รัฐสภานัดถกร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ หลังพระมหากษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน

9-10 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะมีนัดพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เช่น ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และยังมีนัดปรึกษาร่างพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้นำร่างขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อ 31 มกราคม 2565 แต่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน และไม่ได้พระราชทานร่างกฎหมายคืนกลับมา อาจกล่าวสั้นๆ ว่า พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้ง (Veto) ร่างกฎหมาย โดยการไม่ลงพระปรมาภิไธยภายในกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด

สำหรับกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้งร่างกฎหมาย ไม่ได้แปลว่าร่างกฎหมายนั้นจะตกไปในทันที รัฐธรรมนูญมาตรา 146 กำหนดให้รัฐสภาจะต้องนำร่างพระราชบัญญัตินั้นมา “ปรึกษา” ใหม่ เพื่อหาทางว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ หากรัฐสภาประสงค์จะยืนยันตามที่ลงมติเดิม ต้องใช้มติไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกสองสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ แต่ถ้าเสียงยืนยันไม่ถึงสองในสาม ร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ ก็จะเป็นอันตกไป

พระมหากษัตริย์ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติได้ ถ้ารัฐธรรมนูญให้อำนาจ

อำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย (Veto) เป็นหนึ่งในอำนาจของประมุขของรัฐที่จะ “หน่วงเวลา” หรือไม่ประกาศใช้ร่างกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาเห็นชอบมาแล้ว เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติทบทวนร่างกฎหมายนั้นอีกครั้ง เพื่อให้กระบวนการตรากฎหมายรอบคอบและคำนึงถึงอำนาจจากฝ่ายต่างๆ อย่างครบถ้วน ซึ่งอำนาจนี้ไม่ได้เพิ่งมีขึ้น แต่มีในรัฐธรรมนูญไทยมานานแล้ว และไม่ได้เป็นขั้นตอนพิเศษเฉพาะในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเท่านั้น แต่ประเทศที่ใช้ระบบสาธารณรัฐบางประเทศก็กำหนดให้ประธานาธิบดีมีอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายได้ เช่น บราซิล อิตาลี โปรตุเกส เกาหลีใต้

สำหรับประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 146 บัญญัติว่า

“มาตรา 146 ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนําพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว”

จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้พระมหากษัตริย์สามารถยับยั้งร่างกฎหมายได้ในสองลักษณะ หนึ่ง คือ การยับยั้งโดยแสดงออกอย่างชัดแจ้ง ผ่านการพระราชทานร่างกฎหมายนั้นคืนมายังรัฐสภา โดยไม่ลงพระปรมาภิไธย สอง คือ การยับยั้งโดยการนิ่งเฉย ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน 90 วัน ซึ่งกรณีของร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ สอดคล้องกับลักษณะแบบที่สอง

อย่างไรก็ดี ในมาตรา มาตรา 146 ก็ไม่ได้ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในกระบวนการออกกฎหมายเหนือกว่ารัฐสภา ไม่ได้ให้อำนาจในการ “คว่ำ” ร่างกฎหมาย แต่เป็นการ “ยับยั้ง” ให้มีผลเป็นเพียงการ “หน่วงเวลา” เอาไว้ช่วงหนึ่ง เพื่อให้เกิดการพิจารณาทบทวนอีกครั้งให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น หากพระมหากษัตริย์ยับยั้งร่างกฎหมายใด แต่รัฐสภายังคงลงมติอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของทั้ง ส.ส. รวมกับ ส.ว. ยืนยันให้ผ่านกฎหมายดังกล่าว แม้พระมหากษัตริย์จะไม่ลงพระปรมาภิไธยอีก นายกรัฐมนตรีก็สามารถประกาศใช้กฎหมายนั้นๆ ได้เลย แต่ถ้าเสียงยืนยันไม่ถึงสองในสามร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะเป็นอันตกไป

ในประวัติศาสตร์ของไทยเคยมีกรณีที่พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติปรากฏอยู่บ้าง โดยร่างพระราชบัญญัติที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงยับยั้ง เช่น

๐ ร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกและการรับมฤดก (ภาษีมรดกและการรับมรดก) ผ่านการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่พระมหากษัตริย์พระราชทานคืนกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร จากคำแถลงของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ปรากฏในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2/2477 (วิสามัญ) สมัยที่ 2 วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2477 มีความตอนหนึ่งที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงขอเพิ่มเติมเรื่องพระราชทรัพย์ให้แยกออกเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และจากคำอภิปรายของร.ท.ทองดำ คล้ายโอกาส มีความตอนหนึ่งที่ระบุว่า ผู้สำเร็จราชการฯ ขอให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติโดยเติมลงให้ปรากฏชัดเจนว่า “พระราชทรัพย์สินใดๆ ที่เป็นพระราชมฤดกไปยังผู้อื่นนอกจากผู้สืบราชสมบัติต้องเสียอากรมฤดก นอกจากนั้นเป็นพระราชทรัพย์ฝ่ายพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียอากรมฤดก” แสดงให้เห็นว่าประเด็นที่ทำให้เกิดการยับยั้งร่างกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวพันกับการกำหนดยกเว้นไม่ให้พระราชทรัพย์ต้องเสียภาษีมรดก ซึ่งท้ายที่สุด สภาผู้แทนราษฎรยืนยังร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกและการรับมฤดก ด้วยคะแนนเสียงยืนยัน 89 เสียง ไม่ยืนยัน 35 เสียง และงดออกเสียง 12 เสียง

๐ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาชญา, ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขวิธีพิจารณาความอาชญา และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาชญาทหาร สาระสำคัญของร่างกฎหมายชุดนี้ คือ เปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิตจากตัดศีรษะเป็นการยิง และแก้ไขหลักการเดิมที่กำหนดว่าการประหารชีวิตได้ต้องให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประหารชีวิต เปลี่ยนเป็นนำบุคคลไปประหารได้ตามที่และเวลาที่เจ้าพนักงานเห็นสมควร ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ได้ลงนามประกาศใช้กฎหมาย และส่งร่างกลับมายังสภา จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 28/2477 (วิสามัญ) สมัยที่ 2 เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน พุทธศักราช 2477 หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงแปลโทรเลขของรัชกาลที่ 7 โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่าการยกเลิกพระบรมราชาอนุญาตประหารชีวิตนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงโบราณราชประเพณีควรให้ประชาชนทั้งประเทศลงมติ ต่อมา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 29 กันยายน 2477 สภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติโดยลับ  ยืนยันร่างพระราชบัญญัติทั้งสามฉบับตามมติเดิม ด้วยคะแนนเสียงยืนยัน 75 เสียง และไม่ยืนยัน 36 เสียง

ร่างพระราชบัญญัติที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงยับยั้ง เช่น

๐ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งพิจารณาในยุคของรัฐบาลอานันท์ ปัณยารชุน ร่างฉบับนี้ได้เสนอแก้ไขโดยกำหนดค่าเสียหายในการละเมิดหมิ่นประมาทให้สูงขึ้น หากละเมิดโดยการโฆษณา ศาลสามารถกำหนดค่าเสียหายได้ 20 เท่าของอัตราโทษปรับขั้นสูงในกฎหมายอาญา (20 เท่าของสองแสนบาท = สี่ล้านบาท) ร่างกฎหมายดังกล่าวบีงถูกพิจารณาพร้อมไปกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่เสนอให้เพิ่มโทษคดีหมิ่นประมาท ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และไม่ปรากฏว่าพระองค์พระราชทานร่างคืนรัฐสภาภายใน 90 วัน (ตามหลักเกณฑ์รัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 89)  แต่ก่อนครบระยะเวลา 90 วัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติในขณะนั้นสิ้นสุดลง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงตกไปตามรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 144

๐ ร่างพระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว แต่มีข้อผิดพลาด คือ อธิบายลักษณะเหรียญเฉลิมพระเกียรติไม่ถูกต้อง ต่อมาพระมหากษัตริย์พระราชทานร่างพระราชบัญญัติคืนรัฐสภา ในการประชุมรัฐสภาเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2546ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่ยืนยันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงไม่ยืนยัน 410 เสียง และยืนยัน 5 เสียง เมื่อเสียงยืนยันไม่ถึงสองในสาม ตามหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 94 ร่างพระราชบัญญัตินี้จึงตกไป

ร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ ยกเลิกหลักการสืบตระกูลเครื่องราชฯ โดย “บุตรชายคนโต”

ร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พุทธศักราช 2484 ที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดในปี 2509 (พ.ร.บ.เครื่องราชฯ)  โดยเสนอให้ยกเลิก มาตรา 9 และมาตรา 10 ของพ.ร.บ.เครื่องราชฯ ที่วางหลักการสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้ สรุปได้ดังนี้

  1. กรณีที่บิดาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.) บุตรชายจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ และสืบตระกูลต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาตัวผู้สืบสายโลหิตที่เป็นชายไม่ได้
  2. กรณีที่บิดาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) บุตรชายจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิต แต่การสืบตระกูลจะสิ้นสุดแค่บุตรชายเท่านั้น ไม่ได้สืบตระกูลต่อไปเรื่อยๆ เหมือนป.จ.ว.
  3. กรณีที่บิดาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) หรือทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) บุตรชายจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สืบตระกูลเมื่อบิดาเสียชีวิต และสิ้นสุดการสืบตระกูลแค่นี้

การสืบตระกูลโดย “บุตรชาย” นั้น ต้องเป็นบุตรชายคนโตของจำนวนบุตรที่มีชีวิตอยู่ในขณะนั้น และต้องเป็นบุตรชายคนโตที่บิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ในตระกูลรับรองยกย่อง มีความประพฤติและหลักฐานดี สมควรที่จะรักษาเกียรติแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ถ้าบุตรชายคนโตไม่สมควรจะได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ บิดาจะขอพระราชทานให้กับบุตรชายคนรองตามลำดับลงไปก็ได้ ถ้าหากบุตรชายคนโตที่ได้รับพระราชทานวิกลจริตหรือเสียชีวิตก่อนได้รับพระราชทาน ก็ให้พระราชทานแก่หลานชายคนโต และมาตรา 10 กำหนดอีกว่า เครื่องราชฯ ที่จะพระราชทานในการสืบตระกูล ถ้าเป็นบุตรสืบตระกูลบิดา ให้ได้รับตติยจุลจอมเกล้า ถ้าเป็นหลานสืบตระกูลปู่ ให้ได้รับตติยานุจุลจอมเกล้า

หลักการสืบตระกูลเครื่องราชฯ ยึดตามแนวคิด “บุตรชายคนโต” เป็นหลัก สืบจากแต่ละรุ่นเป็นหลัก ไล่ลงไปตามหลักการสืบสายโลหิต ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องราชฯ นั้นด้วย หากได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นที่ 1 ป.จ.ว. ก็จะสืบตระกูลได้ยาว แต่ถ้าเป็นท.จ.ว. ก็จะสืบได้สิ้นสุดแค่รุ่นลูกของผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ เท่านั้น

ในร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ เสนอยกเลิกมาตรา 9 และ 10 ที่กำหนดหลักการนี้เอาไว้ เท่ากับว่า หากร่างกฎหมายนี้ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ก็จะไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดเรื่องการสืบตระกูลเครื่องราชฯ อีกต่อไป หากผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ เสียชีวิต ผู้รับมรดกจะต้องส่งเครื่องราชฯ คืนภายใน 30 วัน ไม่อาจส่งต่อไปยังบุตรชายได้อีก ถ้าคืนไม่ได้กองมรดกจะต้องรับผิดชอบ ตามพ.ร.บ.เครื่องราชฯ มาตรา 12 สำหรับกรณีบุตรชายคนโตที่ได้สืบตระกูลเครื่องราชฯ มาแล้วยังมีสิทธิและหน้าที่ตามพ.ร.บ.เครื่องราชฯ และการสืบตระกูลเป็นอันสิ้นสุดที่ผู้ได้รับพระราชทานลำดับสุดท้าย

ส.ส. และส.ว. ต่างเทคะแนนให้ผ่านแบบ “สามวาระรวด” มาก่อน

กระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่ากฎหมายอื่นๆ โดยครม. เสนอร่างกฎหมายนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 14 ธันวาคม 2564 และสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ เมื่อ 22 ธันวาคม 2564 พิจารณาจบสามวาระรวดในวันเดียว โดยการพิจารณาวาระหนึ่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้อนุญาตให้ภูมินทร์ ปลั่งสมบัติ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และฉันทพิมพ์ บรรจงจิตร์ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ

อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ได้มีการประสานงานกันระหว่างตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นตรงกันว่ากฎหมายฉบันนี้เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และอยากให้มีการพิจารณาสามวาระรวด และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุว่าทางพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ติดใจเนื่องจากเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย และให้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) เต็มสภา

จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 316 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง และตั้งกมธ. เต็มสภา พิจารณาวาระสอง รายมาตรา โดยมีจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายสอบถามอนุชา นาคาศัย ว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีการสืบตระกูลเครื่องราชฯ หรือไม่ จิรายุยังระบุว่า เมื่อได้อ่านกฎหมายแล้ว ก็รู้สึกประทับใจที่หากบิดาได้เครื่องราชฯ บุตรก็ได้ หลานก็ได้ เหลนก็ได้

ด้านภูมินทร์ ปลั่งสมบัติ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ชี้แจงว่า มาตรา 9 และมาตรา 10 ที่กำหนดให้มีการสืบตระกูลเครื่องราชฯ มีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่พ.ศ.2416 จึงสถาปนาเครื่องราชฯ ตระกูลนี้ขึ้นสำหรับข้าราชการที่มีคุณูปการต่อบ้านเมือง การสืบตระกูลเครื่องราชฯ มีเฉพาะฝ่ายหน้าหรือผู้ชายเท่านั้น ไม่รวมผู้หญิง กรณีของผู้หญิงจะได้รับการเปลี่ยนชื่อคำนำหน้านามตามกฎหมาย เป็นท่านผู้หญิง คุณหญิง หรือคุณ  ตามแต่สถานะของการสมรสหรือชั้นตราที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งในปี 2509 มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มชั้นตราเครื่องราชฯ ให้มากขึ้นเนื่องจากจำนวนประชากรมากขึ้น และจำนวนข้าราชการก็มากขึ้น

ทั้งนี้ ในการพิจารณาวาระสอง ไม่มีกมธ. เต็มสภารายใดที่เสนอแปรญัตติแก้ไขเนื้อความในร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ ท้ายสุดแล้วจึงลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ ในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 328 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง โดยกระบวนการพิจารณาสามวาระรวดนี้ แล้วเสร็จภายในเวลาประมาณ 28 นาที (ดูได้จากคลิปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ของช่องวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา TPchannel นาทีที่ 2.12.05 จนถึงนาทีที่ 2.40.48)

ต่อมาวุฒิสภา เปิดประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ วันที่ 17 มกราคม 2565โดยมีการพิจารณาสามวาระรวดเช่นเดียวกันกับสภาผู้แทนราษฎร ในชั้นวาระหนึ่ง พลอากาศตรี เฉลิมชัย เครืองาม อภิปรายโดยมีใจความสำคัญว่า พ.ร.บ.เครื่องราชฯ นั้นไม่สอดคล้องต่อยุคสมัยปัจจุบันในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ โดยกำหนดการสืบตระกูลแก่บุตรชายคนโต ตนเห็นว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งกับการแก้ไขกฎหมาย

หลังจากนั้น วุฒิสภาลงมติรับร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ ไว้พิจารณาในวาระหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 196 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง วันชัย สอนศิริ ได้เสนอตั้งกมธ.เต็มสภา เพื่อพิจารณาวาระสอง ทั้งนี้ ไม่มีกมธ.เต็มสภารายใดที่เสนอแปรญัตติแก้ไขพ.ร.บ.เครื่องราชฯ จากนั้นจึงลงมติวาระสามด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 194 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง