ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 4 คน อาจมาไม่ทันอ่านคดียุบพรรคอนาคตใหม่

หลังจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญประกาศกำหนดวันนัดฟังคำวินิจฉัยคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 191.2 ล้าน ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 อีกด้านหนึ่งในฝั่งของวุฒิสภาได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 จาก 5 คน ไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563

ตามวิธีการทางกฎหมาย “ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ทั้ง 4 คน ที่ผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภามาหมาดๆ จะมาเพื่อคดียุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่

 

นัดตัดสินคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงิน มีตุลาการห้าคนหมดวาระแล้ว

ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 191.2 ล้านนั้น แท้จริงแล้วในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้าคน มีตุลาการถึงห้าคนที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้ แต่สาเหตุที่ยังอยู่ในตำแหน่งต่อมาได้อีกหลายปี ก็เป็นเพราะระบบกฎหมายพิเศษจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ตั้งแต่ในปี 2559 คสช. เห็นว่ากำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2559 สั่งระงับการสรรหาองค์กรอิสระทุกแห่งเพื่อรอรัฐธรรมนูญประกาศใช้

ในเดือนพฤษภาคม 2560 ตุลาการ 5 คน ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล จะพ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากหมดวาระ เนื่องจากทั้งห้าคนอยู่ในตำแหน่งมาจนครบ 9 ปีแล้วตามรัฐธรรมนูญ 2550 

แต่วันที่ 5 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 23/2560 กำหนดให้การสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำไปได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้

แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ทันได้ทำงาน วันที่ 20 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ “มาตรา 44” อีกครั้ง ออกคำสั่งฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน และยืดอายุให้ตุลาการทั้ง 5 คนทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ พร้อมด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในบทเฉพาะกาลก็พบว่า ตุลาการทั้งชุดยัง “ได้ไปต่อ” ไม่ถูก “เซ็ตซีโร่” คนที่อยู่ในตำแหน่งที่ยังไม่หมดวาระสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อได้ ไม่ต้องทำการสรรหาใหม่ทั้งหมด ส่วนตุลาการที่หมดวาระแล้วแต่ คสช. ใช้ “มาตรา 44” ช่วยยืดอายุไว้ ก็ให้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้วเสร็จ

นับตั้งแต่การเปิดประชุมรัฐสภาชุดใหม่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นเวลากว่า 8 เดือน ที่กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ ตุลาการที่หมดวาระทั้ง 5 คน ก็ยังได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ทำให้ตุลาการบางคนมีอายุการทำงานยาวนานถึง 11 ปี อยู่ยาวมาจนตัดสินคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ คดีการถือหุ้นบริษัทวีลัคของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คดีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน และอาจจะได้ตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ด้วย

 

กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากระบบราชการ 

ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ตุลาการ 3 คน มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
  • ตุลาการ 2 คน มาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
  • ตุลาการ 1 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
  • ตุลาการ 1 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์
  • ตุลาการ 2 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้รับหรือเคยรับราชการ

โดยมาตรา 17 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

โดยกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์, รัฐศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้รับหรือผู้เคยรับราชการ มาตรา 11 กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้สรรหาทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 9 คน มาจากฝ่ายข้าราชการ 7 คน ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และองค์กรอิสระอีกองค์กรละ 1 คน ได้แก่ ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่วนฝ่ายการเมืองมีเพียงแค่ 2 คน ได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน

หลังจากนั้นเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา, ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว มาตรา 12 วรรค 8 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ส่งชื่อผู้ได้รับเลือกให้วุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ และวุฒิสภาต้องเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ 126 คนขึ้นไป

หลังจากได้รับความเห็นชอบจากประธานวุฒิสภาแล้ว ในมาตรา 12 วรรคสุดท้าย กำหนดให้ประธานวุฒิสภานําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

 

ชุดใหม่ใกล้มาแล้ว แต่อาจไม่ทันยุบพรรคอนาคตใหม่

หลังจากที่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 วุฒิสภามีมติเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับเสนอตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ) ได้ขอเลื่อนการพิจารณาคุณสมบัติมากถึง 4 ครั้ง เป็นระยะเวลากว่า 162 วัน สุดท้ายแล้ววุฒิสภามีมติเห็นชอบว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 4 จาก 5 คน คือ อุดม สิทธิวิรัชธรรม ผู้พิพากษาศาลฎีกา, วิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาศาลฎีกา, จิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และนภดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนคนที่ไม่ได้รับการเห็นชอบ คือ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตัวแทนจากศาลปกครองสูงสุด

ในกระบวนการสรรหาทั้งหมดตั้งแต่ในช่วงที่ส่งรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบ ไปจนถึงขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธย เพื่อแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดกรอบเวลาไว้มีเพียงขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติเท่านั้น ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อที่ 105 วรรคสอง กำหนดให้การตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ต้องกระทำให้เสร็จครบทุกรายภายใน 60 วันนับแต่วันที่ตั้งกรรมาธิการสามัญ ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในกําหนดเวลาดังกล่าว กมธ.อาจขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น

หมายความว่า กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของวุฒิสภาต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน แต่มีข้อยกเว้นให้ขยายระยะเวลาได้ คือ งดใช้ข้อบังคับการประชุม ตามข้อบังคับข้อที่ 186 ซึ่ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ชุดนี้ได้ขยายเวลาในการตรวจสอบประวัติไปถึง 150 วัน

หาก กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ตามกรอบเวลาปกติของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ก็ควรจะได้รายชื่อตุลาการชุดใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เป็นอย่างช้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็มีโอกาสสูงที่ตุลาการชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ก่อนการตัดสินคดีสำคัญของพรรคอนาคตใหม่ได้ แต่เนื่องจากความล่าช้านี้ ทำให้คดียุบพรรคอนาคตใหม่ยังอยู่ในมือของตุลาการชุดเดิมที่ขยายอายุมาโดย “มาตรา 44”

ขั้นตอนหลังจากตรวจสอบประวัติแล้วเสร็จ คือ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ต้องนำเสนอรายงาน เพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ เมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ประธานวุฒิสภานําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้รัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอนไว้ว่าจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบรายชื่อว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ 4 คน ก่อนวันนัดฟังคำวินิจฉัยพรรคอนาคตใหม่ประมาณ 10 วัน แต่ในขั้นตอนทูลเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ นั้นยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอนได้ จึงมีแนวโน้มว่า ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 4 คน จะไม่สามารถเริ่มดำรงตำแหน่งและเข้ามาตัดสินคดีแทนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คนที่ตามความจริงต้องพ้นตำแหน่งไปแล้วได้

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น