จดเอาไว้ในปฏิทิน! รวมวันสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลือกตั้ง อบต. 28 พฤศจิกายน

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กและใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 นี้ ประชาชนจะได้มีโอกาสเดินเข้าคูหาเลือกตั้งทั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี 
สำหรับการเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่วันเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังมีวันสำคัญอื่น ๆ ที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งควรรู้ เพราะอาจจะส่งผลต่อการใช้สิทธิได้ ดังนี้

2 พฤศจิกายน 2564

ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช็คให้แน่ใจก่อนไปลงคะแนน

ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่ว่าการอำเภอหรือ อบต. ที่เลือกตั้งหรือบริเวณที่ใกล้เคียงสถานที่เลือกตั้ง หรือหากไม่สะดวกเดินทางไปตรวจสอบ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ก็สามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากเอกสารที่ส่งมายังเจ้าบ้าน หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือตรวจสอบทางเว็บไซต์ เพียงใส่เลขบัตรประชาชนลงไป ก็จะสามารถตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งได้ทันที
ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง อบต. เนื่องจากสำหรับบางคน สิทธิในการเลือกตั้งท้องถิ่นของตนเองนั้นอาจจะอยู่ในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นแล้ว ดังนั้น การตรวจสอบสิทธิก่อนไปเลือกตั้ง อบต. จึงมีความสำคัญมาก
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 38 ยังระบุไว้ด้วยว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่าหากมีการย้ายที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของตัวเองออกจากตำบลเดิมหลังจากวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ก็จะขาดคุณสมบัติและถูกตัดมีสิทธิเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้ ในขณะที่หากใครย้ายทะเบียนบ้านแต่ยังอยู่ในตำบลเดิมก็จะยังมีสิทธิเลือกตั้ง อบต. อยู่ 
สำหรับใครที่มีความประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. แต่มีแผนจะย้ายที่อยู่ทะเบียนบ้าน จึงอาจจะต้องรอย้ายทะเบียนบ้านหลังจากผ่านวันเลือกตั้งไปแล้ว มิเช่นนั้นก็จะถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง อบต. ได้

17 พฤศจิกายน 2564

วันสุดท้ายแจ้งเพิ่ม-ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

หากประชาชนตรวจสอบแล้วพบว่าชื่อของตนเองนั้นตกหล่นจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านพบว่ามีผู้อื่นอยู่ในชื่อทะเบียนบ้านทั้งที่ไม่ได้อยู่อาศัยจริง ก็สามารถยื่นคำร้องต่อนายอำเภอเพื่อเพิ่ม-ถอนชื่อออกจากรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564

28 พฤศจิกายน 2564

วันเลือกตั้ง อบต. ไม่มีเลือกตั้งนอกเขตหรือล่วงหน้า

ประชาชนสามารถเดินทางไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งของตนเองได้ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น. 
ขั้นตอนการเลือกตั้งมีทั้งหมดห้าขั้นตอน 
1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าสถานที่เลือกตั้ง
2. ยื่นหลักฐานที่ใช้แสดงตนในการเลือกตั้ง คือ บัตรประชาชน (หมดอายุก็ได้) หรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น ใบขับขี่ หรือ พาสปอร์ต
3. รับบัตรเลือกตั้ง โดยลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ ใบหนึ่งสำหรับเลือกนายก อบต. และอีกใบหนึ่งสำหรับเลือก ส.อบต. 
4. เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย
       · บัตรเลือกตั้งนายก อบต. เลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน
       · บัตรเลือกตั้ง ส.อบต. เลือกผู้สมัครได้ไม่เกินจำนวนที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น โดยสามารถเลือกน้อยกว่าได้ แต่เลือกมากกว่าไม่ได้
5. นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้ว หย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง
สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเลือกตั้ง อบต. จะไม่มีการเลือกตั้งนอกเขตหรือการใช้สิทธิล่วงหน้าเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเดินทางกลับไปที่ภูมิลำเนาของตัวเองเพื่อเลือกตั้งเท่านั้น

21-27 พฤศจิกายน 2564 หรือ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2564

แจ้งเหตุไม่ไปเลือกตั้ง หากไม่แจ้งโดนตัดสิทธิสองปี

หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีเหตุอันสมควร เช่น มีธุระเร่งด่วน หรือมีอาการเจ็บป่วย ก็สามารถทำหนังสือถึงนายอำเภอของตัวเองเพื่อชี้แจงเหตุผลได้ ภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งหรือเจ็ดวันหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งก็คือวันที่ 21-27 พฤศจิกายน 2564 หรือ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2564
แต่ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วไม่แจ้งหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร ก็จะถูกตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมือง เช่น ส.ส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารท้องถิ่นหรือสภาท้องถิ่นได้ โดยจะถูกจำกัดสิทธิครั้งละสองปี