พ.ร.บ.ภาพยนตร์ กับคำถามที่กระทรวงวัฒนธรรมไม่เคยตอบ (จึงถามศาลปกครองแทน)

คนทำหนังและนักดูหนังในเมืองไทยมีประสบการณ์ช่ำชองจากการเป็นตกเป็นผู้ถูกปิดกั้น หรือ หั่น ตัด เบลอ แทรก เนื้อหาในสื่อ ล่าสุด ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เจ้าของภาพยนตร์ Insects in the Backyard ซึ่งถูกสั่งแบนโดยกระทรวงวัฒนธรรม ก็ตัดสินใจเป็นฝ่ายรุกบ้าง ด้วยการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งที่คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ และคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในราชอาณาจักรไทย

คณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ทำงานคล้ายกับกองเซ็นเซอร์ในอดีต ตั้งขึ้นตามที่กำหนดเอาไว้ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายอีกฉบับที่มีปัญหาหลายประการ เช่น กรณีคนเก็บขยะเก็บซีดีเก่ามาขายแล้วโดนปรับสองแสนบาทเพราะไม่ได้ขออนุญาตต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ตามที่เคยเป็นข่าว การนิยามคำว่าภาพยนตร์ที่กว้างมากทำให้ภาพและเสียงทุกอย่างในประเทศนี้ต้องขออนุญาตก่อนนำออกฉายแต่กลับไม่ครอบคลุมถึงละคร และรายการต่างๆ ที่ออกอากาศในโทรทัศน์ ขอบเขตอำนาจมีตั้งแต่สั่งตัดทอนหรือแก้ไขภาพยนตร์ก็ได้ สั่งไม่อนุญาตให้ฉายก็ได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน เพียงแจ้งคนทำสื่อว่า จะแก้จะแบนเพราะมันขัดต่อศีลธรรมอันดี

 

 

แน่นอนว่า คำสั่งของคณะกรรมการฯ สร้างความสงสัยให้ประชาชนหลายต่อหลายครั้ง แต่แม้จะพยายามทวงถามเหตุผลเท่าไร ก็ไม่เคยได้รับคำอธิบายจากกระทรวงวัฒนธรรมเลย กรณี Insects in the Backyard เป็นครั้งแรกที่คนทำสื่อเรียกร้องความชัดเจนจากการใช้กฎหมาย โดยขอให้ศาลตีความในหลายๆ ประเด็น

ประเด็นสำคัญที่กฎหมายฉบับนี้สร้างความสับสนมาก คือการตีความกฎหมาย เรื่องการไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์นี่เอง เพราะ ใน พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มีมาตรา 26 (7) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จัดภาพยนตร์เรื่องใดให้อยู่ในประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร หรือ ให้เรต “ห” หรือเรตห้ามฉายได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีมาตรา 29 ที่ให้อำนาจสั่ง “ไม่อนุญาตให้ฉาย” ภาพยนตร์เพราะขัดต่อศีลธรรมอันดีได้อีกด้วย

กรณีที่กฎหมายเขียนเช่นนี้ นักนิติศาสตร์ที่อ่านครั้งแรกน่าจะตีความตามตัวบทได้ว่า การให้เรตห้ามฉาย และการสั่งไม่อนุญาตให้ฉายนั้นมีผลทางกฎหมายเช่นเดียวกัน คือ ฉายไม่ได้ จึงเป็นคำสั่งเดียวกันที่เขียนแยกไว้คนละมาตราเท่านั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจสองประการ แต่จากทางปฏิบัติ กระทรวงวัฒนธรรมถือว่ากฎหมายสองมาตราให้อำนาจสองประการที่แตกต่างจากกัน ปรากฏจากครั้งที่เครือข่ายคนดูหนังยื่นหนังสือเพื่อขอให้ชี้แจงเหตุผลกรณี “ห้ามฉาย” ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมไม่รับหนังสือ และสั่งให้กลับไปแก้ไขหนังสือให้ถูกต้องเพราะถือว่ากรณีนี้เป็นการ “ไม่อนุญาตให้ฉาย” ตามมาตรา 29 ไม่ใช่การ “ห้ามฉาย” ตามมาตรา 26(7)

หากเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายประสงค์จะเป็นอย่างหลัง ก็น่าจะเขียนให้ชัดเจนไม่ต้องเขียนกำกวมให้ตีความเช่นนี้ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดมากที่กฎหมายภาพยนตร์ของประเทศไหนจะกำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์มีอำนาจที่จะสั่ง “แบน” ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเรื่องใดถึงสองแบบ สองวิธีต่างกัน และการเขียนกฎหมายที่สับสน กับการตีความตามใจของผู้บังคับใช้ ย่อมกระทบต่อผู้สร้างภาพยนตร์เป็นอย่างมาก เพราะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าภาพยนตร์ของตนจะผ่านหรือไม่ผ่านเพราะเหตุใดได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นภาพยนตร์อิสระขนาดเล็ก ไม่มีค่ายใหญ่หนุนหลัง อย่างภาพยนตร์เรื่อง  Insects in the Backyard

เกร็ดความรู้หนึ่งที่ได้มาเกี่ยวกับทางปฏิบัติของกองเซ็นเซอร์คือ ที่จริงแล้วกองเซ็นเซอร์ไม่เคยสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องใดเลย มีแต่สั่งไม่อนุญาตเท่านั้น ดังนั้น ต่อไปนี้จะพูดพล่อยๆ ว่ากระทรวงวัฒนธรรมแบนหนัง ก็ถือว่าพูดผิด เพราะที่จริงแค่ไม่อนุญาตให้ฉายเท่านั้น

ส่วนที่ว่า ห้ามฉาย กับ ไม่อนุญาต ไม่เหมือนกันนั้น เพราะกองเซ็นเซอร์ตีความว่า ถ้าจะสั่งห้ามฉาย ต้องเรียกคนทำหนังมาชี้แจ้งและเปิดโอกาสให้ไปแก้ไข แต่ถ้าจะสั่งไม่อนุญาต ก็ไม่ต้องเรียกมา สามารถสั่งเองได้เลย!

ทีมกฎหมาย จากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานกับคุณธัญญ์วาริน ในคดีนี้ ตั้งประเด็นในคำฟ้องว่า คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 26(7) หรือมาตรา 29 ก็ตาม ขณะที่กองเซ็นเซอร์ผู้ถูกฟ้องคดีก็ตั้งหลักต่อสู้คดีโดยยืนกระต่ายขาเดียวว่ากรณีภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard นั้นเป็นการ “ไม่อนุญาตให้ฉาย” ตามมาตรา 29 ไม่ใช่การ “ห้ามฉาย” ตามมาตรา 26(7) และตีความกฎหมายแบบที่ตัวเองเชื่อว่า มีอำนาจสั่ง “แบน” ภาพยนตร์เรื่องเดียวได้ถึงสองแบบ

จึงน่าสนใจว่า ศาลปกครอง จะตีความเรื่องอำนาจการสั่ง “แบน” ตามกฎหมายนี้ออกมาอย่างไร และแน่นอนว่าย่อมเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติไปถึงการพิจารณาภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ต่อไปด้วย

นอกจากประเด็นนี้แล้ว คุณธัญญ์วารินยังตั้งประเด็นเรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการทำคำสั่งอีกหลายประการ เช่น การที่มีคณะกรรมการบางท่านไม่ได้ชมภาพยนตร์แต่กลับมีอำนาจออกเสียงลงมติ “แบน” ภาพยนตร์ได้ การที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไม่อนุญาตให้ผู้สร้างเข้าชี้แจง แต่ออกคำสั่งไปเองฝ่ายเดียว การไม่ให้เหตุผลในการ “แบน” ที่ชัดเจน การขอให้ศาลเข้ามาช่วยตรวจสอบการใช้ดุลพินิจว่าภาพยนตร์เรื่องใดขัดต่อศีลธรรมอันดีจริงหรือไม่ การที่ภาพยนตร์ที่มีฉากลักษณะเดียวกันที่ออกฉายได้ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงความไม่มีมาตรฐานและการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ ซึ่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์เป็นกฎหมายใหม่สำหรับสังคมไทยยังไม่มีแนวคำวินิจฉัยใดๆ เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มาก่อน หากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยในคดีนี้เป็นอย่างไรย่อมวางบรรทัดฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐต่อภาพยนตร์ทุกเรื่องต่อไปในอนาคต

ดังนั้น คดี Insects in the Backyard จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะระหว่างคุณธัญญ์วารินกับคำสั่งทางปกครองชิ้นหนึ่งเท่านั้น แต่คงเป็นเรื่องของคนในวงการภาพยนตร์ และผู้ชมภาพยนตร์ทุกคนที่จะได้รับผลจากการวางกรอบการใช้การตีความกฎหมายภาพยนตร์ในครั้งนี้

หากเราเชื่อว่า ภาพยนตร์เป็นงานศิลปะที่ทำหน้าที่ถ่ายทอด สื่อสาร สิ่งที่ผู้สร้างใส่ไว้ในเนื้อหา ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งก็ไม่ต่างจากงานศิลปะแขนงอื่น เช่น งานจิตรกรรม ประติมากรรม นวนิยาย หรือบทความ ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความคิดของผู้สร้างงานชิ้นนั้นๆ การไม่ให้ฉายภาพยนตร์จึงไม่ต่างจากการห้ามขายหนังสือ ห้ามพิมพ์บทความ การยึดภาพวาด หรือการที่รัฐยื่นมือเข้ามาปิดปากคนไม่ให้พูดไม่ให้แสดงออกในสิ่งที่คิด ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อต่อผู้ใช้อำนาจเองและต่อสังคมโดยรวมในระยะยาว    

คนเราเรียนรู้และแยกแยะถูกผิดได้ด้วยตัวเอง วิจารณญาณของคนอาจแตกต่างกันไป แต่การปิดกั้นไม่เคยเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ มุมมองเรื่องนี้สำหรับประชาชนทั่วไปกับมุมมองของผู้กุมอำนาจรัฐอาจจะต่างกันก็ได้ แต่หากคิดว่าเราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย เราก็ไม่ควรยอมจำนนต่อสภาพที่เมื่อรัฐบาลสั่งแล้วประชาชนมีหน้าที่เชื่อ เมื่อรัฐบาลบอกว่าตนเป็นผู้กุมไม้บรรทัดของศีลธรรมอันดี ก็ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลพูดถูกแล้วสิ่งที่รัฐบอกนั้นเป็นความดีงามทั้งหมด

แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร? กรณี Insects in the backyard เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความพยายามตั้งคำถามต่อแนวทางเสรีภาพการแสดงออกของสังคมไทย ด้วยการต่อสู้บนวิถีทางกฎหมาย ผลของคดีจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เราจะร่วมกันรอคอย เพราะอย่างน้อยมันจะเป็นคำตอบที่ยืนยันว่า เรากำลังอยู่ในสังคมสื่อแบบไหน

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ มติชนออนไลน์

ภาพหน้าแรก : กระทรวงวัฒนธรรม