RECAP2022: รวมไฮไลท์ความเคลื่อนไหวกฎหมายในสภาตลอดปี

ในปี 2565 ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีการพิจารณากฎหมายสำคัญหลายฉบับ โดยมีอย่างน้อยห้าฉบับ ที่เราอยากนำมาเล่าเพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวของกฎหมายในสภาตลอดปีนี้

หนึ่ง รัฐสภาเห็นชอบ พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ รอประกาศใช้ ก.พ. ปี 66 หมดเวลาเจ้าหน้าที่รัฐลอยนวลพ้นผิด

การซ้อมทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย (อุ้มหาย) โดยเจ้าหน้าที่รัฐ นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานและบ่อยครั้งในสังคมไทย ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการนำคนทำผิดมาลงโทษ จนเกิดเป็นสภาวะที่เจ้าหน้าที่รัฐต่าง “ลอยนวลพ้นผิด” หรือไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำความผิดของตนเอง

จากปัญหาการซ้อมทรมานและอุ้มหายที่สั่งสมมานาน ทำให้เกิดแนวคิดที่จะต้องมีกฎหมายป้องกันและคุ้มครองประชาชนเป็นการเฉพาะ จนกลายมาเป็นร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับใช้บุคคลสูญหาย (พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ) แต่กระบวนการตรากฎหมายดังกล่าวก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ

จนกระทั่งในปี 2563 ภาคประชาชนได้ออกมาเคลื่อนไหวให้พรรคการเมืองผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ฉบับประชาชน ไปพิจารณา และในวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ จำนวนสี่ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภา

โดยทั้งสี่ร่างกฎหมาย แบ่งเป็น ร่างที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ร่างที่คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.กฎหมายฯ) ซึ่งเดิมทีเป็นร่างที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ และร่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคประชาชาติและประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอ

ต่อมาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ในวาระสองและวาระสาม ซึ่งเป็นการให้ความเห็นชอบในการตราเป็นกฎหมาย ก่อนจะส่งให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทำหน้าที่พิจารณาต่อ แต่ทว่า ส.ว.)ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า กลับพยายาม ‘เตะถ่วง’ ทั้งการขอขยายเวลาพิจารณาไปจนถึงการเสนอแก้ไขเนื้อหาเพื่อส่งกลับมาให้ ส.ส. พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

แต่ในท้ายที่สุด ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ส.ส. ได้ลงมติให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ อย่างท่วมท้น ก่อนจะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ จะมีผลบังคับใช้ และจะเป็นการส่งสัญญาณความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการหยุดวงจรลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน

โดยเนื้อหาที่สำคัญของ พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ พอจะสรุปได้ ดังนี้

  • ห้ามการกระทำที่เข้าข่ายโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นอกจากจะทำให้การทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดแล้ว พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ยังมีการเพิ่มเติมฐานความผิดย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ฯ เข้ามาด้วย เพื่ออุดช่องว่างการกระทำบางอย่างที่อาจะไม่เข้าข่ายการทรมานแต้ทายที่สุดการนำไปสู่การทรมานได้ โดยถือว่าเป็นเนื้อหาที่ก้าวหน้ามากกว่าหลายประเทศในโลกนี้เสียอีก
  • กำหนดโทษทางอาญาไว้สูง หากเป็นการซ้อมทรมานหรือบังคับให้บุคคลสูญหาย ผู้กระทำความผิดอาจจะเจอโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีไปจนถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 1,000,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการทำความผิด
  • เริ่มนับอายุความเมื่อทราบชะตากรรม ปัญหาของเหยื่อที่ถูกอุ้มหายคือหากอายุความหมดลงแต่ยังไม่ทราบชะตากรรม ก็จะทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ จึงมีการกำหนดให้การอุ้มหายเป็นความผิดต่อเนื่อง คือให้เริ่มนับอายุความ 20 ปีเมื่อทราบชะตากรรมของเหยื่อแล้วเท่านั้น
  • ครอบครัวหรือผู้อยู่กินฉันสามีภรรยาสามารถร้องทุกข์แทนเหยื่อได้ ก่อนหน้านี้ เมื่อเหยื่อถูกอุ้มหาย เหยื่อที่หายตัวไปแล้วก็ย่อมไม่สามารถมาร้องทุกข์ให้ตนเองได้ ส่งผลให้กระบวนการทางกฎหมายเริ่มต้นไม่ได้ พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ จึงมีการกำหนดเสียใหม่ให้ครอบครัวหรือแม้กระทั่งผู้อยู่กินฉันสามีภรรยา สามารถเป็นผู้ร้องทุกข์แทนได้
  • เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมและคุมตัว มาตรการป้องกันการซ้อมทรมานและการอุ้มหายที่สำคัญคือการบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องบันทึกภาพและเสียงของผู้ต้องหาในระหว่างถูกจับกุมและควบคุมตัว รวมถึงต้องบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ เช่น สภาพจิตใจ เพื่อรับรองว่าจะไม่มีการทำร้ายผู้ต้องหา
  • ตัดอำนาจศาลทหาร ในหลายครั้ง การซ้อมทรมานมักเกิดขึ้นในค่ายทหาร ทำให้อยู่ในอำนาจของศาลทหารที่มีแนวทางการปฏิบัติต่างจากศาลพลเรือน แต่ต่อจากนี้ไป การกระทำความผิดตามพ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ จะต้องขึ้นศาลอาญาทุจริตทั้งหมด

สอง  #สมรสเท่าเทียม ผ่านสภาด่านแรก ต้องจับตาต่อจะผ่านวาระสาม หรือคว่ำแล้วผ่านแค่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต

เป็นเวลากว่า 728 วัน หรือเกือบสองปีเต็ม ที่ส.ส. พรรคก้าวไกลเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือที่เรียกกันว่า ร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ต่อสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อ 18 มิถุนายน 2563 ในที่สุด กลาง Pride Month ของปี 2565 หรือวันที่ 15 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง นับว่าเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญในสภา ที่ร่างกฎหมายรับรองสิทธิสมรสสำหรับบุคคลทุกเพศ ผ่านเข้าสู่สภาในด่านแรก

อย่างไรก็ดี สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้รับหลักการแค่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแค่ฉบับเดียว เพราะในวันเดียวกันนั้นเอง สภาก็รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต อีกสองฉบับ โดยหนึ่งฉบับเสนอโดยครม. และอีกฉบับเสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับ คือ การกำหนดเพศผู้ที่จะจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตได้ ร่างฉบับที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์กำหนดให้บุคคลไม่ว่าเพศใดก็สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ส่วนร่างที่ครม.เสนอมาในวาระหนึ่ง ระบุว่าผู้ที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ต้องเป็น “บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด” เท่านั้น

แม้ว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต จะเป็นร่างกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อรับรองสิทธิการก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQINA+) เหมือนกัน และรับรองสิทธิหลายประการเหมือนกัน อาทิ สิทธิของคู่สมรสหรือคู่ชีวิตในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม กรณีคู่สมรสหรือคู่ชีวิตเสียชีวิต การจัดการทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสหรือทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตร่วมกัน แต่แนวคิดในการออกแบบกฎหมายทั้งสองนั้นแตกต่างกัน

กรณีของไทย ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อแก้ไขที่ตัวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2478 โดยรับรองสถานะของบุคคลสองคนที่มาจดทะเบียนสมรสกันไม่ว่าเป็นเพศใดก็จดทะเบียนเป็น “คู่สมรส” ได้ ซึ่งสถานะการเป็นคู่สมรส ก็จะเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นๆ ที่รับรองสิทธิหรือสวัสดิการของคู่สมรสอยู่แล้ว เป็นหลักประกันว่าคู่สมรสไม่ว่าเพศใด จะมีสิทธิและสถานะไม่ต่างจากคู่สมรสชาย-หญิง และได้สวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่าเทียมกัน ส่วนกฎหมายอื่นๆ ที่เขียนถ้อยคำเจาะจงเพศ เช่น สามี-ภริยา ก็ต้องถูกแก้ไขให้สอดคล้องกัน

ขณะที่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต นั้นถูกกำหนดให้เป็นกฎหมายแยกอีกฉบับเพื่อรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของ LGBT โดยเฉพาะ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องการสมรสครั้งใหญ่ และหากรัฐต้องการรับรองสิทธิ หรือให้สิทธิประโยชน์ใดๆ กับคู่ชีวิตให้เสมอคู่สมรส ก็ไปแก้ไขกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ในภายหลัง


หากดูกรณีต่างประเทศ ประเทศฝรั่งเศส มีทั้งกฎหมายคู่ชีวิต และแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งให้บุคคลสามารถจดทะเบียนสมรสได้ หมายความว่า บุคคลไม่ว่าเพศใดก็สามารถเลือกได้ว่าจะจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งสิทธิ หรือความผูกพันระหว่างคู่สมรสกับคู่ชีวิต กฎหมายก็กำหนดไว้มีระดับแตกต่างกัน สามารถเลือกตามความผูกพันที่แต่ละคู่ต้องการได้ 

แม้ว่าการที่สภาผู้แทนราษฎรจะรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต รวมถึง การนำเอาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำหนดให้บุคคลไม่ว่าเพศใดก็จดทะเบียนคู่ชีวิตได้ เป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) หรือการที่ในชั้นกมธ. ได้แก้ไขร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้บุคคลไม่ว่าเพศใดก็จดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ชาย-หญิงก็สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ จะสะท้อนถึงความก้าวหน้าในการตรากฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ปลายทางกฎหมายรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของไทยจะเหมือนฝรั่งเศสที่มีให้เลือกทั้งจดทะเบียนคู่สมรสหรือจดทะเบียนคู่ชีวิต เพราะการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นสภาผู้แทนราษฎรยังมีด่าน “วาระสาม” อยู่ หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบทั้งร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายทั้งสองฉบับก็จะสามารถผ่านด่านส.ส. และเข้าไปสู่การพิจารณาส.ว. จนประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ แต่ถ้าหากสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบแค่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และคว่ำร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม เหมือนที่คว่ำร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ก็จะมีแค่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่สามารถผ่านด่านสภาไปได้ และหากพิจารณาทันสภาชุดนี้ ก็อาจได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

แนวโน้มของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นอย่างไร สภาจะผ่านวาระสามหรือผ่านแค่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือจะพิจารณาไม่ทันสภาชุดนี้ทั้งสองฉบับ ประชาชนต้องช่วยกันจับตาและส่งเสียงไปยังผู้แทนประชาชนกันต่อไป

สาม ปิดฉาก #สุราก้าวหน้า สภาโหวตคว่ำ หลังรัฐบาลออกกฎกระทรวงตัดหน้า

ในปี 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณากฎหมายหลายสิบฉบับ แต่หนึ่งในกฎหมายที่หลายคนจับตา คือ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต หรือร่างกฎหมาย #สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล

ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เป็นความพยายามปลดล็อกให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถผลิตสุราได้ โดยไม่ถูกกีดกันจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการผลิตตามกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 เช่น เรื่อง ‘ทุนจดทะเบียน’ ที่ผู้ขอใบอนุญาตเบียร์ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า “สิบล้านบาท” 

อีกทั้ง ยังกำหนดเรื่องกำลังผลิตขั้นต่ำไว้ เช่น โรงผลิตเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (brewpub) ต้องมีขนาดกำลังการผลิต 100,000 – 1,000,000 ลิตรต่อปี 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่กำหนดให้การผู้ผลิตสุราเพื่อการบริโภคไม่ต้องขออนุญาต และห้ามออกหลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติ อย่างเช่น ทุนจดทะเบียขั้นต่ำ หรือ กำลังการผลิต หรือจำนวนแรงงานการผลิต เป็นต้น 

แม้ว่า หลักการของ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขยายโอกาสและส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย แต่หนทางในการออกกฎหมายกลับเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยพบว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลพยายาม “เตะถ่วง” ด้วยการขอรับร่างกฎหมายไปพิจารณาศึกษาก่อนรับหลักการถึง 60 วัน 

ต่อมา ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนฯ มีมติรับหลักการ (วาระหนึ่ง) ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 178 เสียง ไม่เห็นด้วย 138 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง แต่ถึงแม้จะผ่านวาระแรกไปได้ แต่ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้ายังคงเจอการคัดค้านจากฝ่ายรัฐบาล มีการโต้แย้งว่า ไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายระดับพระราชบัญญัติแต่ให้แก้ไขกฎกระทรวงแทน

ต่อมา ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งวันก่อนหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า รัฐบาลได้เผยแพร่กฎกระทรวง การผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป 

โดยเนื้อหาของกฎกระทรวงฉบับใหม่ผ่อนคลายเงื่อนไขบางอย่างของพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ แต่ไม่ได้ไปไกลเท่าร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งความต่างของกฎกระทรวงและ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มีรายละเอียดดังนี้

1.การผลิตสุราเพื่อบริโภค

  • ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า : ไม่ต้องขอใบอนุญาต ไม่จำกัดจำนวนขั้นต่ำ
  • กฎกระทรวง ปี 2565 : ต้องขอใบอนุญาต จำกัด 200 ลิตร/ปี

2.การผลิตเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (brewpub)

  • ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า : ห้ามกำหนดทุนจดทะเบียน กำลังการผลิต และการกีดกันอื่นใด
  • กฎกระทรวง ปี 2565 : ไม่กำหนดทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำ แต่ต้องมีเครื่องจักรที่ได้มาตรฐานและปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข

3.โรงผลิตเบียร์

  • ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า : ห้ามกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำและการกีดกันอื่นใด
  • กฎกระทรวง ปี 2565 : ไม่กำหนดทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำ แต่ต้องมีเครื่องหมายการเสียภาษี และทำรายงาน EIA

4.สุรากลั่นชุมชน

  • ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า : ห้ามกำหนดการกีดกันอื่นใด
  • กฎกระทรวง ปี 2565 : เพิ่มประเภทไม่เกิน 50 แรงม้า มีข้อกำหนดเรื่องสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ผลิตได้แค่สุราขาว

5.โรงงานผลิตสุราขาว

  • ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า : ห้ามกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ
  • กฎกระทรวง ปี 2565 : กำลังการผลิตขั้นต่ำ 90,000 ลิตร/วัน

6.โรงงานผลิตวิสกี้ บรั่นดี และยิน

  • ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า : ห้ามกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ
  • กฎกระทรวง ปี 2565 : กำลังการผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตร/วัน

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระสาม มีมติ “ไม่เห็นด้วย” กับร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 194 เสียง ไม่เห็นด้วย 196 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าจึงต้อง “ตกไป” หลังจากรัฐบาลชิงประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับใหม่แก้ไขเงื่อนไขการผลิตสุราก่อนการลงมติเพียงหนึ่งวัน

อีกทั้ง ในวันดังกล่าว หลังจากลงมติรายมาตราครบทุกมาตราแล้ว ที่ประชุมก็ลงมติในวาระสาม มีมติ “ไม่เห็นด้วย” กับร่างกฎหมายดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 174 เสียง ไม่ด้วย 177 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง แต่เนื่องจากคะแนนเห็นด้วยกับคะแนนไม่เห็นด้วย แตกต่างกันไม่เกิน 25 คะแนน จึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนับคะแนนใหม่ ซึ่งกำหนดให้ในการนับคะแนนใหม่ ให้ใช้วิธีการขานชื่อรายบุคคล แต่ผลปรากฏว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติ “ไม่เห็นด้วย” กับร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต #สุราก้าวหน้า ในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 194 เสียง ไม่เห็นด้วย 196 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า เป็นอัน “ตกไป” ปิดฉากร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ที่ใช้เวลาประมาณ 582 วัน ถึงจะเข้าสภา

สี่ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา “ตำบลกระสุนตก” ของภูมิใจไทย หลังเปิดช่องใช้เพื่อสันทนาการ

ในปี 2565 เรื่องของ #กัญชา กลายเป็นหนึ่งในวาระการถกเถียงทั้งในและนอกสภา โดยหลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้ กัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด ยกเว้น สารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD เกิน 0.2% มีผลบังคับใช้ (เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565) สถานะของกัญชาในประเทศไทยจึงเป็นไปแบ “เสรีไร้ขีดจำกัด” เพราะในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายมาบังคับใช้เป็นการเฉพาะ

หลังเกิดภาวะสูญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชา มีรายงานข่าวว่า มีบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาจนต้องเข้าโรงพยาบาล และยังมีหนึ่งรายที่เสียชีวิตอย่างปริศนา นอกจากนี้ ยังมีรายงานการขายกัญชาแบบเร่ขายอย่างโจ่งแจ้งไม่มีการกำกับควบคุม และยังมีเยาวชนที่เข้าถึงและใช้กัญชาในที่สาธารณะ

แม้ว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศมาเพื่อควบคุมการใช้กัญชาเป็นการชั่วคราว เช่น การควบคุมกลิ่นควัน หรือ การกำหนดอายุผู้ใช้กัญชา หรือการห้ามสูญกัญชาในที่สาธารณะ รวมถึงห้ามจำหน่ายกัญชาให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ให้นมบุตร แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

ความหวังเดียวของ อนุทิน และพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องการให้การปลดล็อกกัญชากลายเป็นผลงาน จึงอยู่ที่การจัดทำร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่สอง หรือ ชั้นพิจารณาลงมติแบบรายมาตรา ซึ่งร่างดังกล่าวมีการออกแบบมาตรการเพื่อควบคุมการเข้าถึงและการใช้กัญชา แต่ถึงอย่างนั้น ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ก็ยังเปิดช่องให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรีไม่จำกัดอยู่แค่การใช้กัญชาทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ของภูมิใจไทย ที่ถูกทั้งพรรคฝ่ายค้านหรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์วิพากษ์วิจารณ์

โดยในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มีช่องโหว่อยู่อย่างน้อยสองจุด ดังนี้

(1) มาตรการควบคุมการปลูกกัญชายังขาดรายละเอียดในการป้องกันคนนอกเข้าถึง

หนึ่งในหัวใจสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ คือ การให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาได้ ซึ่งการปลูกกัญชาจะแบ่งออกเป็น “การปลูกเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน” ซึ่งจะต้องจดแจ้งกับรัฐและปลูกได้ไม่เกิน 15 ต้นต่อครัวเรือน ส่วน “การปลูกในเชิงพาณิชย์” จะต้องขออนุญาตในการปลูกตามจำนวนที่ยื่นขออนุญาต ทั้งนี้ การปลูกกัญชาจะต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าถึง หรือ นำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด

อย่างไรก็ดี เมื่อนำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกกัญชาตาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มาเปรียบเทียบกับมาตรการของต่างประเทศ จะพบช่องโหว่ว่า ยังไม่มีความชัดเจน ต่างกับในสหรัฐอเมริกา รัฐโคโลราโด ที่กำหนดให้สถานที่ปลูกกัญชาต้องมีรั้วรอบขอบชิดไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่นเดียวกับ แคนาดาที่มีการกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยไม่ให้ผู้อื่นทราบว่ามีการปลูกกัญชา ด้วยการติดตั้งรั้วสูง มีประตูล็อค มีการติดตั้งระบบเตือนภัย เป็นต้น

(2) มาตรการจำกัดการใช้และการเข้าถึงยังไม่รัดกุม เปิดช่องใช้เสรีเพื่อสันทนาการ

ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ กำหนดให้นิยามการบริโภคกัญชาไว้อย่างกว้างขวาง และไม่มีมาตรการจำกัดการใช้กัญชาในทางการแพทย์ เช่น ผู้ที่ใช้กัญชาต้องได้รับใบสั่งยาจากหมอ หรือ มีเอกสารรับรองทางการแพทย์ รวมถึงมีมาตรการตรวจสอบการใช้กัญชาที่นอกเหนือจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จึงให้พื้นที่อิสระกับผู้ที่ต้องการใช้กัญชาไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อสันทนาการหรือไม่ก็ตาม

แม้ใน ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะพยายามจำกัดการใช้กัญชาในบ้านไว้ว่า ให้ใช้เพื่อ “ดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัว” ที่อาศัยอยู่ด้วยกัน แต่การไม่จำกัดเงื่อนไขบุคคลที่ได้รับการอนุญาตในการปลูกหรือการซื้อขาย เช่น ต้องเป็นผู้ที่มีอาการป่วยที่จำเป็นจะต้องใช้กัญชา หรือ มีใบสั่งจากแพทย์ ก็ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงหรือใช้กัญชาเพื่อนันทนาการหรือใช้เพื่อความสนุกสานหรือผ่อนคลายได้

ส่วนการควบคุมการขายกัญชา ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 15 ที่กำหนดให้ผู้ที่ต้องการขายกัญชาหรือสารสกัดกัญชาต้องขอใบอนุญาตเช่นเดียวกับผู้ที่ต้องการปลูกกัญชาในเชิงพาณิชย์ แต่ค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตจะอยู่ที่ 5,000 บาท ถ้าหากผู้ใดขายกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

โดยมาตรการสำคัญในการควบคุมการขายกัญชาจะอยู่ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ หมวดที่ 10 การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด และการป้องกันการใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัดในทางที่ผิด เช่น ห้ามห้ามขายกัญชา หรือสารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา ให้แก่บุคคลซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี หรือ สตรีมีครรภ์ หรือ สตรีที่ให้นมบุตร และห้ามขายกัญชา หรือสารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา ผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ ห้ามขายช่อดอกผ่านออนไลน์ ห้ามขายในลักษณะของการ ‘เร่ขาย’ ช่อดอกหรือยาง รวมถึงห้ามขายกัญชาในวัดหรือสถานที่สําหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา, สถานศึกษา, หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อนำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกกัญชาตาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มาเปรียบเทียบกับมาตรการของต่างประเทศ จะพบช่องโหว่ว่า ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมพื้นที่การขาย เช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือ เนเธอแลนด์ จะมีการกำหนดว่า สถานที่ขายจะต้องตั้งห่างจากสถานศึกษาและที่สาธารณะไม่ต่ำกว่า 1,000 ฟุต (300 เมตร)

นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ของไทย ยังไม่มีการกำหนดเรื่องปริมาณในการซื้อขายหรือครอบครองกัญชาไว้เลย ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดปริมาณการครอบครองไว้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ไม่เกิน 1-2.5 ออนซ์ ไม่เกิน 30-75 กรัม ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญไม่ให้กัญชารั่วไหลไปยังกลุ่มผู้เปราะบางและจะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากกัญชา

ห้า สภา ผ่าน พ.ร.บ.กยศ. ลดเบี้ยปรับผิดนัดชำระ ไม่ต้องมีผู้คำประกัน

ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ผ่านความเห็นชอบจากสภาเรียบร้อยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 หลังจากที่ผ่านการถกเถียงแก้ไขกันอย่างดุเดือด ตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรจนถึงวุฒิสภา และต้องกลับมาเคาะอีกครั้งที่สภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ในโลกออนไลน์ก็เกิดการโต้เถียงกันอย่างดุเดือดในประเด็นต่างๆ เช่น สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันไม่มีค่าใช้จ่ายหรือวินัยทางการเงินของผู้ที่ไม่ยอมชำหนี้ กยศ.

การเสนอแก้ไขพ.ร.บ.กยศ. มีทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลเสนอร่างแก้ไข คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากร่างกฎหมายผ่านสภาไปได้จะมีผลต่อผู้กู้ยืมเงินที่มีกว่า 3.4 ล้านบัญชี โดยมีกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีนับล้านรายและถูกฟ้องดำเนินคดีอีกจำนวนมาก

วันที่ 14 กันยายน 2565 ส.ส.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กยศ. ด้วยมติเห็นด้วย 314 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง อย่างไรก็ตามในช่วงพิจารณารายมาตรามีประเด็นสำคัญ คือ การเสนอให้ไม่คิดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับล่าช้า โดยพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งผลการลงมติเสียงข้างมากเห็นด้วย เนื่องจากมีพรรครัฐบาลร่วมลงมติเห็นชอบในประเด็นนี้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ทำให้ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาปลอดดอดเบี้ย ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกราย จากเดิมที่ กยศ. กำหนดอัตราเบี้ยอยู่ที่ 1% ต่อปี และเบี้ยปรับผิดชำระสูงถึง 7.5% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อร่าง พ.ร.บ.กยศ. เข้าสู่การพิจารณาของ ส.ว. ก็ถูกแก้ไขใหม่ในประเด็นเดิมอีกครั้ง คือให้ กยศ.กลับไปเรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ 1% ต่อปีเช่นเดิม แต่ให้คิดเบี้ยปรับกรณีผิดชำระหนี้แค่ 0.5% ของค่างวดค้างชำระ โดยที่ประชุม ส.ว.มีมติเห็นด้วย 143 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

การแก้ไขร่างกฎหมายในชั้น ส.ว.ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนั้นต้องกลับไปให้ ส.ส.พิจารณาอีกครั้งว่าเห็นด้วยกับ ส.ว. หรือไม่ โดยสุดท้ายวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ที่ประชุม ส.ส.ก็มีมติเห็นด้วย 224 เสียง ไม่เห็นด้วย 11 เสียง งดออกเสียง 60 เสียง ให้ร่าง พ.ร.บ.กยศ.ประกาศใช้เป็นกฎหมาย แม้ ส.ส.ส่วนใหญ่จะอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการยังคงดอกเบี้ยเงินกู้ 1% แต่ก็ยังรับได้เบี้ยปรับที่ลดลงจากเดิม และการไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันอีกต่อไป

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา