เช็กเสียงโหวตร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ พรรคร่วมรัฐบาลเสียงไม่แตกเทโหวตคว่ำ

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567 สภามีวาระพิจารณาร่างกฎหมายหนึ่งในร่างกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศและสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ คือ ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ) ที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล โดยเป็นการพิจารณาในวาระหนึ่ง ขั้นรับหลักการ

ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ เป็นร่างกฎหมายที่ส่งผลต่อสิทธิในการกำหนดคำระบุเพศและการใช้คำนำหน้า สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ กำหนดกลไกและผลของการรับรองเพศสภาพ ผู้ที่จะขอให้รับรองเพศสภาพได้นั้น จะต้องมีสัญชาติไทย ไม่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จำคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์  และต้องไม่เป็นผู้มีรายชื่อในฐานข้อมูลอาชญากรรมข้ามชาติในคดีความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สำหรับผลที่ตามมาจากการขอรับรองเพศสภาพ นายทะเบียนจะต้องแก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎร ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขคำนำหน้านามและคำระบุเพศสภาพในเอกสารราชการต่างๆ เช่น บัตรประชาชน

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างกฎหมายดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 154 เสียง ไม่เห็นด้วย 257 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ เป็นอันตกไปในวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร โดยเสียงที่โหวต “ไม่เห็นด้วย” นั้น ล้วนมาจากเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสียงไม่แตก พร้อมใจกันลงมติไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ฟากพรรคฝ่ายค้านแม้โดยภาพรวมจะมีมติไปในทางเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ยังมีบางพรรคที่ปล่อยฟรีโหวต ทำให้เสียงการลงมติของ สส. ในพรรคไม่ได้เป็นในทิศทางเดียวกัน

ชวนดูผลการลงมติของแต่ละพรรค ใครโหวตอย่างไร และดูเหตุผลผ่านคำอภิปรายของสามสส. ว่าทำไมถึงโหวตคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้

พรรคร่วมรัฐบาลเสียงไม่แตก ปชป. โหวตเห็นด้วย 7 เสียง ไทยสร้างไทยปล่อยฟรีโหวต

 เห็นด้วยไม่เห็นด้วยงดออกเสียงไม่ลงคะแนนเสียง
รวม15425711
พรรคร่วมรัฐบาล
เพื่อไทย123
ภูมิใจไทย66
พลังประชารัฐ29
รวมไทยสร้างชาติ20
ประชาชาติ6
ชาติไทยพัฒนา3
ชาติพัฒนากล้า3
เพื่อไทรวมพลัง2
พรรคฝ่ายค้าน
ก้าวไกล143
ประชาธิปัตย์7
ไทยสร้างไทย33
เป็นธรรม 1
พรรคเล็กที่มี สส. หนึ่งคน
พลังสังคมใหม่1
ใหม่1
ท้องที่ไทย1
ไทยก้าวหน้า1

หากดูเสียงของพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคที่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ พบว่าเสียง สส. ในพรรคไม่แตก 143 เสียงต่างเห็นพ้องโหวตเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ขณะที่จำนวนเสียงเห็นด้วยที่เหลือก็มาจากพรรคฝ่ายค้านเช่นกัน โดยพรรคประชาธิปัตย์ แม้ สส. ส่วนใหญ่จะไม่ได้เข้าร่วมลงมติร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็มีสส. ที่โหวตเห็นด้วยจำนวน 7 เสียง คือ

1.       เดชอิศม์ ขาวทอง

2.       บัญญัติ บรรทัดฐาน

3.       ประมวล พงศ์ถาวราเดช

4.       ราชิต สุดพุ่ม

5.       วุฒิพงษ์ นามบุตร

6.       ศักดิ์สิทธิ ขาวทอง

7.       สุภาพร กำเนิดผล

ด้านพรรคไทยสร้างไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้านที่มีที่นั่งในสภาหกที่นั่ง มีทิศทางในการปล่อย “ฟรีโหวต” จะเห็นได้จากการที่ สส. ในพรรคครึ่งหนึ่งโหวตเห็นด้วย แต่อีกครึ่งหนึ่งก็โหวตไม่เห็นด้วย โดยเสียงเห็นด้วยจากสส. พรรคไทยสร้างไทย 3 เสียง มาจาก ชัชวาล แพทยาไทย ฐากร ตัณฑสิทธิ และรำพูล ตันติวณิชชานนท์ ขณะที่อีก 3 เสียง โหวตไม่เห็นด้วย ได้แก่ สุภาพร สลับศรี หรั่ง ธุระพล และอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์

ด้านเสียงเห็นด้วยจำนวนที่เหลือมาจากพรรคเล็กที่มี สส. ที่นั่งเดียวในสภา คือ ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ จากพรรคไทยก้าวหน้า ซึ่งเคยสังกัดพรรคก้าวไกลมาก่อน แต่ถูกขับออกจากพรรคสด้วยประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศ

ส่วนพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ พรรคเป็นธรรม โหวตงดออกเสียง จากปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมขณะที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ส่วนพรรคใหม่ ซึ่งมี สส. เพียงหนึ่งที่นั่ง คือ กฤดิทัช แสงธนโยธิน โหวตไม่ลงคะแนนเสียง

ฟากพรรคร่วมรัฐบาล ชัดเจนว่าเสียงไม่แตก ล้วนเทคะแนนเสียงโหวต “ไม่เห็นด้วย” กับร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ พรรคเพื่อไทย 123 เสียง พรรคภูมิใจไทย 66 เสียง พลังประชารัฐ 29 เสียง รวมไทยสร้างชาติ 20 เสียง ประชาชาติ 6 เสียง ชาติไทยพัฒนา 3 เสียง ชาติพัฒนากล้า 3 เสียง เพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง ด้านพรรคที่มี สส. หนึ่งที่นั่งอย่างพลังสังคมใหม่ และท้องที่ไทย ก็โหวตไม่เห็นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี แม้สภาจะคว่ำร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ไปแล้วในวาระหนึ่ง ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไป แต่ยังมีร่างกฎหมายอีกสองฉบับที่มีหลักการทำนองเดียวกัน แต่ยังไม่ได้เสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร คือ

1) ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวผลักดันขึ้น ซึ่งหากจะเสนอเข้าสภาจะต้องเสนอผ่ายคณะรัฐมนตรี (ครม.)

2) ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT) เป็นร่างที่ภาคประชาชนร่างขึ้น โดยใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมายซึ่งต้องรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีขึ้นไป) อย่างน้อย 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยกำลังเปิดให้เข้าชื่อผ่านทาง https://www.gen-act.org

หากร่างกฎหมายอีกสองฉบับถูกนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ทิศทางการลงมติของ สส. จะเป็นอย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป

อ่านสรุป-เปรียบเทียบเนื้อหาร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ-คำนำหน้า ทั้งสามฉบับ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/6232

สส.เพื่อไทย-ประชาชาติ หวั่นปัญหาจัดการคนแห่เปลี่ยนเอกสาร-ก่ออาชญากรรม-ขัดหลักศาสนา

ในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ มี สส. จำนวนไม่น้อยที่อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว โดยส่วนใหญ่จะเป็น สส. จากพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสภา ขณะที่ สส. พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งลงมติโหวตไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ หลายคนอภิปรายไม่สนับสนุนร่างกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การก่ออาชญากรรม เหตุผลทางด้านศาสนา สส. บางรายยังอ้างถึงความภาคภูมิใจตัวเอง (Pride) ว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้คำนำหน้า ยกมาเป็นเหตุผลเพื่อไม่สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้

ธีระชัย แสนแก้ว สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การออกกฎหมายใดๆ จะต้องเป็นไปตามพัฒนาของสังคมสอดคล้องกับบริบทของสังคม หากกฎหมายใดสุดโต่งเกินเกินกว่าความต้องการของสังคม กฎหมายนั้นก็จะไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้สังคม แต่อาจจะสร้างปัญหา

ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอัมมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เราให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะแต่งกายอย่างไร ทุกวันนี้ก็เท่าเทียมและเสมอภาค ด้านการคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคน ในทุกเรื่อง ก็มีความเท่าเทียมกัน จะเห็นได้จากการที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระหนึ่ง รับรองการเป็นคู่สมรสของคนสองเพศ และคนเพศเดียวกัน ก็สนับสนุนมาโดยตลอด ไม่ว่าใครบนโลกนี้ต่างมีความรักไม่ควรถูกสกัดกั้น เพราะถูกจำกัดเพียงคำนำหน้านาม

ธีระชัยอภิปรายต่อว่า คำนำหน้าชื่อไม่ว่าจะเป็นนาย นาง นางสาว ที่เป็นการแบ่งเพศมาแต่กำเนิด กรณีของกฎหมายต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์เงื่อนไขยากง่ายแตกต่างกันไป ตนมองว่าไม่ว่าจะเป็นเพศไหนทุกคนควรมีสิทธิได้เลือกความเป็นตัวเอง หากไม่สะดวกใช้คำนำหน้า เขามีสิทธิเลือก ใส่เป็นชื่อของเขาเลยก็ได้ เพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียม บางประเทศก็กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องนี้ไว้ง่าย เช่น มอลต้า อาเจนติน่า ไอร์แลนด์ บางประเทศก็กำหนดขั้นตอนยุ่งยากมาก เช่น ญี่ปุ่น มาเลย์เซีย สิงคโปร์ การเปลี่ยนคำนำหน้าจะต้องมีการแปลงเพศก่อน ซึ่งคนจะผ่าตัดแปลงเพศได้ต้องมีฐานะเศรษฐกิจดีระดับนึง คำถามคือ คนที่อยู่ชนบทที่ไม่มีฐานะดีพอที่จะผ่าตัดแปลงเพศได้สมบูรณ์ และไม่มีเงินไปผ่าตัดแปลงเพศ มันจะเกิดประเด็นปัญหาสังคมขึ้นมาใหม่อีกหรือไม่

สส. จากพรรคเพื่อไทยตั้งคำถามต่อไปว่า การเปลี่ยนคำนำหน้านาม วันดีคืนดีอยากเปลี่ยนกลับ จะเปลี่ยนกลับไปกลับมา จะเกิดอะไรขึ้นในสังคมหรือไม่ ระบบนายจ้างลูกจ้างที่จะใช้แรงงานที่จะต้องใช้แรงงานเฉพาะด้านจะเป็นอย่างไร ความสับสนของหน่วยงานราชการ พื้นฐานข้อมูลบุคคลจะต้องเป็นอย่างไร นี่เป็นข้อกังวล ประเทศฟินแลนด์จะต้องทำหมันก่อน เพราะป้องกันกรณีการตั้งท้อง จะมีปัญหาสิทธิใครเป็นพ่อแม่เด็ก ปัญหาจะเกิดกับตัวเด็ก

ถ้าเรายินยอมให้มีการเปลี่ยนคำนำหน้านาม การที่จะมีกฎหมายให้ใช้สิทธิว่าบรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถเปลี่ยนได้เองตามที่ตัวเองต้องการ มันสุ่มเสี่ยงก่ออาชญากรรมมากเกินไป ในกรณีที่คนที่ไม่มีความประสงค์ เพื่อจะไปหลอกรับหรือเพื่อลวนลามบุคคลอีกเพศหนึ่งโดยหลอกว่าเป็นเพศเดียวกันแล้วปัญหาจะเป็นอย่างไร

ตนมีโอกาสไปกับรัฐมนตรียุติธรรม ที่เรือนจำจังหวัดอุดรธานี เห็นการแบ่งแยกนักโทษชายหญิง ถ้าสมมุติเพศทางเลือก มีจิตใจไม่ตรงกับเพศสภาพ กระทำผิดแล้วเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เขาต้องอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังชายหรือหญิง บางคนเพศสภาพเป็นชายแต่จิตใจเป็นผู้หญิง พอเข้าไปในเรือนจำอยู่รวมกับผู้ต้องขังชาย มีหน้าอก สภาพจิตใจของคนประเภทนี้จะเป็นอย่างไร เพราะว่านมก็ยังไม่เอาออก ต้องตัดผมสั้น อย่างนี้เราสามารถให้เขามีสิทธิเลือกได้บ้างหรือไม่ ถ้ากฎหมายนี้ผ่าน ก็ต้องใช้งบประมาณ หญิง ชาย และอื่นๆ การทำกิจกรรมร่วมกันจะแยกยังไง

ถ้าเปลี่ยนคำนำหน้านาม เปลี่ยนแล้วจะมีความเป็นธรรมรึเปล่า เราสามารถสร้างมันได้ด้วยตัวเองมากกว่า เราสามารถผลักดันให้ผู้มีอำนาจใช้กลไกทางกฎหมายสร้างความเป็นธรรม เป็นรูปธรรมได้ดียิ่งกว่า เปลี่ยนนายเป็นนาง เปลี่ยนนางเป็นนาย ตนไม่อยากมองว่าแค่คำนำหน้านาม นาย นาง นางสาว เด็กชาย เด็กหญิง เป็นกรอบกำหนดในชีวิต เพราะไม่ว่าท่านจะเป็น นาย นาง นางสาว หรือมนุษย์ เสมอภาคกันทุกคนท่านก็คือคน อย่าได้เพียงแต่คำนำหน้านาม แต่ถ้าหากว่าจะทำกันจริงๆ ขอให้มันละเอียดรอบคอบมากกว่านี้ ทุกคนในบ้านเมือง ฝ่ายค้าน รัฐบาล ภาคประชาชน จะต้องละเอียดมากกว่านี้

“ถ้าคนเรารักกันจริงคำนำหน้านามไม่จำเป็นหรอกครับ เป็นกำแพงปิดกั้นความรัก ถ้าเรามัวแต่เอา นาย นาง นางสาวมามาเป็นอุปสรรคปิดกั้นความรักผมมองว่ามันไม่ใช่ความรัก ผมขอถามว่า สังคมควรเปลี่ยนเพื่อเรา หรือเราควรเปลี่ยนเพื่อสังคมกันแน่ แล้วอะไรจะดีกว่ากัน อะไรจะเหมาะสมกว่ากันครับ” ธีระชัยกล่าว

ด้านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เริ่มต้นการอภิปรายว่า ตนรู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจทุกครั้งที่สภาเปิดพื้นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ตนเป็นผู้หนึ่งที่เห็นด้วยกับการตั้งกรรมาธิการวิสามัญสมรสเท่าเทียมเพราะเชื่อและเคารพในสิทธิเสรีภาพ ในความเท่าเทียม กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีหลายเรื่องที่ให้ความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมิติสินสมรส และเรื่องเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่นๆ

แต่เรื่องของการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารับฟังให้ครบถ้วนรอบด้าน อย่าเหาะเกินลงกา อย่าไปไกลชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะว่าเดี๋ยวจะมีปัญหาติดตามมา จะเป็นไปในลักษณะสร้างปัญหาต่อก่อปัญหาใหม่

การที่เราจะภาคภูมิใจหรือไม่ภาคภูมิใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ไม่ได้ขึ้นเพียงแต่ว่าเราใช้คำนำหน้านามว่าอะไร การที่เราจะภาคภูมิใจหรือไม่ภาคภูมิใจเรื่องใดก็ตามนั้น น่าจะมีสาเหตุปัจจัยจากหลายประการ คงไม่ใช่ว่าปกติก็เป็นคนหม่นหมองตรอมเศร้า แต่พอเปลี่ยนคำนำหน้านามแล้วก็จะลุกขึ้นมาแฮปปี้ชนิดที่ว่าเปลี่ยนปุ๊บแฮปปีปั๊บ

ในอดีตเคยมีศิลปินหมอลำ ชื่อว่า ปอยฝ้าย มาลัยพร เคยร้องเพลงว่า …ฉันภูมิใจ  พอใจหล่ะได้เป็นกะเทย ไผสิเว้าเยาะเย้ย  กะส่างเถาะเว้ย กะส่างเถาะเว้ยปากคน (ร้องเพลง) เป็นกะเทยก็ภาคภูมิใจได้ แล้ววันนี้คำว่ากะเทย คำที่บ่งบอกเพศสภาพ เพศที่สามสี่ห้า ไม่ใช่สิ่งที่จะไปเหยียดกันกัน ไม่ใช่คำที่ฟังแล้วถูกประณามหยามหมิ่น สังคมเราเปิดกว้างและเปิดรับกับความหลากหลายทางเพศ

วันนี้สิ่งที่ต้องตั้งสังเกต คือ เราจะเป็นชายจริงหญิงแท้ เราจะเป็น LGBTQ เราก็ควรจะภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น มีงานเทศกาลที่เขาเรียกว่างานไพรด์ (Pride) ไพรด์แปลว่าภาคภูมิใจ ก็ไหนว่าเราภาคภูมิใจในความเป็น LGBTQ แล้วเราจะไปเปลี่ยนจากสภาพ LGBTQ ไปเป็นนาย นางสาว เท่ากับว่าเราไม่ได้ภูมิใจกับเพศสภาพกับสถานะที่เราเป็นหรือเปล่า เราจะเป็นนาย จะเป็นนางสาว เราก็สร้างคุณค่าแห่งความภาคภูมิใจด้วยตัวของเราเองได้

วันนี้เรากำลังคุยกันว่านอกจากสมรสเท่าเทียมที่เรากำลังศึกษาพิจารณาอยู่นั้น จะไปไกลถึงขั้นเปลี่ยนคำนำหน้านามหรือไม่ สิ่งที่จะเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ หากทุกคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนคำนำหน้านาม ยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ขอสามารถออกเอกสาร ให้จัดทำเอกสารหรือให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเอกสารได้ เพื่อให้ข้อมูลคำนำหน้านามและเพศตรงกับเพศที่ตนได้รับการรับรองในเอกสารดังต่อไปนี้ ทะเบียนบ้านก็จะมีคนไปเปลี่ยน บัตรประจำตัวประชาชน สูติบัตรหรือสำเนาสูติบัตร หนังสือเดินทาง ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เอกสารสิทธิหรือเอกสารอื่นใดที่หน่วยราชการออกให้ตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือคำสั่ง ลองนึกภาพตาม ถ้า LGBTQ หรือแม้แต่ชายจริงหญิงแท้ ลุกขึ้นไปเปลี่ยนคำนำหน้านาม จะมีคนไปติดต่อหน่วยงานราชการจำนวนมากขนาดใด จะต้องใช้งบประมาณในการเปลี่ยนข้อมูลในการจัดทำบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ เอกสารสิทธิต่างๆ มันจะสับสนอลหม่านขนาดไหน

“ผมเชื่อมั่นว่าจะใช้คำนำหน้านามว่าอะไร เราก็สามารถภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็นได้ ก่อนจะเรียกร้องให้คนอื่นเคารพเรา เราควรเคารพผู้อื่นก่อน ก่อนเราจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับตัวเอง เราหันไปมองให้รอบด้านเสียก่อนว่า สิทธิที่เราเรียกร้องนั้นได้ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือไม่ และต้องระมัดระวังถึงผลกระทบที่จะตามมา ดา เอ็นโดรฟินเคยร้องเพลงไว้ว่า ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ นั่นก็ลำบากแล้วนะครับ ถ้าเราเปลี่ยนคำนำหน้านาม มันจะไม่หยุดแค่ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ แต่มันจะกลายเป็นไม่รู้จักชาย ไม่รู้จักหญิง ไม่รู้จัก LGBTQ ขอยืนยันตรงนี้ว่าเราภาคภูมิใจในความเป็นตัวของเราเองได้ตลอดเวลาครับ”

ขณะที่ซูการ์โน มะทา สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ ที่มักจะลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านกฎหมายรับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็ยังคงยืนกรานคัดค้านร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ โดยยกหลักทางศาสนาอิสลามมาเช่นเดียวกัน

ซูการ์โนระบุว่า พรรคประชาชาติและผู้สนับสนุนพรรคประชาชาติ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามไม่เห็นด้วยกับร่างรับรองเพศ คำนำหน้าเพศ การคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ และการรับรองสมรสเท่าเทียม เราขอยืนยันในจุดยืน

พรรคประชาชาติเป็นพรรคที่ก่อตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราได้สนับการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่าห้าแสนแสียงและในการรณรงค์หาเสียง พรรคมีจุดยืนไม่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งการลงมติในครั้งนั้นก็ปรากฎชัดว่าเรายืนหยัดในจุดยืนเหมือนเดิม ในเรื่องของความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่ม LGBT โดยส่วนตัวตนไม่มีอคติใดหรือความรู้สึกใดกับกลุ่มเหล่านี้ แต่ด้วยความศรัทธาความยึดมั่นในหลักการการนับถือศาสนา เรายึดมั่นในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อันเป็นวัจนะของพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา (หมายความว่า “พระองค์ อัลลอฮฺทรงบริสุทธิ์และทรงสูงส่งยิ่ง”)  ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้แต่อักขระเดียว ฉะนั้นในคำจำกัดความในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานกำหนดว่าเราจะเห็นด้วยกับความหลากหลายทางเพศไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่ต้องยึดและปฏิบัติ

สำหรับร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ตนขออภิปรายไม่เห็นด้วยที่จะแก้คำนำหน้านาม ตนเกิดในประเทศไทย นับถือศาสนาอิสลาม ใช้คำนำหน้า นายซูการ์โน มะทา ตอนนี้ 63 ปี แต่คำว่านาย มันไม่ใช่มีแค่ 63 ปี นางหรือนางสาวไม่ได้มีแค่ 63 ปี มันมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่เขานับถือศาสนาอิสลาม ที่เขาเคร่งครัดกับหลักการความเชื่อ เขาจะรู้สึกอย่างไรในเมื่อตัวแทนที่เป็นตัวแทนของพวกเขาต้องมาเห็นชอบกับสิ่งที่ขัดกับพระมหาคำภีร์อัลกุรอาน

“เรากำลังเดินทางที่ตรงข้ามกับหลักข้อเท็จจริงที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในหลักการของอิสลามแล้ว สิ่งที่จะธำรงโลกนี้ได้คือมนุษย์ เพศชายและเพศหญิง ฉะนั้นเมื่อสภาแห่งนี้พยายามที่จะมาแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวผมเป็นห่วงว่าจะกระทบกับความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนของคนไทยอีกหลายสิบล้านคน วันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเพื่อนสมาชิกจะเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหน แต่พรรคประชาชาติก็ยืนหยัดว่าเราไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้”

ซูการ์โนทิ้งท้ายว่า ตนไม่ได้มีปัญหากับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ต้องยึดมั่นในหลักการของศาสนา ต้องยึดมั่นในพระมหาคำภีร์อัลกุรอาน เพราะวันหนึ่ง เราต้องกลับไปคืนสู่พระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ชีวิตเราเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป