ผ่านฉลุย! รัฐสภารับหลักการร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. 4 ฉบับ แก้กติกาใหม่สู่การเลือกตั้งครั้งหน้า

24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) มีนัดพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญรวม 10 ฉบับ อันได้แก่
๐ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.) สี่ฉบับ คือ ร่างรัฐบาล, ร่างส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ร่างส.ส.พรรคเพื่อไทย และร่างส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เป็นผลมาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งเปลี่ยนสัดส่วนจำนวน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิม 350 : 150 มาเป็น 400 : 100 เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจากใบเดียว เป็นสองใบ เปลี่ยนวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ ให้เหมือนกับ รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่คำนวณเป็นสัดส่วนตามคะแนนที่ได้พรรคได้รับ จึงต้องแก้ไขพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. เพื่อให้สอดคล้องกับกติกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ
๐ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง) หกฉบับ ประกอบด้วย ร่างรัฐบาล, ร่างส.ส.พรรคพลังประชารัฐสองฉบับ, ร่างส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่างส.ส.พรรคก้าวไกล และร่างส.ส.พรรคประชาชาติ
รัฐสภาพิจารณาร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ทั้งสี่ฉบับก่อนเป็นลำดับแรก โดยร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ทั้งสี่ฉบับนั้น ต่างก็มีการนำเสนอที่แตกต่างกันในประเด็นหมายเลขผู้สมัคร ร่างของครม.และร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและเขต ไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล เสนอให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและเขต ใช้หมายเลขเดียวกันทั่วทั้งประเทศ
อีกส่วนสำคัญคือการคิดที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ที่ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะเปิดโอกาสให้พรรคขนาดเล็กเข้ามาในสภาในฐานะ ส.ส.ปัดเศษ ซึ่งแตกต่างจากร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ในร่างของพรรคก้าวไกล ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การเพิ่มอำนาจในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งให้ชัดเจนขึ้น เช่น การห้ามขัดขวางการบันทึกหรือเผยแพร่การนับคะแนนของประชาชน การยกเลิกบทบัญญัติที่ให้กกต. กำหนดจำนวนและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส. และการให้ กกต. รายงานผลการเลือกตั้งในรูปอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
ก่อนรัฐสภาจะลงมติว่าจะรับหลักการร่างทั้งสี่ฉบับหรือไม่ มีประเด็นว่า รัฐสภาจะลงมติรับหลักการร่างทั้งสี่ฉบับโดยลงมติครั้งเดียว หรือจะลงมติรับหลักการแยกรายฉบับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอว่า เนื่องจากร่างกฎหมายทั้งสี่ฉบับนั้นมีหลักการทำนองเดียวกัน จึงควรจะลงมติไปพร้อมกัน ขณะที่สมชาย แสวงการ ส.ว. ระบุว่าแม้ร่างทั้งสี่ฉบับจะมีเนื้อหาคล้ายกัน แต่มีประเด็นบางประการที่ทางส.ว.มีข้อกังวลว่าร่างบางฉบับจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงขอลงมติแยกเป็นรายฉบับ
เมื่อมีความเห็นสองทาง จึงต้องอาศัยเสียงข้างมากของรัฐสภาชี้ ท้ายที่สุดแล้ว เสียงข้างมากของรัฐสภา 428 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการลงมติรวมทั้งสี่ฉบับ อีก 207 เสียงเห็นด้วยกับการลงมติรวม งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ดังนั้น ที่ประชุมรัฐสภาจึงต้องลงมติว่าจะรับหลักการร่างกฎหมายทั้งสี่ฉบับ แยกเป็นรายฉบับไป
ผลสรุป รัฐสภามีมติ “รับหลักการ” ร่างทั้งสี่ฉบับ ไม่มีร่างฉบับใดที่ตกไป โดยมีคะแนนเสียงเรียงตามฉบับ ดังนี้
ร่างครม. ร่างพรรคพลังประชารัฐ ร่างเพื่อไทย ร่างก้าวไกล
เห็นด้วย 609 598 420 418
ไม่เห็นด้วย 16 26 205 202
งดออกเสียง 10 12 14 15
ไม่ลงคะแนน 1 0 1 0
ร่างที่เสนอโดยครม.
เห็นด้วย 609 เสียง
ไม่เห็นด้วย 16 เสียง
งดออกเสียง 10 เสียง
ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย
เห็นด้วย  420 เสียง
ไม่เห็นด้วย 205 เสียง
งดออกเสียง 14 เสียง
ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
เห็นด้วย 598 เสียง
ไม่เห็นด้วย 26 เสียง
งดออกเสียง 12 เสียง
ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล
เห็นด้วย 418 เสียง
ไม่เห็นด้วย 202 เสียง
งดออกเสียง 15 เสียง
ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
ภายหลังจากลงมติร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. และตั้งกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) สำหรับพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว 49 ราย  โดยยึดร่างที่ครม. เสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกมธ. จากนั้นรัฐสภาก็พิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองทั้งหกฉบับต่อ มีตัวแทนผู้เสนอร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองกล่าวชี้แจงเนื้อหาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง จากนั้นบรรดาสมาชิกรัฐสภาก็อภิปรายเนื้อหาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองทั้งหกฉบับ
อย่างไรก็ดี การพิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองทั้งหกฉบับไม่แล้วเสร็จในวันนี้ เวลา 21.34 น. พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุม สั่งปิดการประชุม และแจ้งว่าวันพรุ่งนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2565) เวลา 09.00 น. รัฐสภาจะพิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ทั้งหกฉบับต่อ จึงต่อติดตามกันต่อไปว่า รัฐสภาจะรับหลักการร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองทั้งหกฉบับหรือไม่ หรือจะมีฉบับใดที่เสียงข้างมากของรัฐสภามีมติไม่รับหลักการ