เปิด 38 มาตรา แค่มีคำว่า “พระมหากษัตริย์” ก็จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระที่สอง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ประเด็นการห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 รวมไปถึงอีก 38 มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งหลังจากการพิจารณาในวาระที่หนึ่ง โดยเฉพาะบรรดาสมาชิกวุฒิสภาที่ยืนยันว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ นอกจากในหมวด 2 แล้ว ยังปรากฏอยู่ในหมวดอื่นๆ อีก 37 มาตรา และในบทเฉพาะกาลอีกหนึ่งมาตรา เหตุที่ไม่ควรให้ สสร. แก้ไข บ้างอ้างว่านี่คือสถานการณ์ไม่ปกติ บ้างก็ว่าจะเป็นการตีเช็คเปล่าให้ สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (อ่านรวมสรุปอภิปรายในประเด็น "สสร.ห้ามแก้หมวด1-2" ได้ที่นี่
ถึงแม้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะห้าม สสร. แตะต้อง "หมวด 2 พระมหากษัตริย์" โดยเด็ดขาด  แต่ในการพิจารณาวาระที่สอง สมาชิกวุฒิสภาบางรายก็ทิ้งประเด็นเกี่ยวพระราชอำนาจนอกเหนือหมวด 2 ไว้ ซึ่งได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของ ส.ว. ที่ใช้เป็นข้ออ้างในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม โดยจะเห็นได้จากการที่ ส.ว. หลายคนได้ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกัน สนับสนุนกันและกันอย่างไม่แตกแถว
มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจนอกเหนือหมวด 2 มีจำนวน 38 มาตราถูกระบุอยู่ในรายงานการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ก่อนรับหลักการ ภาคผนวก 9 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ จากข้อมูลในรายงานดังกล่าว พบว่าบทบัญญัติทั้ง 38 มาตรานั้น กระจายอยู่ในหลายหมวด อันได้แก่ หมวด 7 รัฐสภา หมวด 8 คณะรัฐมนตรี หมวด 10 ศาล หมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ หมวด 12 องค์กรอิสระ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล โดยมีคำสำคัญ (Keyword) ที่ปรากฏในบทบัญญัติ คือ พระมหากษัตริย์, พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง, พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และมีเพียงห้ามาตราเท่านั้นที่ปรากฏคำว่า “พระราชอำนาจ” อยู่ในเนื้อหาของบทบัญญัติ  โดยสามารถแจกแจงรายละเอียดของแต่ละบทบัญญัติ ดังนี้
หนึ่งมาตราสำคัญ กำหนดให้พระบรมราชโองการต้องมีผู้ลงนามรับสนอง
ในมาตรา 182 กำหนดให้ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มิอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะผู้ที่ลงนามรับสนองจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง ซึ่งหลักดังกล่าวมีชื่อเรียกว่าหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ หรือ The King Can Do No Wrong (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับหลักดังกล่าวที่นี่)
19 มาตรา เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรรัฐและการให้พ้นจากตำแหน่ง
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองคาพยพของรัฐ ที่มีถ้อยคำว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง” มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรรัฐและการให้พ้นจากตำแหน่ง โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 19 มาตรา แยกพิจารณาได้ดังนี้
การแต่งตั้งฝ่ายบริหาร จำนวนสามมาตรา 
มาตรา 158 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน โดยนายกฯ ต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ และประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 
มาตรา 171 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ 
และมาตรา 180  พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ
การแต่งตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ จำนวนสามมาตรา 
มาตรา 106 หลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 
มาตรา 116 สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่ละสภา มีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภาคนหนึ่งหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้นๆ ตามมติของสภา 
มาตรา 269 ซึ่งกำหนดเรื่องการได้มาซึ่งวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล หนึ่งมาตรา คือ ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยห้าสิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยในการสรรหาและแต่งตั้งให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด
การแต่งตั้งฝ่ายตุลาการ จำนวนสามมาตรา 
มาตรา 190  พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ผู้พิพากษาและตุลาการพ้นจากตำแหน่ง แต่ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ ตามวาระ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ 
มาตรา 200 (หมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ) ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ตามคุณสมบัติที่กำหนด 
มาตรา 207 (หมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ) ซึ่งกำหนดให้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
การแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามหมวด 12 มีจำนวน 10 มาตรา แยกตามองค์กร ดังนี้
คณะกรรมการการเลือกตั้ง จำนวนสองมาตรา 
มาตรา 222 คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลตามคุณสมบัติและที่มาซึ่งกฎหมายได้กำหนด 
มาตรา 223  กรรมการการเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ผู้ตรวจการแผ่นดิน จำนวนสองมาตรา
มาตรา 228 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวนสามคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ตามคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนด 
มาตรา 229 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จำนวนสองมาตรา 
มาตรา 232 กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการจำนวนเก้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ตามคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนด 
มาตรา 233 ที่กำหนดให้ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวนสามมาตรา 
มาตรา 238  คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา โดยต้องมีคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนด 
มาตรา 239 กรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว และมาตรา 241  ให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนหนึ่งซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาโดยได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวนหนึ่งมาตรา
มาตรา 246 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหา ตามคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนด
สองมาตรา ว่าด้วยการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ของรัฐมนตรี ผู้พิพากษาตุลาการ
จากรายงานรายงานการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ก่อนรับหลักการ ชี้ให้เห็นว่า จากจำนวน 38 มาตรา มีสองมาตราที่เกี่ยวข้องกับการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ได้แก่ การถวายสัตย์ฯ ของรัฐมนตรี ซึ่งมีประเด็นว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เคยกล่าวถ้อยคำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่ครบ และ ถวายสัตย์ฯ ของผู้พิพากษาตุลาการ ดังนี้
มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
มาตรา 191 กำหนดให้ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ”
สี่มาตรา ว่าด้วยกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภา ประชุมรัฐสภา ยุบสภา เลือกตั้ง ส.ส.ใหม่
มาตรา 102 เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ
มาตรา 103 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป
การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
มาตรา 121 ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้
มาตรา 122 พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้ โดยการเรียกประชุม การขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
ห้ามาตรา เกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมาย พระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องในขั้นตอนลงพระปรมาภิไธย
จากการสำรวจภาคผนวกในรายงานดังกล่าว พบว่ามีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยพระมหากษัตริย์มักจะไปเกี่ยวข้องในกระบวนการลงพระปรมาภิไธย มีปรากฏทั้งสิ้นห้ามาตราด้วยกัน ดังนี้
มาตรา 81 ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
มาตรา 146 เกี่ยวข้องกับการยับยั้งร่างกฎหมาย (Veto) โดยมีเนื้อหาว่า ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
มาตรา 147  ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วแต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้เป็นอันตกไป
มาตรา 148 กำหนดกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 81 สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ว่าร่างกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้
มาตรา 256 อยู่ภายใต้หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรานี้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์อยู่ใน
(7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตามให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ 
(9) ที่กำหนดให้ ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา ว่าร่างรัฐธรรมนูญตามที่ผ่านวาระสามแล้วนั้น  เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือมีลักษณะตาม 256 (8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระห ม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้
สองมาตรา เกี่ยวข้องกับการตรา “พระราชกำหนด” เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน
พระราชกำหนด ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกทางกฎหมายที่รองรับต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มีกฎหมายใช้บังคับต่อสถานการณ์นั้นๆ โดยไม่ให้กระบวนการนิติบัญญัติมาเป็นอุปสรรคต่อสภาวการณ์ที่เร่งด่วน มีสองมาตราที่ในภาคผนวกของรายงานระบุว่าเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ 
มาตรา 172 วางหลักการพื้นฐานในการตราพระราชกำหนด ว่า ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ 
มาตรา 174 ที่กำหนดเฉพาะเจาะจงว่าหากมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
ห้ามาตรา ว่าด้วยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
จากบทบัญญัติจำนวนทั้งหมดที่ ส.ว. อ้างว่าเป็น "พระราชอำนาจ" จำนวน 38 มาตรา ที่อยู่นอกเหนือหมวด 2 มีเพียงห้ามาตราเท่านั้นที่ปรากฏถ้อยคำที่ระบุว่าเป็น “พระราชอำนาจ” ของพระมหากษัตริย์ โดยอยู่ในหมวด 8 คณะรัฐมนตรี ประกอบไปด้วยบทบัญญัติดังต่อไปนี้
มาตรา 175  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
มาตรา 176  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก
มาตรา 177 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
มาตรา 178  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
มาตรา 179 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
อย่างไรก็ตามถ้อยคำว่า "พระราชอำนาจ" ที่ปรากฎทั้งห้ามาตราในรัฐธรรมนูญไม่ได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์จะสามารถใช้พระราชอำนาจดังกล่าวได้ตามอำเภอใจ แต่คือการใช้พระราชอำนาจโดยที่คณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อการกระทำนั้นๆ 
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์