“นายกลาออก” แก้ปัญหา ส.ว. ได้จริงไหม? : ย้อนดู 10 คำตอบของนางงามเวทีมิสแกรนด์ 2022

จากกรณีคำถามรอบ 10 คนสุดท้ายของเวทีการประกวดมิสแกรนด์ 2022 เมื่อ 30 เมษายน 2565 ที่ยกเอาประเด็นโครงสร้างทางการเมืองในปัจจุบันขึ้นมาถามอย่างตรงไปตรงมาว่า 

“ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งจากคสช. และผู้ทรงคุณวุฒิเพียงไม่กี่คนที่สรรหาสมาชิกวุฒิสภา 250 คนมา และท่านเหล่านี้มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี จนเราได้นายกฯ คนปัจจุบันมา ในข้อนี้คุณมีความคิดเห็นอย่างไร และจะแก้ปัญหาข้อนี้อย่างไร”

เมื่อวิเคราะห์คำตอบในรายบุคคล จะพบว่า 6 ใน 10 คน เลือกตอบไปในทิศทางเดียวกัน คือ พุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดถึงที่มาของ ส.ว. และอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ดังนี้

1) มิสแกรนด์กรุงเทพมหานคร ตอบว่า

“สำหรับท่านนายกฯ เราก็ขึ้นชื่อเรื่องความไม่โปร่งใสอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็คงไม่แปลกที่จะมีการคอรัปชั่นหรือการซื้อเสียงเกิดขึ้น การแก้ไขปัญหานี้สำหรับฟ้า ฟ้ามองว่าต้องยกแผงค่ะ โดยเฉพาะนายกฯ เราต้องเปลี่ยนผู้กระจายอำนาจ หรือเปลี่ยนทัศนคติของนายกฯ แต่คงเปลี่ยนไม่ได้ค่ะ ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนนายกฯ เลยค่ะ

2) มิสแกรนด์กาฬสินธุ์ ตอบว่า

“ก่อนอื่นเลยการที่ผู้นำประเทศเฮาบอกว่าสิทธิ์เลือก ส.ว. 250 คนเป็นสิทธิ์ของเฮา ความหมายคือบ่มีสิทธิ์ค่ะ เพราะว่าท่านเลือกไว้แล้วจะให้เลือกสิเฮ็ดหยังคะท่าน ท่านก็บ่ต้องให้เลือก ปัญหาเดียวที่จะแก้ได้ก็คือเปลี่ยนผู้นำประเทศ เพราะฉะนั้นแล้วจงออกไปค่ะคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา”

3) มิสแกรนด์ขอนแก่น ตอบว่า

“คุณมีสิทธิ์มีเสียงที่ดี แต่ทำไมคุณไม่ใช่สิทธิ์นั้นให้มีความหมาย 250 เสียงที่คุณได้ซื้อมานั้น ไม่ได้ทำให้ประชาชนอย่างเราลืมตาอ้าปากได้สักที ถึงเวลาแล้วค่ะที่เราต้องเปลี่ยน เปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนยกแผง เปลี่ยนส.ส. เปลี่ยนทุกคน ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากกว่านี้ค่ะ”

4) มิสแกรนด์เชียงราย ตอบว่า

ท่านนายกฯ คุณบอกว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยใช่ไหมคะ อยากให้กลับไปคิดกับตัวเอง แก้ไขตัวเอง และปรับทัศนคติของตัวเองว่าควรที่จะปรับปรุงจุดไหน เพราะว่าเราต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง ถ้าไม่มีประชาชน รัฐบาลก็ไม่มีประโยชน์ค่ะ”

5) มิสแกรนด์แพร่  ตอบว่า

“ประชาธิปไตยหรอคะ 8 ปีแล้ว… 8 ปีเลยหรอคะที่คุณให้คนอื่นรอ ไม่คิดจะพัฒนาเลยหรอคะ ม่ารอเวทีมิสแกรนด์มา 6 ปี ม่าพัฒนาขึ้นเยอะ คุณพัฒนาประเทศแล้วหรือยังคะ ถ้าคุณยังไม่พัฒนาประเทศ เปลี่ยนได้แล้วค่ะ อย่าทนหน้าด้านอยู่อย่างนี้ต่อไปเลยดีกว่าค่ะ”

6) มิสแกรนด์ภูเก็ต  ตอบว่า

“ไฮดี้เชื่อว่าทั้งฮอลล์นี้ไม่มีใครเลือกท่านมาค่ะ แล้วท่านมาได้ยังไงคะ ถ้าไม่ได้มาจากซื้อเสียง ซื้อสิทธิ์ หรือซื้อคนที่จะมาเลือกท่านเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ทางแก้ของไฮดี้คือ ถ้าเรามีนายกโง่ เราจะตายกันหมด เพราะฉะนั้นคุณควรจะออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีได้แล้วค่ะ และคืนประชาธิปไตยให้กับพวกเราค่ะ”

ส่วนมิสแกรนด์อีกสี่คน แม้จะไม่ได้มุ่งไปที่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ก็ตอบคำถามโดยการโจมตีไปที่ตัวนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล และข้อเสนอที่มีก็แตกต่างกันไป รวมทั้งการเสนอให้เริ่มแก้ไขปัญหาจากตัวประชาชนเอง ดังนี้

7) มิสแกรนด์เชียงใหม่  ตอบว่า

“ชมพู่อยากจะบอกกับรัฐบาลชุดนี้ค่ะ ว่าอยากให้รู้จักละอายแก่ใจบ้างนะคะ ที่ปัจจุบันคุณบริหารวอดวายและพินาศขนาดนี้ และทางแก้ คิดว่าจะต้องเริ่มต้นที่ตัวเราค่ะ จะต้องศึกษาผลงานที่ผ่านมาของผู้แทนราษฎรว่ามีผลงานอย่างไร และสุดท้ายชมพูอยากจะฝากไว้ว่าถ้าเรายังนิ่งเฉย แล้วยังเลือกรัฐบาลห่วยๆ สุดท้ายความเฮงซวยก็จะอยู่กับพวกเราตลอดไปค่ะ”

8) มิสแกรนด์อ่างทอง  ตอบว่า

“หนูดีไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการกระทำแบบนี้ของนายกรัฐมนตรีและสมาชิกทุกคน เพราะคุณขึ้นชื่อว่าเป็นตัวแทนของราษฎร เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นประชาชนควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกใครก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้า และพัฒนาประชาชน ทางแก้คือการที่ประชาชนทุกคนรู้จักสิทธิของตัวเองว่าเรามีสิทธิ์อะไรบ้าง และลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ของเรากลับคืนมาค่ะ เพราะนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด หากประชาชนมีความรู้ รัฐบาลโง่ๆ ก็จะไม่ยืนอยู่ตรงนี้”

9) มิสแกรนด์นนทบุรี ตอบว่า

“การแก้ไขปัญหา มาลีมองว่าประชาชนทุกคน รวมถึงคนในฮอลล์นี้ควรมีสิทธิ์ในการเลือก ส.ส. หรือผู้นำค่ะ เพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นคุณนายก คุณควรคืนประชาธิปไตยให้กับพวกเรา เพราะฉะนั้นโปรดฟังเสียงของพวกเราด้วยนะคะ”

10) มิสแกรนด์ชุมพร ตอบว่า

“เราทราบกันดีอยู่แล้วค่ะ ท่านนายกฯ และสภา เกิดการคอรัปชั่นกันบ่อยมาก และที่สำคัญ สิ่งที่เราอยากจะฝากคือ คุณอย่าพูดเลยค่ะว่าประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย ในเมื่อคุณยังซื้อเสียงอยู่เลยค่ะ”

รับชมการตอบคำถามย้อนหลังได้ที่นี่ (ตั้งแต่ 2.58.52 เป็นต้นไป) 

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งที่เห็นได้จากการตอบคำถามของมิสแกรนด์ คือ 4 ใน 10 คน คือ มีการเอ่ยถึงบทบาทหน้าที่ของ “ส.ส.” หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำถามที่มุ่งเจาะจงอำนาจของ “ส.ว.” หรือสมาชิกวุฒิสภา ไอลอว์จึงขอชวนปูพื้นฐานทำความเข้าใจ “ระบบ 2 สภา” ก่อนในเบื้องต้น

o ส.ส. กับ ส.ว. : ระบบสองสภา ที่มาต่างกัน

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ 1) สภาผู้แทนราษฎร โดยมี ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ส. ชุดปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 คน รวมเป็น 500 คน แต่ถึงวันนี้มีหลายคนถูกตัดสิทธิทำให้จำนวนที่มีอยู่ไม่เต็มสภา และ 2) วุฒิสภา ซึ่งมี ส.ว. จำนวน 250 คน ที่ชุดปัจจุบันไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

o สว. มีที่มาจากไหน?

รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุให้มีคณะกรรมการดำเนินการสรรหา “ส.ว. แต่งตั้ง” โดยแบ่งที่มาได้ดังนี้

1) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยตำแหน่งมี 6 คน ได้แก่ ผบ.สส., ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. และปลัดกระทรวงกลาโหม

2) คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. (ปัจจุบันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคสช. เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ จะสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมไม่เกิน 400 คน เสนอต่อ คสช. จากนั้น คสช. เลือกบุคคลรวม 194 คนจากรายชื่อดังกล่าวแต่งตั้งเป็น ส.ว.

3) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการให้ผู้สมัคร ส.ว. เลือกกันเองตามแต่ละกลุ่มอาชีพของผู้สมัคร ส.ว. จำนวน 10 กลุ่ม จำนวน 200 คน จากนั้น คสช. เลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม 50 คนจากจำนวน 200 คน ที่ กกต. ดำเนินการสรรหาจากแต่ละกลุ่มอาชีพจำนวน 10 กลุ่ม

>> จะเห็นได้ว่า แม้มีการกำหนดระบบการสรรหาในรูปแบบข้างต้น แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงเป็นหน้าที่ของ คสช. ในการคัดเลือกรายชื่อจำนวน 250 คน

ทำความรู้จักกับหน้าตา ส.ว. ชุดปัจจุบัน

o ส.ว. มีอำนาจอะไรบ้าง?

โดยทั่วไปอำนาจหน้าที่ขององค์กรนี้ที่คนอาจจะนึกถึง คือ การกลั่นกรองและตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ได้กำหนดอำนาจของเหล่า ส.ว. ให้ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเช่นเดิม แต่ยังมีอำนาจอื่นที่สำคัญด้วย เช่น อำนาจให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ อำนาจตั้งกระทู้ตรวจสอบฝ่ายบริหาร เป็นต้น (ดูอำนาจทั้งหมดของ ส.ว. ชุดนี้ https://ilaw.or.th/node/5395)

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ “ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกได้” โดยระบุไว้ว่า ใน 5 ปีแรก การเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น “การประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา” จึงทำให้ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ด้วย

คลิกดูที่มาของอำนาจพิเศษนี้ 

การกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ชุดแต่งตั้งให้ยาวนานถึง 5 ปีนั้นมีนัยยะสำคัญต่อการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก “นายกฯ มีวาระละ 4 ปี ในขณะที่ ส.ว.แต่งตั้ง มีวาระ 5 ปี” ดังนั้นกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกลุ่มนี้จึงจะยังมีอำนาจเลือกนายกฯ ได้อย่างน้อยสองสมัย 

อีกทั้งตามมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ วรรคสองยังกำหนดให้ ส.ว. แต่งตั้งชุดนี้มีอำนาจเปิดทางให้มี “นายกฯ คนนอก” หรือการให้บุคคลซึ่งไม่ได้อยู่ในรายชื่อของพรรคการเมือง ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งมาเป็นผู้นำประเทศก็ได้ 

>> ดังนั้น แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะ “ลาออก” หรือประกาศ “ยุบสภา” แต่ภายใต้ ส.ว. ชุดพิเศษนี้ ก็อาจทำให้ “นายกรัฐมนตรีคนเดิม” สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกสมัย และไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องอำนาจล้นฟ้าของส.ว.

อ่านรายละเอียดอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. เพิ่มเติม 

o สุดท้ายแล้ว ต้องแก้ไขอย่างไร?

ความพยายามแก้ไขปัญหา “ส.ว.แต่งตั้ง” ในประเทศไทย เคยปรากฏผ่านการ “ศึกแก้รัฐธรรมนูญ” ทั้งสามภาค ดังต่อไปนี้

  • แก้ไขที่มาของ ส.ว.

ข้อเสนอเรื่องการแก้ไขที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งแก้ไขที่มาให้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องมาจากรายชื่อ ส.ส. ผ่านการยกเลิกมาตรา 272 ปรากฏครั้งแรกใน “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่ใช้เวลาการรวบรวมรายชื่อประชาชน 43 วัน ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2563 และถูกปัดตกไปในวาระแรกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

อ่าน ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอโดยประชาชน “5 ยกเลิก 5 แก้ไข”

  • ตัดอำนาจเลือกนายกฯ

ในศึกแก้รัฐธรรมนูญภาคสอง เมื่อเดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน 2564 ข้อเสนอให้ตัดอำนาจของ ส.ว. ทั้ง 250 คนในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เคยเป็นจุดร่วมที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอเหมือนกัน ทั้งฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลที่ร่วมเสนอร่างนี้เพียงร่างเดียว และพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ ก็ร่วมด้วยอย่างพร้อมเพรียง พรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมด้วยคือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาวาระแรก บรรดาร่างที่พูดถึงการตัดอำนาจเลือกนายกฯ ของส.ว.ได้ถูกปัดตกไปทั้งหมด

อ่าน แก้รัฐธรรมนูญ: “แก้ระบบเลือกตั้ง-ปิดสวิตซ์ ส.ว.” จุดร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ยังมีแคมเปญการล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดย “คณะรณรงค์แก้ไข รธน. มาตรา 272” ผ่านเว็บไซต์ www.nosenatevote.net ซึ่งได้รายชื่อประชาชนครบแล้วและนำเสนอต่อรัฐสภาไปแล้ว รอการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียว

  • ยกเลิก ส.ว. เปลี่ยนมาใช้ระบบสภาเดี่ยว

ในศึกแก้รัฐธรรมนูญภาค 3 เมื่อ 16-17 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีนัดพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “รื้อระบอบประยุทธ์” ที่นำโดยกลุ่ม Re-solution โดยหนึ่งในสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การยกเลิกวุฒิสภาแล้วกลับไปใช้ระบบ “สภาเดี่ยว” หรือ ให้เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม ร่างฉบับดังกล่าวก็ถูกคว่ำไปในวาระแรกอีกเช่นเคย

อ่าน รายละเอียดข้อเสนอสภาเดี่ยวของ Re-solution