วัคซีนโควิด: มาตรการและข้อเสนอเพื่อลดผลกระทบในเรือนจำอังกฤษและอเมริกา

ขณะนี้ประชาชนในหลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ มาตรการควบคุมโรคที่รัฐบาลในหลายประเทศได้เร่งดำเนินการ คือการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับประชากรภายในประเทศอย่างเร่งด่วนและครอบคลุมมากที่สุด ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่การแพร่ระบาดในระลอกที่สามมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะที่การฉีดวัคซีนก็เป็นไปด้วยการความล่าช้า 
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามในการฉีดวัคซีนแก่ประชากรโดยทั่วไป แต่ดูเหมือนว่านักโทษที่อยู่ในเรือนจำกลับไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ทั้งที่เรือนจำถูกจัดให้เป็นพื้นที่เสี่ยงและอันตรายต่อการแพร่กระจายของโรคมากกว่าโลกภายนอก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีพื้นที่จำกัด และนักโทษต้องอยู่ร่วมกันอย่างแออัด ทั้งนี้ก็มีบางประเทศเริ่มมีการเคลื่อนไหวให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนให้กับบรรดาผู้ต้องขัง
 
อังกฤษ : เสนอฉีดวัคซีคผู้ต้องขังลดผลกระทบการแพร่ระบาดและทางจิตใจ
รายงานล่าสุดจากกลุ่มที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์สำหรับเหตุฉุกเฉิน (Scientific Advisory Group for Emergencies : Sage) เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ระบุถึงกรณีการแพร่ระบาดในเรือนจำว่าถึงแม้อัตราการติดเชื้อของโรคโควิด-19 ในสังคมจะลดลงแต่สถานการณ์ในเรือนจำกลับยังคงมีความเสี่ยงสูงอยู่และอาจเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อโรคที่สำคัญและขยายไปสู่ชุมชนได้
อย่างไรก็ตาม เรือนจำที่ประเทศอังกฤษและเวลส์ก็ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรค ด้วยการกำหนดให้ผู้ต้องขังอยู่ในห้องขังมากกว่า 23 ชั่วโมงต่อวัน งดเยี่ยมญาติและเลื่อนกิจกรรมหรืองานพิเศษของผู้ต้องขังออกไปก่อนในช่วงนี้ ซึ่งจากรายงานของกลุ่มที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์สำหรับเหตุฉุกเฉิน ระบุว่ามาตรการที่เข้มงวดนี้จะส่งผลในด้านลบต่อสภาพจิตใจของนักโทษ และถ้าหากเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้ต้องขังยังไม่ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนและครอบคลุมก็มีความเป็นไปได้ว่ามาตรการที่เข้มงวดนี้จะยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายเดือน การจัดหาวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังโดยเร็วที่สุดจึงเป็นหนทางที่นอกจากจะช่วยยกเลิกมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้ต้องขังแล้ว ยังจะเป็นการช่วยลดการแพร่กระจายและอัตราการเสียชีวิตอีกด้วย 
นักวิจัยระบุว่า สำหรับการแพร่ระบาดระลอกแรก เรือนจำในประเทศอังกฤษและเวลส์ หากเทียบสัดส่วนผู้ต้องขังจำนวน 1,000 ราย จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 7.6 ราย โดยที่เทียบกับประชากรทั่วไปจะมีผู้ติดเชื้อน้อยกว่าคืออยู่ที่ 4.9 ราย นอกจากนี้ในรายงานยังระบุว่า มีผู้ต้องขังจำนวน 118 รายเสียชีวิตหลังจากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ภายในระยะเวลา 28 วัน และอีก 93 รายที่เสียชีวิต มีความเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโควิด-19  และจากสถิติล่าสุดของกระทรวงยุติธรรม ประเทศอังกฤษ นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 มีผู้ต้องขังติดเชื้อทั้งหมด 10,354 ราย โดยเพิ่มขึ้น 4,227 ราย จากเดือนธันวาคม 2563 คิดเป็นจำนวน 1 ใน 8 ของนักโทษทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 78,000 คน 
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพออกมาแสดงความเห็นว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำอยู่ในสภาวะความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการติดเชื้อโควิด-19 โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประชากรทั่วไปถึงสามเท่า เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายในเรือนจำและระบบสาธารณสุขที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยย้ำว่าบุคคลกลุ่มนี้ควรเป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนก่อน
อเมริกา : หลายรัฐตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขัง
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงแรกของแผนการเริ่มฉีดวัคซีน รัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะจัดหาและฉีดวัคซีนให้กับคนที่อยู่ในเรือนจำ แม้ว่าพวกเขาจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการติดเชื้อและเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน 2564 หลายๆ รัฐได้ออกประกาศถึงแผนการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ต้องขังโดยจะฉีดให้เสร็จสิ้นในเดือนถัดๆไป 
ตามรายงานล่าสุดของนิวยอร์คไทม์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ระบุว่า ในเรือนจำทั่วประเทศ เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว ผู้ต้องขังจำนวน 100 ราย จะมีผู้ต้องขังติดเชื้อคิดเป็นจำนวน 34 ราย ซึ่งมากกว่าสามเท่าเมื่อเทียบกับการติดเชื้อในประชากรทั่วไป โดยในช่วงที่มีการแพร่ระบาด มีผู้ต้องขังเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 โดยเฉลี่ย 7 คนต่อวัน 
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอย่างหนักในเรือนจำที่เมืองโคโลราโด มิชิแกน และที่อื่นๆ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กล่าวว่าการแพร่กระจายของเชื้อมีแนวโน้มสูงมากกว่าที่เราคาดคิด เนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในเรือนจำส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ และแม้ว่าแนวทางการรับมือต่อการแพร่ระบาดของเรือนจำในสหรัฐฯ ได้มีการปรับปรุงในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริโภครวมถึงการใส่หน้ากาก แต่เรือนจำไม่ได้ถูกสร้างมาให้เป็นเหมือนกับโรงพยาบาลหรือบ้านพักรับรอง ทำให้ผู้ต้องขังจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่สุขภาพไม่ดียังคงตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้โดยง่าย
สถานการณ์ในเรือนจำสหรัฐฯ อาจเรียกได้ว่าถึงขั้นเลวร้าย เนื่องจากล่าสุดมีการก่อความไม่สงบขึ้นโดยเหล่านักโทษที่เรือนจำในเมืองเซนต์หลุยส์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 โดยมีการทุบกระจก จุดไฟ และเขียนป้ายขอความช่วยเหลือ ซึ่งนับเป็นการก่อความไม่สงบอย่างรุนแรงครั้งที่สี่ภายในประเทศนับจากการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่ปีที่แล้ว ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาและถูกคุมขังมาตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโดยที่ไม่มีการพิจารณาคดีหรือไม่ทราบแม้แต่กำหนดเวลาในการพิจารณา ผู้ประท้วงต้องการเรียกร้องให้ศาลกำหนดวันนัดคดีและปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างมีมนุษยธรรม จากรายงานของหน่วยงานราชทัณฑ์เมื่อเดือนมีนาคมระบุว่า บรรดาผู้ต้องขังต่างก็ประสบภาวะโดดเดี่ยวที่ไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวและสิ้นหวังกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ภายในเรือนจำ