สภาล่มก่อนพิจารณาแก้รธน. ปิดสวิชต์ ส.ว. ส.ว. แจ้งลาประชุมสูงถึง 95 คน

8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมรัฐสภามีกำหนดพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ให้ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา 250 คนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ก่อนจะได้อภิปราย ส.ว. ได้เสนอญัตติว่าการนัดประชุมวาระพิเศษแบบในวันนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ ประธานถึงกดออดเพื่อนับองค์ประชุมก่อนลงคะแนนในญัตติ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงทำให้ต้องปิดประชุม และพบว่ามี ส.ว. แจ้งลาประชุมสูงถึง 95 คน

การนัดประชุมในวันนี้ถือเป็นการนัดประชุมรัฐสภาแบบพิเศษ ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมร่วมกันของวิปสามฝ่าย ทั้ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ซึ่งไม่ได้เข้าประชุมด้วย โดยประธานสภาขอให้ช่วยกันนำสมาชิกเข้าประชุมสภาเพื่อไม่ให้ต้องปิดประชุมเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ และได้จัดให้มีการนัดประชุมแบบพิเศษที่มีเพียงวาระการพิจารณากฎหมายฉบับเดียวต่อวัน เพื่อให้กฎหมายสามารถพิจารณาได้โดยไม่ต้องรอลำดับ ส่งผลให้มีการนัดประชุมพิเศษ 2 วัน คือพิจารณาร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน พ.ศ. ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 และพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566

ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมอภิปรายร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ โดยมีการโต้เถียงกันในช่วงแรกเมื่อ ส.ว. ตวง อันทะไชย และ สมชาย แสวงการ ต้องการให้พิจารณาร่างกฎหมายตามลำดับที่ค้างอยู่ คือต้องการให้นำร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติขึ้นมาก่อน แต่ประธานสภาวินิจฉัยว่าทำไม่ได้ จึงให้อภิปรายร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ ต่อไป แม้จะมีผู้อภิปรายถึง 32 คน แต่เมื่อถึงเวลารายงานตัวเมื่อลงมติ กลับมีผู้มาแสดงตนเพียง 181 คนเท่านั้น โดย ส.ส. ฝ่ายค้านทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยืนยันว่าแม้ว่ามติฝ่ายค้านจะไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย แต่ก็จะอยู่เป็นองค์ประชุม

ต่อมาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นนัดพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี การประชุมเปิดช้าไปกว่าสองชั่วโมงเนื่องจากต้องรอสมาชิกมาให้ครบ เมื่อเริ่มประชุมได้แล้ว สมชาย แสวงการ ส.ว. ก็ลุกขึ้นเสนอญัตติด่วนว่าการใช้อำนาจในการนัดประชุมแบบพิเศษของประธานสภานั้นอาจจะผิดข้อบังคับสภาและกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถนัดประชุมวันนี้ได้ แต่ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยคัดค้านโดยให้เหตุผลว่าเคยมีการทำเช่นนี้มาก่อน หากลงมติออกมาว่าการนัดประชุมพิเศษทำไม่ได้ จะหมายความว่าการประชุมในลักษณะนี้ที่ผ่านมาจะเป็นโมฆะหรือไม่ ส่วน ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ก็ลุกขึ้นอภิปรายขอให้สมชายถอนญัตตินี้ และกล่าวขอบคุณฝ่ายค้านที่ยืนยันจะอยู่เป็นองค์ประชุม แต่สมชายยืนยันในญัตติเดิมที่ตนเสนอ

จากนั้น ประธานสภา ชวน หลีกภัย จึงให้มีการลงคะแนนญัตติที่ ส.ว. เป็นผู้เสนอ ซึ่งในช่วงการรายงานตัวนั้นมีการประชุมกรรมาธิการอยู่หลายสิบคณะ จึงมีการประสานให้กรรมาธิการพักประชุมเพื่อให้สมาชิกสามารถมารายงานตัวให้ครบกึ่งหนึ่งที่ 334 คน

อย่างไรก็ตาม หลังจากการรออยู่กว่าครึ่งชั่วโมง มีผู้มารายงานตัวเพียง 308 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้ประธานสภาสั่งปิดประชุม โดยก่อนจะจบ ได้มีการรายงานว่าวันนี้มี ส.ว. แจ้งลาประชุมมากถึง 95 คน ในขณะที่ ส.ส. แจ้งลาประชุม 15 คน ทั้งนี้ ประธานเคยกล่าวในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 หรือเมื่อวานว่าตนได้รับความเห็นจาก ส.ว. หลายคนว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเหมือนการสร้างโอกาสในการวิจารณ์ ส.ว. แต่ประธานก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ จนมาในวันนี้กลับพบว่ามี ส.ว. ลาประชุมเป็นจำนวนเกือบร้อยคน