เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จะพ้นตำแหน่งนายกฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 และยังนั่งอยู่ในตำแหน่งต่อได้หลังการเลือกตั้งด้วยกติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ปูทางไว้ แม้ว่าประชาชนจะชุมนุมขับไล่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 และแม้รัฐบาลจะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาโควิด19 แต่พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่ออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ
สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ “ต้อง” ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หลายช่องทาง ซึ่งการจะทำความเข้าใจวิธีการถอดถอนนายกรัฐมนตรีทั้งหมดได้ ต้องพิจารณาจากหลายมาตราประกอบกัน  โดยเริ่มจากมาตราหลัก คือ มาตรา 170 
“มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160
(5) กระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187
(6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 171
นอกจากเหตุที่ทําให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกําหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย
ให้นําความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (7) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอํานาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย”
นอกจากเงื่อนไขของการพ้นตำแหน่งตามธรรมชาติด้วยการตาย ตามมาตรา 170 (1) แล้ว เพื่อทำความเข้าใจทีละประเด็นอาจแยกพิจารณาเงื่อนไขที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ดังนี้
1. ลาออก
การลาออกเป็นการพ้นจากตำแหน่งที่ง่ายที่สุด ไม่มีขั้นตอนอะไรซับซ้อน ขึ้นอยู่กับตัวพล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวที่จะต้องตัดสินใจทำด้วยตัวเอง ซึ่งการลาออกจากตำแหน่งเป็นข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมส่งเสียงกดดันมาต่อเนื่องยาวนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ไม่มีแม้แต่คำอธิบายหรือเหตุผลว่า เหตุใดจึงปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ 2560 วางไว้เพื่อสืบทอดอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้หากตัดสินใจลาออกแล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายใต้กติกาเดิมอาจติดเงื่อนไขที่ต้องเลือกจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ก่อนเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้ทำงานการเมืองอยู่ในสภา และรัฐธรรมนูญยังเปิดช่องทางสำหรับการมีนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งไว้ด้วย 
2. สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ
การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนใดเกิดขึ้นได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 151 จากการเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายโดย ส.ส. จำนวน 1 ใน 5 หรือประมาณ 100 คน เมื่อเปิดอภิปรายเสร็จแล้วก็จะนำไปสู่การลงมติ โดยต้องอาศัยเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของ ส.ส. ที่มีอยู่ เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ และถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส่วน ส.ว. ไม่มีส่วนร่วมในการลงมติเรื่องนี้ด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 2 ครั้ง ภายใต้สภาที่มาจากการเลือกตั้ง ผลการลงมติครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ไม่ไว้วางใจ 49 เสียง (ฝ่ายค้านบางพรรค Walk Out) ไว้วางใจ 272 เสียงงดออกเสียง 2 เสียง  ผลการลงมติครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่ไว้วางใจ 206 เสียงไว้วางใจ 272 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง 
ในปี 2564 เมื่อขึ้นสมัยประชุมใหม่ นับเป็นปีประชุมที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม 2564 ฝ่ายค้านก็ใช้สิทธิยื่นขออภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจอีกครั้ง การอภิปรายและลงมติครั้งที่สามนี้คาดว่าจะมีขึ้นช่วงปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายน 2564
3. ถูกศาลพิพากษาว่าต้องโทษจำคุก
ตามมาตรา 170 (4) กำหนดว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 160 และในมาตรา 160 (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามเอาไว้ว่า ต้อง “ไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท” ประเด็นนี้ถือเป็นคุณสมบัติที่ “เข้มงวด” มาก เพราะกำหนดให้ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีแม้คดียังไม่ถึงที่สุด ซึ่งภายหลังศาลอาจกลับคำพิพากษาก็ได้ และกำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับคนที่เคยต้องคำพิพากษาชนิด “ตลอดไป” โดยไม่มีกำหนดเวลาว่าเมื่อพ้นระยะเวลาเท่าใดแล้วจะสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ 
ก่อนหน้านี้เคยมีตัวอย่างรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติตาม มาตรา 160 (7) มาแล้ว คือ กรณีของณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งทั้งสามคนต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลตัดสินให้มีโทษจำคุกจากคดีการจัดชุมนุมของกลุ่ม กปปส. 
สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยถูกยื่นฟ้องเป็นคดีอาญามาแล้ว ในข้อหากบฏ จากการทำรัฐประหาร แต่ศาลยกฟ้องจนถึงชั้นศาลฎีกา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 พรรคไทยสร้างไทย รวบรวมรายชื่อประชาชน 700,000 คน ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากการบริหารจัดการโควิดที่ล้มเหลว หากผลคดีนี้ศาลเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความผิดและกำหนดโทษจำคุก ก็จะมีผลให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย
4. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขาดคุณสมบัติ
คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามมาตรา 160 คือ ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จบปริญญาตรี มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 เช่น ติดยาเสพติด ล้มละลาย ถือหุ้นสื่อ ถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เคยถูกพิพากษาว่าทุจริตเลือกตั้ง เป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ ฯลฯ 
คุณสมบัติที่มีพื้นที่สำหรับการตีความได้มาก คือ มาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่ง “มาตรฐานทางจริยธรรม” เป็นเครื่องมือใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนขึ้นโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกัน เพื่อบังคับใช้กับ ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรีด้วย สำหรับมาตรฐานทางจริยธรรม ฉบับที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 มีความยาวเพียง 6 หน้า ประกอบไปด้วยถ้อยคำกว้างๆ ที่ต้องอาศัยการตีความอีกมากว่าการกระทำใดบ้างจะถือว่า “ฝ่าฝืนอย่างร้ายแรง” จนเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และยังไม่เคยปรากฏคำวินิจฉัยให้เห็นเป็นแนวทางการตีความมาก่อน
กระบวนการในการวินิจฉัยนั้น มาตรา 170 วรรคสาม กำหนดให้ใช้กระบวนการตามมาตรา 82 คือ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภาเข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อประธานสภานั้นๆ เพื่อให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย หรือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยถูกตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรา 170 (4), 160, 98 (15) มาแล้ว จากกรณีนั่งควบตำแหน่ง “หัวหน้า คสช.” ระหว่างการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562 จึงมีการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติเพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐขาดคุณสมบัติในการมีชื่อเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ว่า ตำแหน่งดังกล่าวเป็นอำนาจเฉพาะชั่วคราวไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ พล.อ.ประยุทธ์จึงยังไม่พ้นจากตำแหน่ง
5. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเมื่อมีการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 184, 186 และ 187 ซึ่งเป็นเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น การดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยราชการ การแทรกแซงก้าวก่ายหน่วยราชการ การรับเงินหรือประโยชน์อื่นจากหน่วยงานของรัฐ การขัดขวางแทรกแซงเสรีภาพของสื่อมวลชน การเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในบริษัทโดยไม่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ฯลฯ
กระบวนการในการวินิจฉัยนั้น มาตรา 170 วรรคสาม กำหนดให้ใช้กระบวนการตามมาตรา 82 คือ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภาเข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อประธานสภานั้นๆ เพื่อให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย หรือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยถูกตรวจสอบว่ามีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามมาตรา 170 (5), 184 และ 186 มาแล้ว จากกรณีอยู่อาศัยในบ้านพักหลวงภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หรือ ‘ราบ1’ อันเป็นการรับประโยชน์อื่นจากหน่วยราชการภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐมนตรีดูแลโดยตรงด้วย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 2 ธันวาคม 2563 ชี้ว่าไม่ใช่การขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะรัฐพึงจัดบ้านพักให้ผู้นำ เพื่อสร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกาย-ใจในการปฏิบัติภารกิจบริหารประเทศ
6. ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี
มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดว่า "นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่” ซึ่งมาตรานี้หมายความว่า คนหนึ่งคนจะเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญได้ไม่เกินสองสมัย สมัยหนึ่งมีวาระสี่ปี แต่ก็ไม่ได้เขียนให้ชัดเจนว่า ระยะเวลาแปดปีจะเริ่มนับตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญนี้ เริ่มนับตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง หรือเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร เริ่มนับอย่างเป็นทางการวันที่ 24 สิงหาคม 2557  ก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2560 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมา จนหลังการเลือกตั้งในปี 2562 ดังนั้น ถ้านับระยะเวลาในตำแหน่งต่อเนื่องกันจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ก็จะครบเวลาแปดปีเต็ม ดังนั้น จึงมีปัญหาที่ยังรอการตีความว่า ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แปดปีนั้น จะนับอย่างไร และจะครบกำหนดเมื่อใด
7. แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
หนึ่งในปัญหาที่เด่นชัดของรัฐธรรมนูญ 2560 คือ การไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. หรือต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่กลับสร้างช่องทางพิเศษให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อว่าที่นายกฯ ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่องทางที่ปูไว้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้โดยไม่ต้องผ่านการลงสนามหาเสียงเลือกตั้งกับประชาชน 
หนึ่งในข้อเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนเคยเข้าชื่อกันเสนอ ทั้งในกิจกรรม “รื้อ สร้าง ร่าง รัฐธรรมนูญใหม่”  และ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” ก็เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีโดยเปลี่ยนเป็นกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. อันเป็นหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 หากข้อเสนอในประเด็นนี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ก็จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ขาดคุณสมบัติ และพ้นจากตำแหน่งทันที