7 ปี แห่งความถดถอย : วุฒิสภาของ คสช. ผ่านกฎหมายได้ 11 ฉบับ ปั๊มตรายางให้ พ.ร.ก. 6 ฉบับ

ในระบอบประชาธิปไตย "วุฒิสภา" มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ คือ การ “กลั่นกรองกฎหมาย” ที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง โดยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ว่า กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ จะต้องพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรสามวาระ แล้วจึงส่งให้วุฒิสภาพิจารณาอีกสามวาระ (อ่านขั้นตอนการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่นี่)
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสภาผู้แทนราษฎรสามารถตัดลดงบประมาณได้ จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาว่า จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ ได้เพียงตั้งข้อสังเกต ส่วนพระราชกำหนด คณะรัฐมนตรีตราเป็นกฎหมายประกาศใช้ก่อน จากนั้นจึงให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติตามลำดับ
เนื่องจากที่มา ของวุฒิสภาชุดปัจจุบันเป็น "ชุดพิเศษ" 250 คน ที่มาจาก คสช. โดยไม่ยึดโยงกับประชาชน กลายเป็นองค์กรที่มีขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของคสช. ผ่านการเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่แม้สภาแห่งนี้จะกล่าวอ้างตัวเองว่า เป็นตัวแทนของประชาชนไม่ได้ อำนาจหน้าที่ในกระบวนการออกกฎหมายก็ยังอยู่ในมือของพวกเขาด้วย ผลงานตลอด 2 ปีในตำแหน่ง พวกเขาลงมติผ่านร่างพระราชบัญญํติได้ 11 ฉบับ และอนุมัติพระราชกำหนดให้คณะรัฐมนตรีได้ 6 ฉบับ โดยเสียง เห็นชอบแทบจะไม่มีแตกแถว
สองปี ผ่านร่างพ.ร.บ.ได้  11 ฉบับ เสียงแทบไม่แตกเลย
นับแต่การประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง เมื่อ 24 พฤษภาคม 2562 จนถึงการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 24 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2564 วุฒิสภาพิจารณากฎหมายระดับพระราชบัญญัติผ่านทั้งสามวาระไปได้ 11 ฉบับ ได้แก่
1) ร่างพระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. …. ผ่านการพิจารณา "สามวาระรวด" เมื่อ 19 สิงหาคม 2562 วาระหนึ่ง รับหลักการ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 231 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ในพิจารณาต่อในวาระสอง รายมาตรา โดยกรรมาธิการเต็มสภา และลงมติในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 231 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เสียงไม่แตกเลย
2) ร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. …. พิจารณาต่อจากร่างพระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. …. สามวาระรวดเช่นกัน โดยวาระหนึ่ง เห็นชอบ 225 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ในพิจารณาต่อในวาระสอง รายมาตรา โดยกรรมาธิการเต็มสภา และลงมติในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 229 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เสียงไม่แตกเลย
3) ร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วุฒิสภามีมติรับหลักการ วาระหนึ่ง เมื่อ 20 กรกฎาคม 2563 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 215 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง และผ่านการพิจารณาวาระสอง และวาระที่สาม เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 ในวาระที่สองมีผู้สงวนคำแปรญัตติ แต่ที่ประชุมวุฒิสภาก็มีมติให้ยึดไว้ตามร่างเดิมที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอมา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วยให้คงตามร่างเดิม 204 เสียง เห็นด้วยให้แก้ไขเพิ่มเติมตามผู้สงวนคำแปรญัตติ 11 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และผ่านการพิจารณาวาระสามด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 205 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง เป็นฉบับแรกที่มีเสียงเห็นต่างบ้าง
4) ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. …. วุฒิสภามีมติรับหลักการ วาระหนึ่ง เมื่อ 20 กรกฎาคม 2563 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 194 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และผ่านการพิจารณาวาระสอง และวาระที่สาม เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 ในวาระที่สองไม่มีการแก้ไข และวาระสามที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 208 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เสียงไม่แตกเลย
5) ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วุฒิสภามีมติรับหลักการ วาระหนึ่ง เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2563 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 199 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ต่อมา ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 วาระที่สองผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีการแก้ไขรายมาตรา และเข้าสู่การพิจารณาวาระที่สาม โดยที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 207 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เสียงไม่แตกเลย
6) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วุฒิสภามีมติรับหลักการ วาระหนึ่ง เมื่อ16 พฤศจิกายน 2563 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 198 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ต่อมา ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 การพิจารณาในวาระที่สอง ไม่มีการแก้ไขรายมาตรา และเข้าสู่การพิจารณาวาระที่สาม โดยที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 214 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เสียงไม่แตกเลย
7) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วุฒิสภามีมติรับหลักการ วาระหนึ่ง เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2563 ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 202 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 การพิจารณาในวาระที่สอง ไม่มีการแก้ไขรายมาตรา และเข้าสู่การพิจารณาวาระที่สาม โดยที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 199 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง เสียงไม่แตกเลย
8) ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วุฒิสภามีมติรับหลักการ วาระหนึ่ง เมื่อ 8 ธันวาคม 2563 ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 161 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564 การพิจารณาวาระสอง ไม่มีการแก้ไขมาตราใด และผ่านการพิจารณาวาระสาม ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 204 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เสียงไม่แตกเลย
9) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในความผิดฐานทำแท้ง ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาสามวาระรวดเช่นกันเมื่อ 25 มกราคม 2564 วาระหนึ่งรับหลักการ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 187 เสียง ไม่เห็นชอบ 5 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ผ่านการพิจารณาวาระสอง โดยกรรมาธิการเต็มสภา มีการลงมติรายมาตราแต่คะแนนเสียงส่วนใหญ่ให้คงไว้ตามร่างเดิมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว และผ่านวาระสามด้วยคะแนนเห็นชอบ 166 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง มีเสียงเห็นต่างบ้าง
10) ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วุฒิสภามีมติรับหลักการ วาระหนึ่ง เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 179 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และผ่านการพิจารณาวาระสองและวาระสาม เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ในวาระสอง ไม่มีการแก้ไขมาตราใด และผ่านการพิจารณาวาระสามด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 209 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เสียงไม่แตกเลย
11) ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. วุฒิสภามีมติรับหลักการวาระหนึ่ง เมื่อ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 214 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง จากนั้นก็มีการพิจารณาวาระสองและวาระสามต่อเนื่องในวันเดียวเดียวกัน ซึ่งผลการพิจารณาในวาระสามคือ วุฒิสภามีมติเสียง เห็นชอบ 212 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง มีเสียงเห็นต่างบ้าง
ยังมีร่างกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา โดยผ่านการลงมติรับหลักการแล้วในวาระหนึ่งแล้ว ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 209 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง คือร่างพระราชบัญญัติยกฐานะศาลแขวงนครไทย ศาลแขวงพยัคฆภูมิพิสัย และศาลแขวงเวียงป่าเป้า เป็นศาลจังหวัด พ.ศ. ….
ในเวลาสองปี วุฒิสภาทำหน้าที่ในการพิจารณาผ่านกฎหมายได้เพียง 11 ฉบับ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสภาแต่งตั้งชุดที่แล้ว คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ผ่านกฎหมายได้ 444 ฉบับ ในเวลาประมาณ 5 ปี เฉลี่ยปีละ 88 ฉบับ โดยเฉพาะในช่วงเวลาสามเดือนสุดท้าย สามารถผ่านกฎหมายได้ 99 ฉบับ จึงพบว่า วุฒิสภาชุดนี้ผ่านกฎหมายได้ "น้อยมาก" แต่จำนวนที่น้อยก็ไม่ได้เป็นเพราะวุฒิสภาทำงานช้าแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเพราะสภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายได้น้อย จึงส่งมาถึงมือวุฒิสภาชุดนี้น้อย ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนการออกกฎหมายที่เพิ่มขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ทำให้การผ่านกฎหมายทำได้ช้าลง
ส่วนในประเด็น "ความหลากหลาย" ของการถกเถียงและลงมติในวุฒิสภา ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า จากกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ มี 8 ฉบับที่ไม่มีเสียงคัดค้านหรือเห็นต่างเลย จำนวนงดออกเสียง 1-3 เสียงน่าจะหมายถึงประธานและรองประธานวุฒิสภา ที่โดยมารยาทจะต้องงดออกเสียงในการลงมติทุกเรื่อง ส่วนอีก 2 ฉบับที่มีเสียงคัดค้านบ้าง ร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ก็มีเสียงไม่เห็นชอบ 1 เสียง และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดฐานทำแท้ง ก็มีเสียงไม่เห็นชอบ 7 เสียง ยังเรียกได้ว่าเป็นสภาที่เมื่อร่างกฎหมายใดเข้ามาถึงมือก็ "ผ่านฉลุย" เมื่อเปรียบเทียบกับ สนช. ซึ่งผ่านกฎหมายโดยไม่มีเสียงคัดค้านไป 77% และฉบับที่เสียงแตกที่สุดก็มีความเห็นต่างไม่เกิน 10% จึงเห็นได้ว่า ทั้ง สนช. และวุฒิสภาชุดนี้  ทำงานเป็นสภาตรายางไม่ต่างกัน
เปรียบเทียบผลการลงมติวาระสามระหว่าง "สภาผู้แทนราษฎร" กับ "วุฒิสภา"
ชื่อกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา
  เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ งดออกเสียง เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ งดออกเสียง
ร่าง พ.ร.บ.เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 455 0 3 231 0 2
ร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 464 0 0 229 0 3
ร่าง พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 394 0 12 205 1 6
ร่าง พ.ร.บ.ยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย 387 0 2 208 0 2
ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 302 38 1 207 0 2
ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 313 2 2 212 1 3
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล 285 14 4 214 0 2
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร 338 0 2 199 0 1
ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 338 7 4 204 0 3
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา 276 8 54 166 7 20
ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 319 7 3 209 0 3
อนุมัติงบประมาณ และพระราชกำหนดให้รัฐบาลฉลุย
นอกจากการผ่านร่างพระราชบัญญัติไป 10 ฉบับ วุฒิสภาชุดนี้ยังทำหน้าที่ผ่านร่างร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีไปตามวาระในแต่ละปี คือ ฉบับปี 2563 ที่ใช้เวลาในการพิจารณาเพียงสองวัน คือ 20-21 มกราคม 2563 ผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 228 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และฉบับปี 2564 ซึ่งผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาเมื่อ 21 กันยายน 2563 ด้วยคะแนนเสียง 218 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง
ในรัฐบาล คสช.2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเคยชินกับการใช้อำนาจสมัยเป็นหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่มี "มาตรา 44" อยู่ในมือและสามารถออกกฎหมายอะไรก็ได้ เมื่อใดก็ได้ แต่เมื่อจะอ้างว่าเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วจึงต้องอ้างอิงอำนาจที่ดูเหมือนจะชอบธรรมขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกพระราชกำหนดไ้ด้เอง โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา แต่เมื่อประกาศใช้แล้วต้องนำมาให้สภาเห็นชอบภายหลัง
แม้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 จะให้อำนาจคณะรัฐมนตรีออกพระราชกำหนด เฉพาะใน "กรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้" เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ใช้อำนาจออกพระราชกำหนดในหลากหลายประเด็น ซึ่งไม่อาจอธิบายได้ว่า มีเหตุฉุกเฉินใดทำให้ไม่สามารถขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนได้ และเมื่อประกาศใช้แล้วนำมาขอความเห็นชอบของรัฐสภา วุฒิสภาชุดนี้ก็ได้ทำหน้าที่ "ตรายาง" พิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดไปทั้งหกฉบับ โดยไม่มีเสียงคัดค้าน
1) พระราชกําหนดโอนอัตรากําลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 (พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ) อนุมัติในการประชุมเมื่อ 20 ตุลาคม 2562 ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 223 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง
2) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2562 อนุมัติในการประชุมเมื่อ 2 ธันวาคม 2562  คะแนนเสียง เห็นชอบ 187 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
3) พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 อนุมัติในการประชุมเมื่อ 2 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องมาจากวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 242 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง
4) พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 อนุมัติในการประชุมเมื่อ 1-2 มิถุนายน 2563 ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 244 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง
5) พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 อนุมัติในการประชุมเมื่อ 1-2 มิถุนายน 2563 ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 243 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง
6) พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 อนุมัติในการประชุมเมื่อ 2 มิถุนายน 2563 2563 ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 219 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง
"กฎหมายปฏิรูป" กลโกงคสช. ให้ ส.ว. แทรกแซง ส.ส. ในการตรากฎหมาย
ในกระบวนการนิติบัญญัติทั่วไป อำนาจในการพิจารณากฎหมายระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. จะแยกขาดจากกัน โดย ส.ว.จะทำหน้าที่ได้เพียงกลั่นกรองกฎหมาย กล่าวคือ ทำได้เพียงชะลอการออกกฎหมายแต่ไม่สามารถปัดตกหรือผ่านกฎหมายได้ด้วยตัวเอง แต่ทว่า ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 270 ได้สร้างช่องทางพิเศษให้ ส.ว. สามารถเข้ามาพิจารณากฎหมายร่วมกับ ส.ส. ได้ โดยระบุว่า "ร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดําเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" กล่าวคือ หาก ครม. เห็นว่ากฎหมายใดเป็น "กฎหมายปฏิรูป" ให้ ครม. แจ้งประธานรัฐสภาและจัดให้มีการพิจารณากฎหมายร่วมกัน
ที่ผ่านมา ช่องทางดังกล่าวได้กลายเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้รัฐบาลคสช. มีความได้เปรียบในการออกกฎหมาย เพราะมีเสียงในสภาเพิ่มขึ้นมาจากจำนวน ส.ว. 250 คน ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชาติ (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ซึ่งนับว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีผลสำคัญต่อกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาทิ หมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำเป็นจะต้องมีการจัดออกเสียงประชามติก่อน ด้วยเหตุนี้ ทำให้ฝ่ายที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างพรรคฝ่ายค้าน และฝ่ายที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างฝ่ายรัฐบาลคสช. จึงต้องคุมเกมส์ประชามติให้อยู่หมัด
โดยผู้ที่เปิดเกมส์เสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ก่อน คือ พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย แต่ทว่า กฎหมายดังกล่าวถูกตีความว่าเป็น ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน จึงต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้คำรับรองเสียก่อน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ปัดตกกฎหมายฉบับนี้ด้วยการไม่ให้คำรับรอง และต่อมา ครม. ก็ได้มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ในฉบับของตัวเอง พร้อมกับระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายปฏิรูป จึงทำให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. เข้ามาแทรกแซงกระบวนการออกกฎหมายของ ส.ส. ได้ในที่สุด
นอกจากนี้ ในตอนที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ในวาระที่สอง เมื่อผลการพิจารณาแบบรายมาตราไม่เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลคสช. วางเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น ในตอนที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ในมาตรา 9 ซึ่งฝ่าย ส.ว. แพ้โหวต ก็มีบรรดา ส.ว. ที่พยายามขอนับคะแนนใหม่ รวมไปถึงมีการขอเลื่อนการพิจารณากฎหมายออกไป และให้คณะกรรมาธิการวิสามัญผู้ปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงใหม่ จนเป็นไปตามร่างที่รัฐบาลคสช. เป็นคนเสนอเข้ามา
ส.ว.แต่งตั้ง "ถนัดอวย" ไม่ถนัดตรวจสอบ
หน้าที่ของ ส.ว. นอกจากจะเป็นกระบวนการกลั่นกรองกฎหมายแล้ว ส.ว. เองก็มีอำนาจหน้าที่ในการตรวบสอบถ่วงดุลรัฐบาล แต่ทว่า ภายใต้ ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของคสช. ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลลดน้อยลง
เริ่มตั้งแต่การประชุมร่วมกันของรัฐสภานัดแรก ที่รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบให้กับผู้ที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยตัวเลือกที่มีในขณะนั้น คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคสช. กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกอภิปรายถึงความเหมาะสมอย่างหนักหน่วง จนแทบจะทำให้บรรยากาศการเห็นชอบนายกฯ กลายเป็นการซ้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ไปก็ตาม แต่ก็ยังมี ส.ว. ที่ยังให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ อาทิ ส.ว. เสรี สุวรรภานนท์ 
โดยเขาอภิปรายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ว่า ว่า "ช่วงก่อนปี 57 บ้านเมืองเราเกิดความวุ่นวายอย่างมาก กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ได้ทำรัฐประหารและบริหารประเทศต่อ ซึ่งบ้านเมืองเกิดความสงบสุข และเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศ หากมองในมุมของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังไม่มีผลงานใดๆ เข้าใจว่าเพิ่งเข้ามาสู่การเมือง เมื่อดูจากผลงานที่ผ่านมาแล้วตนจึงมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะสมที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี มากกว่า"
นอกจากการอภิปรายชมแล้ว ในตอนที่มีสัมมนาส.ว. เตรียมพร้อมเข้าประชุมร่วมรัฐสภาในการแถลงนโยบายรัฐบาล ก็พบว่า มี ส.ว. ที่พยายามวางตัวเป็นพันธมิตรกับรัฐบาล อาทิ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ที่กล่าวว่า ส.ว.ไม่มีหน้าที่อภิปรายสนับสนุนหรือปกป้องตัวบุคคล เว้นแต่อภิปรายถึงผลงานที่ผ่านมาว่าทำได้ดีอย่างไร แต่ไม่สามารถอภิปรายว่าที่ผ่านมาทำไม่ดี เนื่องจากเป็นหน้าที่ของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่จะดำเนินการ ดังนั้น ส.ว.ควรเน้นนโยบาย ในเชิงให้ข้อเสนอแนะแบบผู้ใหญ่"
ต่อมาในกระบวนการติดตามปัญหาหรือการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลก็พบว่า ผ่านไป 2 ปี ส.ว. ได้ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ เพื่อติดตามปัญหาเพียง 4 คณะ ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎร มีการตั้ง กมธ. เพื่อติดตามปัญหาเร่งด่วน
นอกจากนี้ ในด้านการติดตามผลการปฏิรูปประเทศ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ก็ให้ความเห็นว่า านปฏิรูปประเทศ และการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติยังมีสิ่งต้องแก้ไข และปรับปรุงโดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานที่ยังขาดความร่วมมือระหว่าง "ประชาชน-ภาครัฐ-เอกชน" แต่ถึงอย่างนั้น ส.ว.  ก็ไม่ได้ต้องการจะลงโทษรัฐบาลแต่อย่างใด
#ทำแท้งปลอดภัย เกือบต้องเลื่อน ส.ว. อยากขอเวลาเพิ่ม
แม้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จะผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาสามวาระรวด และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา มี ส.ว. บางส่วนที่พยายาม “ยื้อ” เวลาออกไป เช่น คำนูณ สิทธิสมาน ที่เสนอให้รัฐบาลแจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า มีเหตุขัดข้องในการปฏิบัติตามคำบังคับของศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ที่ระบุให้ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาภายใน 360 วัน เพื่อให้ขยายเวลาบังคับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกไปอีก เพื่อให้วุฒิสภาได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยให้เหตุผลว่า ข้อจำกัดทางระยะเวลาอาจส่งผลให้การพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หากแก้ไขแล้วก็ต้องส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่ทันกรอบระยะเวลา (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวที่นี่)
เนื่องจากจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์คณะวินิจฉัยคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ก็เป็นหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และเป็นหนึ่งในผู้ชี้แจงการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในชั้นวุฒิสภา คำนูณจึงเรียนขอคำแนะนำจากจรัญว่า การขยายระยะเวลาเช่นนี้ทำได้หรือไม่ ซึ่งจรัญ ก็แสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอของคำนูณ สิทธิสมาน ให้ขยายเวลาออกไป
ด้านศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ อภิปรายว่า กระบวนการพิจารณากฎหมาย หากพิจารณาอย่างเร่งรีบอาจจะส่งผลกระทบอื่นถึงความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
อย่างไรก็ดี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมว่า คำบังคับของศาลรัฐธรรมนูญจะครบ 360 วัน ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันดังกล่าว ผลที่ตามมา คือ มาตรา 301 ประมวลกฎหมายอาญา จะเป็นอันสิ้นผลไป ส่งผลให้หญิงที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยินยอมให้คนอื่นทำให้ตนแท้งลูกจะไม่ผิดกฎหมายเลย และพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาก็ได้กำชับแก่ที่ประชุมวุฒิสภาในทำนองเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่าจากท่าทีของวิษณุ เครืองาม และพรเพชร วิชิตชลชัย ก็เป็นสัญญาณที่ทำให้วุฒิสภาต้องยินยอมให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสามวาระรวดไปได้ แม้ว่าสมาชิกบางคนอาจจะยังไม่เห็นด้วยทั้งหมดก็ตาม
แก้กฎหมายให้ศาลปกครองกำหนดเบี้ยประชุมใหญ่ได้
หนึ่งในกฎหมายสำคัญที่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา คือ ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการแก้ไขพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) สามารถออกระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดเบี้ยประชุมสำหรับข้าราชการตุลาการศาลปกครองซึ่งเข้าร่วมการประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด โดยในการพิจารณาวาระหนึ่ง เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2563 วุฒิสภามีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 199 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
ร่างกฎหมายนี้เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็นการแก้ไขกฎหมายของศาลปกครองเพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจเดียวกันของศาลยุติธรรมตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562[30] ที่ผ่านมาโดย สนช.  หรืออาจอธิบายได้ว่า ภายหลังจาก สนช. แก้ไขกฎหมายให้ศาลยุติธรรมกำหนดเบี้ยประชุมได้ สภาชุดนี้จึงแก้ไขกฎหมายของฝั่งศาลปกครองตามมา
ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง วาระที่หนึ่ง มีสภาชิกวุฒิสภาที่อภิปรายร่างกฎหมายดังกล่าวแค่สองคนเท่านั้น ได้แก่ พลอากาศตรี เฉลิมชัย เครืองาม และ วันชัย สอนศิริ
พลอากาศตรี เฉลิมชัย เครืองาม  อภิปรายว่า เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะบุคลากรในอาชีพต่างๆ เมื่อปฏิบัติงานไปเรื่อยๆ ก็มีภาระงานที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ตั้งคำถามว่า ภายหลังจากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะมีการเบิกเบี้ยประชุมย้อนหลังหรือไม่ และที่ทางศาลปกครองระบุเหตุผลว่าปริมาณงานเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นจำนวนเท่าใด สมชัย วัฒนการุณ ผู้ชี้แจงซึ่งเป็นตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ตอบคำถามว่า ในการประชุมใหญ่ศาลปกครองนั้นจะเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาคดีสำคัญ เช่น คดีมีปัญหาข้อกฎหมาย ทุนทรัพย์สูง และเมื่อมีการประชุมใหญ่แล้ว ตุลาการที่ไม่ได้เป็นองค์คณะวินิจฉัยคดีก็ต้องอ่านสำนวน ซึ่งเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น ในปีปี 2561 มีคดีที่เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ 12 ครั้ง ปี 2562 14 ครั้ง และปี 2563 นับถึงเดือนตุลาคม มี 10 ครั้ง ส่วนเรื่องการออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมย้อนหลังนั้น สมชัยชี้แจงว่าหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็ไม่ได้กำหนดให้ก.ศป ออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมย้อนหลังได้
วันชัย สอนศิริ ถามผู้ชี้แจงว่าก่อนหน้าที่จะเสนอร่างกฎหมายนี้มีการกำหนดเบี้ยประชุมหรือไม่ และใช้งบประมาณเท่าใด ด้านสมชัย วัฒนการุณ ตอบว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ ทางศาลปกครองจึงไม่ได้มีการให้เบี้ยประชุมแต่อย่างใด และระบุว่าปัจจุบันมีตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 60 คน จะต้องใช้งบประมาณปีละไม่เกินเก้าล้านบาท แต่หากเพิ่มอัตรากำลังตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้ตามกรอบอัตรากำลัง คือ 84 ตำแหน่ง ก็จะใช้งบประมาณปีละ 16 ล้านบาท
ในวาระที่สอง มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ โดยมีเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธานกรรมาธิการ ในชั้นกรรมาธิการไม่มีการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด และไม่มีกรรมาธิการสงวนความเห็น ไม่มีสมาชิกวุฒิสภาเสนอคำแปรญัตติให้มีการแก้ไขรายมาตรา ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงผ่านการพิจารณาในวาระที่สองไปอย่างรวดเร็ว และ วาระที่สาม ที่ประชุมวุฒิสภาก็เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 207 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
ผ่านกฎหมายภาษี เพิ่มเก็บภาษี E-Service เสรีชมเปราะนโยบาย “คนละครึ่ง” ใช้ภาษีประชาชนคืนประชาชน
อีกหนึ่งกฎหมายสำคัญที่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยกำหนดเพิ่มเรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากบริการทางอิเล็กทรอนิสก์จากต่างประเทศ (E-service) โดยกระทรวงการคลังคาดหมายว่าหากกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ จะส่งผลให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้นราว 5,000 ล้านบาท
ในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวโดยวุฒิสภา วาระที่หนึ่ง เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2563 เสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายว่าโครงการ “คนละครึ่ง” ของรัฐบาลเป็นโครงการที่ดีมาก เป็นตัวอย่างที่ดีทำให้เห็นว่ารัฐบาลใช้ภาษีอากรจากประชาชนและกลับคืนสู่ประชาชน อยากให้ผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีรายได้มากในยุคปัจจุบัน รับผิดชอบในส่วนที่ตนมีรายได้ย้อนกลับเป็นภาษีอากรเพื่อคืนสู่ประชาชนด้านสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ตั้งข้อห่วงกังวลว่า การจะเก็บภาษีจากผู้ประกอบกิจการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ กรมสรรพากรได้เตรียมความพร้อมในการตรวจสอบในเรื่องยอดรายได้ของผู้ประกอบการจากต่างประเทศหรือไม่
ที่ประชุมวุฒิสภามีมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 202 ไม่เห็นชอบ 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง
ในการพิจารณาวาระสองและวาระสาม วันที่ 7 ธันวาคม 2563 ไม่มีกรรมาธิการวิสามัญสงวนความเห็น และไม่มีสมาชิกวุฒิสภารายได้สงวนคำแปรญัตติ ในการลงมติวาระที่สาม วุฒิสภามีมติด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 199 ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ต่อมาพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 ก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564
ส่องวิสัยทัศน์วุฒิสภา พิจารณางบประมาณ แต่ร่ายเรื่องปฏิรูปประเทศ
ในการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วันที่ 20-21 มกราคม 2563 คำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญ อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดเรื่องการปฏิรูปประเทศต้องทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายในห้าปี และเสนอให้ต้องมีคณะรัฐมนตรีเฉพาะกิจว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รัฐบาลที่แล้ว คสช. ก็วางแนวทางได้ดี มีการตั้งสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (คณะกรรมการ ป.ย.ป.) แต่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันกลับยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้น ย้ำว่าการจัดสรรงบประมาณตามหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ จะจัดสรรตามปกติไม่ได้ และทิ้งท้ายว่าหากการปฏิรูปประเทศไม่บรรลุผล จะตอบคำถามประชาชนอย่างไร
สมชาย แสวงการ อภิปรายว่า งบประมาณที่ผ่านสภาไปจะต้องไม่รั่วไหล “ไอติมที่ผ่านสภาไปจะต้องถึงประชาชน ไม่ใช่เหลือแต่ไม้ไอติม” สมชายระบุว่า ภาพรวมของมาตรา 4 ซึ่งกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ 3.2 ล้านล้านบาทนั้น จะต้องทำงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องผ่านความขัดแย้งของประเทศ ประเทศไทยจะต้องหลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ หลายประเทศในอดีตเคยผ่านมาได้แล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ถ้าเราไม่เดินหน้า ร่วมสนับสนุนรัฐบาล รัฐสภา และภาคเอกชนในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้ ไม่ว่าจะเกิดความวุ่นวายโกลาหลจากการชุมนุมประท้วงที่อาจมีขึ้นเร็วๆ นี้ สร้างความบาดหมางคลางแคลงใจซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรง ก็จะทำให้ประเทศหยุดชะงัก ซึ่งตนไม่สนับสนุน
สมชายตั้งคำถามว่า การดำเนินการที่เกี่ยวกับงบประมาณและการปฏิรูปประเทศ นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล บริการรัฐดิจิทัล ยังไม่เห็นเป็นจริงเป็นจัง มีการวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประชารัฐไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าประชาชนยังเข้าถึงบริการไม่เต็มที่ ไปในทาง “มโนโซเชียล” เสียมากกว่า ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่สร้างกลไกทำให้รัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจไม่ขาดทุน ต้องปรับให้อินเทอร์เน็ตประชารัฐกลับมาใช้ให้ได้ รวมไปถึงเรื่องข้อมูลเปิด open data ยังไม่มีความคืบหน้า งบประมาณที่เขียนไป หากไม่มีนโยบายที่กำกับชัดเจน ก็จะไม่เกิดผล
วันชัย สอนศิริ อภิปรายเรื่องรายได้ของรัฐที่ไม่ใช่ภาษี เช่น รายได้จากการฟ้องร้องคดีโดยรัฐ การปล่อยให้คดีต่างๆ ล่าช้า จนขาดอายุความ จะทำให้รัฐไม่สามารถเก็บเกี่ยวรายได้เต็มที่ รัฐควรจะติดตามเอาเงินเหล่านี้
พลอากาศตรี เฉลิมชัย เครืองาม อภิปรายเรื่องปัญหาเงินนอกงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินแผ่นดินที่ไม่ต้องนำส่งคลัง เป็นเงินจำนวนสูงถึงหลักล้านล้านบาท บางปีงบประมาณเกือบเท่าถึงรายได้ของปีงบประมาณนั้นๆ แต่โชคดีที่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561ได้กำหนดให้หน่วยงานรัฐใดที่มีเงินนอกงบประมาณคงเหลือให้นำส่งคลัง
เฉลิมชัยเสนอว่า ในการจัดทำงบประมาณแต่ละหน่วยงานควรตั้งเป้าหมายว่าต้องการให้เกิดผลอะไรและประชาชนจะได้อะไร จากนั้นจึงจัดทำงบประมาณภายใต้รูปแบบแผนงานบูรณาการภาครัฐ และการจัดทำงบประมาณก็ไม่ควรให้แต่ละหน่วยงานเขียนงบประมาณ วางแผนเอง จากนั้นส่งมาให้สำนักงบประมาณจัดกลุ่มโครงการต่างๆ เข้าตามแผนงาน เพราะจะเป็นการจัดทำงบประมาณแบบย้อนศร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของวุฒิสภาลากยาวมาจนถึงวันที่ 21 มกราคม 2563 ท้ายที่สุดแล้ววุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 228 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ต่อมา 26 กุมภาพันธ์ 2563 พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นการประกาศใช้ที่ล่าช้ากว่ากำหนดการที่ควรจะเป็น เพราะปีงบประมาณภาครัฐ เริ่มต้นนับปีงบประมาณเมื่อ 1 ตุลาคม และสิ้นสุดปีงบประมาณเมื่อ 30 กันยายน ของปีปฏิทินถัดไป
ต่อมา 21 กันยายน 2563 วุฒิสภาก็มีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 อำพล จินดาวัฒนะ การตั้งค่าใช้จ่ายงบกลางเป็นจำนวนที่สูงเกินไป ขณะที่ญี่ปุ่นมีประชากรมากกว่าไทยสองเท่า แต่มีข้าราชการเพียง 11% ของคนทำงานทั้งหมดในประเทศ ขณะที่ไทยมีจำนวนถึง 27% ซึ่งเป็นจำนวนมาก ถ้าหากไม่มีแผนในการปรับจำนวนจริงๆ ก็จะส่งผลให้จำนวนข้าราชการเพิ่มขึ้น และขอฝากให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้ อำพลเสนอให้ทบทวนการใช้งบประมาณบูรณาการภาครัฐโดยใช้พื้นที่ตำบลเป็นฐาน ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาช่วย ไม่ใช่ให้แต่ละส่วนราชการเสนองบประมาณขึ้นมา มีองค์กรกลางตัดสิน และแบ่งกันใช้งบประมาณ
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ อภิปรายว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 13 ล้านคน เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูณณ์แบบ ขณะที่งบประมาณของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งงบประมาณไว้ที่ 192 ล้านบาท การใช้งบประมาณ 192 ล้านบาทควรใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ต้องดึกศักยภาพผู้สูงอายุแต่ละชุมชนขึ้นมาดูแลกันเอง อีกประเด็นคือเด็กและเยาวชน ในช่วงสองถึงสามเดือนที่นักเรียน-นักศึกษาลุกฮือกันขึ้นมา นั่นคือตัวอย่างว่าเราทอดทิ้งเขามานาน เราปล่อยให้เขาเรียนรู้กันเอง ซึ่งข้อที่น่าห่วงกังวลคือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สถิติของเยาวชนที่ติดยาเสพติด และเยาวชนที่ติดคุกก็เพิ่มมากขึ้น งบประมาณที่จัดสรรให้สภาเด็กและเยาวชน ตั้งไว้ที่ 220 ล้าน แต่สภาผู้แทนราษฎรตัดออกไปที่ 41 ล้านบาท ทั้งที่เป็นกลไกสำคัญ ในเหตุการณ์หมิ่นฯ สภาเด็ก เขาไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว วางตัวอยู่ในกรอบ ทำงานดีมาก 
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง 218 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 7 ตุลาคม 2563