รัฐปราบ “ข่าวปลอม” เหตุล้มเหลวปราบโควิด-19 ฉวยกฎหมายปิดปากผู้เห็นต่างดึงความนิยม

 

29 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 น. องค์กรวิชาชีพสื่อจัดเสวนาหัวข้อ “หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน” ประเด็นสืบเนื่องจากข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 27 ข้อ 11 เรื่อง ข้อห้ามนำเสนอข่าวสารที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือบิดเบือนให้เข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ   

ประเด็นหลักจากการแลกเปลี่ยนของผู้เข้าร่วมสี่คน คือ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติระบุว่า การออกข้อกำหนดฉบับที่ 27 เป็นความตั้งใจไม่ใช่ความผิดพลาดต้องยกเลิกข้อกำหนดนี้เท่านั้น สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส มองว่า การออกกฎหมายนี้สาเหตุมาจากรัฐบาลรู้สึกว่า ตนเองกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำและบริหารงานแก้ไขโควิดล้มเหลว สื่อจึงกลายเป็นแพะใกล้มือเท่านั้น 





ข้อกำหนดฉบับที่ 27 คือ ความตั้งใจ ต้องยกเลิกเท่านั้น



ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 27 ข้อ 11 ทางองค์กรวิชาชีพสื่อได้พูดคุยกันในเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าก่อนหน้านี้ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 1 ก็เคยเขียนในลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ตามสมาชิกในองค์กรวิชาชีพได้แจ้งมาว่า เนื้อหามีความแตกต่างกัน น่าจะมีนัยแอบแฝงหรือไม่ ความแตกต่างจากเดิมมี ดังนี้



๐ ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 1 จะกำกับเฉพาะการแพร่ข่าวโควิด 19 เท่านั้น แต่ฉบับที่ 27 ใช้คำว่า “ข่าว” โดยกว้าง



๐ ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 1 จะเอาผิดเฉพาะการแพร่ข่าวที่ไม่เป็นความจริง แต่ฉบับที่ 27 คำว่า “อันไม่เป็นความจริง” ออกไป 



๐ ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 1  มีแนวปฏิบัติเรื่องการตักเตือนและแก้ไข แต่ฉบับที่ 27 ตัดออกไป



องค์วิชาชีพสื่อจึงออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เมื่อแถลงการณ์ออกไปจึงมีการถามในที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สมช. รับปากว่า ส่งเรื่องไปให้ วิษณุ เครืองามแล้ว แต่ไม่มีคำตอบ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เฟซบุ๊กของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้โพสต์การจัดการข่าวปลอม ทำให้เขามีความรู้สึกว่า สิ่งที่องค์กรวิชาชีพส่งเสียงไปได้ยินหรือไม่ หรือได้ยินแต่ไม่สนใจอะไร 



ลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความผิดพลาด แต่เป็นความตั้งใจที่ตัดข้อความสามเรื่องออกไป ประกอบกับก่อนหน้านี้มีความพยายามในการจำกัดเสรีภาพในการพูดของดารานักร้อง วันนี้สิ่งที่จะต้องทำ คือ ยกเลิกข้อกำหนดฉบับดังกล่าวเท่านั้น





สื่อคือแพะใกล้มือ แต่เป้าหมายคือประชาชนทั้งประเทศ



สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า "ที่มาที่ไปของข้อความที่ท่านนายกฯ เอาขึ้นเฟซบุ๊ก ผมคิดว่า นั่นเป็นประโยคสุดท้ายของปรากฏการณ์ครั้งนี้ ก็คือยืนยันว่า ท่านไม่พอใจในสิ่งที่สื่อทำหน้าที่ในขณะนี้ และยังมองทำนองว่า เป็นการบ่อนทำลายภัยคุกคามต่อประเทศด้วย ผมก็เชื่อว่า สาเหตุมาจากรัฐบาลเริ่มจะเพลี่ยงพล้ำ และเริ่มจะรู้สึกว่า ข่าวสารที่รายงานกับข้อเท็จจริงที่ออกมา ประชาชนรับทราบจากสื่อ โดยสื่อหลักๆ เริ่มจะตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะสามารถรับมือโควิดได้หรือไม่ และถ้ารับไม่ได้ก็ควรจะเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี 



เสียงเรียกร้องดังขึ้นตลอด ความจริงก็ไม่ใช่เสียงเรียกร้องจากสื่อหลักเท่านั้น มันเป็นภาพที่มาจากเสียงของคนหลายกลุ่มหลายฝ่าย แม้กระทั่งคนที่เคยสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ สนับสนุนนายกรัฐมนตรีก็เริ่มจะออกมาบอกแล้วว่า ไม่ไหวแล้ว ผมก็เชื่อว่า นี่เป็นสาเหตุสำคัญคือเมื่อเกิดความรู้สึกว่า กำลังจะอยู่ในภาวะคลอนแคลนก็ต้องหาแพะและสื่อก็จะเป็นแพะที่สะดวกที่สุดและเป็นเช่นนี้มาตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย 



ข้อหนึ่งที่คนไทยและสื่อน่าจะรับทราบตั้งแต่นี้คือ โรคระบาดโควิด-19 จะยาวนานมากกว่ารัฐบาลชุดนี้แน่นอน และอาการที่เราเห็นอยู่ขณะนี้จากรัฐบาล จากนายกรัฐมนตรีเป็นอาการที่ดิ้นรนเพื่อที่จะรักษาความชอบธรรม สื่อเองก็เริ่มจับผิด สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดก็ดี รัฐมนตรีคนนั้นคนนี้พูดก็ดี หน่วยราชการที่ทำหน้าที่เรื่องโควิดก็ดี ถูกจับผิดมากขึ้นทุกวัน มีการย้อนว่า เมื่อสองเดือนก่อนพูดอย่างนี้ เมื่อสามเดือนก่อนพูดเรื่องเดียวกันอย่างนี้ วันนี้พูดอีกอย่าง  และก็ยิ่งมีกรณีความล้มเหลวเรื่องการบริหารเรื่องโควิดมากขึ้น 



จริงๆ สื่อหลักเท่าที่ผมสังเกตไม่ได้ออกมาเล่นงานรัฐบาลหนักเหมือนกับที่อยู่ในโซเชียลมีเดียของประชาชนกลุ่มต่างๆ ด้วยซ้ำ แต่ว่ารัฐบาลต้องจับแพะตัวใหญ่ก่อน ก็มาที่สื่อ พอมามีปรากฏการณ์เรื่องดารา คนมีชื่อเสียงคอลเอาท์ ผมก็เชื่อว่า คนรอบข้างนายกฯ หลายคนต้องการจะเอาใจท่านนายกฯ ก็เลยพูดทำนองว่า นี่เป็นคนกลุ่มเดียว คนที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ คนที่เป็นดารา คนที่มีความโน้มเอียงทางการเมืองที่อยู่คนละข้างกับรัฐบาลเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหลาย ฉะนั้นควรจะไประงับตรงจุดนั้น



ถ้าเราฟังสุ้มเสียงจากคนในแวดวงในรัฐบาลก็จะมีเสียงเตือน แต่ความจริงเสียงเตือนไม่ใช่เฉพาะสื่อ ก่อนหน้านี้บรรดาหมอ นักวิชาการก็โดนเตือนก่อนแต่ไม่เป็นข่าวเท่านั้นเอง หมอหลายคนที่พูดความจริง คำว่า “ระบบสาธารณสุขล่มสลาย” มาจากหมอที่หน้างานก่อน สื่อเราที่ไปทำหน้าที่นี้จึงรายงานตามนั้น ผมติดตามฟังเสียงคนหน้างานที่เป็นแพทย์และพยาบาลตลอด ตั้งแต่ระลอกหนึ่ง และสอง จนกระทั่งระลอกใหม่นี้ เสียงเรียกร้องว่า มันไม่ไหวมาจากตัวจริงเสียงจริงคือแพทย์ ไม่ใช่จากสื่อ สื่อเองมาทีหลังด้วยซ้ำไป 



เราได้ยินจากวงการแพทย์ว่า ถูกเตือนแล้ว พูดมากไม่ได้แล้ว มีผู้ใหญ่มาบอกว่า อย่าพูดอะไรไปมากกว่านี้แล้ว นั่นแหละเป็นสัญญาณแรกว่า มีการคุกคามการแสดงความคิดเห็นมาจากต้นตอ



ถ้าในสงคราม คือ แนวหน้าส่งสัญญาณเตือนมาก่อน พวกเราที่ทำสื่ออยู่แถวหลัง นี่เป็นสงครามที่มีสัญญาณชัดเจนว่า ผู้บัญชาการรบที่ประชาชนให้อำนาจไปบัญชาการรบกำลังส่อแสดงท่าทีว่า อยู่กันคนละฝั่งกับประชาชนที่ต้องการเห็นผลงาน ซึ่งทำ อาการที่ออกมากับสื่อนั้นเป็นเพียงอาการของโรค สาเหตุของโรค คือ ความไม่มั่นใจ ความแตกแยกกันในรัฐบาลผสมนี้ รวมไปถึงวิธีคิดแบบข้าราชการ ระบบราชการที่ไม่สามารถจะตอบโจทย์ของความรุนแรงของโรคครั้งนี้ได้



เพราะว่า โควิด-19 มันเป็นศัตรูที่มองไม่เห็น เป็นศัตรูที่มันมีลูกเล่นแพรวพราว มันแปลงร่าง มันกลายพันธุ์ มันอยู่เหนือความสามารถของกองทัพ ท่านนายกฯ เป็นทหารมาก่อนยังไม่เคยสู้รบกับศัตรูในลักษณะนี้ ข้าราชการประจำไม่ต้องพูดถึง ที่เคยสามารถเอาชนะหรือว่า ควบคุมสถานการณ์โรคระบาดก่อนหน้านี้ ซาร์ส อีโบล่า ไข้หวัดนก เพราะว่า ขนาดของสงครามเรียกว่า เป็นแค่ศึกย่อยๆ แต่พอเจอศึกสงครามใหญ่ๆ ข้าราชการประจำมองขึ้นมาต้องการยุทธศาสตร์ระดับชาติที่จะบอกว่า ทำอะไรอย่างไร มีอาวุธอะไรให้เขาบ้างและประกอบกับนักการเมืองของเราไม่มีวิสัยทัศน์พอ 



ผมไม่เชื่อว่า พรรคไหนเคยมีประสบการณ์ทำสงครามกับวิกฤตขนาดนี้มาก่อน กรอบคิดของท่านนายกฯ ก็ดี ข้าราชการประจำก็ดี นักการเมืองก็ดี ยังคิดแบบเดิม ฝรั่งจะบอกว่า Business as usual  คือ คิดวิเคราะห์แนวทางเหมือนเดิมทั้งหมด ทั้งๆ ที่มันเป็นสงคราม ทั้งๆ ที่มันคือวิกฤต มันต้องบริหารอีกแบบหนึ่งแต่ว่าก็ยังบริหารเหมือนเดิมและวิธีคิดที่ไม่เปลี่ยนเลย ก็คือ ใครเป็นคนทำให้เรามีปัญหา ก็คือสื่อ เพราะชี้ไปชี้มาไม่มีใครเหมาะเท่ากับสื่อ โดยเฉพาะเมื่อสื่อตั้งคำถาม และจริงๆ ก็ไม่ใช่สื่อในความหมายดั้งเดิมว่าที่เป็นสื่อหลักยี่ห้อนี้ สำนักนี้ บัดนี้สื่อคือสื่อในโซเชียลมีเดีย ประชาชนทั่วไป สังเกตไหมว่า คุณหมอหลายท่านเขียนในเฟซบุ๊ก เขียนได้ดีกว่าสื่อพวกเราอีก นักวิชาการหลายท่านเขียนอ่านเข้าใจ ปรับวิธีเขียน มีชาร์ตอธิบาย มีอัพเดทให้ด้วย



ดังนั้นอาวุธของรัฐบาลชุดนี้ยังเป็นอาวุธเก่าแต่อาวุธของคุณหมอและนักวิชาการที่พยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลปรับยุทธศาสตร์ อาวุธของพวกเขาคือ วิทยาศาสตร์ข้อมูล การวิเคราะห์ การวิจัย และสรุปตรงนี้คืออาวุธของสื่อเรามีอย่างเดียวคือข้อเท็จจริงและความน่าเชื่อถือ เราไม่มีอาวุธอย่างอื่น ความน่าเชื่อถืออยู่ที่ว่าเราจะสามารถทำให้ประชาชนเห็นได้ว่า เราทำหน้าที่ได้ดีเพียงพอหรือไม่ 



นี่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวและความเพลี่ยงพล้ำของรัฐบาลจึงนำมาสู่คำสั่งของนายกฯ ที่ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม จับข่าวปลอม ฟ้องและตั้งข้อหา เป็นการขู่ เป้าอาจจะไม่ใช่สื่ออย่างพวกเรา แต่เป้าคือทั้งประเทศ ประชาชนทุกคน นักวิชาการ คนที่มีความเห็น หมอ หมอรุ่นใหม่ หมอชนบท ไปจนถึงอาสาสมัครที่ลงไปช่วยขึ้นข้อมูลภาพคนตายทั้งหลายคือสิ่งที่นายกฯ และคณะรัฐมนตรีหวั่นไหวมากว่า เอาไม่อยู่จริงๆ ประกอบกับตัวเลขคนติดเชื้อ คนเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา





ข้อกำหนดคลุมเครือ อาจนำสู่การตีความกลั่นแกล้งกัน



กิตติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการข่าวสามมิติ กล่าวว่า หากตีความข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 27  เป็นการออกกฎหมายโดยไม่แยกแยะและหลายเรื่องสะท้อนความคิดในใจลึกๆ ของฝั่งรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ การออกกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้เข้าใจจิตวิญญาณวิชาชีพของสื่อมวลชน อาจจะได้ยินบ่อยๆ ว่า ฝั่งหนึ่งก็จะบอกว่า กฎหมายออกมาจับโจร แต่ถ้าหากคุณไม่ใช่โจรก็อยู่เฉยๆ สิ การพูดเช่นนี้แสดงชัดเจนว่า คุณไม่เข้าใจจิตวิญญาณของสื่อที่เป็นอาชีพเฉพาะและมีกรอบจริยธรรม



ที่สำคัญคือ เวลามีกฎหมายแบบนี้ที่ไม่ชัดเจนจะนำไปสู่การตีความกลั่นแกล้งกัน สมมติว่า หากมีการกล่าวหาก็มักจะแจ้งความคนที่รายงานข่าว “การที่คุณ underestimate หรือคุณไม่รายงานข้อเท็จจริง คุณก็ผิดนะ…ยกตัวอย่างเช่น มีข้าศึกมาประชิดอยุธยา หนังสือพิมพ์อยุธยาโพสต์อาจจะรายงานว่า พี่น้องชาวอยุธยา ข้าศึกมาประชิดแล้ว ต้องเตรียมตัว ใครกลัวต้องอพยพ หรือจะต้องซื้ออาหารไว้ในบ้าน แต่หนังสือพิมพ์อยุธยาเดลี่อาจจะบอกว่า พี่น้องไม่ต้องกลัว กองกำลังเราเข้มแข็งเอาอยู่…แม้ในที่สุดแล้วเราจะเสียกรุง แต่ผมคิดว่า นักข่าวอยุธยาโพสต์อาจจะอยู่คุกแล้ว ถึงแม้ว่า เขาจะรายงานถูกต้อง”



สื่อมวลชนซึ่งทำสื่อเป็นอาชีพ อยู่ในองค์กรที่มีจริยธรรมวิชาชีพประกอบ ซึ่งกรอบของสื่อเหล่านี้คือ ความจริงและความน่าเชื่อถือที่ต้องยึดถืออย่างมาก กิตติ คิดว่า เวลารัฐบาลออกข้อกำหนดแบบนี้ออกมาเป็นการนำภาพสื่อหลักไปปนกับภาพของคนบางกลุ่มที่อาจจะวิจารณ์รัฐบาล จึงทำให้ข้อกำหนดนี้เข้าลักษณะของการไม่แยกแยะ คือ “ไปมองเห็นหน้าคนบางคนและออกอันนี้ (กฎหมาย) คลุมมาหมด อันนี้ผิด เราเป็นสื่อเราหวงความน่าเชื่อถือจะตายไป ผมซ้อนชื่อแหล่งข่าวผิด ผมยังนอนไม่หลับไปเป็นคืนเลย นับประสาอะไรเราจะไปรายงานเฟคนิวส์ให้เป็นปัญหากับตัวเอง ซึ่งเราไม่ทำเด็ดขาดอยู่แล้ว”



ในตอนท้าย กิตติขอให้รัฐบาลทบทวนให้เข้าใจจิตวิญญาณของสื่อมวลชน อย่านำผู้ที่ทำสื่อโดยสุจริตไปปนกับคนที่รัฐบาลมองว่า โจมตี 





ย้ำไม่มีเจตนาโจมตี เพียงทำหน้าที่ตรวจสอบว่า รัฐพลาดอย่างไรในวิกฤตโควิด 



นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard กล่าวว่า เห็นด้วยกับสุทธิชัยเรื่องสาเหตุการออกข้อกำหนดที่ไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้เลย นอกจากการพยายามกดหรือความพยายามข่มขู่ ให้คนที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือนำเสนอข้อเท็จจริงที่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลให้เริ่มกลัว เขาเชื่อว่า การที่จะเกิดคดีความหรือการจับกุม และปิดช่องทางการรายงานจะเกิดขึ้นได้ยากเพราะแต่ละสื่อได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมาก ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพหรืออินฟลูเอนเซอร์ 



หลักการในการควบคุมข้อมูล ในทางปฏิบัติการทางทหารวิธีการสำคัญให้คนเชื่อข้อมูล ข้อเท็จจริงจากฝั่งภาครัฐอย่างเดียว จึงเกิดกลุ่มไอโอหรือปฏิบัติการข่าวสาร การควบคุมความจริงได้คือการที่สามารถสั่งการหรือทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือกับตัวเองได้สูง สิ่งที่รัฐทำ ท่าทีมันบอกแล้วว่า ต้องการข่มขู่ทำให้เกรงกลัว



นครินทร์ ระบุว่า นิยามข่าวปลอม นักวิชาการต่างประเทศหลายคนก็ให้นิยามไม่ตรงกัน จากการที่ได้มีโอกาสศึกษาเรื่องข่าวปลอมในอเมริกาเมื่อสองปีที่ผ่านมา อเมริกาเผชิญเรื่องข่าวปลอมหนักมากจากการเลือกตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีอเมริกาเป็นคนแรกที่ชี้หน้าว่าซีเอ็นเอ็นและบัซฟีดเผยแพร่ข่าวปลอม ทรัมป์มองว่า สิ่งใดก็ตามที่ตรงกับข้ามกับความคิดเขาเป็นข่าวปลอม ซึ่งเฟซบุ๊ก, กูเกิ้ล และสื่อหลายที่กล่าวตรงกันว่า มันคือการบิดคำนิยามให้คนที่สนับสนุนทรัมป์เข้าใจตรงกันว่า ข่าวปลอม คือคนที่คิดตรงกันข้ามกับพวกเขาหรือเป็นคนที่นำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์



ตามความเข้าใจของ นครินทร์ คำว่า ข่าวปลอมคือ การหลอกหลวง มีเจตนาที่แท้จริงจะกระทำการนั้นๆ โดยคำว่า Fake ไม่เหมือนกับ False ที่เป็นความผิดพลาดเชิงวารสารศาสตร์ การสะกดผิดและรายงานผิด คือความผิดพลาด แต่เจตนาไม่ได้เกิดจากการที่จะโฆษณาชวนเชื่อ หน้าที่ของสื่อคือการตรวจสอบข้อเท็จจริงและใช้ความน่าเชื่อถืออันเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญ ย้อนกลับมาที่โพสต์เฟซบุ๊กของนายกรัฐมนตรีที่ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีกำลังมองว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นการแสดงข้อมูลข่าวสารที่ตรงข้ามกับภาครัฐนำเสนอ สิ่งนั้นคือข่าวปลอม 



นครินทร์มองว่า เป็นการตีความที่ต้องการใช้คำว่า ข่าวปลอมเป็นเครื่องมือในการโจมตี “ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้คนต่างความคิด ต่างความเห็นยังมีมากอยู่…ผมเชื่อว่า นี่คือวิธีการในการสร้างความนิยมของตัวเองหรือเอาหลังพิงกำแพงให้ทุกคนเห็นว่า ตอนนี้มีคนจ้องจะโจมตีเราอยู่” และขอตั้งคำถามกลับไปว่า ข้อมูลจากภาครัฐหรือผู้ที่สนับสนุนภาครัฐจะถือว่าเป็นข่าวปลอมได้หรือไม่ นครินทร์ ยกตัวอย่างเรื่องการสัญญาว่า จะให้วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเดือนละสิบล้านโดสตั้งแต่กรกฎาคมถึงพฤศจิกายน 2564 แต่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าจริงๆ 



หรือการที่รัฐมนตรีคนหนึ่งพูดในสภาว่า ในไตรมาสที่สามหรือปัจจุบันจะมีวัคซีนเต็มแขน แบบนี้ถือว่า เป็นข่าวปลอมหรือไม่  เขาชี้ว่า จุดนี้คือประเด็นสำคัญ นิยามข่าวปลอมของรัฐอาจจะไม่ตรงกันกับนิยามข่าวปลอมของนักวิชาการ



“ตอนนี้สื่อทุกสื่อที่นำเสนอโดยเฉพาะสื่อที่เป็นมืออาชีพ ผมคิดว่า ทุกคนตั้งอยู่บนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริงเสมอๆ…ไม่ได้มีใครที่จะมีเจตนาที่จะตั้งใจจะโจมตี จะด่าทอ…แต่เรามองโลกตามความเป็นจริง โควิดตอนนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่า อยู่ในช่วงวิกฤตจริงๆ คุณหมอก็ออกมาพูด เตียงต่างๆ ก็ไม่พอ วัคซีนก็ supply ไม่มี สิ่งที่สื่อทำคือการพยายามตรวจสอบและเตือนให้รัฐบาลหรือคนที่ออกนโยบายได้เห็นว่า มันผิดพลาดที่ตรงไหน อย่างไร  จริงๆรัฐบาลควรจะขอบคุณสื่อด้วยที่พยายามจะนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สื่อมืออาชีพจริงๆ ผมเชื่อว่า เจตนาที่สำคัญที่สุดคือ เราพยายามที่จะอยู่ข้างประชาชน…นี่คือคอนเซปต์หลักของสื่อ เราคือ Watch dog เราต้องตรวจสอบ สื่อไม่ได้มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลที่ตรงกับรัฐบาลเสมอไปเพราะเขามีกรมประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว”



นครินทร์กล่าวว่า ข้อมูลที่สื่อนำเสนอออกมาและไปในทิศทางเดียวกันสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ที่วิกฤต มีปัญหาเกิดขึ้นจริง ทั้งหมดกระทำบนพื้นฐานจริยธรรม ในทางตรงกันข้ามมีสื่อหลายประเภทที่นำเสนอข้อมูลตั้งใจบิดเบือนให้ดูดีเกินจริง เขาตั้งคำถามถึงผลการวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคในสี่พื้นที่ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจากการสอบถามแพทย์หลายคนก็มองว่า ไม่ค่อยแน่ใจถึงความน่าเชื่อถือ ในขณะที่ข้อมูลจากประเทศรอบข้างของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียจะไม่ซื้อซิโนแวคเพิ่มแล้ว สิงคโปร์ไม่นับซิโนแวคในอัตราการฉีด นี่คือตัวอย่างและตั้งคำถามว่า ข้อเท็จจริงของโลกเป็นแบบนี้ แต่การที่รัฐสร้างข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่งให้คนคล้อยตาม การกระทำนี้จะนับได้หรือไม่ว่า เป็นข่าวปลอม 



สุทธิชัยเสริมในประเด็นนครินทร์ตั้งคำถามว่า รัฐบาลทำข่าวปลอมหรือไม่ สุทธิชัยบอกว่า สิ่งที่เลวร้ายกว่าข่าวปลอมคือการโกหก ซึ่งนักการเมืองใช้ โกหกหน้าด้านๆ รู้ว่า ทำไม่ได้ แต่ประกาศว่า นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทำหรือจะทำ ฉะนั้นข่าวปลอมอาจจะไม่ถึงขั้นดำกับขาว แต่พยายามบิดเบือนให้มาข้างตนเอง แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือ การโกหกอย่างจงใจ รู้ว่า โกหกหลอกลวง แต่เชื่อว่า ถ้าหากพูดบ่อยๆ คนจะเชื่อ พูดบ่อยจนคนพูดก็เชื่อไปเองว่า นี่คือความจริง