภาครัฐหรือรัฐสภาต้องร่วมกันผลักดันกฎหมาย เพื่อให้ประกันสิทธิและคุณภาพชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาทิ การรับรองเพศอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การอุ้มบุญ

ร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพและคำนำหน้านาม เคยเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว แต่ “ตกไป” และยังมีร่างกฎหมายอีกสองฉบับ คือร่างจากกรมกิจการสตรีกับร่างจากภาคประชาชน ที่ยังไม่ได้เข้าสภา
นอกจากนี้ ภาคประชาชนในนามกลุ่ม Intersex Thailand ก็รณรงค์ผลักดันร่างพระราชบัญญัติรับรองการกำหนดเจตจำนงในอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศของบุคคล พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ) อีกหนึ่งฉบับ กำหนดกลไกให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิกำหนดเพศของตนได้ และได้รับความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ โดยรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 10,000 รายชื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
ร่วมลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ได้ที่ https://intersexthailand.org/petition/
อายุ 18 ปี ยื่นคำร้องขอรับรองเพศได้ ไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์
ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ กำหนดให้บุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถยื่นคำร้องรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ สภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงเพศ (Sex) เครื่องหมายระบุเพศภาพ (Gender Remark) เช่น คำหรือเครื่องหมาย ที่บุคคลถูกบันทึกว่ามีเพศ ให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนเพศและเครื่องหมายระบุเพศ รวมถึงคำนำหน้า ในระบบประวัติทะเบียนราษฎร รวมถึงเอกสารทะเบียนราษฎรต่างๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน
การยื่นคำร้อง สามารถยื่นต่อนายทะเบียนที่สำนักงานเขต 50 แห่งในกรุงเทพมหานคร สำนักทะเบียนจังหวัด สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น เช่น เทศบาล หรือจะยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งก็ได้ กรณีที่เป็นคนสัญชาติไทยแต่อยู่นอกประเทศ สามารถยื่นคำร้องต่อกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยในต่างประเทศได้
ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ยังกำหนดให้สิทธิสำหรับคนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และคนต่างชาติหรือคนไร้สัญชาติที่รัฐบาลออกหนังสือเดินทางให้ก็สามารถยื่นคำร้องขอรับรองอัตลักษณ์ทางเพศได้เหมือนกัน
เมื่อยื่นคำร้องแล้วนายทะเบียนจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศ เครื่องหมายระบุเพศสภาพ ในข้อมูลประวัติทะเบียนราษฎรและเอกสารทางทะเบียนราษฎณ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง และเมื่อนายทะเบียนดำเนินการเสร็จแล้ว ผู้ยื่นคำร้องจะได้รับความคุ้มครองในสิทธิและหน้าที่ตามอัตลักษณ์ของตนนับแต่วันที่ได้นายทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อมูล
หากนายทะเบียนไม่รับคำร้องหรือไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่ที่ได้รับทราบคำสั่ง หากร่างกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ หลักเกณฑ์วิธีการยื่นคำร้อง การดำเนินการตามกระบวนการและการอุทธรณ์จะถูกออกเป็นกฎกระทรวง
อายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ก่อนขอรับรองเพศ
สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์สามารถยื่นคำร้องได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมผู้แทนโดยชอบธรรม (บิดามารดาหรือผู้ปกครอง) และให้อัยการประจำสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้นายทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อมูล
การพิจารณาของศาล ให้เอาหลักปฏิบัติต่อเด็กโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดและไม้ให้เลือกปฏิบัติ โดยต้องให้น้ำหนักที่เหมาะสมต่อทัศนะของเด็กและคำนึงถึงอายุ และวุฒิภาวะของเด็กด้วย ศาลมีอำนาจชี้ขาดหากความยินยอมของเด็กขัดแย้งกับความยินยอมของผู้ปกครอง
ห้ามนายทะเบียนขอใบรับรองแพทย์ หากมีข้อสงสัยอ้างการแสดงออก-ให้คนใกล้ชิดยืนยันได้
ตามมาตรา 9 ในร่างพ.ร.บ. รับรองเพศฯ ระบุ “ห้าม” ไม่ให้นายทะเบียนร้องขอเอกสารการรับการรักษาทางการแพทย์เพื่อเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะทางเพศของบุคคล (Sex Characteristic) ให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพเพื่อเป็นเงื่อนไขในการทะเบียน แต่หากนายทะเบียนมีข้อสงสัย บุคคลที่ยื่นคำร้องสามารถกล่าวอ้างถึง
- การแสดงออกทางเพศสภาพที่สอดคล้องกับความรู้สึกภายในของบุคคลที่รับรู้สึกนึกทางเพศว่าตนเป็นชาย หญิง หรือไม่อยู่ในระบบสองเพศ หรือที่เรียกว่า อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ (Gender Identity)
- สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดเพื่อเป็นพยาน
- การเปลี่ยนชื่อในทะเบียนราษฎร
ทั้งนี้ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ คุณลักษณะทางเพศของบุคคล (Sex Characteristic) คือ ลักษณะทางชีววิทยาของบุคคลที่แสดงให้เห็นถึงเพศสรีระ เช่น อวัยวะเพศ ต่อมเพศ รูปแบบสารพันธุกรรม ฮอร์โมน และลักษณะทางกายภาพของบุคคล เช่น มวลกล้ามเนื้อ เส้นผม เส้นขน เต้านม หรือลักษณะที่ชี้ว่าเป็นเพศชาย หญิง หรือบุคคลที่ลักษณะทางเพศหลากหลายโดยธรรมชาติ (Intersex)
แก้ไขคำระบุเพศ-เปลี่ยนคำนำหน้าได้ มีทางเลือกใช้คำนำหน้า “นาม”
ผู้ยื่นคำร้องขอรับรองเพศ สามารถยื่นขอจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศโดยสามารถระบุเพศตามความประสงค์ของตนได้สามประเภท
- เพศชาย (Male/M)
- เพศหญิง (Female/F)
- เพศสภาพนอกระบบสองเพศ (X)
ทั้งนี้เพศ-เครื่องหมายระบุเพศสภาพ รวมถึงคำหน้านาม ที่จะยื่นคำร้องให้แก้ไข จะต้องไม่ใช่เพศเดิมที่ระบุอยู่ในระเบียบทะเบียนราษฎรปัจจุบัน
สำหรับบุคคลนอกสองระบบเพศสภาพ (X) เมื่อยื่นคำร้องและนายทะเบียนได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสามารถเลือกสิทธิและหน้าที่บุคคลที่ได้รับมาจากการรับรองเพศโดยกำเนิดตามความประสงค์ของผู้ยื่นคำร้อง โดยนายทะเบียนจะต้องสลักหลังใบสูติบัตร และแถบบันทึกข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งนี้สิทธิและหน้าที่ของบุคคลนอกระบบสองเพศสภาพสามารถเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้
ทั้งนี้บุคคลที่ระบุเพศสภาพนอกระบบสองเพศ (X) มีสิทธิใช้คำนำหน้านามบุคคลว่า “นาม”
สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
ผู้ที่ผู้ยื่นคำร้องขอรับรองเพศ มีสิทธิและหน้าที่ เช่น
- มีสิทธิใช้คำนำหน้านามที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนตามทะเบียนราษฎร
- มีสิทธิที่ได้มาจากการรับรองเพศ ตามเพศที่ได้กำหนดเจตจำนง
- มีสิทธิที่ได้มาจากการรับรองเพศ ตามกฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมรวมถึงวิธีพิจารณากระบวนการยุติธรรมในเด็ก
- มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล จะเปิดเผยข้อมูลทะเบียนราษฎร เอกสารทางทะเบียนราษฎรของบุคคลไม่ได้เว้นแต่จะได้รับความยินยอม หรือเข้าข้อยกเว้นอื่นๆ ตามกฎหมาย
- มีสิทธิได้รับความคุ้มครองที่จะไม่ถูกแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม
- สำหรับผู้มีครรภ์ มีสิทธิลาคลอดได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และมีสิทธิเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ ภายใต้เงื่อนไขตามประมวลกฎหมายอาญา
นอกจากนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังครอบคลุมถึงประเด็นการศัลยกรรมเพื่อยืนยันหรือเปลี่ยนแปลงเพศ เป็นการได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยให้ถือว่าเป็นความจำเป็นในเรื่องสุขภาพและต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม และยังถือให้เป็นการบริการสาธารณสุขภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ด้วย
เด็กที่เป็น Intersex ให้ตัดสินใจเลือกเพศของตนเอง
สำหรับกรณีเด็กที่เกิดมามีเพศสภาพหลากหลายโดยธรรมชาติ (Intersex) ผู้ปกครองหรือบุคคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถบังคับหรือแทรกแซงทางการแพทย์ใดๆ ต่อเด็กที่เป็น Intersex ได้จนกว่าเด็กจะสามารถยินยอมด้วยตนเองได้ หากเด็กมีความประสงค์จะผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศ ผู้แทนโดยชอบธรรมจะต้องยินยอมภายใต้การดูแลของคณะกรรมการสหวิชาชีพ
แต่หากว่าเป็นไปเพื่อสวัสดิภาพในการดำรงชีวิต เช่น ในกรณีที่อวัยวะเพศไม่สามารถขับถ่ายได้ คณะกรรมการสหวิชาชีพจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและต้องคำนึงถึงการดำรงชีวิตของเด็กโดยไม่กระทบต่อต่อมเพศและอวัยวะเพศ
สำหรับการบันทึกข้อมูลในทะเบียนราษฎรของเด็กที่เป็น Intersex ห้ามไม่ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือนายทะเบียนกำหนดเพศของเด็กในทะเบียนราษฎรจนกว่าเด็กจะมีความสามารถให้ยินยอมโดยชัดแจ้ง แต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ระบุเพศเป็นเพศชาย หรือหญิงได้