เลือกตั้ง 66: เปิดรับฟังความเห็นแบ่งเขตอีกรอบ ช่วยกันดูและส่งเสียงบอก กกต. ภายใน 13 มีนา

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2566 กฎหมายเลือกตั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติมถูกประกาศใช้ รองรับการ #เลือกตั้ง66  โดยกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต 400 คน และส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (Party List) 100 คน โดยแต่ละจังหวัดจะมีส.ส. กี่คน ก็จะคิดจากจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรจังหวัดนั้นๆ แล้วเฉลี่ยด้วยจำนวนส.ส. 400 คน ซึ่งบางจังหวัดที่มีจำนวนมาก ก็จะส่งผลให้มีจำนวนส.ส. มาก และจำเป็นต้องทำการแบ่งเขตตามจำนวนส.ส. ขณะที่บางจังหวัด อาจมีส.ส. แค่คนเดียวเลยก็ได้ ตามจำนวนประชากร

ต่อมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ออกประกาศสองฉบับ เป็นเรื่องจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต และเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำโมเดลการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีโมเดลให้พิจารณาหลายแบบ และเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ดี หนทางการแบ่งเขตก็ไม่ได้จบง่ายๆ เมื่อ กกต. คำนวณที่นั่งของ ส.ส. ในแต่ละจังหวัดโดยเอาจำนวน “ราษฎร” ของแต่ละจังหวัดมาเป็นฐานคิด แต่รวมเอาราษฎรที่ไม่มีสัญชาติเข้ามาคำนวณด้วย เช่น แรงงานข้ามชาติ คนที่ยังรอการขึ้นทะเบียนสัญชาติ ทำให้เกิดเสียงคัดค้าน  และกกต. ก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยใช้จำนวนราษฎรที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้ ทำให้จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเปลี่ยนไปใน 8 จังหวัด มี  “4 จังหวัดที่ลดลง” ได้แก่ 1) เชียงใหม่ จาก 11 เหลือ 10 คน 2) ตาก จาก 4 เหลือ 3 คน, 3) เชียงราย จาก 8 เหลือ 7 คน 4) สมุทรสาคร จาก 4 เหลือ 3 คน และมีอีก “4 จังหวัดที่เพิ่มขึ้น” คือ 1) อุดรธานี จาก 9 เป็น 10 คน 2) ลพบุรี จาก 4 เป็น 5 คน 3) ปัตตานี จาก 4 เป็น 5 คน 4) นครศรีธรรมราช จาก 9 เป็น 10 คน

ผลจากมติศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้กกต. ต้องออกประกาศจำนวน ส.ส. ฉบับใหม่ กกต. แต่ละจังหวัดก็ต้องเผยแพร่โมเดลการแบ่งเขตเลือกตั้งและเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอีกรอบ ตั้งแต่วันที่ 4-13 มีนาคม 2566 การแบ่งเขตเลือกตั้ง มีความสำคัญต่อการกำหนดหน้าตาผู้ที่จะมาเป็นผู้แทนราษฎร แล้วถ้าอยากมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นโมเดลการแบ่งเขตเรื่องตั้งต้องทำยังไงบ้าง? และการวิเคราะห์ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหนที่เหมาะกับจังหวัดที่เรามีสิทธิเลือกตั้งต้องดูจากเหตุผลใดบ้าง? มาดูกันได้เลย

แบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหนดี? ต้องดูจากอะไรบ้าง

การพิจารณาว่า วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหนดีที่สุด หรือทำให้ได้คนที่เป็นตัวแทนของพื้นที่นั้นๆ อย่างเหมาะสมที่สุด คนที่จะตอบได้ก็คงเป็นเจ้าของพื้นที่นั้นๆ เอง ไม่ใช่นักวิชาการจากส่วนกลาง หรือนักวิเคราะห์ที่อยู่หน้าจอ ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงต้องช่วยกันศึกษาโมเดลการแบ่งเขตเลือกตั้งที่กกต. ร่างขึ้นมาในจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง ช่วยกันวิเคราะห์ และแสดงความคิดเห็นว่า วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหนดีที่สุด หรือแบบไหนที่ไม่ดี

โดยอาจวิเคราะห์จากเกณฑ์สามประเภท ดังนี้

1. เขตพื้นที่อำเภอ-ตำบล 

การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ดีของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าใจง่ายว่าตัวเองอยู่ในเขตเลือกตั้งใดควรใช้การแบ่งอำเภอเป็นเกณฑ์ กล่าวคือ ในหนึ่งเขตเลือกตั้งอาจประกอบด้วยหนึ่งหรือหลายอำเภอ แต่สำหรับประชากรที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอเดียวกันควรจัดอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันทั้งอำเภอ  แต่หากใช้หลักเกณฑ์อำเภอเพียงอย่างเดียวอาจทำให้บางเขตเลือกตั้งมีจำนวนประชากรมากกว่าอีกเขตหนึ่งจนเกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างเห็นได้ชัด  พื้นที่ของบางอำเภออาจถูกจัดแบ่งเป็นสองเขตเลือกตั้งก็ได้เท่าที่จำเป็นจริงๆ โดยใช้การแบ่งตำบลเป็นเกณฑ์ ให้ตำบลที่อยู่ติดกันรวมเข้าเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน ซึ่งตามมาตรา 27 ของพ.ร.ป.เลือกตั้งฯ เขียนไว้ชัดเจนว่า ในหนึ่งตำบลจะต้องจัดเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน จะแยกพื้นที่ออกเป็นหลายเขตเลือกตั้งไม่ได้

หากพบว่า มีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ทำให้หนึ่งตำบลเป็นหลายเขตเลือกตั้ง เป็นประเด็นที่ประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะเป็นการกำหนดเขตเลือกตั้งที่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนหากเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ทำให้หนึ่งอำเภอเป็นหลายเขตเลือกตั้ง คนในพื้นที่ต้องช่วยกันคิดว่ามีวิธีการอื่นหรือไม่ที่จะแบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่ต้องแยกอำเภอเดียวออกเป็นหลายส่วน

2. สภาพสังคมและวิถีชีวิต

การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ดีควรจัดให้กลุ่มประชากรที่มีสภาพและวิถีชีวิตเป็นชุมชนเดียวกันอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน แม้ว่าตามหลักเกณฑ์ทะเบียนบ้านอาจจะอยู่ต่างตำบล หรือต่างอำเภอ เช่น บางชุมชนมีรากฐานเป็นครอบครัวเชื้อสายเดียวกัน พูดภาษาถิ่นเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน ประกอบอาชีพเหมือนกัน ฐานะทางสังคมใกล้เคียงกัน มีการเดินทางไปมาหาสู่ ค้าขายและทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกัน ก็ควรจะถูกจัดให้อยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน หรือชุมชนบางแห่งในแผนที่อาจจะมีภาพเสมือนว่าเป็นอาณาเขตติดต่อใกล้ชิดกัน แต่ถ้าในความเป็นจริงแล้วการเดินทางอาจไม่สะดวก เช่น มีภูเขาขวางกั้น หรือผู้คนมีวิถีชีวิตที่ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ก็อาจถูกจัดแยกเป็นเขตเลือกตั้งที่แตกต่างกันได้ ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้งตัวแทนของเขตเลือกตั้งนั้น เป็นตัวแทนของชุมชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

คนในพื้นที่ย่อมยากให้เพื่อนๆ สมาชิกในชุมชนเดียวกันได้อยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันและเลือกตัวแทนคนเดียวกันเข้าไปออกเสียงแทนในสภา จึงต้องช่วยกันตรวจสอบ และส่งเสียงถึงกกต. ให้เข้าใจสภาพสังคมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เพื่อการแบ่งเขตเลือกตั้งได้สอดคล้องกับความเป็นจริง

3. ประสบการณ์ทางการเมือง

แม้ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะสอดคล้องกับพื้นที่อำเภอ-ตำบล และสอดคล้องกับสภาพชุมชุนแล้ว แต่คนในพื้นที่ก็อาจจะมีความเชื่อทางการเมืองแตกต่างกัน การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ดี อาจทำให้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นบางคนได้เปรียบในการเลือกตั้งเสมอ หรืออาจทำให้ประชากรบางกลุ่มที่ถูกจัดเป็นคนกลุ่มน้อยในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ไม่เคยถูกเหลียวแล ตัวอย่างเช่น หากในเขตเลือกตั้งหนึ่งมีฐานเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่งอยู่อย่างเหนียวแน่น ทำให้การเลือกตั้งหลายครั้งก่อนหน้านี้ผู้สมัครคนเดิมชนะตลอดและไม่มีคนอื่นอยากลงสมัครแข่งขัน จนนักการเมืองหน้าเดิมไม่ใส่ใจปัญหาของประชาชนหรือต้องรับฟังเสียงของประชาชนอีกต่อไป ขณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ผู้สมัครคนนี้ไม่ได้รับความนิยมเลย ก็อาจมีการเสนอให้ลองแบ่งเขตเลือกตั้งแบบอื่นตามหลักเกณฑ์ข้อ 1. และข้อ 2. เพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ กับประชาชนในพื้นที่นั้นได้ หรือหากในเขตเลือกตั้งหนึ่งมีประชากรที่พูดภาษาอีสานเป็นคนส่วนน้อย 10% ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พูดภาษาอีสานได้ไม่เคยถูกรับเลือกเป็นตัวแทน และปัญหาของประชากรกลุ่มนี้ก็ไม่เคยถูกรับฟังหรือแก้ไข ก็อาจเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาและควรลองออกแบบวิธีการให้คนที่พูดภาษาอีสานเข้ารวมกลุ่มในเขตเลือกตั้งข้างเคียงที่อาจมีคนพูดภาษาอีสานเป็นส่วนใหญ่

ประสบการณ์ทางการเมืองของคนในพื้นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่คนในพื้นที่เดียวกันอาจมีความรับรู้หรือความทรงจำแตกต่างกันก็ได้ แต่คนนอกพื้นที่ไม่มีทางรู้และไม่มีทางเข้าใจ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามเพราะจะทำให้ประชากรบางกลุ่มถูกละเลยในระบบการเมืองภาพใหญ่ หากเจ้าของพื้นที่มีประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ดี จากการแบ่งเขตเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งในครั้งก่อนๆ ก็สามารถช่วยสะท้อนและนำเสนอการแบ่งเขตเลือกตั้งที่อาจจะดีกว่าได้

เช็ค 3 ขั้นตอน ดูโมเดลแบ่งเขต ก่อนส่งเสียงบอกกกต. 

4-13 มีนาคม 566 กกต. แต่ละจังหวัด เปิดให้ประชาชนดูข้อมูลการแบ่งเขตเลือกตั้งและร่วมแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ (อีกรอบ) 

อยากร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำตามสามขั้นตอนได้ ดังนี้

1) ดูจังหวัดที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเราจะต้องสังกัดทะเบียนบ้านอยู่ในเขตจังหวัดนั้นมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง แต่ถ้ากรณีที่ย้ายทะเบียนบ้านก่อนวันเลือกตั้งน้อยกว่า 90 วัน ก็จะมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน หรือเขตเดิมก่อนย้ายทะเบียนบ้านนั้นเอง

ทั้งนี้ จังหวัดที่มี ส.ส. เพียงคนเดียว จะใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ไม่มีการแบ่งเขต จังหวัดเหล่านั้นได้แก่ ตราด สมุทรสงคราม สิงห์บุรี และระนอง

2) เข้าไปอ่านหรือดูแผนที่แสดงรายละเอียดการแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามเอกสารที่กกต. แต่ละจังหวัดเผยแพร่

3) หลังจากอ่านหรือดูเข้าใจแล้ว และอยากแสดงความคิดเห็นหรือมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถกรอกแบบฟอร์มแสดงความคิดเห็นตามที่กกต. แต่ละจังหวัดกำหนด และส่งแบบฟอร์มเป็นหนังสือไปยังที่อยู่ของสำนักงาน กกต. แต่ละจังหวัด หรือส่งทางอีเมล โดยรายละเอียดที่อยู่และอีเมลของแต่ละจังหวัด จะอยู่ในเอกสารประกาศของกกต. จังหวัด

คลิกที่ชื่อจังหวัด เพื่อดูข้อมูลการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ภาคเหนือ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคกลาง

ภาคตะวันออก

ภาคตะวันตก

ภาคใต้

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน