แจกแจงประเด็นจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สนข้อกฎหมาย ไม่เข้าใจ #สมรสเท่าเทียม

2 ธันวาคม 2564 เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 ในประเด็นเรื่องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญปรึกษาหารือและลงมติในคดีดังกล่าวไปเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2564 พร้อมทั้งเผยแพร่ความเห็นส่วนตนของตุลาการเก้ารายในวันเดียวกัน
หลังจากที่มติศาลรัฐธรรมนูญหักธงนักวิชาการที่คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไปในทางบวกต่อการรับรองสิทธิเพศหลากหลาย และหักอกประชาชนที่คาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่สำคัญอันนำไปสู่การ #สมรสเท่าเทียม จนภาคประชาชนต้องหันไปเรียกร้องอีกทางหนึ่งโดยใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่คำวินิจฉัยฉบับเต็มศาลรัฐธรรมนูญที่แสดงถึงการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงความเห็นส่วนตนของตุลาการทั้งเก้าราย ก็ยิ่งทำให้คนในสังคมไม่พอใจในทัศนะของศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนมีแฮชแท็กที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง คือ #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ
จากกระแสร้อนแรงในสังคม จึงชวนมาชำแหละเนื้อหาคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดูร่องรอยทัศนะคติของตุลาการเหล่านี้ที่มีต่อประชาชนเพศหลากหลายซึ่งสะท้อนผ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
 
 
สรุปคำวินิจฉัยเต็มศาลรัฐธรรมนูญ สมรสเฉพาะชายหญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
เหตุที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ในประเด็นมาตรา 1448 ของป.พ.พ. เริ่มจากจากเพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ คู่รักซึ่งมีเพศตามทะเบียนราษฎร์เป็นเพศหญิง ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธเนื่องจากข้อติดขัดเรื่องเพศกำเนิดซึ่งกฎหมายยังรับรองเฉพาะการสมรสของชาย-หญิง ทั้งคู่จึงยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส หากนายทะเบียนปฏิเสธก็ขอให้ศาลส่งคำร้องโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติเหล่านี้หรือไม่ อันได้แก่ มาตรา 4 (หลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค), มาตรา 5 (หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ), มาตรา 25 (บททั่วไปเรื่องสิทธิเสรีภาพ), มาตรา 26 (เหตุการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ยอมรับได้) และ มาตรา 27 (ความเสมอภาคและความเท่าเทียม)
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายว่า มาตรา 4 และมาตรา 5 นั้น เป็นบททั่วไปที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยมิได้มีข้อความที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้เป็นการเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้วินิจฉัยในส่วนนี้ หรืออาจอธิบายอีกอย่าง คือ มาตรา 4 และ มาตรา 5 ที่คู่ความร้องมานั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักการไว้อย่างกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจง และมีความเป็นนามธรรม ไม่ใช่การรับรองสิทธิเป็นการเฉพาะเจาะจง จึงไม่สามารถนำไปใช้เป็นมาตรวัดว่าป.พ.พ. มาตรา 1448 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4 และมาตรา 5 หรือไม่
ดังนั้น สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณา คือ ป.พ.พ. มาตรา 1448 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25, มาตรา 26 และมาตรา 27 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยแล้วว่า ป.พ.พ. มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 และมาตรา 26 เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่ได้จำกัดเสรีภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และไม่ได้มีข้อความจำกัดสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศในการทำนิติกรรมใดๆ ตามกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม 
ศาลรัฐธรรมนูญยังได้อธิบายถึงพื้นฐานของกฎหมายว่า นอกจากจะเป็นไปตาม “กฎแห่งธรรมชาติ” แล้ว ยังเป็นไปตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของแต่ละสังคม กฎหมายจะบังคับใช้ได้อย่างยั่งยืนต้องเป็นที่ยอมรับและไม่ขัดกับความรู้สึกของคนในประเทศ ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่แตกต่างกันของแต่ละสังคมย่อมเป็นที่มาของกฎหมายที่แตกต่างกันด้วย ในสังคมไทย มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า การสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น ป.พ.พ. มาตรา 1448 จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน วัตถุประสงค์ของการสมรส คือ การที่ชาย-หญิง อยู่กินฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ มีการสืบทอดทรัพย์สิน มรดก มีการส่งต่อความผูกพันระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการสมรสในระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังบอกด้วยว่า รัฐมีกฎหมายที่คุ้มครองเฉพาะเรื่องเฉพาะกลุ่ม เพื่อคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะเป็นกรณียกเว้น เห็นได้จากการตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองและป้องกันการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และศาลรัฐธรรมนูญยังบอกอีกว่า ขณะนี้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต
และอีกประเด็นหนึ่งคือ ป.พ.พ. มาตรา 1448 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ที่ว่าด้วยความเสมอภาคและความเท่าเทียมหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 1448 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ กล่าวคือ บุคคลที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเหมือนกัน ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน บุคคลที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญแตกต่างกัน ย่อมได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน นัยของความเสมอภาคระหว่างชาย-หญิงไม่ใช่การบัญญัติกฎหมายให้เป็นชายหรือเป็นหญิง แต่เพราะการแบ่งแยกมาโดยธรรมชาติ (an act of god) การให้ความเสมอภาคระหว่างชายหญิง จึงไม่ใช่การให้เหมือนกัน แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมกับเพศสภาพบุคคลนั้นๆ “กฎหมายจะต้องรับรู้และแยกเพศชายและเพศหญิงเป็นหลักไว้ก่อนจึงจะให้ความเสมอภาคได้” เช่น หญิงมีประจำเดือน หญิงตั้งครรภ์ได้ หญิงมีสรีระที่อ่อนแอบอบบางกว่าชาย เห็นได้ว่า “สิ่งที่ไม่เหมือนกันจะปฏิบัติให้เหมือนกันไม่ได้” การปฏิบัติให้ถูกต้องสอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติจะสร้างความเสมอภาคระหว่างชายหญิงได้ “ มิใช่ถือเอาผู้ที่กำหนดเพศไม่ได้มารวมกับความเป็นหญิงชายที่แยกกันไว้อย่างชัดเจน” การยอมรับสิ่งที่แตกต่างให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างจึงไม่อาจกระทำได้
ศาลรัฐธรรมนูญยังห่วงกังวลถึงประเด็นสวัสดิการของรัฐว่า หากไม่ได้กำหนดเพศสำหรับการสมรสไว้ แล้วเกิดกรณีสามีเบิกค่ารักษามะเร็งปากมดลูก ภริยาเบิกค่ารักษาต่อมลูกหมาก สามีเบิกค่าทำคลอด ทำให้ต้องมีการพิสูจน์ทั้งสภาพเพศและมีใบรับรองแพทย์ทุกกรณี เมื่อคำนึงสัดส่วนที่พึงจะเกิดขึ้น จึงเป็นการ “เพิ่มภาระให้รัฐและทำให้สิทธิของสามีภริยาที่เป็นชายจริงหญิงแท้ซึ่งเป็นมหาชนต้องถูกตรวจสอบไปด้วย ทำให้เกิดความล่าช้ามีอุปสรรคไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยปริยาย” และศาลรัฐธรรมนูญยังห่วงกังวลอีกว่า การไม่ได้กำหนดเพศในการสมรสอาจมีผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) มาจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังผลประโยชน์ในสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ หรือประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี อันอาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ศาลรัฐธรรมนูญยังบอกอีกว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายปัจจุบันไม่ได้ห้ามบุคคลเพศเดียวกันใช้ชีวิตคู่ร่วมกันและมีเพศสัมพันธ์กัน ไม่ได้ห้ามจัดพิธีงานแต่งงาน ไม่ได้ห้ามทำประกันชีวิตระบุให้คู่ชีวิตเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ไม่ได้ห้ามทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกแก่คู่ชีวิต และทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์รวม ข้อโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองที่อ้างว่า ไม่ได้รับสิทธิในฐานะคู่สมรส เช่น การให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล การได้รับสวัสดิการคู่สมรส การได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ หรือสิทธิการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิด หรือสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรม เห็นว่า สิทธิดังกล่าวไม่ได้เกิดจากสถานภาพการสมรสโดยตรง แต่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติจึงควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ ดังเช่นที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เพื่อให้สิทธิกับบุคคลเพศเดียวกันที่จะใช้ชีวิตร่วมกันให้มีสิทธิต่างๆ 
จึงเห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1448 บัญญัติขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ สืบสานการดำรงอยู่ของสังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สังคมยึดถือ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพชายหญิงเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างเรื่องเพศ ไม่ได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ทั้งยังช่วยส่งเสริมความมั่นคงของรัฐ และเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27
ในตอนท้ายคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ข้อแนะนำว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรพิจารณาดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเหมาะสมต่อไป
ชำแหละคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สนกฎหมาย ไม่เข้าใจ #สมรสเท่าเทียม
จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตามที่ได้สรุปไว้ในข้างต้น จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญยึดฐานการสมรสจากการสืบพันธุ์ หรือการ “ผลิตสมาชิกใหม่ให้แก่สังคม” และยังตั้งข้อห่วงกังวลมากมายหากจะมีการสมรสสำหรับเพศหลากหลาย ซ้ำยังอ้างถึงร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเฉพาะ ที่จะมาให้สิทธิกับบุคคลเพศเดียวกันที่จะใช้ชีวิตร่วมกันให้มีสิทธิต่างๆ
จากคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ 12 หน้า พอจะแกะปัญหาที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยอย่างน้อยสี่ประการด้วยกัน ดังนี้
1) นิยาม “การสมรส” และกำหนดวัตถุประสงค์การสมรสขึ้นเอง 
ความตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายถึงการสมรสตามป.พ.พ. มาตรา 1448 ว่าเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตประเพณี วัตถุประสงค์ของการสมรส คือ การที่ชาย-หญิง อยู่กินฉันสามีภริยา เพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ ฯลฯ
หากย้อนพิจารณาถึงตัวบทกฎหมาย ในป.พ.พ. เอง ก็ไม่ได้กำหนดให้ความสามารถในการสืบพันธุ์เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการสมรส และเมื่อไปย้อนดูถึงบทบัญญัติที่กำหนดเหตุในการฟ้องหย่าไว้ แม้กฎหมายจะกำหนดว่าหากสามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่อาจเป็นภัยกับอีกฝ่ายหรือมีสภาพร่างกายที่ไม่อาจร่วมประเวณีได้ คู่สมรสอีกฝ่ายสามารถฟ้องหย่าได้ แต่กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่าหากสามีภริยาไม่มีความสามารถในการสืบพันธุ์ อีกฝ่ายจะสามารถฟ้องหย่าได้ สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าวัตถุประสงค์ของการสมรส ไม่ได้มุ่งเฉพาะ “ผลิตสมาชิกใหม่ให้แก่สังคม” แต่ต้องการจะรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลที่มาอยู่ร่วมกัน และกำหนดสิทธิในทรัพย์สินของคู่สมรสและอำนาจการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงสังคมไทยในปัจจุบัน ก็มีคู่สมรสชาย-หญิง ที่จดทะเบียนสมรสโดยตั้งใจแต่แรกว่าจะไม่มีบุตร และมีคู่ที่ชายหรือหญิงที่เป็นหมัน ไม่สามารถมีบุตรได้ การที่บุคคลเหล่านั้นตั้งใจหรือโดยสภาพร่างกายแล้วไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการจดทะเบียนสมรสของเขา การสมรสของบุคคลเหล่านั้นก็ยังคงเป็นการสมรส ที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับในสังคม
2) ตั้งข้อห่วงกังวลเกินหน้าที่ของตัวเอง
ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ยังตั้งข้อห่วงกังวลว่าหากการสมรสสามารถทำได้โดยไม่ได้กำหนดเพศเอาไว้ จะนำไปสู่ความยุ่งยากในการพิสูจน์ทั้งสภาพเพศและต้องมีใบรับรองแพทย์หากคู่สมรสจะใช้สวัสดิการของรัฐ จะเป็นการ “เพิ่มภาระให้รัฐและทำให้สิทธิของสามีภริยาที่เป็นชายจริงหญิงแท้ซึ่งเป็นมหาชนต้องถูกตรวจสอบไปด้วย ทำให้เกิดความล่าช้ามีอุปสรรคไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยปริยาย”
ทั้งนี้ ต้องย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็เป็นองค์กรตุลาการที่ต้องตีความกฎหมาย วินิจฉัยคดี ขณะที่อำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย ออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ การจัดทำนโยบาย เพื่อจัดระบบโครงสร้างทางสังคม เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร 
หากในอนาคตมีการแก้ไขกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ รับรองการสมรสโดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องเพศ องค์กรฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องก็มีหน้าที่ออกกฎ กำหนดหลักเกณฑ์เชิงรายละเอียด รวมถึงมาตรการในเชิงปฏิบัติเพื่อรับรองการใช้สวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ของคู่สมรส เช่น กรณีสวัสดิการบ้านพักหรือสวัสดิการในการรักษาพยาบาลของคู่สมรส องค์กรที่เกี่ยวข้องก็สามารถอออกหรือแก้ไขกฎเพื่อรับรองการใช้สวัสดิการของคู่สมรส โดยพิจารณาจากสถานะความเป็นคู่สมรส ไม่จำเป็นต้องดูว่าใครเป็นสามี ใครเป็นภริยา บุคคลใดมีอวัยวะเพศแบบไหน หรือจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของแพทย์ได้ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องเชิงรายละเอียดของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ
ปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญห่วงกังวล จึงไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงตั้งข้อห่วงกังวลเกินไปกว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนเอง ก้าวข้ามเส้นของการแบ่งแยกอำนาจไปยังอำนาจของฝ่ายบริหารและหน่วยงานรัฐอื่นๆ ทั้งที่ในคดีนี้ ผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียงประเด็นที่ว่า “กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่”
3) ให้เหตุผลในคำวินิจฉัย โดยไม่สนใจ “ข้อกฎหมาย” 
ศาลรัฐธรรมนูญยังห่วงกังวลอีกว่า หากไม่กำหนดเพศในการสมรสอาจมีผู้มีความหลากหลายทางเพศ มาจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังผลประโยชน์ในสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ หรือประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี อันอาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
อย่างไรก็ดี ตามป.พ.พ. มาตรา 1458 กำหนดให้การสมรสจะต้องกระทำโดย “ความยินยอม” ในการอยู่ร่วมกันเป็นสามีภริยาของคู่สมรส หากการจดทะเบียนสมรสใด คู่สมรสไม่ได้ยินยอมอยู่ร่วมกัน หรือแอบแฝงจดทะเบียนเพื่อเอาสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการของรัฐ การสมรสจะตกเป็นโมฆะอยู่แล้วตามมาตรา 1495
“มาตรา 1458  การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย”
“มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”
ซึ่งเคยมีคู่สมรสที่จดทะเบียนเพียงเพื่อเอาสิทธิประโยชน์ของรัฐไม่ได้เจตนาจะแต่งงานจริงๆ จนเป็นคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมและมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินเรื่องเหล่านี้ไว้แล้ว ตัวอย่างเช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2548 จำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอก ช. ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญของกองทัพเรือโจทก์ เมื่อเรือเอก ช. ถึงแก่ความตายจำเลยได้ขอรับเงินบำเหน็จตกทอดจากโจทก์ และโจทก์จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่จำเลย 207,750 บาท ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสโดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากัน หากแต่กระทำเพื่อต้องการได้รับเงินบำเหน็จตกทอด การสมรสของจำเลยฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว เมื่อศาลพิพากษาว่าการสมรสตกเป็นโมฆะจึงไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคหนึ่ง และมีผลเท่ากับจำเลยกับเรือเอก ช. มิได้เป็นสามีภริยากันมาแต่แรกจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวและสิทธิของจำเลยดังกล่าวก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1499 เพราะจำเลยมิได้สมรสโดยสุจริต จำเลยจึงต้องคืนเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 406
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2545 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน โดยทั้งสองคนตกลงจะเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาทั้งในทางธรรมชาติและกฎหมาย ได้ดูแลความทุกข์สุข เจ็บป่วยซึ่งกันและกันต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน การที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. แต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกัน เมื่อ ช. ป่วย โจทก์เป็นผู้พา ช. ไปโรงพยาบาลและเสียค่ารักษาพยาบาลให้ และยังให้ ช. ไปพักอาศัยอยู่ด้วย ส่วนจำเลยยังคงพักอาศัยอยู่กับน้องสาวและไม่เคยออกค่ารักษาพยาบาลทั้งไม่เคยมาเยี่ยมเยียน ช. เลย เห็นได้ชัดว่าจำเลยกับ ช. มิได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่อย่างใด จำเลยเองก็ยังรับว่าไม่อยากไปจดทะเบียนสมรส แต่ ช. เป็นผู้พาไปโดยบอกว่าถ้าไม่จดทะเบียนสมรสแล้วจะไม่มีผู้ใดมีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอด ซึ่งก็ปรากฏว่าเมื่อ ช. ถึงแก่กรรมจำเลยเป็นผู้ได้รับเงินบำเหน็จตกทอดมาจริง แสดงว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. โดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากันมาแต่แรก หากแต่เป็นการกระทำเพื่อให้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดเท่านั้น การสมรสของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
แม้จะมีคู่สมรสที่จดทะเบียนเพื่อหลอกเอาสวัสดิการจากรัฐอยู่จริง ซึ่งในทัศนคติของศาลรัฐธรรมนูญมองว่า “อาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” แต่ป.พ.พ. ก็ยังคงรับรองการสมรสชาย-หญิง เพราะกฎหมายมี “กลไกป้องกัน” กรณีผู้ที่ไม่ได้มีเจตนาจะสมรสอยู่แล้ว ให้รัฐติดตามเรียกเอาทรัพย์คืนได้ โดยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว แม้คนที่มีความหลากหลายทางเพศยังจดทะเบียนสมรสไม่ได้ก็ยังเกิดกรณีเหล่านี้ขึ้น 
ดังนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลข้างต้น จึงสะท้อนว่า ศาลรัฐธรรมนูญขาดความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบข้อกฎหมายประเด็นนี้
4) อ้างร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกฎหมายรับรองสิทธิเพศหลากหลาย
นอกจากนี้ ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังกล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต อย่างน้อยสองครั้ง โดยในส่วนแรก ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า “…และขณะนี้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ….” ซึ่งหากย้อนดูข้อเท็จจริงตามรายงานข่าวของมติชนแล้ว เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า รัฐบาลได้เสนอให้มีการทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต พ.ศ. … เสร็จแล้ว เสนอไปที่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป) ซึ่งมีข้อทักท้วงบางอย่าง จึงส่งกลับไปที่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงยุติธรรม ให้ปรับปรุงบางอย่างเพิ่มเติม ซึ่งตอนที่ตนร่วมประชุมกับวิป ได้ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา และขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปจัดทำมาให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ทันสมัยประชุมนี้
ดังนั้น ขณะที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้เผยแพร่สู่สาธารณะ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต จึงยังไม่ได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด
ในช่วงท้ายๆ ของคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญยังบอกอีกว่า ปัญหาที่ผู้ร้องอ้างว่าไม่ได้รับสิทธิในฐานะคู่สมรส สามารถแก้ไขได้โดยบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ เช่นที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาออกกฎหมาย หรือการแก้ไขกฎหมาย เป็นหน้าที่ของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” โดยตรง ในการออกแบบกฎหมายรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของเพศหลากหลาย จึงไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการที่จะชี้ได้ว่า ควรทำในรูปแบบใด การที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้เช่นนี้ จึงมีค่าเป็น “ความเห็น” ของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากฝ่ายนิติบัญญัติ เห็นว่าควรแก้ไขป.พ.พ. ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่ง เป็นผู้แทนประชาชน และมีที่มายึดโยงกับประชาชนมากกว่าศาลรัฐธรรมนูญ ก็สามารถดำเนินการแก้ไขกฎหมายได้
ไฟล์แนบ